“กล้าเอื้อมออกไป,” เลียโฮนา, ก.ค. 2022.
หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
กล้าเอื้อมออกไป
พระผู้เป็นเจ้าจะทรงใช้เราทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิมถ้าเราจะเอาชนะความกลัว
ในฐานะผู้มีความเชื่อ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความกล้าหาญในช่วงเวลาเหล่านี้ แม้ในประสบการณ์ของเรากับการปฏิบัติศาสนกิจ จอห์น (นามสมมติ) ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติศาสนกิจต่อปีเตอร์ สมาชิกที่ไม่เคยมาเข้าร่วมการประชุมวอร์ด จอห์นวิตกกังวลกับการเริ่มต้นทำงานกับปีเตอร์ เพราะเขาไม่เคยพบปีเตอร์และไม่รู้เรื่องราวของปีเตอร์ แต่เพราะจำคำแนะนำให้ “รัก แบ่งปัน และเชิญ” ได้ จอห์นจึงสวดอ้อนวอนขอการทรงนำแล้วออกไปทำสิ่งแรกคือทำตัวเป็นเพื่อนที่จริงใจกับปีเตอร์ เขาใช้เวลาทำความรู้จักปีเตอร์ โดยไปเยี่ยมบ่อยๆ โทรศัพท์หาเขา และออกไปรับประทานอาหารเช้าด้วยกันตามโอกาสอำนวย จอห์นเริ่มรู้จักปีเตอร์มากขึ้น และปีเตอร์วางใจในมิตรภาพของกันและกัน เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ เป็นธรรมชาติของปีเตอร์ที่จะเอื้อมออกไปหาจอห์นผู้ซึ่งตอบรับด้วยความยินดี
วันหนึ่ง จอห์นรู้สึกลึกๆ ในใจว่าบางทีปีเตอร์อาจพร้อมรับคำเชิญให้กลับมาโบสถ์แล้ว ครั้งหนึ่งขณะพูดคุยกัน เขายกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกับปีเตอร์อย่างเป็นเรื่องปกติ ปีเตอร์เงียบไปสักครู่ “ผมไม่ได้ไปโบสถ์ 17 ปีแล้ว” เขาพูด “แต่รู้อะไรไหม ผมคิดว่าผมจะไป” เมื่อปีเตอร์ไปถึงวอร์ด จอห์นอยู่ที่นั่น ต้อนรับและนั่งกับเขา จอห์นรู้สึกสำนึกคุณที่สามารถก้าวข้ามความกลัวได้ตั้งแต่แรก ผ่านความพยายามเหล่านี้ ชายทั้งสองคนได้มิตรภาพที่แท้จริงซึ่งเป็นพรแก่ชีวิตตน
จงกล้าหาญยิ่ง
เรื่องราวของเอสเธอร์ในพันธสัญญาเดิม (ดู เอสเธอร์ 1–10) สอนหลักธรรมหลายข้อแต่อาจรู้จักกันดีที่สุดว่าเป็นเรื่องของความกล้าหาญ เอสเธอร์เป็นเพียงสาวน้อยชาวยิวเมื่อเธอได้รับเลือกเป็นราชินีและแสดงความกล้าหาญยิ่งเมื่อเธอเสี่ยงชีวิตช่วยผู้คนของเธอให้รอด
มีคนใช้กลอุบายหลอกลวงกษัตริย์ให้ออกกฤษฎีกาสั่งสังหารชาวยิวในอาณาจักรของพระองค์ให้สิ้น เอสเธอร์คิดวางแผนที่ต้องใช้ศรัทธายิ่งและอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะเปลี่ยนพระดำริของกษัตริย์ได้
โดยจารีตประเพณีของเธอ การเข้าไปหากษัตริย์โดยไม่มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าอาจมีโทษถึงตาย แต่เธอกล้าหาญที่จะดำเนินการให้แผนรุดหน้าต่อไปและขอให้ผู้คนของเธออดอาหารให้ (ดู เอสเธอร์ 4:16) ด้วยการดำเนินการอย่างกล้าหาญของเธอและการดำเนินการของคนอื่นๆ เธอสามารถทำให้กษัตริย์ยกเลิกกฤษฎีกาของพระองค์ การสวดอ้อนวอนของเอสเธอร์และผู้คนของเธอได้รับคำตอบ
เราสามารถยึดถือเอสเธอร์เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญ แม้ในการปฏิบัติศาสนกิจ ขณะเราเพิกเฉยความกลัวเพื่อทำความรู้จักใครสักคนและช่วยพวกเขาในเรื่องท้าทายต่างๆ
หลักธรรมที่พึงพิจารณา
เราจะทำอะไรได้บ้างเมื่อเราไปปฏิบัติศาสนกิจแล้วพบว่าตนเองอยู่ในสภาวะที่ไม่สบายใจ?
-
จอห์นสวดอ้อนวอนขอการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้า ด้วยความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถเอาชนะความกลัว (ดู สดุดี 34:4)
-
เราอาจสวดอ้อนวอนเพื่อรู้สึกถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีให้คนอื่นๆ ได้ด้วย “ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ขับไล่ความกลัวออกไปเสีย” (1 ยอห์น 4:18)
-
เช่นเดียวกับเอสเธอร์ เราสามารถใช้การอดอาหารและการสวดอ้อนวอนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับศรัทธาที่จะลงมือทำของเรา (ดู เอสเธอร์ 4:3)
-
เราสามารถวางใจว่ามีพลังอำนาจในการรักษาพันธสัญญาของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:9) การดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาทำให้เราสามารถได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์
-
เราสามารถเสริมสร้างศรัทธาของเราให้เข้มแข็งโดยการอดอาหารและการรับเอาคำสัญญาของพระเจ้าที่ทรงทำกับเรามาไว้ในใจ ให้พิจารณาสัญญาต่างๆ ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้: เฉลยธรรมบัญญัติ 31:6; อิสยาห์ 41:10; 2 ทิโมธี 1:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:33
เราจะทำอะไรได้บ้าง?
กล้าเอื้อมออกไป ไม่ว่าจะเป็นใครบางคนที่ต้องทำความรู้จักหรืออะไรบางอย่างที่ต้องเชิญให้พวกเขาทำเพื่อเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยท่าน