2021
ฉันจะช่วยเหลือเด็กที่รู้สึกซึมเศร้าได้อย่างไร?
สิงหาคม 2021


ฉันจะช่วยเหลือเด็กที่รู้สึกซึมเศร้าได้อย่างไร?

เมื่อบุตรธิดาของท่านรู้สึกท้อแท้ ท่านจะช่วยได้อย่างไร?

ภาพ
young man looking sad

ภาพถ่ายจาก Getty Images

ทุกคนรู้สึกเศร้าหรือท้อแท้ในบางครั้ง ในฐานะบิดามารดา ท่านอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของบุตรหลานโดยไม่เข้าใจเหตุผลอย่างถ่องแท้ ต่อไปนี้คือสิ่งที่ท่านควรระวังและวิธีช่วยบุตรหลานของท่าน

การระบุข้อกังวลที่เป็นไปได้

หากบุตรหลานของท่านมีอาการโกรธหรือรู้สึกเศร้ามากกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป ท่านอาจสงสัยว่าบุตรหลานกำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าอยู่หรือไม่ ภาวะซึมเศร้าในเด็กและเยาวชนอาจดูแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ เมื่อบุตรของท่านรู้สึกหดหู่หรือเศร้า อาการต่างๆ อาจมีดังนี้

  • พฤติกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

  • ผลการเรียนในโรงเรียนลดลงมาก เช่น การเปลี่ยนจากเกรด A ไปเป็น F

  • การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเพื่อน มักจะเปลี่ยนไปคบกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยดี

  • ความเบื่อหน่าย

  • หมดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ

  • พฤติกรรมการนอนหลับเปลี่ยนไป ซึ่งได้แก่การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป

  • มีปัญหาในการจดจ่อกับสิ่งต่างๆ

  • ความเหนื่อยล้า

  • ไม่สนใจเรื่องอนาคต

  • การบ่นว่าปวดและเจ็บโดยไม่มีสาเหตุทางร่างกาย

  • แสดงความคิดเห็นหรือมีความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย

  • ความเปลี่ยนแปลงในด้านการรับประทานอาหาร

เมื่อเด็กรู้สึกซึมเศร้า บิดามารดาอาจรู้สึกว่าเป็นความผิดของตนหรือคิดว่าตนทำอะไรผิดไป จำไว้ว่าภาวะซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งที่ใครบางคนทำเสมอไป และภาวะซึมเศร้าไม่สามารถหยุดได้ด้วยการบอกให้เด็กเลิกซึมเศร้า อาการซึมเศร้าในเด็กมักมาจากความรู้สึกที่ท้วมท้นเกินจะรับไหว ในฐานะบิดามารดา ท่านควรพยายามใจเย็นและให้ความสำคัญกับการรับฟังและการยอมรับความรู้สึกของพวกเขา ท่านสามารถสอนบุตรธิดาของท่านโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกและแนะนำให้เขาพัฒนาทักษะการรับมือกับปัญหาเพื่อช่วยจัดการกับอารมณ์ที่รุนแรงอย่างอดทน

วิธีช่วยเหลือบุตรธิดาของท่าน

สร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา

หากท่านสังเกตเห็นอาการบางอย่างที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ให้ช่วยบุตรธิดาของท่านรู้สึกได้รับการสนับสนุนและเป็นที่รัก มองหาวิธีที่จะพัฒนาสายสัมพันธ์กับบุตรธิดาของท่าน การทำเช่นนี้จะช่วยให้บุตรธิดาของท่านรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้ดีขึ้น วิธีพัฒนาสายสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ได้แก่

  • มีเวลาอยู่ด้วยกันสองต่อสอง

  • การพูดและการฟัง

  • ให้ความมั่นใจกับบุตรธิดาของท่านว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้น

  • พูดชมเชย

  • ชี้ให้เห็นจุดแข็ง

  • แสดงความรัก

  • ช่วยเหลือบุตรธิดาของท่าน

ขอการสนับสนุนจากคนอื่น

แม้ว่าท่านจะต้องรับผิดชอบในการช่วยเหลือบุตรธิดาของท่าน แต่อย่าพยายามทำทุกอย่างด้วยตนเอง เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงคาดหวังให้ท่านแสวงหาพรฐานะปุโรหิต และ ไปรับการรักษา ความผิดปกติทางอารมณ์ก็เช่นกัน พระบิดาในสวรรค์ทรงคาดหวังให้เราใช้ของประทานอันน่าอัศจรรย์ ทุกอย่าง ที่พระองค์ประทานให้ในสมัยการประทานอันเรืองโรจน์นี้”1

ขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการสวดอ้อนวอน ตลอดจนการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนๆ ผู้นำศาสนจักร (รวมถึงผู้นำฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน หรือผู้นำเยาวชนหญิง) และอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ได้รับการฝึกฝนก็ได้2 หากท่านตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ให้เลือกนักบำบัดที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กและสามารถเข้าใจข้อกังวลที่ท่านมีต่อบุตรธิดาของท่าน การมีส่วนร่วมในการรักษากับบุตรธิดาของท่านเป็นสิ่งสำคัญ และในหลายๆ กรณีท่านควรเข้ารับการบำบัดร่วมกับเขาด้วย

แพทย์ของบุตรธิดาของท่านเป็นอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่ท่านสามารถขอความช่วยเหลือได้ แพทย์สามารถสั่งจ่ายยาเมื่อจำเป็นต้องจัดการกับภาวะซึมเศร้า

เพิ่มแนวทางในการปฏิบัติให้กับชีวิต

การให้บุตรธิดาของท่านมีแนวทางในการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ หากบุตรธิดาของท่านรู้ว่าควรคาดหวังกับอะไรและเมื่อใด เขาจะรู้สึกมั่นคงขึ้นและปรับตัวได้มากขึ้น ต่อไปนี้เป็นวิธีการบางอย่างเพื่อเพิ่มแนวทางในการปฏิบัติในวันหรือสัปดาห์ของบุตรธิดาของท่าน

  • กำหนดเวลานอนให้ปกติ

  • ตื่นเวลาเดียวกันทุกวัน

  • แบ่งปันกำหนดการในแต่ละวันกับพวกเขา

  • จำกัดเวลาการใช้หน้าจอ

  • ทำให้ร่างกายตื่นตัว เช่น เดินเล่นด้วยกันกับครอบครัวเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม

  • มีส่วนร่วมในการเติบโตทางวิญญาณร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาพระกิตติคุณเป็นประจำและการสวดอ้อนวอนกับครอบครัว

  • รับประทานอาหารร่วมกันเป็นครอบครัวทุกวัน

กระตุ้นให้บุตรธิดาของท่านเข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัว เช่น เล่นเกมหรือดูภาพยนตร์ด้วยกัน การทำเช่นนั้นยังเป็นประโยชน์ในการเป็นตัวอย่างของการดูแลตนเองและสอนบุตรธิดาของท่านว่าจะใช้เวลาในการดูแลตนเองได้อย่างไร ท่านอาจเลือกออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมฝึกสติร่วมกับบุตรธิดาของท่านหรือทำร่วมกันเป็นครอบครัว

จำไว้ว่าภาวะซึมเศร้าอาจมีความเชื่อมโยงกับพันธุกรรม ดังนั้นความยากลำบากของท่านเองอาจทำให้ท่านรู้สึกท้อแท้เมื่อท่านต้องจัดการกับภาวะซึมเศร้าของบุตรธิดาของท่าน หากท่านมีอาการของโรคซึมเศร้า การจัดการกับอาการเหล่านั้นและขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญหากท่านเริ่มรู้สึกว่ามีอาการหนักใจมากเกินไป หากท่านไม่ดูแลตัวเอง ท่านจะพบว่าการสนับสนุนให้บุตรธิดาของท่านต่อสู้กับอุปสรรคของตนจะทำได้ยากขึ้น

อ้างอิง

  1. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เหมือนภาชนะแตก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 41.

  2. Justin K. McPheters and Rebecca M. Taylor, “Is Therapy Right for Me?” (digital only) Ensign, Feb. 2020.

พิมพ์