“ความหวังใหม่สำหรับการเยียวยาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวล” เลียโฮนา กรกฎาคม 2022
ความหวังใหม่สำหรับการเยียวยาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จากภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวล
เรื่องราวของการเยียวยาระยะยาวจากภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลแสดงให้เห็นว่าการค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตโดยมีพระกิตติคุณเป็นเครื่องกระตุ้นนั้นสามารถมีส่วนในวิธีสำคัญที่นำไปสู่การเยียวยาระยะยาว
พระเยซูคริสต์มิได้ทรงเป็นเพียงครูผู้ประเสริฐเท่านั้นแต่ทรงเป็นผู้รักษาให้หายดีที่นำผู้คนไปสู่การบรรเทาทุกข์ระยะยาวด้วย นั่นเป็นเพราะพระผู้ช่วยให้รอดทรงรับ“ความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์ … เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ … ได้อย่างไร” (แอลมา 7:11–12)
เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเยียวยาอย่างยั่งยืนจากภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวล ผมทบทวนเรื่องราวมากกว่า 100 เรื่องเกี่ยวกับผู้คนที่ประสบกับการเยียวยาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระยะยาวจากเรื่องท้าทายที่พบเห็นได้ทั่วไปและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ จากการทบทวนดังกล่าว ผมพบแนวทางสำคัญที่มีประโยชน์ซึ่งเห็นจากเรื่องราวหลายเรื่องเกี่ยวกับการเยียวยา ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความสัมพันธ์ และทางวิญญาณ1
แม้ก่อนที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเพิ่มความเครียด ความเดียวดายและความโศกเศร้าขึ้น คุณค่าของแบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีผลต่อความทุกข์ทางอารมณ์ก็เพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว ดังที่ดร. สตีเฟน อิลาร์ดีกล่าว “มนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับชีวิตที่ได้รับการบำรุงเลี้ยงอย่างอัตคัด นั่งอยู่กับที่ อยู่แต่ในร่ม อดหลับอดนอน โดดเดี่ยวทางสังคม ช่วงก้าวที่เร่งรีบของชีวิตในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด”2
เราจะดำเนินขั้นตอนอะไรได้บ้างในบ้านของเราเพื่อรับมือกับแบบแผนการดำเนินชีวิตเหล่านี้ที่ทำให้เราเสี่ยงต่อความทุกข์ทางอารมณ์? โดยมีพื้นฐานอยู่บนแนวทางสำคัญที่ผมพบ ต่อไปนี้คือการปรับเปลี่ยนพิเศษเฉพาะหลายเรื่องซึ่งผู้เจ็บปวดทางอารมณ์อาจทำได้เพื่อให้การเยียวยาทางอารมณ์ของพวกเขาเองดีขึ้น
1. มีหวังในความเป็นไปได้ของการเยียวยาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“หากท่านมีศรัทธาท่านย่อมหวังในสิ่งที่ไม่เห็น, ซึ่งจริง” (แอลมา 32:21)
หนึ่งในแนวทางสำคัญที่ตรงกันมากที่สุดในเรื่องราวการเยียวยาคือการมีอยู่ของความหวังที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปในทิศทางที่ว่าความผาสุกทางอารมณ์ที่ดีขึ้นนั้นยังเป็นไปได้ ดังที่บุคคลหนึ่งกล่าวว่า “การเยียวยาเป็น … เรื่องของการรักษาความหวัง”3 ผู้ป่วยทางจิตหลายคนได้รับแจ้งว่าสภาวะของพวกเขานั้นเป็นเรื่องถาวร เรื่องนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่าสมองผู้ใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง ตอนนี้เรารู้ดีกว่านั้น การค้นพบเรื่องความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของสมองขยายความหวังจนเราหวังได้ว่าการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานนั้นเป็นไปได้ รวมถึงคนที่กำลังเจ็บป่วยทางจิตด้วย
ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งไม่ควรเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนที่เชื่อในพระคริสต์ เมื่อพูดกับคนที่ทุกข์ใจเพราะความเจ็บป่วยทางจิต เอ็ลเดอร์เอริค ดับเบิลยู. โคพิชกาแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเรา; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง … เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17]”4 การที่เรามีคนอื่นๆ ที่ไม่หมดหวังในตัวเราอยู่รอบข้างช่วยได้อย่างแท้จริง ดังที่ดร. แดเนียล ฟิชเชอร์พบในการสัมภาษณ์ผู้หายป่วยหลายคนว่า “เราได้ยินครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ‘ฉันจำเป็นต้องมีใครสักคนที่เชื่อในตัวฉัน’”5
2. ปรับชีวิตทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่
“โดยเรื่องเล็กและเรียบง่ายสิ่งสำคัญจะเกิดขึ้น” (แอลมา 37:6)
แท้จริงแล้วทุกเรื่องราวของการเยียวยาเกี่ยวข้องกับผู้คนที่เรียนรู้สิ่งใหม่และเติบโตในวิธีที่ต่างจากเดิม บางครั้งพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตัวอย่างเช่น สตรีคนหนึ่งกล่าวว่า “ดิฉันเริ่มตระหนักว่ายังมีเรื่องเจ็บปวด นิสัย และเรื่องคาใจอื่นๆ ที่จะต้องจัดการในใจดิฉัน ในตัวดิฉันมีทั้งความเห็นแก่ตัว การควบคุม ความโกรธ … และอื่นๆ อีกมากที่ดิฉันมองไม่เห็น”6
บางครั้งผู้คนพบว่าการปรับเปลี่ยนที่เป็นเรื่องเล็กกว่าทำให้เกิดความแตกต่าง เช่น การทำบันทึกเรื่องสำนึกคุณ การรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยง หรือออกไปกลางแจ้งรับแสงแดดมากขึ้น ชายคนหนึ่งเล่าถึงคุณค่าของความนิ่งที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในวันของเขา: “ผมตื่นเช้าพอที่จะไม่ต้องรีบตอนเช้า ผมยืนรับแสงแดดที่หน้าต่างสองสามนาที” จากนั้นเขาจะนั่งลงรับประทาน “อาหารเช้าอุ่นๆ ช้าๆ อย่างเงียบสงบ”—โดยไม่มี การรบกวนจากโทรศัพท์ของเขา7
3. ให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกาย โภชนาการ และการนอนหลับ
“เลิกนอนนานเกินความจำเป็น; จงเข้านอนแต่หัวค่ำ, เพื่อเจ้าจะ ไม่เหนื่อยอ่อน; ตื่นแต่เช้า, เพื่อร่างกายเจ้าและความคิดเจ้าจะกระปรี้กระเปร่า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:124 ดู 89:18–21)
เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า ระดับของกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นทำให้อารมณ์ดีขึ้น การปรับโภชนาการช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการลดภาวะซึมเศร้าลงได้ด้วย8 ดังที่ดร. เฟลิซ แจคกาเขียนว่า: “การกินสลัดอาจรักษาภาวะซึมเศร้าไม่ได้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่คุณทำได้เพื่อให้อารมณ์ดีขึ้นและทำให้สุขภาพจิตของคุณดีขึ้น และเรื่องนี้ทำได้อย่างง่ายดายเพียงแค่คุณรับประทานพืชและอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น”9 ในทำนองเดียวกัน นักวิจัยพบว่าการเข้านอนเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง “ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ารุนแรงลดลง 23%”10—ซึ่งมีประโยชน์ต่อภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในปัจจุบันเช่นกัน
4. ปรับอาหารทางจิตและกิจกรรมทางจิตของท่าน
“พระองค์จะทรงพิทักษ์ผู้มีใจแน่วแน่ไว้ในสวัสดิภาพที่สมบูรณ์เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อิสยาห์ 26:3)
คนที่กำลังได้รับการเยียวยาอย่างลึกซึ้งขึ้นมักรายงานถึงการเรียนรู้วิธีที่จะไม่มอง “เรื่องทางจิตใจ” ที่สิ้นหวังและมืดมนว่าเป็นภาพสะท้อนของตน แต่มองว่าเป็นเพียงสิ่งที่พวกเขาต้องประสบ ดังที่พี่น้องชายคนหนึ่งเล่าว่า “สิ่งที่แต่ก่อนนี้เคยเป็นประสบการณ์เหมือนถูกทรมาน โดยตกเป็นทาสกระบวนการความคิด เดี๋ยวนี้ผมสามารถปฏิเสธความรู้สึกแบบนั้นได้โดยเพียงแต่มองว่านั่นเป็นเพียงบางสิ่งที่ไร้พิษภัยมากขึ้น เป็นอะไรที่เหมือนเรานอนลงที่ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วแค่มองกระแสน้ำไหลผ่านไป”11
แม้เป็นเรื่องปกติที่เราจะมองความคิดของเราว่าเป็น “ความเป็นจริง” แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเรียนรู้วิธีมองความคิดและความรู้สึกของเราให้เป็นเรื่องของวัตถุมากขึ้นและเป็นเรื่องของบุคคลน้อยลง โดยผ่านการฝึกฝนด้วยการสวดอ้อนวอน ทำสมาธิ หรือการบำบัด ผลของการทำเช่นนี้ช่วยให้เราซาบซึ้งในความสามารถของตนเองในการเลือกวิธีตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา—และเบนความสนใจไปยังสิ่งที่จริงและดี
การให้ความสนใจมากขึ้นต่อสิ่งที่เรานำเข้าสู่ความคิดช่วยสนับสนุนให้เยียวยาขึ้นกว่าเดิมด้วย ดังคำเตือนที่ประธานเนลสันให้เราไว้เมื่อไม่นานมานี้ “หากข้อมูลที่ท่านได้รับส่วนใหญ่มาจากโซเชียลมีเดียหรือสื่ออื่นๆ ความสามารถในการได้ยินเสียงกระซิบของพระวิญญาณจะลดลง”12
5. แสวงหาการให้อภัยและการเยียวยาจากความบอบช้ำทางจิตใจในอดีต
“พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกๆ หยดจากตาของเขาทั้งหลาย และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ความเศร้าโศก การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป เพราะยุคเดิมนั้นผ่านไปแล้ว” (วิวรณ์ 21:4)”
เป็นเรื่องปกติที่ความเจ็บปวดในอดีต (จากการกระทำทารุณกรรมในตอนแรกจนถึงความบอบช้ำทางจิตใจในภายหลัง) ส่งผลต่อความทุกข์ทางอารมณ์ในปัจจุบัน รูปแบบทั่วไปที่พบในเรื่องราวของการเยียวยาไม่ใช่การวางเฉยต่อการเชื่อมโยงเหล่านี้แต่กลับเป็นการจริงจังกับมัน แทนที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ ผิดปกติ กับคน สตรีคนหนึ่งผู้ได้พบกับการเยียวยาแนะนำว่าเราควรสำรวจสิ่งที่ เกิดขึ้น กับพวกเขามากกว่า13 เป็นเรื่องดีที่มีการรับรู้และมีการสนับสนุนจากมืออาชีพมากขึ้นที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับความบอบช้ำทางจิตใจเข้ามาช่วยผู้คนให้พบกับการเยียวยาจากเหตุการณ์เจ็บปวดในอดีต
6. ทำให้การเชื่อมโยงกับพระผู้เป็นเจ้าและคนอื่นๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“พวกเขาขึ้นมาที่นี่เพื่อฟังพระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า, แท้จริงแล้ว, พระวจนะซึ่งรักษาจิตวิญญาณที่บาดเจ็บ” (เจคอบ 2:8)
ผมประทับใจวิธีที่เรื่องราวของการเยียวยาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้านอารมณ์หลายเรื่องมุ่งไปที่การค้นพบการเชื่อมโยงใหม่อีกครั้งกับพระเจ้า ชายคนหนึ่งพูดถึง “การยึดเหนี่ยวกับสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า” ในพระคัมภีร์เมื่อไม่มีใครอื่นรอบข้างที่ดูเหมือนจะสามารถช่วยเขาได้14 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แนะนำผู้เผชิญภาวะซึมเศร้าว่า “จงดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์ในการอุทิศตนที่ได้รับการพิสูจน์ด้วยเวลาว่าจะนำพระวิญญาณของพระเจ้ามาสู่ชีวิตท่าน”15
อีกหลายคนยืนยันว่าขณะเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ รอบข้างแล้วได้เห็นว่าชีวิตของตนมีคุณค่า มีความหมายและมีจุดประสงค์ที่แท้จริงเป็นส่วนสำคัญของการเยียวยา สมาชิกศาสนจักรคนหนึ่งพบการเชื่อมโยงที่น่าชื่นชมกับสมาชิกครอบครัวที่ถึงแก่กรรมแล้วโดยการทุ่มเทตนเองลงในงานประวัติครอบครัว เขากล่าวว่าเขาค่อยๆ เริ่มสังเกตว่าตนเองเริ่ม “รู้สึกเบาขึ้น” อย่างไร ขณะที่การเชื่อมโยงเหล่านี้ลึกซึ้งขึ้น—จนในที่สุดก็มาถึงจุดที่เขา “ไม่รู้สึกถึงภาวะซึมเศร้าอีกเลย”16
7. ลดการพึ่งพา
“กระทำด้วยตนเองและมิถูกกระทำ” (2 นีไฟ 2:26)
เป็นธรรมชาติของทุกคนที่เผชิญภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลที่จะพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกในรูปแบบต่างๆ อาทิ จากนักบำบัดมืออาชีพและครอบครัวหรือเพื่อนจนถึงการใช้ยาและอาหาร บ้างก็หลงผิดไปพึ่งพาสารผิดกฎหมายและแอลกอฮอล์ขณะพยายามควบคุมอารมณ์เจ็บปวด ขณะที่ความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ จะให้ได้เพียงประโยชน์ระยะสั้น คนที่ค้นพบการเยียวยาระยะยาวจะพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงการลดการพึ่งพาแหล่งช่วยภายนอก ชั้นเรียนความสามารถในการปรับอารมณ์ของศาสนจักรเป็นแหล่งช่วยทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนพัฒนาอิสรภาพที่เติบโตได้แบบนั้น17
การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ สร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่
แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อใดที่กล่าวมา จำเป็นต้องเกิดขึ้นทั้งหมดในคราวเดียว อเล็กซ์ คอร์บ นักประสาทวิทยาเขียนว่า “การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย” สามารถเปลี่ยนเส้นทางของภาวะซึมเศร้าได้โดยการสร้าง “กระแสที่หมุนวนขึ้นไป” ครั้งหนึ่งผมสนทนากับครอบครัวหนึ่งซึ่งมีวัยรุ่นซึมเศร้าที่รู้สึกไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำอะไรได้นอกจากออกไปรับแสงแดดมากขึ้นเล็กน้อย สองสัปดาห์ผ่านไปด้วยการอยู่นอกบ้านนานขึ้นเพื่อเล่นกีฬากับคุณพ่อของเขา เยาวชนชายคนนี้รู้สึกมีพลังมากพอที่จะทดลองปรับอาหาร ซึ่งจุดชนวนของพัฒนาการด้านอื่นๆ และเป็นแรงผลักดันต่อเนื่องของการเยียวยาทีละน้อย เรื่องนี้สะท้อนให้เห็น “ยอดรวมของผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างละเล็กละน้อย” ที่เอ็ลเดอร์ไมเคิล เอ. ดันน์แห่งสาวกเจ็ดสิบเน้นไว้ 18
พี่น้องชายอีกคนหนึ่งเล่าถึงวิธีที่การปรับเปลี่ยนสิ่งที่นำเข้าสู่ความคิดของตนก่อให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องต่อด้านอื่นๆ ของชีวิต “ผมเริ่มจากการเลือกสรร (สื่อ) ที่จะดู และคนที่ผมจะออกไปข้างนอกด้วยเพราะผมรู้สึกชัดเจนจริงๆ ว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อผม และการทำเช่นนั้นมีผลกระทบต่อวงจรการนอนหลับของผม ผมเริ่มพักผ่อนมากขึ้น และตระหนักว่าตนเองรู้สึกดีจริงๆ เมื่อได้ออกกำลังกาย และผมสังเกตว่าอาหารแบบไหนที่ทำให้รู้สึกดีและแบบไหนทำให้รู้สึกแย่” เขาบรรยายการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ว่าเป็น “โดมิโนเอฟเฟค … ซึ่งส่งผลต่อเนื่องเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีอื่นๆ”19
ดร. คอร์บอธิบายว่า: “ในระบบที่ซับซ้อนอย่างสมอง แม้การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยก็สามารถเปลี่ยนผลกระทบทั้งระบบได้ ตัวอย่างเช่น การออกกำลังกายเปลี่ยนกิจกรรมที่เกี่ยวกับไฟฟ้าในสมองของคุณขณะนอนหลับ ซึ่งจากนั้นจะไปลดความวิตกกังวล ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น และให้พลังงานที่คุณจะออกกำลังกายมากขึ้น (รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ) ในทำนองเดียวกัน การแสดงออกซึ่งความสำนึกคุณจะกระตุ้นการผลิดเซอโรโทนิน ซึ่งปรับอารมณ์ของคุณให้ดีขึ้นและช่วยให้คุณเอาชนะนิสัยไม่ดีต่างๆ ทำให้คุณมีเรื่องที่ต้องสำนึกคุณมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยทุกอย่างอาจเป็นเพียงแรงกระตุ้นให้สมองของคุณจำเป็นต้องเริ่มการหมุนวนขึ้น”20
ดังที่คุณได้เห็น การเยียวยาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไม่ใช่เรื่องของความพยายามเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่ง ในลักษณะที่เห็นอย่างชัดเจน การทำเช่นนั้นจะทำให้ท้อใจแม้ในภาวะปกติ อย่าว่าแต่จะทำขณะรู้สึกมีภาระหนักทางอารมณ์ แม้การปรับเปลี่ยนเพียงเรื่องเดียวก็สามารถทำให้เกิดความแตกต่างที่แท้จริงและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ได้ ดังนั้นจงอย่ายอมแพ้!
การได้เห็นวิธีที่การเปลี่ยนแปลงทีละน้อยเป็นศูนย์กลางของการเยียวยาที่ยั่งยืนทำให้ผมซาบซึ้งยิ่งขึ้นกับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนพระกิตติคุณที่อุทิศตนให้กับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและความก้าวหน้านิรันดร์
ข่าวดีคือโอกาสของการเจริญเติบโตเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถให้ความสำคัญในชีวิตและบ้านของเราเองได้ ศาสดาพยากรณ์ชี้นำหลายครั้ง ย้ำให้เราสนใจมองย้อนไปดูศักยภาพที่ยังไม่เปิดใช้งานภายในครอบครัวเราเอง—ด้วยการที่ประธานเนลสันกระตุ้นเตือนเราเมื่อไม่กี่ปีที่เพิ่งผ่านไปให้ “เปลี่ยนบ้านของ [เรา] เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งศรัทธา”21 ด้วยการดลใจของพระวิญญาณ ผมเชื่อว่าเราสามารถทำให้บ้านของเราเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งการเยียวยาได้ด้วย
พระเจ้าของเราทรงรู้ถึงความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดทางวิญญาณที่รุนแรงและทรงรู้ว่าสิ่งใดสามารถช่วยให้เราพบกับการบรรเทาทุกข์ที่ลึกซึ้งขึ้นได้ ไม่ว่าความเจ็บป่วยทางจิตน่าสับสนเพียงใดสำหรับเราทุกคน ผมเป็นพยานว่าพระเจ้าไม่ทรงสับสน พระองค์ทรงรู้ชัดว่าสิ่งใดสามารถช่วยให้เราพบการเยียวยาทางวิญญาณที่ยั่งยืนกว่าได้