ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว
4 วิธีเข้าถึงพลังของการสื่อสารที่ดี
การสื่อสารที่ดีเป็นมากกว่าการยิ้มหรือพูดสิ่งดีๆ กล่าวคือเป็นการช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า
ขณะคนที่รู้จักฉันอย่างผิวเผินมักจะเชื่อว่าฉันเป็นคนร่าเริง แต่ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองสดใสเหมือนแสงตะวันที่เจิดจ้าเลยสักนิดเดียว อันที่จริง มีสิ่งเตือนใจชิ้นใหญ่ที่แสดงถึงนิสัยไม่ค่อยร่าเริงของฉันในบางครั้งแขวนอยู่บนผนังห้องนั่งเล่นของคุณพ่อคุณแม่
ในฤดูร้อนครั้งหนึ่งเมื่อฉันยังเป็นเด็ก ปู่ย่าตายายของฉันมาเยี่ยม และเราก็ใช้โอกาสนี้กำหนดเวลาถ่ายภาพครอบครัวกัน ฉันเตรียมตัวมาพร้อมมากๆ ฉันใส่ชุดกระโปรงลายตารางสีชมพูและหมวกปีกกว้างที่เข้าชุดกัน แต่ทุกอย่างกลับเป็นไปไม่ค่อยดีนักเมื่อฉันไม่ได้นั่งเก้าอี้แบบเดียวกับที่สมาชิกในครอบครัวหลายๆ คนนั่งอยู่
ด้วยความผิดหวัง ฉันจึงทำหน้าบึ้งมากตลอดช่วงการถ่ายภาพจนทำให้สิ่งที่อาจเป็นประสบการณ์ที่น่ารื่นรมย์กับครอบครัวของฉันต้องเสียไป และเป็นที่มาของเรื่องตลกเกี่ยวกับ “ชุดหน้ามุ่ย” เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว
แม้ว่าตอนนี้ฉันจะหัวเราะให้กับเรื่องนั้นได้แล้ว แต่ภาพครอบครัวภาพนั้นก็เป็นเครื่องเตือนใจถึงพลังแห่งการมองโลกในแง่ดีของฉันอยู่เสมอ เห็นได้ชัดว่าการเป็นคนมองโลกในแง่ดีทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น เพราะใครจะรู้สึกมีความสุขเมื่อโกรธอยู่ตลอดเวลา? นอกจากนั้น การมองโลกในแง่ดียังสัมพันธ์กับประโยชน์ด้านสุขภาพต่างๆ มานานแล้ว เช่น ความเครียดที่ลดลง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่ลดลง และยังทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้นอีกด้วย1
แต่การมองโลกในแง่ดีไม่ได้ส่งผลต่อเราในฐานะปัจเจกบุคคลเท่านั้น การมองโลกในแง่ดี (หรือขาดการมองโลกในแง่ดี) ของเราสามารถส่งผลต่อคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เราได้รับบัญชาว่า “จงรื่นเริงเถิด” (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 61:36; 78:18) และเมื่อเราทำเช่นนั้นในการสื่อสาร ตัวเราเองและคนรอบข้างจะสัมผัสได้ถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา
ต่อไปนี้คือวิธีที่เราสามารถใช้ประโยชน์จากพลังของการสื่อสารที่ดีได้
1. ปฏิบัติตามรูปแบบการสื่อสารของพระผู้ช่วยให้รอด
สำหรับตัวอย่างที่ดีที่สุดของการสื่อสารที่ดี เราอาจมองไปที่พระผู้ช่วยให้รอด ผู้ทรงแสดงความรักต่อผู้อื่นโดยการปฏิสัมพันธ์ด้วยความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ
เอ็ลเดอร์แอล. ไลโอเนล เคนดริค สาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เกียรติคุณสอนว่า “การสื่อสารเหมือนพระคริสต์เป็นการแสดงออกถึงความรักใคร่ไม่ใช่ความโกรธ ความจริงไม่ใช่การโกหก ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่การโต้แย้ง เคารพไม่ใช่เยาะเย้ย คำแนะนำไม่ใช่คำวิพากษ์วิจารณ์ การแก้ไขไม่ใช่การประณาม การสื่อสารที่ดีนั้นเป็นการกล่าวด้วยความชัดเจนไม่ใช่ด้วยความสับสน ซึ่งอาจอ่อนโยนหรืออาจแข็งกร้าว แต่จะมีความใจเย็นอยู่ในนั้นเสมอ”2
เห็นได้ชัดว่า วิธี ที่เราพูดเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างมีความสำคัญพอๆ กับ สิ่ง ที่เราพูด3 นั่นคือบทเรียนที่ฉันเรียนรู้ในฐานะนักเรียนเปียโน หลังจากเรียนเปียโนมาเกือบทั้งชีวิต ฉันพบกับการสอนหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าการที่ได้เนื้อเพลงจำนวนมหาศาลเพื่อมาฝึกซ้อมให้สมบูรณ์อาจเป็นเรื่องที่น่าท้อใจ แต่ฉันก็โชคดีที่มีครูเก่งเรื่องการแก้ไขด้วยวิธีที่สร้างแรงบันดาลใจและมีความเห็นอกเห็นใจ และฉันก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังอันยิ่งใหญ่ของคำพูดที่มีเมตตา
2. มุ่งมั่นที่จะมองโลกในแง่ดี
เจตคติของเราสามารถส่งผลต่อวิธีที่เราสื่อสารกับผู้อื่นและแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตเราไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) กล่าวว่า “ทั้งหมดในชีวิตขึ้นอยู่กับเจตคติของเรา วิธีที่เราเลือกมองสิ่งต่างๆ และตอบสนองสิ่งใดก็ตามล้วนส่งผลต่อเราทั้งสิ้น การทำสุดความสามารถแล้วเลือกมีความสุขกับสภาวการณ์ของเรา ไม่ว่าสภาวการณ์จะเป็นเช่นไร ย่อมนำมาซึ่งสันติสุขและความอิ่มเอมใจ”4
วิธีหนึ่งที่จะปลูกฝังเจตคติที่ดีคือการอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเรา ซึ่งเราทำได้โดยการแทนที่ความสงสัยและความกลัวด้วยศรัทธา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36) น้อมรับของประทานแห่งการกลับใจ พยายามเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราอย่างแข็งขัน และพยายามตระหนักถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตเรา ฉันยังพบว่าเมื่อฉันจัดตาราง (และทำตามตารางนั้น) ในการศึกษาพระคัมภีร์ ฉันจะรู้สึกมองโลกในแง่ดีมากขึ้นตลอดทั้งวัน สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เรารู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกมีความหวังมากขึ้นด้วย
แน่นอนว่าการเป็นคนมองโลกในแง่ดีไม่ได้หมายถึงการระงับอารมณ์ด้านลบทั้งหมดเช่นกัน บางครั้งฉันก็ติดกับดักของความคิดที่ว่า ฉันจะขาดศรัทธาหากฉันแสดงความกังวลหรือความรู้สึกเศร้าออกมา แต่ตามที่ซิสเตอร์แชรอน ยูแบงค์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญอธิบายว่า “มีความสุขไม่ได้หมายถึงแสร้งทำหน้ายิ้มไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่หมายถึงการรักษากฎของพระผู้เป็นเจ้า การสร้างและการยกผู้อื่น เมื่อเราสร้าง เมื่อเรายกภาระของผู้อื่น นั่นจะเป็นพรแก่ชีวิตเราในวิธีที่การทดลองของเราไม่สามารถชิงไปได้”5 แม้ว่าเราทุกคนจะประสบกับอารมณ์ด้านลบไปตลอดชีวิต แต่เราสามารถพบความสุขมากขึ้นได้เมื่อเราหลีกเลี่ยงการจมปลักอยู่กับความโศกเศร้าและพยายามยกผู้อื่น
3. ลองพิจารณาอัตราส่วนความสัมพันธ์
การมองโลกในแง่ดีอาจวัดผลไม่ได้ แต่เกณฑ์มาตรฐานบางอย่างสามารถช่วยเราวัดว่าเรามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีเพียงใด เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักจิตวิทยา จอห์น ก็อตต์แมนศึกษาสิ่งที่ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดี หลังจากเฝ้าสังเกตคู่รักหลายพันคู่ เขากำหนดสูตรที่ช่วยทำนายว่าคู่รักจะอยู่ด้วยกันหรือแยกจากกันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยสูตรดังกล่าวมีความแม่นยำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์6
การค้นพบครั้งใหญ่ของเขาคืออะไร? ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง คู่รักที่มีความสุขมักจะปฏิบัติตามอัตราส่วนของการโต้ตอบเชิงบวกอย่างน้อยห้าครั้งสำหรับการโต้ตอบเชิงลบแต่ละครั้ง ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกอาจรวมถึงการกล่าวชมเชย การเอาใจใส่ และการตรวจสอบมุมมองของอีกฝ่าย ขณะที่ปฏิสัมพันธ์เชิงลบอาจหมายรวมถึงการกลอกตา การตอบโต้เพื่อปกป้องตนเองหรือเมินเฉย และการวิพากษ์วิจารณ์7
แม้ว่างานวิจัยของก็อตต์แมนจะเน้นไปที่คู่รัก แต่ข้อสรุปของเขาสามารถนำไปใช้กับความสัมพันธ์ได้ทุกประเภทและเน้นถึงผลเสียของการมีปฏิสัมพันธ์เชิงลบ
พระคัมภีร์สอนเราว่า “อย่าให้คำเลวร้ายออกจากปากของท่านทั้งหลาย แต่จงกล่าวคำดีๆ ที่เสริมสร้างและที่เหมาะกับความต้องการเพื่อจะได้เป็นคุณแก่คนที่ได้ยิน” (เอเฟซัส 4:29) เราอาจไม่เข้าใจและเห็นด้วยกับความคิด ความรู้สึก และความเห็นของผู้อื่นเสมอไป แต่เราสามารถไม่เห็นด้วยโดยไม่ต้องแสดงความไม่พอใจออกมา และเมื่อเราพยายามยกระดับจิตใจ แม้ในเวลาที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง เราจะผ่อนภาระให้เบาลงและทำให้มีที่ว่างสำหรับปีติมากขึ้นได้
4. จงเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”
ตอนนี้ฉันยิ้มให้กับภาพครอบครัวได้แล้ว (แม้ว่าตอนนั้นฉันจะต้องยืนถ่ายรูปก็ตาม) และฉันเริ่มเข้าใจแล้วว่าเจตคติของตัวเองจะส่งผลต่อคนรอบข้างให้ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร
แม้ฉันจะยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบอยู่มาก แต่ฉันก็พยายามมีส่วนร่วมในการสนทนากับใครสักคนเป็นพิเศษ เพื่อแสดงความขอบคุณต่อสามีและคนอื่นๆ ที่ฉันรัก และเพื่อ “เป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ ทั้งในด้านวาจาและการประพฤติ” (1 ทิโมธี 4:12)
เป็นการผสมผสานกันของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น การรับฟัง การยืนยันในเชิงบวก การขอโทษอย่างจริงใจ ซึ่งมักส่งผลมากที่สุด สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเลียนแบบพระผู้ช่วยให้รอด ทำให้เราแบ่งปันความรักของพระผู้เป็นเจ้าได้
และการแบ่งปันความรักของพระองค์ทำให้เรารู้สึกถึงความรักนั้นเช่นกัน