หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
การปฏิบัติศาสนกิจโดยคำนึงถึงสุขภาพจิตเป็นหลัก
เราสามารถแบ่งปันความรักของพระผู้ช่วยให้รอดกับผู้ที่เผชิญความท้าทายด้านสุขภาพจิตและอารมณ์
คุณแม่อายุน้อยพบว่าตัวเองกำลังต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า เธอปรึกษากับแพทย์เพื่อให้ได้ตัวยาและปริมาณที่ถูกต้อง แต่กระบวนการนี้ต้องใช้เวลา วันหนึ่งเธอมีอาการรุนแรงกว่าวันอื่นๆ เธอจึงนัดกับแพทย์อย่างเร่งด่วน พวกเขาตัดสินใจร่วมกันว่าเธอควรจะนอนค้างที่โรงพยาบาล
สมาชิกวอร์ดพากันมาเยี่ยม ดูแลลูกๆ ของเธอ และช่วยจัดหาอาหารให้ ในช่วงหลายสัปดาห์และหลายเดือนหลังจากนั้น ภาวะซึมเศร้าของสตรีท่านนี้ทำให้การติดต่อขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องยาก สมาชิกวอร์ดจึงเรียนรู้ที่จะริเริ่มเสนอความช่วยเหลือเธอก่อน
ต่อมา ซิสเตอร์คนนั้นเล่าว่าความช่วยเหลือมาในช่วงเวลาแห่งการดลใจ ในเวลาที่จำเป็นที่สุด เธอกล่าวว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากช่วงเวลานั้นคือ การรู้ว่าซิสเตอร์และบราเดอร์ของเธอห่วงใยเธอและอยู่ที่นั่นเพื่อช่วยเหลือเธอ เธอรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านความช่วยเหลือจากสมาชิกวอร์ดของเธอ เธอเรียนรู้ด้วยตนเองว่าพระองค์ทรงตระหนักถึงเธอและการต่อสู้ของเธอ และด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ ทำให้เธอสามารถอดทนต่อความท้าทายของเธอด้วยศรัทธา
แนวคิดสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ
ปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะพบได้ในบรรดาสมาชิกทุกวอร์ดหรือสาขา ความท้าทายเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกเชื้อชาติและทุกพื้นเพ
ขณะที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจ ท่านอาจพบเจอคนที่มีปัญหาทางสังคมหรือทางอารมณ์ เมื่อประสบเหตุการณ์เช่นนั้น โปรดพิจารณาคำแนะนำที่ประธานเฮนรี บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดได้รับว่า “เมื่อคุณพบคนบางคน จงปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนหนึ่งเขามีปัญหาร้ายแรง และมันจะเป็นจริงมากกว่าครึ่งหนึ่ง”1 ปัญหาทางจิตใจ สังคม หรืออารมณ์อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บางคนต้องพบกับความยากลำบาก
ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติศาสนกิจ
-
รับฟังเพื่อเรียนรู้ ให้บุคคลนั้นแบ่งปันข้อมูลมากหรือน้อยที่สุดเท่าที่พูดแล้วจะสบายใจ ท่านสนับสนุนได้โดยรับฟังพวกเขาเท่านั้น และบางทีท่านอาจได้รับการดลใจเกี่ยวกับวิธีปลอบใจ (สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม ดู “หลักธรรมห้าข้อที่ผู้ฟังที่ดีพึงปฏิบัติ,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2018, 6–9)
-
แสดงความเห็นอกเห็นใจ พยายามเริ่มต้นและสิ้นสุดการปฏิสัมพันธ์ทุกครั้งด้วยการแสดงออกถึงความรักและความเอาใจใส่อย่างจริงใจต่อบุคคลนั้น (สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม ดู “ยื่นมือช่วยด้วยความเห็นใจ,” เลียโฮนา, ก.ค. 2018, 6–9)
-
ให้การสนับสนุน การฟื้นตัวจากปัญหาทางสังคมหรืออารมณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งเขาอาจต้องการพื้นที่หรืออาจเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ให้ความช่วยเหลือในเวลาและวิธีที่บุคคลนั้นจะยอมรับได้ (สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม ดู “พัฒนาความเห็นอกเห็นใจในการปฏิบัติศาสนกิจ,” เลียโฮนา, ก.พ. 2019, 8–11)
-
ปรึกษากับผู้นำ ท่านไม่โดดเดี่ยว ขอความช่วยเหลือจากผู้นำและคนอื่นๆ แบ่งปันความต้องการของผู้ที่ประสบความลำบากและวิธีให้ความช่วยเหลือที่ผู้อื่นอาจทำได้เมื่อได้รับอนุญาต (สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม ดู “ได้ความช่วยเหลือมาช่วยคนอื่นๆ,” เลียโฮนา, ต.ค. 2018, 6–9)
หมายเหตุ: หากบุคคลที่ท่านกำลังปฏิบัติศาสนกิจด้วยเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ท่านอาจจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเหลือแทน