การพึ่งพาตนเอง และการเรียนพระกิตติคุณ
เมื่อเราเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเอง เราจะรู้วิธีเลี้ยงตนเองทางวิญญาณและกระชับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า
ครูอนุบาลคนหนึ่งสังเกตชั้นเรียนของเธอขณะเด็กๆ วาดภาพ เมื่อเธอเดินดูงานศิลปะของนักเรียนแต่ละคน เธอถามเด็กผู้หญิงคนหนึ่งว่า “หนูกำลังวาดอะไร” เด็กคนนั้นตอบว่า “กำลังวาดรูปพระผู้เป็นเจ้าค่ะ” ครูค่อนข้างประหลาดใจ จึงพูดว่า “แต่ไม่มีใครรู้นี่นาว่าพระผู้เป็นเจ้ามีหน้าตาอย่างไร” เด็กหญิงตอบโดยไม่ลังเลว่า “พวกเขาจะรู้ในอีกไม่ช้านี้ค่ะ”
ไม่ดีหรอกหรือที่จะมีความเชื่อมั่นเช่นนั้น ในความเป็นจริงแล้ว พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราเชื่อมั่นในความรู้ของเราเกี่ยวกับพระองค์ พระเจ้ารับสั่งกับเยเรมีย์ว่า เราไม่ควรอวดสติปัญญาของเราหรืออวดความเข้มแข็งของเรา หรืออวดความมั่งคั่งของเรา แต่พระองค์ตรัส “ให้ผู้อวดอวดสิ่งนี้ คือการที่เขาเข้าใจและรู้จักเรา” (ดู เยเรมีย์ 9:23–24)
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) สอนว่า “พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องใดต่อโจเซฟ นอกจากเรื่องที่พระองค์จะทรงทำให้เป็นที่รู้แก่อัครสาวกสิบสอง และแม้แต่วิสุทธิชนต่ำต้อยที่สุดก็อาจจะรู้เรื่องทั้งหมดได้เร็วเท่าที่เขาจะรับไหว เพราะวันต้องมาถึงเมื่อไม่มีใครจำเป็นต้องกล่าวกับเพื่อนบ้านว่า จงรู้จักพระเจ้า เพราะเขาทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ … ตั้งแต่คนเล็กน้อยที่สุดไปจนถึงคนใหญ่โตที่สุด”1
การเชื่อมั่นในความรู้ของเราเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าไม่เกิดขึ้นโดยปราศจากความพยายามส่วนตัว บิดามารดาและครูช่วยได้ แต่เราต้องเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเอง เฉกเช่นเราเรียนรู้วิธีเลี้ยงตนเองทางร่างกายเพื่อค้ำจุนร่างกายของเรา เราต้องเรียนรู้วิธีเลี้ยงตนเองทางวิญญาณเพื่อค้ำจุนวิญญาณของเรา
หลายปีก่อนนกนางนวลในเมืองเซนต์ออกัสติน รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาอดตาย นกนางนวลหลายรุ่นเรียนรู้ที่จะอาศัยเรือหากุ้งเลี้ยงพวกมันด้วยเศษกุ้งจากอวนของพวกเขา ในที่สุดชาวประมงย้ายไปจากเขตนั้น นกนางนวลไม่รู้วิธีจับปลาด้วยตนเอง ทั้งไม่สอนลูกๆ ของมันให้รู้วิธีจับปลา ด้วยเหตุนี้นกตัวใหญ่สวยงามเหล่านี้จึงตายทั้งที่ในน้ำมีปลาอยู่มากมายเต็มไปหมด2
เราจะเป็นเหมือนนกนางนวลไม่ได้ ทั้งเราจะปล่อยให้ลูกๆ ของเราฟันฝ่าชีวิตโดยอาศัยเราหรือคนอื่นๆ ให้ความรู้พวกเขาเกี่ยวกับพระเจ้าไม่ได้ “ความพยายามของเรา” ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์ (1897–1988) ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว “ต้องมุ่งไปเพื่อทำให้คนที่มีร่างกายปกติสามารถพึ่งพาตนเอง”3 เมื่อเราเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเอง เราจะรู้วิธีเลี้ยงตนเองทางวิญญาณและกระชับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “การพึ่งพาตนเองทางวิญญาณเป็นพลังค้ำจุนในศาสนจักร หากเราช่วงชิงสิ่งนี้ไปจากท่าน ท่านจะรับการเปิดเผยได้อย่างไรว่ามีศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ท่านจะรับคำตอบการสวดอ้อนวอนได้อย่างไร ท่านจะ รู้ได้อย่างไร หากเราตอบคำถามทั้งหมดของท่านเร็วมากและจัดเตรียมวิธีมากมายไว้แก้ไขปัญหาทั้งหมดของท่าน เราอาจลงเอยด้วยการทำให้ท่านอ่อนแอ ไม่ใช่ทำให้ท่านเข้มแข็ง”4
แม้เราจะชอบเรียนรู้และรับการดลใจที่โบสถ์ แต่เราจะหวังให้สิ่งนั้นบำรุงเลี้ยงวิญญาณของเราอย่างเดียวไม่ได้ ประธานจอร์จ อัลเบิร์ต สมิธ (1870–1951) อธิบายว่า “ข้าพเจ้าเกรงว่าเราเหล่าสมาชิกของศาสนจักรพึ่งองค์การช่วยมากเกินไป และพึ่งคำแนะนำตักเตือนของคนนอกครอบครัวเรา เราเคยได้ยินมาแล้วเกี่ยวกับพรมากมายที่พระเจ้าประทานแก่เราในบันทึกศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเก็บรักษาไว้จนถึงสมัยของเรา และในนั้นมีคำแนะนำตักเตือนของพระบิดาผู้ทรงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง น่าแปลกที่คนของเราจำนวนมาก … ขาดความคุ้นเคยกับเนื้อหาของบันทึกศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้”5
ผมชอบเรียนพระกิตติคุณที่โบสถ์ แต่ผมตื่นเต้นเกี่ยวกับพระกิตติคุณมากขึ้นเมื่อผมค้นพบข้อคิดที่สร้างแรงบันดาลใจระหว่างศึกษาเป็นส่วนตัว ไม่มีสิ่งใดทำให้ผมตื่นเต้นมากกว่าการพบสมบัติชิ้นเล็กๆ ของความจริงในพระคัมภีร์ที่ทำให้ผมเข้าใจกระจ่างและเปี่ยมด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า
เรียนรู้วิธีเรียนรู้
เมื่อผมกลับจากงานเผยแผ่ ผมพบว่าผมจำเป็นต้องไปไฟร์ไซด์และการให้ข้อคิดทางวิญญาณแทบทุกสัปดาห์เพื่อให้ตนเองเข้มแข็งทางวิญญาณอยู่เสมอ ผู้พูดป้อนความเข้าใจพระกิตติคุณของพวกเขาให้ผม และผมชอบวิธีที่ข้อคิดเหล่านั้นทำให้ผมรู้สึก ผมศึกษาและสอนพระกิตติคุณมาสองปี แต่ดูเหมือนไม่มีทักษะที่จำเป็นต่อการให้อาหารตนเองเป็นประจำ ผมแค่อ่านพระคัมภีร์และไม่ค้นคว้าอย่างขยันหมั่นเพียร
การศึกษาพระกิตติคุณเหมือนกันมากกับการฝึกวาดรูป ใช่ว่าทุกคนจะวาดได้ตามสัญชาตญาณหรือวาดได้ตั้งแต่เกิด เราคงไม่คิดจะให้จานสีแก่คนบางคนและคาดหวังว่าบุคคลนั้นจะกลายเป็นศิลปินทันที การเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเองก็เหมือนกัน เราคาดหวังไม่ได้ว่าจะค้นพบข้อคิดสำคัญๆ เป็นประจำหากเราไม่เรียนรู้ทักษะพื้นฐานบางอย่างของการศึกษาพระกิตติคุณ ประธานแพคเกอร์อธิบายว่าพระคัมภีร์ “มีความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณอันเป็นนิจ นิรันดรของความรู้ แต่คนๆ นั้นต้องฝึกใช้พระคัมภีร์หาไม่แล้วการค้นคว้าจะทำให้ท้อใจ”6
ผมเป็นอย่างนั้น—ท้อใจ—เมื่อผมพยายามหาความหมายและการนำทางจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นครั้งแรก ผมจึงเริ่มวิเคราะห์ว่าผู้พูดได้ข้อคิดอย่างไร ใช้เวลาชั่วครู่ แต่ในที่สุดผมก็เห็นวิธีที่พวกเขาดึงข้อความของหลักคำสอนนั้นๆ มาจากพระคัมภีร์ วิธีที่พวกเขาขุดค้นคำสอนที่มีความหมายเกี่ยวกับพระผู้ช่วยรอดจากข้อต่างๆ วิธีที่พวกเขากำหนดหลักธรรมชี้นำชีวิตจากวลีต่างๆ ในพระคัมภีร์ วิธีที่พวกเขาตีความสัญลักษณ์ วิธีที่พวกเขาเชื่อมโยงคำสอนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกกับข้อพระคัมภีร์
เมื่อผมศึกษาพระคัมภีร์ ศึกษาคำสอนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกอย่างต่อเนื่อง ผมพบตนเองกำลังถามดังนี้
-
ข้อเหล่านี้สอนหลักคำสอนอะไร และผมเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับหลักคำสอนนั้น
-
ผมเคยเห็นหลักธรรมพระกิตติคุณข้อนี้ประยุกต์ใช้ที่ใดและเมื่อใด
-
ผมเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนแห่งความสุขของพระองค์
-
ผมเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์
-
พระเจ้าทรงต้องการให้ผมเรียนรู้อะไรจากข้อนี้
-
ผมได้ข้อคิดที่สร้างแรงบันดาลใจและความรู้สึกอะไรบ้างขณะอ่าน
-
มีบางอย่างในข้อนี้ที่ช่วยผมรับมือกับความท้าทายที่ผมเผชิญอยู่ในชีวิตผมหรือไม่
-
ผมเรียนรู้อะไรที่จะช่วยผมดำเนินชีวิตในแต่ละวัน
ครูที่มีประสิทธิภาพและโน้มน้าวเก่ง
เมื่อการศึกษาพระคัมภีร์ของผมเปลี่ยนไป การสอนของผมเปลี่ยนเช่นกัน ผมสนใจจะช่วยให้คนอื่นค้นพบความจริงพระกิตติคุณที่จะนำทางพวกเขามากกว่าจะบอกพวกเขาว่าพระคัมภีร์มีความหมายอะไรต่อผม7 ผมตื่นเต้นเมื่อเห็นปีติที่คนอื่นรู้สึกเมื่อพวกเขาค้นพบสิ่งใหม่ๆ นั่นเคยเป็นและเป็นประสบการณ์อันน่าพึงใจที่สุดอย่างหนึ่งของประสบการณ์การสอนของผม
ผมพบเช่นกันว่าเมื่อผมช่วยให้คนที่ผมสอนใช้ทักษะและคำถามข้างต้นอยู่เสมอ พวกเขาจะสามารถเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเองได้เร็วขึ้น พวกเขาไม่ต้องประสบขั้นตอนยืดยาวที่ผมประสบ
การเรียนรู้มาก่อนการสอน และผู้เรียนที่ดีสร้างครูที่สร้างแรงบันดาลใจทางวิญญาณมากขึ้น “อย่าหมายมั่นจะประกาศคำของเรา” พระเจ้าตรัส “แต่ก่อนอื่น จงหมายมั่นให้ได้คำของเรา, และจากนั้นเราจะปลดปล่อยลิ้นของเจ้า; จากนั้น, หากเจ้าปรารถนา, เจ้าจะมีพระวิญญาณของเราและคำของเรา, แท้จริงแล้ว, อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างความเชื่อมั่นแก่มนุษย์” (คพ. 11:21) ใครจะไม่ต้องการพรล้ำเลิศเช่นนี้เล่า!
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นว่าเราต้องเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเองมากขึ้นดังนี้
“ข้าพเจ้าคิดว่าเราเน้นและรู้เกี่ยวกับการให้ครูสอนโดยพระวิญญาณมากยิ่งกว่าเราเน้นและรู้เกี่ยวกับการให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยศรัทธา เห็นได้ชัดว่าหลักธรรมและกระบวนการของทั้งการสอนและการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งทางวิญญาณ อย่างไรก็ดี ขณะที่เรานึกถึงอนาคตและคาดว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้จะสับสนวุ่นวายและโกลาหลมากขึ้นเรื่อยๆ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าเราทุกคนจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้โดยศรัทธา …
“สุดท้ายแล้ว ความรับผิดชอบในการเรียนรู้โดยศรัทธาและประยุกต์ใช้ความจริงทางวิญญาณตกอยู่กับเราแต่ละคน นี่เป็นความรับผิดชอบที่จริงจังและสำคัญมากขึ้นในโลกที่เราอยู่เวลานี้และจะยังอยู่ เราเรียนรู้อะไร อย่างไร และเมื่อใดนั้นได้รับการสนับสนุนจาก—แต่ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับ—ครูผู้สอน วิธีนำเสนอ หรือหัวข้อเฉพาะ หรือรูปแบบบทเรียน”8
พรของการเรียนรู้ที่พึ่งพาตนเอง
เราได้รับพรแน่นอนจากคำสอนที่ได้รับการดลใจของบิดามารดาและครูในศาสนจักร แต่สำคัญกว่านั้นน่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง เมื่อเราเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเอง เราสามารถเชื้อเชิญการเปิดเผยส่วนตัวได้ดีขึ้น ผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเองไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นให้ศึกษาเป็นประจำนอกจากรู้ว่าครั้งต่อไปที่พวกเขาศึกษาพวกเขาจะได้รับการจรรโลงใจไม่ใช่เบื่อ ผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเองพร้อมจะเอาตัวรอดมากขึ้นจากการบุกโจมตีของแนวคิดผิดๆ ที่แพร่หลายในสังคมศตวรรษที่ 21 ของเรา
สัญญาอย่างน้อยหนึ่งข้อของพระเจ้าดูเหมือนจะมีความหมายอย่างมากสำหรับผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเอง “ผู้ใดที่สั่งสมคำของเรา, จะไม่ถูกหลอกลวง” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:37)
ประธานโธมัส เอส.มอนสันสัญญาว่า “ถ้าท่านหมั่นศึกษาพระคัมภีร์ ท่านจะมีพลังหลีกเลี่ยงการล่อลวงและรับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้นในทุกสิ่งที่ท่านทำ”9
ผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเองมีประสบการณ์จากสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่า
“ถ้าใครกระหาย ให้คนนั้นมาหาเรา
“และให้คนที่วางใจในเราดื่ม ตามที่มีคำเขียนไว้แล้วว่า แม่น้ำที่มีน้ำดำรงชีวิตจะไหลออกมาจากภายในคนนั้น” (ยอห์น 7:37–38)
ผมยังต้องเข้าใจอีกมาก แต่การเป็นผู้เรียนพระกิตติคุณที่พึ่งพาตนเองเป็นเรื่องดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมทำมาแล้ว นั่นเป็นพรแก่ชีวิตผมทุกด้าน