2021
สิทธิอำนาจ ศาสนพิธี และการเตรียม
สิงหาคม 2021


สิทธิอำนาจ ศาสนพิธี และการเตรียม

ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งคือรากฐานในแผนใหญ่ยิ่งของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อบุตรธิดาของพระองค์ซึ่งเป็นการเตรียมของพวกเขาด้วย

Tegucigalpa Honduras Temple

ภาพถ่ายพระวิหารเตกูซิกัลปา ฮอนดูรัส โดย โคดีย์ เบลล์

พระคัมภีร์มีเรื่องอ้างอิงมากมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ชอบธรรมรอคอยด้วยความกระตือรือร้นส่วนคนชั่วร้ายพรั่นพรึงหรือปฏิเสธ “ให้เสียงร้องออกไปในบรรดาผู้คนทั้งปวง,” พระเจ้าทรงเตือนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู “ดูเถิด, และดูสิ, เจ้าบ่าวเสด็จมา … จงเตรียมตัวเจ้าไว้รับวันสำคัญยิ่งของพระเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:10; ดู 34:6 ด้วย)

การเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า

เราอยู่ในช่วงเวลาที่พยากรณ์ไว้ “เมื่อสันติสุขจะถูกนำไปจากแผ่นดินโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:35) เมื่อ “สิ่งทั้งปวงจะอยู่ในความโกลาหล; และ … ใจมนุษย์จะท้อแท้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:91) เรื่องท้าทายล้อมเราไว้ทุกด้าน แต่ด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า เราวางใจในพรที่พระองค์ทรงสัญญาไว้กับผู้ที่รักษาพระบัญญัติของพระองค์และเตรียมพร้อม

ส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวเราเพื่อพบพระองค์ พระเจ้าทรงบัญชาว่า “เจ้าจงยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์, และไม่หวั่นไหว, จนวันของพระเจ้ามาถึง; เพราะดูเถิด, มันมาถึงโดยพลัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 87:8) อะไรคือ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” เหล่านั้น? โดยแท้แล้วสถานที่เหล่านั้นรวมถึงพระวิหาร ซึ่งผู้คนที่เข้าไปคือผู้รักษาพันธสัญญาของพวกเขาอย่างซื่อสัตย์ โดยแท้แล้วสถานที่เหล่านั้นรวมถึงสถานที่แห่งการรับใช้โดยผู้สอนศาสนาที่ซื่อสัตย์และคนอื่นๆ ที่ได้รับเรียกโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ขณะเรายืนในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราใช้และยอมอยู่ใต้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและเราแสวงหาศาสนพิธีต่างๆ ที่กำหนดไว้สำหรับความสูงส่งและชีวิตนิรันดร์

สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู

สามสิบปีก่อน ข้าพเจ้ามีประสบการณ์เรื่องความแตกต่างของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับสิทธิอำนาจประเภทอื่นๆ ภรรยาของศาสนาจารย์นิกายโปรเตสแตนต์ชื่อดังมาที่สำนักงานข้าพเจ้า เธอและสามีรับใช้พระเจ้าด้วยความพากเพียรยิ่งในการปฏิบัติศาสนกิจของชาวคริสต์มาหลายปี ขณะนี้เธอต้องการเข้าร่วมศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู แต่มีข้อสงสัยอยู่หนึ่งข้อ

เธอมาถามข้าพเจ้าว่าทำไมเธอต้องรับบัพติศมาเมื่อเธอรับบัพติศมาเพื่อเป็นชาวคริสต์แล้วโดยศาสนาจารย์ผู้เป็นสามีซึ่งให้บัพติศมาผู้คนมากมายในโบสถ์ของเขา เธอถามว่า “คุณกำลังจะบอกว่าสามีของดิฉันไม่มีสิทธิอำนาจที่จะให้บัพติศมาผู้คนทั้งหมดที่เขาให้บัพติศมาไปแล้วหรือคะ?”

พระวิญญาณทรงเข้ามาช่วยข้าพเจ้า ขณะเราสวดอ้อนวอนเพื่อสถานการณ์เหล่านี้

“ไม่ใช่ครับ ผมแน่ใจว่าสามีของคุณมีสิทธิอำนาจสำหรับบัพติศมาเหล่านั้น” ข้าพเจ้าตอบ “เขามีสิทธิอำนาจทั้งหมดที่ศาสนจักรของเขา โบสถ์ของเขา และกฎหมายของประเทศนี้จะให้ได้ เขาใช้สิทธิอำนาจนั้นในการให้บัพติศมา ประกอบพิธีแต่งงาน จัดจ้างบุคลากรสำหรับความต้องการทางกายภาพของอาคารศาสนจักรของเขา และแต่งตั้งบุคลากรที่จะมีส่วนร่วมในงานรับใช้เพื่อพิธีนมัสการของศาสนจักรนั้น เราไม่สงสัยสิทธิอำนาจนั้น แต่เราต้องการให้คุณทราบถึงสิทธิอำนาจในประเภทที่แตกต่างออกไป: พระเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมอบให้มนุษย์”

ข้าพเจ้าอธิบายว่าอะไรคือสาเหตุที่เราต้องกำหนดให้บัพติศมาสำหรับบุคคลที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์คือความจำเป็นต้องรับบัพติศมาโดยสิทธิอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูประทานแก่เปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ พระองค์ตรัสบอกพวกเขาว่า โดยสิทธิอำนาจนั้น สิ่งใดที่พวกเขากล่าวห้ามในโลก สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ (ดู มัทธิว 16:19; 18:18) กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งนี้จะมีผลบังคับใช้และคงอยู่เหนือม่านแห่งความตายเพื่อสนองข้อกำหนดแห่งสวรรค์ ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อเธอว่าสิทธิอำนาจนี้ได้รับการฟื้นฟูและขณะนี้มีอยู่ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเท่านั้น ต่อมาอีกช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งสตรีท่านนี้และสามีของเธอก็รับบัพติศมา ข้าพเจ้ารู้จักทั้งสองในฐานะสมาชิกที่ซื่อสัตย์มาหลายปี

ความสำคัญของสิทธิอำนาจคือหลักฐานในพระคัมภีร์จากเรื่องราวการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระผู้ช่วยให้รอดหลายเรื่อง เราอ่านว่าผู้คนที่พระองค์ทรงสอน “อัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์: เพราะพระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ ไม่เหมือนบรรดาธรรมาจารย์” (มัทธิว 7:28–29; ดู มาระโก 1:22; ลูกา 4:32 ด้วย) ในธรรมศาลาพวกเขา “ประหลาดใจ” ว่า “ท่านสั่งผีโสโครกด้วยสิทธิอำนาจและฤทธิ์เดช และพวกมันก็ออก” (มาระโก 1:27; ดู ลูกา 4:36 ด้วย) พระเยซูตรัสบอกธรรมาจารย์ผู้สงสัย “ว่าบุตรมนุษย์มีสิทธิอำนาจในโลกที่จะอภัยบาปได้” (มาระโก 2:10; ดู ลูกา 5:24 ด้วย)

ต่อมา พวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกผู้ใหญ่ถามพระองค์ว่าด้วยสิทธิอำนาจใดที่พระองค์ทรงกระทำ (ดู มัทธิว 21:23–27; มาระโก 11:27–33) พวกเขาไม่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของพระองค์ที่จะได้คำตอบ แต่สิ่งที่พระองค์ตรัสและกระทำหลังจากนั้นได้เปิดเผยคำตอบของพระองค์ เมื่อทรงเรียกอัครสาวกของพระองค์ พระองค์ทรง “แต่งตั้ง” พวกเขา (ยอห์น 15:16) “เพื่อจะทรงใช้พวกเขาออกไปประกาศ และทรงให้มีสิทธิอำนาจให้รักษาโรคและความเจ็บป่วยทุกอย่างให้หายได้ และขับผีออกได้” (มาระโก 3:14–15; ดู มัทธิว 10:1; ลูกา 9:1; กิจการ 8:18–19 ด้วย) เมื่อทรงเรียกสาวกเจ็ดสิบ พระองค์ประทาน “สิทธิอำนาจ” แก่พวกเขา (ลูกา 10:19)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีพลังอำนาจและสิทธิอำนาจจากสวรรค์ และพระองค์ทรงแบ่งปันพลังอำนาจนั้น ดังที่ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากล่าว พระบิดา “ทรงมอบทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ยอห์น 3:35)

ความสำคัญของศาสนพิธี

ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยมากที่สุดของการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเกี่ยวข้องกับศาสนพิธีต่างๆ ศาสนพิธีและฐานะปุโรหิตแยกจากกันไม่ได้ ศาสนพิธีเป็นการกระทำอันศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งสำคัญนิรันดร์ กระทำให้สำเร็จได้โดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ศาสนพิธีคือสิ่งที่ควบคู่กันของการทำพันธสัญญาและสัญญาของพร ศาสนพิธีของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ได้แก่ บัพติศมา การรับส่วนศีลระลึก (ศาสนพิธีที่มีบ่อยที่สุดในศาสนจักร) และศาสนพิธีต่างๆ ของพระวิหาร รวมถึงการแต่งงานเพื่อกาลเวลาและชั่วนิรันดรและของประทานที่เราเรียกว่าเอ็นดาวเม้นท์ ซึ่งประกอบด้วยความรู้ พันธสัญญา และพรที่สัญญาไว้

ข้อกำหนดของศาสนพิธีคือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานและมีผลนิรันดร์ “มีกฎ, ประกาศิตไว้ในสวรรค์อย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก่อนการวางรากฐานของโลกนี้, ซึ่งในนั้นทรงกำหนดพรไว้ทุกประการ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20) เพราะคนทั้งปวงที่ปรารถนารับพรจาก [พระหัตถ์ของพระเจ้า] จะปฏิบัติตามกฎซึ่งกำหนดไว้สำหรับพรนั้น, และเงื่อนไขในนั้น, ดังที่วางไว้นับแต่ก่อนการวางรากฐานของโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:5)

ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งคือรากฐานในแผนใหญ่ยิ่งของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อบุตรธิดาของพระองค์ พระเยซูทรงสอนว่าความรอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้ามาจากการ “เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ” (ยอห์น 3:5) ความสูงส่ง (ชีวิตนิรันดร์ “รูปแบบและคุณภาพชีวิตที่พระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ทรงพระชนม์อยู่”1) มาจากพันธสัญญาและศาสนพิธีของพระวิหารที่สูงกว่า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7; 84:38; 88:107; 132:16–17, 20–21) ศาสดาพยากรณ์ของเรา ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า: “ชีวิตนี้คือเวลาสำหรับเตรียมตัวเพื่อความรอดและความสูงส่ง ในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า ความรอดเป็นเรื่องเฉพาะคน แต่ความสูงส่งเป็นเรื่องของครอบครัว”2

การเตรียมพบพระเจ้า

Jesus Christ descends to earth at His Second Coming

พระองค์เสด็จมาอีกครั้งเพื่อปกครองและครอบครอง โดย แมรีย์ ซาวเออร์

ในการเปิดเผยยุคปัจจุบัน พระคัมภีร์บอกเราว่าคนที่เกรงกลัวพระเจ้า “จะเฝ้ารอให้ถึงวันสำคัญยิ่งของพระเจ้า, แม้เฝ้ารอเครื่องหมายการเสด็จมาของบุตรแห่งพระมหาบุรุษ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:39) ในช่วงสุดท้ายก่อนสิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ในโลกมนุษย์ พระเยซูตรัสถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ ทรงอธิบายถึงความทุกข์ยากที่จะมาก่อนและความสำคัญ—ของการ “เตรียมพร้อม”—แม้ในความทุกข์ยากเหล่านั้น (มัทธิว 24:44) จากนั้นพระองค์ทรงประกาศว่า “เมื่อนายมาพบเขาทำอย่างนั้น บ่าวคนนั้นก็เป็นสุข” (มัทธิว 24:46; ดู ลูกา 12:37, 43 ด้วย)

ประธานเนลสันสอนว่า “เราเพียงกำลังวางรากฐานเพื่อขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของสมัยการประทานสุดท้ายนี้—เมื่อการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดกลายเป็นจริง”3 เครื่องหมายของการเสด็จมาครั้งที่สองนั้นอยู่รอบเราทุกด้านและดูเหมือนกำลังเพิ่มขึ้นทั้งความถี่และความหนัก ทั่วโลก เรากำลังประสบหรือเรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหว ความอดอยาก ไต้ฝุ่น อุทกภัย โรคระบาด และการปะทะกันด้วยอาวุธ แต่ใช่ว่าเครื่องหมายเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามไปเสียทั้งหมด เครื่องหมายเชิงบวกของช่วงเวลานี้คือการรวบรวมอิสราเอลที่พยากรณ์ไว้ ซึ่งประธานเนลสันประกาศไว้ว่า “เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินโลกในปัจจุบัน”4

ขณะการรวบรวมดำเนินไป เรากำลังจัดตั้งสเตคต่างๆ “เพื่อการคุ้มภัย, และเพื่อเป็นที่พักพิงจากพายุ, และจากพระพิโรธเมื่อจะเทลงมาโดยมิได้เจือจางบนทั้งผืนแผ่นดินโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 115:6) เรากำลังเร่งงานก่อสร้างพระวิหารด้วย ซึ่งที่นั่นผู้ซื่อสัตย์สามารถชุมนุมกันในดินแดนบ้านเกิดของตนเองเพื่อทำพันธสัญญาที่จะช่วยให้พวกเขามีสิทธิ์สำหรับชีวิตนิรันดร์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19–22; 131:1–3)

ดังที่พระคัมภีร์มอรมอนสอน “ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 34:32) เรากำลังเตรียมหรือไม่?

เราจะทำอย่างไรถ้าวันแห่งการเสด็จมาคือพรุ่งนี้? ถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้เราจะพบพระเจ้า—ผ่านการสิ้นชีวิตของเราหรือผ่านการเสด็จมาของพระองค์—วันนี้เราจะทำอะไร? เราจะสารภาพอะไร? เราจะเลิกทำสิ่งใด? เราจะให้อภัยในเรื่องใด? เราจะแสวงหาศาสนพิธีใด? เราจะทำอะไรเพิ่มเพื่อให้พันธสัญญาของเราสำเร็จ? ถ้าเราสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ เหตุใดไม่ทำเดี๋ยวนี้? ถ้าตะเกียงแห่งการเตรียมพร้อมนั้นใกล้จะมอด ขอให้เราเริ่มเติมน้ำมันให้เต็มในทันที

อ้างอิง

  1. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ของขวัญสี่ประการ จากพระผู้ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2019, 7.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความรอดและความสูงส่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 11.

  3. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “อนาคตของศาสนจักร: การเตรียมโลกเพื่อรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, เม.ย. 2020, 7.

  4. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความหวังอิสราเอล” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับเยาวชนทั่วโลก, 3 มิถุนายน, 2018), HopeofIsrael.ChurchofJesusChrist.org.