บทบาทอันสำคัญยิ่งทั่วโลกของศาสนา
เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวปราศรัยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษระหว่างการประชุมสัมมนาเรื่องเสรีภาพทางศาสนา
เราไม่สามารถสูญเสียอิทธิพลของศาสนาในชีวิตสาธารณะของเราได้โดยไม่เป็นภัยมหันต์ต่อเสรีภาพทั้งหมดของเรา
เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ข้าพเจ้ารับใช้เป็นอัครสาวกสิบสองคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์ ตามการกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุด เราปกครองศาสนจักรที่มีสมาชิกทั่วโลกเกือบ 16 ล้านคนในที่ประชุม 30,000 กว่าแห่ง เราสอนและเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ ฐานะปุโรหิตของพระองค์ และความสมบูรณ์แห่งหลักคำสอนของพระองค์ เอกลักษณ์ของหลักคำสอนของเราคือความรู้ของเราที่ว่าพระผู้เป็นเจ้ายังคงเรียกศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกให้รับการเปิดเผยและสอนวิธีประยุกต์ใช้พระบัญญัติของพระองค์ในสภาวการณ์ปัจจุบันของเรา
1. ความสำคัญทั่วโลกของศาสนา
เสรีภาพทางศาสนาเป็นความสนใจของข้าพเจ้ามาตลอดชีวิต งานเขียนที่ตีพิมพ์ฉบับแรกของข้าพเจ้าสมัยเป็นอาจารย์หนุ่มในคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชิคาโกเมื่อ 54 ปีที่แล้วคือหนังสือที่ข้าพเจ้าเป็นบรรณาธิการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการปกครองในสหรัฐ1
ปัจจุบัน มากยิ่งกว่าสมัยนั้นคือพวกเราไม่สามารถมองข้ามความสำคัญทั่วโลกของศาสนาได้—ในการเมือง การแก้ไขความขัดแย้ง การพัฒนาเศรษฐกิจ การบรรเทาทุกข์เพื่อมนุษยธรรม และอื่นๆ แปดสิบสี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง2 ทว่า 77 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีข้อจำกัดสูงหรือสูงมากเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนา3 การเข้าใจศาสนาและความสัมพันธ์ของศาสนากับความกังวลทั่วโลกและกับการปกครองถือว่าจำเป็นต่อการพยายามปรับปรุงโลกที่เราอาศัยอยู่
ถึงแม้ว่าเสรีภาพทางศาสนาไม่เป็นที่รู้จักกันส่วนใหญ่ในโลกทั้งยังถูกคุกคามจากฆราวาสนิยมและคตินิยมสุดขั้ว แต่ข้าพเจ้าพูดสนับสนุนอุดมการณ์ซึ่งถือว่าเสรีภาพที่ศาสนาพยายามคุ้มครองนั้นได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้าและมีอยู่แต่แรกแต่เกิดผลผ่านความสัมพันธ์ร่วมกับฝ่ายปกครองที่มุ่งประโยชน์สุขของประชาชนทั้งปวง
ด้วยเหตุนี้ฝ่ายปกครองจึงควรปกป้องเสรีภาพทางศาสนาเพื่อประชาชนของตน ดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 18 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ “ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพในการเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อถือ และเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อของตนในการสอน การปฏิบัติ การสักการบูชาและการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือในชุมชมร่วมกับผู้อื่น ในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล”4
ความรับผิดชอบร่วมกันของศาสนาผ่านผู้นับถือศาสนานั้นคือต้องถือปฏิบัติกฎและเคารพวัฒนธรรมของประเทศที่รับรองเสรีภาพทางศาสนา เมื่อมีการคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนา การตอบสนองแบบนี้คือหนี้ความสำนึกคุณที่ยินดีชำระ
หากมีการยอมรับแบบเดียวกันและนำหลักการทั่วไปเหล่านี้มาใช้ ย่อมไม่จำเป็นต้องมีการอภิปรายเหล่านี้เกี่ยวกับเสรีภาพในเรื่องศาสนา แต่ดังที่เราทุกคนทราบ โลกของเรามีปัญหามายาวนานกับหลักการทั่วไปเหล่านี้ที่ขัดกัน ตัวอย่างเช่น เวลานี้ผู้มีชื่อเสียงกำลังคัดค้านความคิดทั้งหมดเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองศาสนาเป็นพิเศษ หนังสือประเภทนี้มีเล่มหนึ่งชื่อ Freedom from Religion และอีกเล่มหนึ่งชื่อ Why Tolerate Religion?5
ผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคนหาทางไม่ให้ความสำคัญแก่ศาสนาและผู้เชื่อ อย่างเช่นจำกัดเสรีภาพทางศาสนาเฉพาะการสอนในโบสถ์ ธรรมศาลา และมัสยิด ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้ปฏิบัติความเชื่อทางศาสนาในที่สาธารณะ แน่นอนว่าความพยายามเช่นนั้นฝ่าฝืนการรับรองสิทธิของปฏิญญาสากลที่แสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อ “ในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล” การปฏิบัติศาสนาอย่างอิสระต้องประยุกต์ใช้ด้วยเมื่อผู้เชื่อทำหน้าที่แทนชุมชนอย่างเช่นความพยายามของพวกเขาในเรื่องการศึกษา การแพทย์ และวัฒนธรรม
2. คุณค่าทางสังคมของศาสนา
ความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าไร้เหตุผลและขัดกับเป้าหมายสำคัญๆ ด้านการปกครองและสังคม ข้าพเจ้ายังคงเชื่อมั่นว่าศาสนามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคม ดังที่ผู้ไม่เชื่อพระเจ้าคนหนึ่งยอมรับในหนังสือที่ออกมาไม่นานนี้ว่า “คนเราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชื่อทางศาสนาก็เข้าใจว่าคุณค่าหลักของอารยธรรมตะวันตกมีรากฐานอยู่ในศาสนา และด้วยเหตุนี้จึงเป็นห่วงว่าความเสื่อมของการถือปฏิบัติศาสนาจะบ่อนทำลายคุณค่าเหล่านั้น”6 “คุณค่าหลัก” หนึ่งในนั้นคือแนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีและคุณค่าในตัวมนุษย์
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเจ็ดข้อของคุณค่าทางสังคมของศาสนา
1. ความก้าวหน้าทางศีลธรรมที่สำคัญหลายอย่างซึ่งมีผลมากที่สุดในอารยธรรมตะวันตกส่วนใหญ่มีหลักศาสนาเป็นแรงผลักดันและการสั่งสอนจากแท่นพูดโน้มน้าวให้นำมาปฏิบัติอย่างเป็นกิจลักษณะ เป็นดังนั้นกับการเลิกค้าทาสในจักรวรรดิอังกฤษ การประกาศเลิกทาสในสหรัฐ และขบวนการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของครึ่งศตวรรษหลัง จริยธรรมทางสังคมไม่ได้กระตุ้นหรือส่งเสริมความก้าวหน้าเหล่านี้แต่บุคคลผู้มีวิสัยทัศน์ชัดเจนทางศาสนารู้ว่าอะไรถูกต้องทางศีลธรรมเป็นผู้ผลักดันในเบื้องต้น
2. ในสหรัฐ งานการกุศลภาคเอกชนจำนวนมากของเรา—การศึกษา โรงพยาบาล การดูแลคนยากไร้ และองค์กรการกุศลอันทรงคุณค่าอีกนับไม่ถ้วน—เกิดจากและยังคงได้รับการสนับสนุนมากที่สุดจากองค์กรศาสนาและแรงกระตุ้นทางศาสนา
3. ในเบื้องต้น สังคมตะวันตกสามัคคีกันไม่ใช่เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว เพราะทำไม่ได้ แต่สำคัญที่สุดคือเพราะพลเมืองทำตามกฎหมายโดยสมัครใจเนื่องด้วยมาตรฐานความประพฤติชอบที่อยู่ในตัวพวกเขา สำหรับคนจำนวนมาก ความเชื่อทางศาสนาในสิ่งถูกผิดและพันธะรับผิดชอบที่มุ่งหวังให้มีต่ออำนาจที่สูงกว่านั่นเองที่ทำให้พวกเขาสมัครใจวางกฎข้อบังคับให้ตน อันที่จริง คุณค่าทางศาสนาและความเป็นจริงทางการเมืองมีจุดกำเนิดและการสืบทอดชาติตะวันตกที่เชื่อมโยงกันจนเราไม่สามารถสูญเสียอิทธิพลของศาสนาในชีวิตสาธารณะของเราได้โดยไม่เป็นภัยมหันต์ต่อเสรีภาพทั้งหมดของเรา
4. องค์กรศาสนาพร้อมด้วยองค์กรสนับสนุนที่เป็นเอกชนทำหน้าที่เป็นสถาบันสื่อกลางคอยหล่อหลอมและจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ล่วงล้ำบุคคลและองค์กรเอกชน
5. ศาสนาดลใจให้ผู้เชื่อจำนวนมากรับใช้ผู้อื่น ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วให้ประโยชน์มหาศาลต่อชุมชนและประเทศชาติ
6. ศาสนาเสริมเงื่อนไขของสังคม ดังที่โจนาธาน แซคส์ผู้นำศาสนายิวสอนไว้ “[ศาสนา] ทำให้มีผู้สร้างชุมชนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่โลกรู้จัก … ศาสนาเป็นยาถอนพิษปัจเจกนิยมของยุคผู้บริโภคได้ชะงัดที่สุด แนวคิดที่ว่าสังคมอยู่ได้โดยไม่มีศาสนาหายไปแล้วในหน้าประวัติศาสตร์”7
7. สุดท้าย เคลย์ตัน เอ็ม. คริสเตนเซ็น วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็น “ผู้นำความคิด” ด้านการบริหารธุรกิจและนวัตกรรม8 เขียนไว้ว่า “ศาสนาเป็นรากฐานของประชาธิปไตยและความรุ่งเรือง”9 มีกล่าวไว้อีกมากเกี่ยวกับบทบาทที่ดีของศาสนาในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ข้าพเจ้าเชื่อว่าการสอนศาสนาและการกระทำอันเกิดจากแรงผลักดันทางศาสนาของผู้ที่เชื่อจำเป็นต่อสังคมที่เป็นอิสระและรุ่งเรือง และยังคงสมควรได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษตามกฎหมาย
3. ความรับผิดชอบร่วมกันของศาสนา
ข้าพเจ้าพูดมาตั้งแต่ต้นเฉพาะความรับผิดชอบของฝ่ายปกครองต่อผู้เชื่อและองค์กรศาสนา ตอนนี้ข้าพเจ้าจะพูดถึงความรับผิดชอบร่วมกันที่ศาสนาและผู้เชื่อมีต่อฝ่ายปกครอง
จริงๆ แล้วฝ่ายปกครองมีสิทธิ์คาดหวังให้ผู้ได้รับความคุ้มครองเชื่อฟังกฎหมายและเคารพวัฒนธรรม ฝ่ายปกครองมีความสนใจมากที่สุดในการรักษาความมั่นคงของเขตแดนประเทศของตนตลอดจนปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน จริงๆ แล้วฝ่ายปกครองมีสิทธิ์ยืนกรานให้ทุกองค์กร รวมทั้งศาสนา งดสอนเรื่องความเกลียดชังและการกระทำที่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงหรือการกระทำผิดต่อผู้อื่น ต้องไม่มีประเทศใดให้ที่หลบภัยแก่องค์กรที่ส่งเสริมลัทธิก่อการร้าย เสรีภาพทางศาสนาไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางอำนาจรัฐในสภาวการณ์เหล่านี้
ปัจจุบันการทำงานร่วมกันของศาสนาและฝ่ายปกครองได้รับการทดสอบอย่างมากในยุโรป ผู้อพยพส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาและวัฒนธรรมมุสลิมจำนวนมากทะลักเข้าประเทศที่มีวัฒนธรรมและศาสนาต่างจากตนจนก่อให้เกิดปัญหารุนแรงทางการเมือง วัฒนธรรม สังคม การเงิน และศาสนา
ศาสนาและองค์กรศาสนาจะทำคุณประโยชน์อะไรได้บ้างเพื่อช่วยผู้อพยพและประเทศที่ต้อนรับพวกเขา—ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เรารู้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนสงสัยบทบาทขององค์กรศาสนาในเรื่องสำคัญเหล่านี้ บางคนถึงกับมองว่าศาสนาเป็นอิทธิพลบ่อนทำลาย ข้าพเจ้าพยายามจะไม่หักล้างความคิดเห็นโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าไม่รอบรู้ ข้าพเจ้าจะแบ่งปันเฉพาะนโยบายและประสบการณ์ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าจะแสดงให้เห็นอิทธิพลบวกที่องค์กรศาสนามีได้และควรมี ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เราผู้รู้กันทั่วไปว่าเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหรือมอรมอนน้อมรับคำสอนของพระคริสต์ที่ว่าเราควรให้อาหารแก่คนหิวโหยและให้ที่พักพิงแก่คนแปลกหน้า (ดู มัทธิว 25:35) การเปิดเผยยุคปัจจุบันจากแหล่งเดียวกันแนะนำเราเช่นกันให้ “ระลึกถึงคนจนและคนขัดสน, คนเจ็บป่วยและคนทุกข์ยาก, เพราะคนที่ไม่ทำสิ่งเหล่านี้, คนคนนั้นมิใช่สานุศิษย์ของเรา” (คพ. 52:40)
การดูแลผู้ยากไร้และคนขัดสนไม่ได้มีไว้ให้เลือกทำหรือไม่ทำก็ได้หรือไม่ใช่เรื่องสำคัญในศาสนจักรของเรา เราทำเช่นนี้ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในปี 2015 เรามีโครงการตอบสนองภาวะฉุกเฉิน 177 โครงการใน 56 ประเทศ นอกจากนี้เรายังมีอีกหลายร้อยโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนในความช่วยเหลืออีกเจ็ดประเภท เช่น น้ำสะอาด การฉีดวัคซีน และการดูแลสายตา เป็นเวลา 30 กว่าปีที่ค่าใช้จ่ายในการทำงานเหล่านี้ถัวเฉลี่ยปีละ 40 ล้านดอลลาร์
เราหลีกเลี่ยงสาเหตุหนึ่งของการคัดค้านองค์กรศาสนาโดยแยกการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อมนุษยธรรมออกจากงานเผยแผ่ศาสนาทั่วโลกของเรา เราให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมโดยไม่ถือว่าให้ในนามองค์กรศาสนาเพราะเราต้องการให้ผู้คนยอมรับและพิจารณางานเผยแผ่ศาสนาของเราโดยไม่มีการบังคับหรือแรงจูงใจจากอาหารหรือความช่วยเหลืออื่นๆ
4. ศาสนจักรต่างๆ จะทำอะไรได้บ้าง
องค์กรศาสนจักรจะทำอะไรได้บ้างนอกเหนือจากสิ่งที่สหประชาชาติหรือแต่ละประเทศทำได้ ข้าพเจ้าขออ้างประสบการณ์จากศาสนจักรของเราเองอีกครั้ง แม้สมาชิกของเรา—ครึ่งหนึ่งในสหรัฐและอีกครึ่งหนึ่งในประเทศอื่น—จะมีกำลังช่วยน้อย แต่เรามีข้อได้เปรียบมากสามข้อที่ขยายผลของเรา
หนึ่ง ประเพณีการรับใช้ของสมาชิกเราทำให้เรามีแหล่งอาสาสมัครที่มุ่งมั่นและมีประสบการณ์ เพื่อแปลเป็นตัวเลข ในปี 2015 อาสาสมัครของเราบริจาค 25 ล้านกว่าชั่วโมงทำงานในโครงการสวัสดิการ มนุษยธรรม และอื่นๆ ที่ศาสนจักรเป็นผู้อุปถัมภ์10 ไม่นับสิ่งที่สมาชิกของเราทำเป็นส่วนตัว
สอง เราจัดหาเงินทุนของเราเองผ่านการบริจาคเงินของสมาชิกให้แก่งานมนุษยธรรม แม้เราจะสามารถดำเนินงานเองได้โดยไม่ขึ้นกับโครงสร้างระบบราชการและงบจัดสรร แต่เราปรารถนาเช่นกันที่จะประสานงานกับรัฐบาลแต่ละประเทศและกับหน่วยงานสหประชาชาติเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เราขอให้พวกเขาพึ่งพลังขององค์กรศาสนามากขึ้น
สาม เรามีองค์กรระดับรากหญ้าอยู่ทั่วโลกที่สามารถระดมพลได้ทันที ตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพทั่วโลก ในเดือนมีนาคม 2016 ฝ่ายประธานสูงสุดของเรา ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ ประธานเยาวชนหญิงสามัญ และประธานปฐมวัยสามัญของเราส่งข่าวสารเตือนสมาชิกทั่วโลกให้นึกถึงหลักธรรมพื้นฐานของคริสต์ศาสนาในการช่วยคนจนและ “คนแปลกหน้า” ท่ามกลางพวกเรา (มัทธิว 25:35) ท่านเหล่านั้นเชื้อเชิญเด็กและสตรีทุกวัยให้มีส่วนช่วยเหลือผู้อพยพในชุมชนของตน11
ตัวอย่างการตอบสนองของสมาชิกเราในยุโรป คือเย็นวันหนึ่งในเดือนเมษายน 2016 ชาวมอรมอนกว่า 200 คนและเพื่อนๆ ของพวกเขาในเยอรมนีอาสาจัด “กระเป๋าต้อนรับ” 1,061 ใบให้เด็กๆ ที่อยู่ในศูนย์ผู้อพยพหกแห่งในเยอรมนีในรัฐเฮสเซินและรัฐไรน์แลนด์-พฟัลซ์ ในถุงมีเสื้อผ้าชุดใหม่ ชุดสุขอนามัย ผ้าห่ม และอุปกรณ์ศิลปะ สตรีคนหนึ่งที่เป็นผู้นำงานนี้กล่าวว่า “ถึงแม้ดิฉันจะไม่สามารถเปลี่ยนสภาวการณ์อันน่าโศกสลดซึ่งทำให้ [ผู้อพยพ] ต้องลี้ภัยจากบ้านของพวกเขา แต่ดิฉันสามารถสร้างความแตกต่างในสภาพแวดล้อม [ของพวกเขา] และมีส่วนช่วยอย่างแข็งขันในชีวิต [พวกเขา]”
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างงานมนุษยธรรมทั่วโลกที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการของเรา ในปี 2015 องค์กรการกุศลแอลดีเอสร่วมมือเต็มที่กับมูลนิธิ AMAR ที่มีฐานในบริติชก่อสร้างศูนย์ดูแลสุขภาพพื้นฐานให้ชนกลุ่มน้อยยาซีดิทางภาคเหนือของอิรักผู้ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างเหี้ยมโหดของ ISIS ศูนย์ดูแลสุขภาพเหล่านี้—ห้องปฏิบัติการที่ติดตั้งอุปกรณ์ครบครัน การดูแลฉุกเฉิน เภสัชกรรม และอุลตร้าซาวด์—นำการบรรเทาทุกข์มาให้ประชากรที่บาดเจ็บทั้งร่างกายและวิญญาณ พวกเขาว่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ชาวยาซีดิและอาสาสมัครผู้ให้ความช่วยเหลือคนของตนได้โดยมีความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม
ในปี 2004 แผ่นดินไหวร้ายแรงและสึนามิที่เกิดตามมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมคร่าชีวิตผู้คนไป 230,000 คนใน 14 ประเทศ องค์กรการกุศลแอลดีเอสของเราไปถึงที่เกิดเหตุในวันรุ่งขึ้นและทำงานอย่างขยันขันแข็งเป็นเวลาห้าปี เฉพาะเขตบันดาอาเจะห์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเขตเดียว องค์กรการกุศลของเราสร้างบ้านถาวรให้ 900 หลัง ระบบน้ำหมู่บ้าน 24 แห่ง โรงเรียนประถม 15 แห่ง ศูนย์การแพทย์ 3 แห่ง และศูนย์ชุมชน 3 แห่งที่ใช้เป็นมัสยิดด้วย นอกจากนี้เรายังได้จัดส่งคัมภีร์กุรอ่านและพรมรองนั่งละหมาดให้ด้วยเพื่อช่วยชุมชนเหล่านั้นในการนมัสการของพวกเขา
นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นคุณค่าของศาสนาในวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งเราไม่เพียงสนับสนุนในชุมชนศาสนาเท่านั้นแต่เรียกร้องเสรีภาพทางศาสนาด้วย ซึ่งเราถือว่าเป็นเสรีภาพอันดับแรก