มุ่งมั่นที่จะเป็น—แบบแผนสำหรับการเติบโตรวมถึงสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดี
แบบแผนการเติบโตที่ระบุไว้ในโปรแกรมเด็กและเยาวชนสามารถช่วยเราทุกคนขณะที่เราพยายามเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
การเติบโตที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อเรามุ่งมั่นที่จะเติบโตในหลายๆ ด้าน เราเรียนรู้ว่า “พระเยซูเจริญขึ้นในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลายด้วย” (ลูกา 2:52) เรารู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับช่วงเวลานี้ของพระชนม์ชีพพระอาจารย์ แต่จากข้อนี้เราเรียนรู้ว่าพระองค์ทรง “เพิ่มพูน” —พระองค์ทรงเจริญวัย—ทางสติปัญญา ร่างกาย วิญญาณ และสังคม ผลการศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการพยายามทำให้ชีวิตของเราเติบโตในหลากหลายด้าน จะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดี1
การเติบโตและศักยภาพนิรันดร์เป็นแก่นของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ศักยภาพของเราที่จะเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์เป็นศูนย์กลางของพระกิตติคุณและช่วยให้เรารู้สึกถึงความรัก ความหวัง และความกตัญญู 2
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “การพิพากษาครั้งสุดท้ายไม่เพียงเป็นการประเมินความดีชั่วทั้งหมด—สิ่งที่เรา ทำ แต่เป็นการยอมรับผลในบั้นปลายของการกระทำและความคิด—ที่เรา เป็น ด้วย การแสดงออกภายนอกเท่านั้นจึงยังไม่พอ พระบัญญัติ ศาสนพิธี และพันธสัญญาแห่งพระกิตติคุณไม่ได้เป็นรายการเงินฝากที่กำหนดให้ทำไว้ในบัญชีสวรรค์ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือแผนซึ่งแสดงให้เราเห็นว่าจะเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็นอย่างไร”3
แบบแผนสำหรับการเติบโต
เด็กและเยาวชนได้รับการเชิญชวนให้ทำตามรูปแบบของการค้นพบสิ่งที่พวกเขาต้องปรับปรุง วางแผนว่าพวกเขาจะทำอย่างไร ปฏิบัติตามแผนของพวกเขาด้วยศรัทธา และไตร่ตรองถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้4 แบบแผนนี้สามารถช่วยเราทุกคนขณะที่เราพยายามเติบโตและเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น แอลมาสอนว่า “หากท่านทำไม่ได้มากไปกว่าปรารถนาที่จะเชื่อ, ก็ขอให้ความปรารถนานี้เกิดผลในท่าน” (แอลมา 32:27) เมื่อเราหล่อเลี้ยงความปรารถนานั้น ความปรารถนาก็จะเติบโตเป็นสิ่งที่อมิวเล็คเรียกว่า “ศรัทธาสู่การกลับใจ”(แอลมา 34:16) ความปรารถนาที่แอลมาพูดและศรัทธาที่อมิวเล็คเป็นพยานจะไม่หยุดนิ่ง ความปรารถนาและศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ทำให้เรากลับใจอย่างแท้จริง และกระบวนการกลับใจนี้ทำให้เราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า “ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นกระบวนการ เป็นกุญแจสู่ความสุขและจิตใจที่สงบ เมื่อร่วมกับศรัทธา การกลับใจเปิดประตูสู่พลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์”5
การเติบโตต้องอาศัยความมุ่งมั่น
เช่นเดียวกับการกลับใจที่ต้องอาศัยการทำงานและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามถวาย “ทั้งจิตวิญญาณ” ของเรา (ออมไน 1:26) ในหลากหลายด้าน เราแต่ละคนมีของประทานฝ่ายวิญญาณที่ใช้ในการสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้ ในการแสวงหาการเป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่” (2 โครินธ์ 5:17) เราได้รับเชิญให้รับใช้พระเจ้าด้วย “สุดใจ, พลัง, ความนึกคิด และพละกำลัง” ของเรา (หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:2) ขณะที่เราพยายามเติบโตในด้านต่างๆ เราจะสร้างความสามารถในการปรับตัวและเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ซึ่งจะช่วยให้เราสนองความท้าทายในชีวิต
เด็กและเยาวชนรวมถึงพวกเราทุกคนที่ตั้งเป้าหมายระยะสั้นง่ายๆ เพื่อเติบโตทางวิญญาณ สังคม ร่างกาย และสติปัญญา จะประสบสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจที่ดีมากขึ้น หลักการเหล่านี้อยู่นอกเหนือแนวคิดการช่วยเหลือตนเอง แนวทางเหล่านี้เป็นแนวทางที่ดีในการพยายามเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เพื่อ “เมื่อพระองค์จะเสด็จมาปรากฏเราจะเป็นเหมือนพระองค์, เพราะเราจะเห็นพระองค์ดังที่พระองค์ทรงดำรงอยู่; เพื่อเราจะมีความหวังนี้; เพื่อพระองค์จะทรงทำให้เราบริสุทธิ์แม้ดังที่พระองค์ทรงบริสุทธิ์” (โมโรไน 7:48)
การเติบโตต้องอาศัยความอดทนและความขยันหมั่นเพียร
ขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะเติบโตและก้าวไปข้างหน้า เราควรจำไว้ว่า “ไม่จำเป็นที่ [เรา] จะวิ่งไปเร็วเกินกำลังของ [เรา]” (โมไซยาห์ 4:27) เรามุ่งมั่นพากเพียร และเมื่อเราตกเรามุ่งมั่นลุกขึ้นอีก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:13) การเติบโตส่วนตัวต้องอาศัยความอดทน เมื่อพระเยซูทรงรักษาชายตาบอด ชายตาบอดมองเห็น “คนเหมือนต้นไม้เดินได้” เป็นสิ่งแรก พระเยซู “วางพระหัตถ์บนตาของเขาอีก … และตาก็หายเป็นปกติมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจน” (มาระโก 8:24–25) การรักษาและการเติบโตไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ หรือจิตใจ อาจเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ และอาจไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
การเติบโตต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่เราสามารถใช้ได้
ไม่มีวิธีรักษาแบบง่ายๆ ครอบคลุมสำหรับสุขภาพทางอารมณ์และจิตที่ดี เราจะพบกับความเครียดและความวุ่นวายเพราะเราอยู่ในโลกที่ตกพร้อมกับร่างกายที่ตก นอกจากนี้ ปัจจัยเอื้ออำนวยหลายอย่างอาจนำไปสู่การวินิจฉัยความเจ็บป่วยทางจิตได้ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจและอารมณ์ของเรา การมุ่งเน้นไปที่การเติบโตมีสุขภาพดีกว่าการหมกมุ่นอยู่กับข้อบกพร่องของเรา เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ศาสนจักรไม่ใช่โชว์รูมรถยนต์—ไม่ใช่สถานที่โชว์ตัวให้คนอื่นได้ชื่นชมความเข้มแข็งทางวิญญาณ ความสามารถ หรือความรุ่งเรืองของเรา ศาสนจักรเหมือนศูนย์บริการมากกว่า ศูนย์ที่ยานพาหนะต้องรับการซ่อมแซม มาซ่อมบำรุงและซ่อมให้ดีเหมือนเดิม”6
การเพิ่มความเข้มแข็งทางวิญญาณของเราเป็นส่วนสำคัญของความผาสุกทางจิตใจและอารมณ์ แต่บ่อยครั้งที่เราทำได้มากกว่านี้ และพระเจ้าทรงคาดหวังให้เราใช้เครื่องมือทั้งหมดที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้ให้เรา บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกอัปยศที่มากับการใช้ทรัพยากรเพิ่มเติมขณะที่เราพยายามพัฒนาสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดีของเรา แต่ผู้นำศาสนจักรสอนว่าทรัพยากรเหล่านี้มีความสำคัญ
ซิสเตอร์เรย์นา ไอ. อะบูร์โต ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า “เหมือนกับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย สมองอาจป่วย บาดเจ็บ และเกิดความไม่สมดุลทางเคมีได้ เมื่อเรามีความทรมานทางจิตใจ เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า จากคนรอบข้าง และจากแพทย์กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต”7
เรามีความรับผิดชอบที่จะ “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเรา; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17) เราอาจไม่เห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในแบบที่เราคาดหวังหรือปรารถนา แต่ผู้ที่วางใจในพระองค์สามารถมองเห็นได้
แบบอย่างการเติบโตของพระผู้ช่วยให้รอด
แบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเติบโตคือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์สอนว่า “พระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก, แต่ได้รับพระคุณแทนพระคุณ;
“และพระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก, แต่ดำเนินต่อไปจากพระคุณสู่พระคุณ, จนพระองค์ได้รับความสมบูรณ์;
และด้วยเหตุนี้ จึงเรียกพระองค์พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, เพราะพระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก (หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:12–14)
เมื่อเราพยายามเติบโตและก้าวหน้าเราจะได้รับ “พระคุณแทนพระคุณ” เช่นกัน เมื่อชีวิตมีเรื่องหนักใจ เราอาจคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทอดทิ้งเรา อย่างไรก็ตาม เราสามารถพบสันติสุขและการปลอบโยนในความจริงที่ว่า พระผู้เป็นเจ้า พระบิดา และพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ทรงตระหนักถึงเราและรู้วิธีช่วยให้เราผ่านการทดลองของเรา การเชื่อในพระเยซูคริสต์ไม่ได้หมายความว่าความท้าทายในมรรตัยจะสิ้นสุดลง แต่เราเชื่อว่าพระเจ้าสามารถประทานกำลังให้เราเพื่อรับมือกับความท้าทายขณะที่เราพยายามเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น8