2019
ตามล่าหาความสุข
ธันวาคม 2019


ตามล่าหา ความสุข

ผมดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ทำไมความสุขจึงยังดูเหมือนภาพลวงตา

blocks

ภาพถ่ายจาก Getty Images

กลางดึกแล้ว ขณะที่นอนหลับๆ ตื่นๆ ทันใดนั้นตาของผมก็เปิดกว้าง “โอ้ ไม่นะ” ผมภาวนา “ไม่อีกนะ”

แต่ผมก็เริ่มสั่นเกือบจะในทันที ผมเริ่มตัวสั่นอย่างน่ากลัว อาการของผมสับสนและแปลก พร้อมๆ กับมีอาการอ่อนเปลี้ย ร่างกายเริ่มกระตุกเหมือนกำลังชัก มือและเท้าของผมร้อนเป็นไฟโดยไม่รู้สาเหตุ ภรรยาของผมสะดุ้งตื่นและกอดผมแน่น ทำให้ผมสงบลงด้วยการอยู่เป็นเพื่อนผมอย่างเงียบๆ

ความสุข สิ่งที่ครั้งหนึ่งผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมีชีวิต เวลานี้ผมมองไม่เห็น

ถ้าผมมีคำถามหนึ่งข้อในคืนมืดมนคืนนั้น—แทนที่จะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายผม (ซึ่งผมรู้ในเวลาต่อมา)—คงจะเป็นการถามว่าทำไมผมจึงรู้สึกไม่มีความสุขเมื่อผมกำลังพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

วิถีของความสุขมีอุปสรรคหลายอย่างเกิดขึ้นได้ ความชั่วร้ายเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน (ดู แอลมา 41:10) ทว่าแม้แต่คนซื่อสัตย์ บางครั้งความสุขก็รู้สึกว่าไกลเกินเอื้อม

เราทุกคนมีชั่วขณะที่เราต้องการได้ยินว่าช่วงเวลาของความสุขมากกว่านี้รอเราอยู่เบื้องหน้า บางทีเวลานี้ท่านอาจกำลังใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลานั้น หากเป็นเช่นนั้น ขอให้ผมบอกด้วยความจริงใจว่าจริงๆ แล้ววันที่สดใสกว่า กำลัง มาหาท่าน ผมหวังว่าท่านจะทนอ่านเรื่องราวของผมต่ออีกสักหน่อยก่อนจะเลิกใส่ใจถ้อยคำคร่ำครวญเช่นนั้นว่าเป็นเรื่องโง่เขลาหรือไร้สาระ

ผมเชื่อจริงๆ ว่า ไม่ว่าท่านกำลังประสบอะไร ท่านสามารถได้รับความสุขมากกว่านั้น

ให้ผมอธิบายว่าเพราะเหตุใด

ความสุขคืออะไร

จริงๆ แล้ว ความสุข คือ อะไร ความสุขคือความรู้สึกที่คุณมีเมื่อใครบางคนแอบเอาขนมที่คุณโปรดปรานมาใส่กล่องอาหารกลางวันของคุณใช่หรือไม่ ความสุขคือการเลื่อนตำแหน่งที่ทำงานหรือ คือการได้แต่งงานกับคู่ชีวิตนิรันดร์ของคุณหรือ ความรู้สึกสะอาดจากบาปผ่านเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์หรือ

หรือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถูกทุกข้อ

การสนทนานี้จะดูสิ่งที่พระกิตติคุณและวิทยาศาสตร์จิตวิทยาจะสอนเราได้เกี่ยวกับความสุข ในหน้า 18 ของฉบับนี้ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเราถึงความจริงที่สำคัญอย่างยิ่งว่าปีติที่แท้จริงคือชีวิตที่มีศูนย์กลางอยู่ในพระเยซูคริสต์

ในทำนองเดียวกัน เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ความสุขสูงสุด สันติสุขแท้จริง และสิ่งใดก็ตามที่ใกล้เคียงมากกับปีติที่พระคัมภีร์กล่าวถึงพบได้เป็นอันดับแรก มากที่สุด และตลอดไปในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ปรัชญาและระบบความเชื่ออื่นได้รับการทดสอบมาแล้วมากมาย จึงดูเหมือนจะพูดได้ไม่ผิดว่า ปรัชญาและระบบอื่นทั้งหมดได้รับการทดสอบมาตลอดประวัติศาสตร์หลายศตวรรษ”1

หากปรัชญาอื่น ทั้งหมด ได้รับการทดสอบแล้ว คงไม่สามารถจดรายละเอียดได้ กระนั้นก็ตาม ขอให้เราพิจารณาความเชื่อผิดๆ ของโลกสองสามข้อเกี่ยวกับวิธีที่จะมีความสุข

ตามที่โลกบอก เราจะพบความสุขที่ยั่งยืนได้โดย

  • มีความมั่งคั่งทางการเงิน โดยเฉพาะหากมี มาก กว่าคนรอบข้าง

  • มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมชมชอบ

  • ดำเนินชีวิตอย่างสะดวกสบายและตื่นเต้น

  • การเดินทางท่องเที่ยวและประสบสิ่งมหัศจรรย์ของโลกหลายแห่งด้วยตนเอง

  • ประสบความสำเร็จด้วยตำแหน่งที่มีอำนาจหรืออิทธิพลในงานอาชีพ ชุมชน หรือวงการอื่นๆ

  • การเปลี่ยนร่างกายให้มีรูปแบบเฉพาะตน

กลยุทธ์หลากหลายเหล่านั้นมีอะไรเหมือนกันหรือ เรื่องหนึ่งคือสิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับสภาวการณ์ แต่เหมือนกับที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “ปีติที่เรารู้สึกแทบไม่เกี่ยวกับสภาพการณ์ในชีวิตและทุกอย่างที่เราทำกับศูนย์กลางชีวิตเรา”2

ศูนย์กลางของเราควรอยู่ที่ใดเพื่อพบปีตินั้น ประธานเนลสันสอนว่า “สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย พระเยซูคริสต์คือปีติ!”3

ปีติไม่ใช่แค่อารมณ์ซึ่งคงจะดีหากท่านมีได้ ไม่เลย ประธานเนลสันอธิบายว่าปีติเป็น “หลักธรรมหนึ่งซึ่งเป็นกุญแจสู่การอยู่รอดทางวิญญาณของเรา”4

ดังนั้นปีติและความสุขจึงคุ้มต่อการดิ้นรนที่จะได้มา และเราส่วนใหญ่เต็มใจพยายาม แล้วเหตุใดหลายคน—รวมทั้งคนชอบธรรม—จึงยังดิ้นรนอยู่

สิ่งหนึ่งคือการดิ้นรนนั้นเป็นกุญแจสู่สาเหตุที่เราอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก

อยู่ที่นี่เพื่อเติบโต

บางครั้งเรานึกว่าความสุขเป็นชีวิตที่ปราศจากปัญหาหรือความยากลำบาก แต่ชีวิตที่ปราศจากการต่อสู้ดิ้นรนจะไม่ทำให้เราเติบโตซึ่งเรามาที่นี่ก็เพื่อรับประสบการณ์นี้

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“ชีวิตคนเรา … จะทั้งเปี่ยมด้วยศรัทธาและปราศจากความเครียดไม่ได้ …

“… ท่านและข้าพเจ้าจะคาดหวังชีวิตที่ราบรื่นได้อย่างไร ประหนึ่งจะพูดว่า ‘พระเจ้า โปรดประทานประสบการณ์ให้ข้าพระองค์เถิด แต่ไม่เอาความเศร้าโศก โทมนัส ความเจ็บปวด การต่อต้าน การทรยศหักหลัง และที่แน่ๆ คืออย่าทอดทิ้งข้าพระองค์เป็นอันขาด พระเจ้า ขออย่าให้ข้าพระองค์ได้รับประสบการณ์ทั้งหมดนั้นซึ่งทำให้พระองค์ทรงเป็นอยู่! แต่ขอให้ข้าพระองค์ได้มาอยู่กับพระองค์และมีปีติเช่นพระองค์!’”5

เห็นได้ชัดว่าเราจำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตเพื่อเติบโตและการเป็นคนชอบธรรมเฉยๆ ไม่ได้ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ จงสำรวจดูชีวิตของโจเซฟ สมิธ, โยบ ผู้คนของแอลมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ของเรา6

ไม่เลย การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ไม่ได้ ทำให้เราหลุดพ้นจากปัญหาและการทดลองทั้งหมด ไม่มีใครหลุดพ้น กระนั้นท่านสามารถคาดหวังความช่วยเหลือและการเยียวยาจากพระผู้เป็นเจ้าได้เช่นกัน (ดู แอลมา 36:3, 27) เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “สำหรับท่าน ผู้ชอบธรรม พระผู้ทรงเยียวยาจิตวิญญาณเราจะทรงรักษาบาดแผลทั้งหมดของท่าน ในเวลาและในวิธีของพระองค์”7

หากท่านรู้สึกว่าบาดเจ็บ การเยียวยาอยู่แค่เอื้อม ท่านมั่นใจในเรื่องนี้ได้ (ดู โมไซยาห์ 14:4–5)

ความสุขและพันธุกรรม

เรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาก่อนคือ การวิจัยแสดงให้เห็นว่าพันธุกรรมส่งผลต่อส่วนสำคัญของอารมณ์พื้นฐาน สุขภาพจิต และความสุขที่สอดคล้องกันในแง่ของการทำงานแต่ละวัน

ใช่ว่าทุกคนจะมีรูปร่างหรือสีผมเหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน ใช่ว่าทุกคนจะมีนิสัยร่าเริงโดยธรรมชาติเหมือนกัน แต่นั่นเป็นแค่ชิ้นภาพปริศนาชิ้นหนึ่ง

ศาสตราจารย์แฮงก์ สมิธจากมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์เขียนไว้ว่า “แล้วถ้าคุณบังเอิญโชคร้ายในเรื่องดีเอ็นเอล่ะ นั่นหมายความว่าคุณแก้ไขอะไรไม่ได้เลย—คุณจะไม่มีวันมีความสุขและคุณทำอะไรไม่ได้เลยใช่ไหม แน่นอนว่าไม่ … หากสารเคมีในสมองของคุณไม่ทำงานดังที่มันควรเป็นเนื่องจากแนวโน้มที่ได้รับมาแต่กำเนิด (เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น) มียาและการรักษาที่จะทำให้สารเคมีเหล่านั้นอยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพได้”8

ขอให้เราสำรวจกลยุทธ์ที่เกิดจากความตั้งใจบางอย่าง—กลยุทธ์บางอย่างมาจากพระกิตติคุณ บางอย่างมาจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์—ซึ่งจะเพิ่มโอกาสของเราที่จะมีความสุข

mother with children

กลยุทธ์เก้าข้อของคนที่มีความสุข

กลยุทธ์ 1: ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

ดังที่ประธานเนลสัน เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ เอ็ลเดอร์เบดนาร์และคนอื่นๆ สอน ความสุขที่แท้จริงมาจากการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เรียกว่าเป็น “แผนแห่งความสุข” เช่นกัน (ดู แอลมา 42:8) พระคัมภีร์เต็มไปด้วยคำแนะนำว่าความชอบธรรมจำเป็นสำหรับความสุขที่แท้จริง (ดู 2 นีไฟ 2:13 และ โมไซยาห์ 2:41 เป็นตัวอย่างสองข้อใน หลายๆ ข้อ)

สิ่งที่เรียบง่าย ทรงพลัง และเป็นพื้นฐาน การน้อมรับและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างเต็มที่เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดที่ท่านทำได้ในการค้นพบปีติและความสุขที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตนี้และในชีวิตที่จะมาถึง

กลยุทธ์ 2: ใช้เวลาของท่าน “ทุ่มเทในอุดมการณ์ดี” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:27)

การได้รับมรดกมากมายที่ทำให้ท่านสามารถเดินทอดน่องบนชายหาดได้ตลอดกาลอาจจะเป็นภัยต่อความสุขของท่านอย่างแน่แท้—แม้ว่าตรรกของโลกจะบอกอีกแบบหนึ่ง ความจริงคือ เราจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในงานที่มีความหมายต่อไปเพื่อจะมีความสุข

“แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า ‘ความสุขไม่ได้เกิดจากการมีเงินเท่านั้น แต่เกิดจากปีติที่มาจากความสำเร็จ ความตื่นเต้นจากผลงานสร้างสรรค์’”9

งานที่มีความหมายทำให้เกิดความพึงพอใจซึ่งเราหาไม่ได้จากวิธีอื่น

เอ็ลเดอร์อูลิส์เสส ซวาเรสแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “การได้รับความสุข โดยปกติแล้วเกี่ยวข้องกับความพยายามต่อเนื่องยาวนานเพื่อให้ได้สิ่งสำคัญมากกว่าในชีวิต”10 งานที่มีความหมายเช่นนั้นอาจเป็นมากกว่าประเภทของงานหรืออาชีพ อาทิ การเลี้ยงลูก การรับใช้ในศาสนจักร หรืองานอาสาสมัครที่ต้องสละเวลาและพรสวรรค์ของท่าน

กลยุทธ์ 3: เลือกความสำนึกคุณ

พลังของการเลือกดำเนินชีวิตด้วยความสำนึกคุณเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความคิดในแต่ละวันซึ่งการปฏิบัตินั้นมักจะเรียกว่าเป็นวิธี “เชื่อมระบบใหม่ให้สมอง”

พูดจากใจจริง—แม้เมื่อชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ดวงตาแหลมคมก็ยังสามารถจับผิดบางอย่างเพื่อมาบ่นว่าได้ อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันก็เป็นจริงด้วยว่า ไม่ว่าเรื่องต่างๆ จะยากเพียงใด เราจะพบบางสิ่งที่เราสำนึกคุณได้ เสมอ

และสิ่งที่สวยงามเกิดขึ้นตรงนั้น

ต่อไปนี้เป็นการทดลองที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง นั่นคือ พยายามจดบันทึกความสำนึกคุณ ทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อยสามสัปดาห์ ให้จดสิ่งที่ท่านสำนึกคุณสามอย่างซึ่งเกิดขึ้นใน วันนั้น นอกเหนือจากนั้น ให้เพิ่มสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นโดยทั่วไปสองสามอย่างที่ท่านสำนึกคุณ เช่น ดอกไม้ ครอบครัว หรืออาหาร

ไม่ช้า ท่านจะพบว่าท่านไม่เพียงสังเกตเห็นสิ่งเหล่านั้นที่สามารถเพิ่มในรายการของท่านได้ง่ายขึ้น แต่ท่านเริ่มคาดหวังจริงๆ ว่าท่านจะพบ การดำเนินชีวิตด้วยความสำนึกคุณมากขึ้นช่วยท่านพบปีติได้ดีขึ้นในสภาวการณ์ปัจจุบันของท่านซึ่งมีผลสำคัญโดยตรงต่อความสุขของท่านเอง11

นิตยสาร Forbes รายงานว่า “การบ่มเพาะความสำนึกคุณไม่เสียเงินและไม่ต้องใช้เวลามาก แต่ผลตอบแทนมหาศาล”12

ท่านสำนึกคุณสำหรับอะไรในวันนี้

กลยุทธ์ 4: ใช้เวลาข้างนอก

man jogging

การใช้เวลาข้างนอก โดยเฉพาะในธรรมชาติจะเกิดประโยชน์หลายอย่าง เช่น ลดความเครียดและอัตราการเต้นของหัวใจหรือทำให้สมองโล่ง

นิตยสาร Time รายงานการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถของธรรมชาติที่จะฟื้นฟูตัวเรา จากการศึกษาพบว่า “คนจะเริ่มรู้สึกว่าได้รับการฟื้นฟูทางจิตหลังจากออกไปนั่งข้างนอกไม่ว่าจะในสวนสาธารณะหรือป่าแค่ 15 นาที”13

เป็นเรื่องยากที่จะรู้สึกมีความสุขหากเรารู้สึกอ่อนเพลียและเครียดอยู่ตลอดเวลา พยายามออกไปข้างนอกสักครึ่งชั่วโมงหรือในวันส่วนใหญ่ของสัปดาห์หรือมากกว่านั้นถ้าท่านทำได้ ทำไมจึงไม่ออกไปข้างนอกและมีความสุขบ่อยขึ้นอีกสักนิด

กลยุทธ์ 5: จำกัดเวลาดูหน้าจอ

การใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไปไม่ดีต่อความสุขของเรา เวลาที่ท่านใช้ในการจ้องมองจอทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ท หรือโทรศัพท์มีผลมากและจะส่งผลด้านลบต่อสุขภาพจิตของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นสื่อสังคมออนไลน์ จีน เอ็ม. ทเวงก์ นักเขียนที่มียอดขายดีที่สุดคนหนึ่งศึกษาหัวข้อนี้อย่างลึกซึ้ง เขาอธิบายว่า “ยิ่ง [คน] ใช้เวลาดูหน้าจอมากเท่าใด ดูเหมือนเขาจะยิ่งมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น”14

ประธานเนลสันกล่าวว่า “ถ้าท่านสนใจข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าเสียงกระซิบของพระวิญญาณ ท่านกำลังทำให้ตนเองตกอยู่ในอันตรายทางวิญญาณ—รวมถึงอันตรายจากการประสบความโดดเดี่ยวและความซึมเศร้าอย่างรุนแรง”15

ดังนั้น จงให้เวลาตัวท่านเองออกห่างจากหน้าจอของท่าน ท่านจะขอบคุณตนเองในภายหลัง

กลยุทธ์ 5: อยู่กับปัจจุบัน

หากท่านเป็นมนุษย์ มีโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ที่ท่านจะพูดหรือทำบางสิ่งที่หากย้อนเวลากลับไปได้ท่านจะไม่พูดหรือทำสิ่งนั้น น่าจะมีมากทีเดียว แต่ที่น่าแปลกคือ กี่ครั้งที่คนส่วนใหญ่เลือกหวนกลับไปนึกถึงช่วงเวลานั้น

จอห์น บายเดอะเวย์ นักเขียนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเขียนเกี่ยวกับปัญหาของความฝังใจกับอดีตว่า “คนที่เศร้าหมองมีถังขยะรีไซเคิลที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดในอดีต ทุกวันพวกเขานึกถึงแต่ความเสียใจในอดีตและแปรรูปความสำนึกผิดกลับมาใช้อีกครั้ง ภาษาของพวกเขาเต็มไปด้วยวลีเช่น ‘ฉันควรจะ’ ‘ฉันน่าจะ’ ‘ฉันอาจจะ’ ‘ทำไมฉันไม่’ และ ‘แสนเสียดาย’ พวกเขาไม่เคยมองว่าพวกเขากำลังจะไปไหนเนื่องจากพวกเขาถอนสายตาจากที่ซึ่งพวกเขาจากมาไม่ได้”16

เขาเขียนถึงปัญหาทำนองเดียวกันนี้เกี่ยวกับความฝังใจกับอนาคตมากเกินไปว่า “คนที่เศร้าหมองมองหาเหตุการณ์บางอย่างด้านนอกที่ทำให้พวกเขามีความสุข ‘ทันทีที่ฉันเรียนจบ ฉันจะมีความสุข’ หลังจากพวกเขาเรียนจบ พวกเขาพูดว่า ‘ทันทีที่ฉันได้งาน ฉันจะมีความสุข’ หลังจากพวกเขาได้งาน พวกเขาพูดว่า ‘ทันทีที่ฉันแต่งงาน ฉันจะมีความสุข’ … ถ้าท่านตั้งใจจะเศร้าหมองแล้วละก็จงคิดว่าชีวิตเป็นห้องนั่งรอและความสุขเป็นหมอของท่าน”17

เรามีแนวโน้มที่จะพบความสุขและความผาสุกอย่างที่สุดเมื่อเราดำเนินชีวิตให้อยู่กับปัจจุบันและจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ณ ปัจจุบัน

ในแวดวงสุขภาพจิตและจิตเวช คำว่า “สติ” เป็นวิธีย่อคำสัญลักษณ์เมื่อบรรยายถึงการทุ่มเทเต็มที่ในชั่วขณะนั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแนะนำว่า “ความกลัวและความไม่มั่นใจเกี่ยวกับอดีตและอนาคตจะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมีความสุขเต็มที่กับปัจจุบัน”18

ต่อไปนี้เป็นเกร็ดน่ารู้สองสามข้อในการฝึกดำเนินชีวิตด้วยสติ

  1. ให้จดบันทึกความสำนึกคุณ (ดูกลยุทธ์ 3 ด้านบน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนหลายๆ สิ่งที่ท่านสำนึกคุณสำหรับวันนั้น

  2. ใช้เวลาทำสมาธิทุกวัน หาที่นั่งสงบปราศจากสิ่งดึงดูดความสนใจ หลับตาและกำหนดลมหายใจเข้าออกของท่าน หากมีความคิดเข้ามา ให้รับรู้และปล่อยความคิดนั้นออกไปแล้วกลับมาสนใจการกำหนดลมหายใจของท่าน อาจฟังดูแปลก แต่เป็นการฝึกจิตที่ดีเยี่ยมเพื่อให้จิตของท่านจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน

  3. ใส่ใจมากขึ้นโดยอัตโนมัติกับกิจวัตรที่ท่านทำเป็นปกติ เช่นการล้างจาน การขับรถ หรือแม้แต่การกิน ให้รู้สึกถึงน้ำสบู่ที่ไหลผ่านมือของท่าน ขณะขับรถ ให้สังเกตต้นไม้ ผู้คน และตึกรามบ้านช่อง เคี้ยวอาหารช้าๆ สัมผัสรสชาติและเครื่องปรุงของอาหารแต่ละคำ

  4. สวดอ้อนวอนให้สังเกตเห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากท่านในวันนั้น จากนั้นเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและพร้อมจะลงมือทำ

  5. เปลี่ยนกิจวัตรของท่านเป็นครั้งคราว ลองใช้เส้นทางใหม่กลับบ้าน จัดร้านให้ดูต่างกับร้านของชำอื่น หรือเปลี่ยนกิจกรรมช่วงเย็นที่ท่านเคยทำเป็นประจำ

กลยุทธ์ 7: เชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ในแง่ความสุขและสุขภาพโดยทั่วไป การมุ่งเน้นความสัมพันธ์ที่มีความหมายเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ดร. เอ็มมา เซ็บปาลา เขียนว่า “การเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมที่เข้มแข็ง:

  • นำไปสู่โอกาสเพิ่มขึ้นที่จะมีอายุยืน 50%

  • เพิ่มความแข็งแกร่งให้ระบบภูมิคุ้มกันของท่าน …

  • ช่วยให้ท่านหายจากโรคเร็วขึ้น”

เธอเขียนต่อไปว่า “คนที่รู้สึกว่าเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มากกว่าจะมีระดับความวิตกกังวลและการซึมเศร้าต่ำกว่า”19

เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่มีอยู่ไม่มากจะดีกว่าความสัมพันธ์ผิวเผินที่มีอยู่มากมาย เราไม่จำเป็นต้องวางแผนเวลาว่างของเราให้กิจกรรมทางสังคมจนแน่นเกินไป แต่เราจำเป็นต้องมีการเชื่อมความสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างมาก แม้แต่คนที่มีโลกส่วนตัวสูงก็ยังมีหลายวิธีที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นในแวดวงของเพื่อนและครอบครัว

เมื่อพูดถึงครอบครัว ครั้งหนึ่งเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ในความสัมพันธ์ของครอบครัว ความรัก สะกดด้วยคำว่า เ-ว-ล-า เวลา”20

เนื่องจากท่านมีเวลาเพิ่มมากขึ้นจากการลดเวลาหน้าจอ (ดังที่ผมแนะนำ) ท่านอาจใช้เวลาเหล่านั้นบางช่วงไปปฏิสัมพันธ์ด้วยตนเอง การเยี่ยมเยียนด้วยการปฏิบัติศาสนกิจ การแข่งขันกีฬา ชมรมสะสมสแตมป์ … หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ท่านเชื่อมความสัมพันธ์กับคนอื่นสามารถช่วยเพิ่มความสุขและความผาสุกของท่าน

กลยุทธ์ 8: ดูแลวิหารของท่าน

การให้ร่างกายของท่านนอนหลับอย่างมีคุณภาพ โภชนาการที่เหมาะสม และการออกกำลังกายที่เพียงพอจะทำให้ได้รับความสุขอย่างมาก อารมณ์ของเรามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่สมองเหมือนกับอวัยวะอื่นของร่างกายเรา ได้ประโยชน์จากวิธีปฏิบัติที่ดีขึ้นในด้านสุขภาพ

ขั้นตอนเหล่านี้ที่ท่านทำเพื่อพัฒนาสุขภาพร่างกายในที่สุดจะรวมถึงการพัฒนาสมองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายท่าน จะช่วยให้ท่านคิดได้ชัดเจนมากขึ้น จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เร็วขึ้น และทำให้อารมณ์ของท่านมั่นคง

ในเรื่องกิจวัตรด้านสุขภาพ มาตรการที่ดีคือเริ่มช้าๆ และเปลี่ยนทีละอย่าง เริ่มจากสิ่งเล็กๆ เช่น เดินมากขึ้นหรือปรับเปลี่ยนสิ่งที่ท่านรับประทาน หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ มีผลใหญ่หลวง

กลยุทธ์ 9: มองออกไปข้างนอก

กลยุทธ์แปดข้อที่ผ่านมาอาจดูชัดเจนกว่ากลยุทธ์ข้อสุดท้ายนี้ แต่เรามักจะพบความสุขเมื่อเราไม่ได้จดจ่ออยู่กับเรื่องนี้โดยตรง

เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์สอนว่า “ความสุขไม่ใช่วิ่งเข้าหาก็เจอได้ง่าย ความสุขมักจะหายากมาก ไม่จีรัง ละเอียดอ่อนมาก หากท่านไม่เคยเรียนรู้เรื่องความสุข ท่านจะเรียนรู้ในอนาคตข้างหน้าว่าส่วนใหญ่แล้วความสุขเกิดขึ้นกับเราเมื่อเราคาดหวังน้อยที่สุด เมื่อเราจดจ่ออยู่กับการทำสิ่งอื่น ความสุขมักจะเเป็นผลของความพยายามในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ”21

เมื่อเป็นไปได้ให้ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อบ่มเพาะกลยุทธ์และนิสัยเพื่อให้มีความสุข หลังจากทำทุกสิ่งที่เราทำได้แล้ว ถึงเวลาที่เราจะหันออกไปและปล่อยให้ความสุขพบเราขณะที่เราพยายามช่วยผู้อื่น

ความสุขและความเจ็บป่วยทางจิต

เมื่อกล่าวถึงสภาพความเจ็บป่วย เช่น ซึมเศร้าและวิตกกังวล ความสุขกลายเป็นสิ่งที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น อาการสั่นเทากลางดึกที่ผมกล่าวก่อนหน้านั้นกลายเป็นอาการจากความวิตกกังวลที่เกิดจากภาวะซึมเศร้า

ในชีวิตผม เมื่อผมกำลังเจ็บปวดเต็มที่จากความมืดและความไม่แน่นอนนั่นคือภาวะซึมเศร้า ผมไม่สามารถ “เลือกที่จะรู้สึกมีความสุข” เหมือนกับที่ผมไม่สามารถเลือกความสูงหรือสีตาของผม

แต่สิ่งที่ผมเลือกได้ เสมอ คือการต่อสู้กับความมืดนั้น ผมสามารถเอื้อมไปหาพระผู้เป็นเจ้า ผมสามารถใช้เครื่องมือทุกอย่างตั้งแต่ศรัทธาและการสวดอ้อนวอนจนถึงการแพทย์แผนปัจจุบัน

สำหรับผม การหลุดออกมาจากภาวะซึมเศร้าได้สำเร็จตลอดหลายปีที่ผ่านมาต้องใช้หลากหลายวิธี ผมต้องดูแลสุขภาพร่างกายของผม (ออกกำลังกาย โภชนาการ การนอนหลับ) สุขภาพด้านการรักษาพยาบาลของผม (การรักษา วิตามิน การปรึกษากับแพทย์) สุขภาพทางอารมณ์ของผม (การขอคำปรึกษา การเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น) และสุขภาพทางวิญญาณของผม (การสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ การรับใช้ในศาสนจักร เวลาในพระวิหาร) ในวิธีที่สมดุล

ถึงแม้ผมจะประสบกับช่วงเวลาตกต่ำที่เจ็บปวดตลอดหลายปีจากโรคซึมเศร้า แต่ผมได้รับพรที่ได้ประสบกับความสุขและด้านดี ในเวลาส่วนใหญ่! ผมรู้สึกเจ็บปวดแทนท่านที่ได้รับผลกระทบจากอาการป่วยทางจิตที่รุนแรงและเรื้อรังกว่าผม แม้แต่กับท่าน ผมเชื่อเต็มเปี่ยมว่าเจ้าชายแห่งสันติจะรักษาความโศกเศร้าทั้งหมดของท่าน (ดู ยอห์น 14:27)

โรคซึมเศร้าให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหลายอย่างเกี่ยวกับความสุข มันยืนยันว่าทุกสิ่งจะไม่มีวันดีขึ้น ยาถอนพิษขนานเอกสำหรับข้อมูลเท็จนี้—อย่างน้อยก็สำหรับผม—อยู่ในเพลงสวดที่ผมชื่นชอบ “Be Still, My Soul”

จิตวิญญาณข้าจงสงบ พระผู้เป็นเจ้าของท่านทรงสัญญาไว้

เพื่อนำทางอนาคตดังที่ทรงทำในอดีต

ความหวัง ความมั่นใจของท่านอย่าให้สิ่งใดมาสั่นคลอน

บัดนี้ความลี้ลับทั้งปวงจะพลันกระจ่าง22

เป็นความจริงที่สวยงามมิใช่หรือ ขณะที่ผมมองย้อนกลับไปดูชีวิตผม ผมไม่สงสัยเลยว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพร ประทานความเข้มแข็ง และทรงนำผมมาตลอดทาง ดังนั้น ผมจึงรู้ว่าพระองค์จะทรงอยู่ที่นั่นเพื่อผมในอนาคต ดังที่ผมรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำท่านตลอดทางสู่วันที่มีความสุขยิ่งกว่า

โดยผ่านพระองค์ สักวันหนึ่งความสุขของท่านจะสมบูรณ์

อ้างอิง

  1. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เส้นทางพระกิตติคุณสู่ความสุข,” เลียโฮนา, ก.ย. 2017, 17.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82.

  3. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” 82.

  4. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” 81.

  5. Neal A. Maxwell, “Lest Ye Be Wearied and Faint in Your Minds,” Ensign, May 1991, 88.

  6. ดู อิสยาห์ 53:7; โมไซยาห์ 23–24; และ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1.

  7. นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “บาดแผล,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 86.

  8. แฮงก์ สมิธ, Be Happy (2017), 17–18.

  9. อาเธอร์ ซี. บุ๊กส์, “A Formula for Happiness,” New York Times, Dec. 14, 2013, nytimes.com.

  10. อูลิส์เสส ซวาเรส, “เส้นทางสู่ความสุขที่แท้จริง,” เลียโฮนา, เม.ย. 2018, 46.

  11. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 81–84.

  12. เอมี โมริน, “7 Scientifically Proven Benefits of Gratitude That Will Motivate You to Give Thanks Year-Round,” Forbes, Nov. 23, 2014, forbes.com.

  13. ฟลอเรนซ์ วิลเลียมส์, “How Just 15 Minutes in Nature Can Make You Happier,” Time, Feb. 7, 2017, time.com.

  14. จีน เอ็ม. ทเวงก์, “Have Smartphones Destroyed a Generation?” The Atlantic, Sept. 2017, theatlantic.com.

  15. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “ความหวังอิสราเอล” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับเยาวชนทั่วโลก 3 มิถุนายน 2018) HopeofIsrael.ChurchofJesusChrist.org.

  16. จอห์น บายเดอะเวย์, How to Be Totally Miserable (2007), 57.

  17. จอห์น บายเดอะเวย์, How to Be Totally Miserable, 33.

  18. “Mindfulness,” psychologytoday.com.

  19. เอ็มมา เซ็บปาลา, “Connectedness & Health: The Science of Social Connection Infographic,” Apr. 11, 2014, emmaseppala.com.

  20. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 23.

  21. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เส้นทางพระกิตติคุณสู่ความสุข,” เลียโฮนา, ก.ย. 2017, 16.

  22. “Be Still, My Soul,” Hymns, no. 124.