2019
สิ่งที่เรื่องราวคริสต์มาสสอนเราเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ
ธันวาคม 2019


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

สิ่งที่ เรื่องราวคริสต์มาส สอนเราเกี่ยวกับ การปฏิบัติศาสนกิจ

“นี่คือเวลาแห่งความชื่นบานหรรษา ร้องเพลงเถิดคริสต์มาสกำลังใกล้เข้ามา มาซิเล่าเรื่องพระเยซูประสูติมา ครั้งเป็นทารกพระเสด็จมาในหล้า” (“เพลงประสูติกาล,” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 32)

angel appearing to shepherds

ข่าวประเสริฐแห่งความปรีดียิ่ง (ทูตสวรรค์ปรากฏต่อคนเลี้ยงแกะ), โดย วอลเตอร์ เรน

ช่วงคริสต์มาสเป็นช่วงเวลาวิเศษที่แกะ คนเลี้ยงแกะ รางหญ้า และดวงดาวมีความหมายใหม่ขึ้นมาทันที สิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเล่าเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นั่นคือ การประสูติของพระเยซูคริสต์ หลายครอบครัวจัดวางฉากจำลองการประสูติในบ้าน หลายคนตั้งใจอ่านเรื่องราวการประสูติของพระองค์หรือมีส่วนร่วมในการแสดง เช่นเดียวกับทุกเรื่องเกี่ยวกับพระคริสต์ เรื่องราวการประสูติของพระองค์เต็มไปด้วยบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ เกี่ยวกับการแบ่งปันแสงสว่างของพระองค์เพื่อทำให้โลกสว่าง “เรื่องราวของคริสต์มาสเป็นเรื่องราวแห่งความรัก” ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว

“… ในเรื่องราวการประสูติของพระคริสต์ เราจะเห็นและรู้สึกได้ว่าพระองค์ทรงเคยเป็นใครและเป็นใครในเวลานี้ ซึ่งจะบรรเทาภาระของเราตลอดทาง จะทำให้เราลืมตนเองและบรรเทาภาระผู้อื่น”1

“ไม่มีที่ว่างในโรงแรม” (ดู ลูกา 2:7)

เจ้าของโรงแรมไม่สามารถหาที่ว่างให้พระผู้ช่วยให้รอด แต่เราไม่ต้องทำผิดพลาดเช่นนั้น! เราสามารถหาที่ว่างในใจเราให้พระผู้ช่วยให้รอดโดยการให้ที่ว่างสำหรับพี่น้องของเราที่โต๊ะของเรา ในบ้านของเรา และในประเพณีของเรา ประเพณีครอบครัวหลายอย่างจะหอมหวานและเป็นที่น่าจดจำยิ่งขึ้นเมื่อให้คนอื่นมีส่วนร่วม ไดอานาและครอบครัวของเธอมีประเพณีเชื้อเชิญให้คนมาใช้ช่วงเวลาคริสต์มาสกับพวกเขา ทุกเดือนธันวาคม พวกเขาพูดคุยกันและตัดสินใจว่าจะเชิญใคร2 ครอบครัวท่านอาจจะเริ่มประเพณีคล้ายกันนั้น บางทีคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจคงอยากร้องเพลงคริสต์มาสโปรดกับครอบครัวท่าน ท่านอาจจัดที่ว่างให้บางคนที่อาจไม่มีครอบครัวอยู่ในแถบนั้นมารับประทานอาหารเย็นคริสต์มาสกับท่าน

วิธีเฉลิมฉลองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการทำตามแบบอย่างของพระองค์ในการให้คนอื่นมีส่วนร่วม พึงจดจำว่าพระองค์ทรงเชื้อเชิญ “พวกเขาทั้งหมดให้มาหาพระองค์และรับส่วนพระคุณความดีของพระองค์; และพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย, ไม่ว่าดำและขาว, ทาสและไท, ชายและหญิง; และพระองค์ทรงคำนึงถึงคนนอกศาสนา; และทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 26:33) ให้ที่ว่างและให้คนอื่นมีส่วนร่วม

“ในแถบนั้นมีพวกคนเลี้ยงแกะอยู่กลางทุ่งกำลังเฝ้าฝูงแกะของเขาในเวลากลางคืน” (ลูกา 2:8)

ดูเหมาะสมแล้วที่คนเลี้ยงแกะจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้นมัสการพระกุมารพระผู้ช่วยให้รอด ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเรียกพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็น “พระผู้ทรงเลี้ยงดูอิสราเอลดุจเลี้ยงแกะ” (สดุดี 80:1) และ “พระเมษบาลเดียวทั่วทั้งแผ่นดินโลก” (1 นีไฟ 13:41) และพระคริสต์พระองค์เองตรัสว่า “เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี เรารู้จักแกะของเราและแกะของเราก็รู้จักเรา” (ยอห์น 10:14) การรู้จักแกะของเราและการเฝ้าดูเป็นส่วนสำคัญของการเลี้ยงแกะและปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ

พร้อมกับไฟระยิบระยับและของประดับประดา มีหลายสิ่งให้ดูในช่วงคริสต์มาส แต่บางทีเราจะพบความสวยงามที่สุดของเทศกาลเมื่อเราจดจำที่จะหันความสนใจของเราไปยังคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจและเฝ้าดูฝูงแกะของเราเอง การเฝ้าดูอาจเป็นการสังเกตเห็นขนมที่ใครสักคนโปรดปรานหรือการถามเกี่ยวกับแผนวันหยุดของบางคน เราเฝ้าดูเมื่อเราเห็นและหาทางช่วยเหลือตามความต้องการของผู้อื่น—ทั้งที่เห็นได้ชัดและไม่ชัด

เมื่อเชอรีลสูญเสียนิค สามีของเธออย่างกะทันหัน เธอหดหู่ใจมาก เมื่อคริสต์มาสแรกที่ไม่มีเขาใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ความรู้สึกโดดเดี่ยวก็เพิ่มขึ้น น่ายินดีที่ชอนน่า ซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจของเธออยู่ที่นั่น ชอนน่าและจิม สามีของเธอเชื้อเชิญเชอรีลไปเที่ยววันหยุดหลายครั้ง พวกเขาสังเกตเห็นเสื้อกันหนาวเก่าๆ ของเชอรีลและตัดสินใจทำบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งนั้น สองสามวันก่อนคริสต์มาส ชอนน่ากับจิมนำของขวัญคริสต์มาสมาให้เชอรีล ซึ่งคือ เสื้อกันหนาวสวยงามตัวใหม่ พวกเขารู้ถึงความต้องการทางโลกของเชอรีล เธอต้องการเสื้อกันหนาวที่อบอุ่นและความต้องการทางอารมณ์ของเธอที่ต้องการการปลอบโยนและเพื่อน พวกเขาทำบางอย่างเพื่อเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้และแสดงแบบอย่างอันสวยงามถึงวิธีที่เราเองจะเฝ้าดูแกะของเราด้วย3

“บรรดาคนเลี้ยงแกะก็พูดกันว่า ให้เราไปยังเมืองเบธเลเฮม” (ลูกา 2:15)

“ให้เราไป” เป็นคำเชื้อเชิญอย่างร่าเริง! คนเลี้ยงแกะไม่ได้ทึกทักว่าเพื่อนของพวกเขาเหนื่อยเกินกว่าจะเดินทาง พวกเขาไม่ได้มุ่งไปที่เบธเลเฮมด้วยตนเองอย่างเงียบๆ พวกเขาหันไปหากันอย่างมีความสุขและพูดว่า “ให้เราไป!”

ถึงแม้เราไม่อาจเชื้อเชิญให้เพื่อนของเรามาดูพระกุมารพระผู้ช่วยให้รอด แต่เราสามารถเชื้อเชิญให้พวกเขารู้สึกถึงวิญญาณแห่งคริสต์มาส (หรือพระวิญญาณของพระคริสต์) โดยการรับใช้กับเรา “วิธีเพิ่มพูนวิญญาณคริสต์มาสคือการเอื้อมออกไปหาคนรอบตัวเราอย่างเอื้อเฟื้อและเสียสละตนเอง” ซิสเตอร์บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญกล่าว4 ให้จินตนาการว่าท่านกำลังถือเทียนอยู่ คนอื่นสามารถเห็นและได้ประโยชน์จากแสงสว่างของเทียนท่านอย่างแน่นอน แต่ให้จินตนาการถึงความอบอุ่นที่พวกเขาจะรู้สึกได้หากท่านใช้เทียนของท่านจุดเทียนให้พวกเขาและช่วยให้พวกเขาชูแสงสว่างด้วยตนเอง

พระคริสต์เองทรงสอนว่าคนที่ติดตามพระองค์จะมีความสว่างแห่งชีวิต (ดู ยอห์น 8:12) การรับใช้ดังที่พระองค์ทรงทำเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะติดตามพระองค์และชื่นชมแสงสว่างที่สัญญาไว้นั้น ดังนั้น จงแบ่งปันแสงสว่างโดยเชื้อเชิญผู้อื่นให้รับใช้กับท่าน! ท่านและคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจจะรับใช้ด้วยกันได้อย่างไร ท่านสามารถเตรียมอาหารโปรดหรือทำให้บางคนประหลาดใจด้วยของขวัญเล็กๆ หรือข้อความสั้นๆ ด้วย ท่านทั้งสองจะรู้สึกถึงแสงสว่างที่มาจากการทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ในการรับใช้ด้วยกัน

Nativity scene

จงดูพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า, โดย วอลเตอร์ เรน

“จึงเล่าเรื่องที่เขาได้ยินถึงพระกุมารนั้น” (ลูกา 2:17)

เป็นเรื่องง่ายที่จะนึกภาพความตื่นเต้นยินดีของคนเลี้ยงแกะขณะที่พวกเขาแบ่งปันข่าวสารอันน่าทึ่งเกี่ยวกับการประสูติของพระคริสต์กับหลายคนเท่าที่พวกเขาทำได้ ทูตสวรรค์ประกาศ พระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้เสด็จมา! พระองค์ทรงอยู่ที่นี่! อันที่จริง การแบ่งปันข่าวประเสริฐเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเป็นหัวข้อใหญ่ของเรื่องราวการประสูติ ทูตสวรรค์ป่าวร้อง ดวงดาวชี้ทาง และคนเลี้ยงแกะเล่าเรื่อง

เราสามารถใส่เสียงของเราลงไปในเรื่องราวคริสต์มาสโดยการแบ่งปันข่าวประเสริฐและเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด “เมื่อท่านได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นตัวแทนของพระผู้ช่วยให้รอดในงานปฏิบัติศาสนกิจของท่าน ขอให้ถามตัวท่านเองว่า ‘ฉันจะแบ่งปันแสงสว่างของพระกิตติคุณให้คนนี้หรือครอบครัวนี้ได้อย่างไร’” ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอน “พระวิญญาณทรงดลใจให้ฉันทำอะไร” 5

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสองสามข้อเพื่อให้ท่านไตร่ตรองขณะที่อยากรู้ว่าท่านจะแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ได้อย่างไร

  • หาข้อพระคัมภีร์ที่บอกความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดหรือแสดงเหตุผลที่ท่านสำนึกคุณต่อพระองค์ แบ่งปันกับคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจ

  • ส่งข้อความหรือข้อความในสื่อสังคมไปพร้อมกับวีดิทัศน์คริสต์มาส มีวีดิทัศน์ที่ยอดเยี่ยมบางเรื่องใน ChurchofJesusChrist.org!

  • เล่าให้เพื่อนฟังเกี่ยวกับความทรงจำหรือประเพณีพิเศษที่ทำให้ท่านนึกถึงพระคริสต์

มีศรัทธาว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเป็นพยานถึงความจริงของประจักษ์พยานของท่าน ดังที่พระองค์ทรงเป็นพยานต่อสิเมโอนและอันนาว่าพระกุมารเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ลูกา 2:26, 38)

“เพื่อเชิดชูการเสด็จมาในโลก [ของพระเยซูคริสต์] เราต้องทำดังที่พระองค์ทรงทำและยื่นมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยความเมตตาสงสาร” เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว “เราทำสิ่งนี้ได้ทุกวัน ทั้งโดยคำพูดและการกระทำ ขอให้สิ่งนี้กลายเป็นประเพณีคริสต์มาสของเรา ไม่ว่าเราอยู่ที่ใด—มีน้ำใจมากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น ตัดสินน้อยลง สำนึกคุณมากขึ้น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้นในการแบ่งปันความอุดมสมบูรณ์ของเรากับคนขัดสน”6

อ้างอิง

  1. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “Christmas Stories” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณจากฝ่ายประธานสูงสุดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส 6 ธ.ค. 2009), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org.

  2. ดู ไดอานา เมลินา อัลบอร์นอซ ไดแอส, “แบ่งปันคริสต์มาส” เลียโฮนา, ธ.ค. 2007, 17.

  3. ดู เชอรีล บอยล์, “He Would Have Bought It for You,” Ensign, Dec. 2001, 57.

  4. บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “Christmas Is Christlike Love” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณจากฝ่ายประธานสูงสุดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส 7 ธ.ค. 2014), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org

  5. จีน บี. บิงแฮม, “การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 104.

  6. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “Scatter Your Crumbs” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณจากฝ่ายประธานสูงสุดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส 3 ธ.ค. 2017), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org