“หากพระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นได้ .…” เลียโฮนา, ม.ค. 2023.
ปาฏิหาริย์ของพระเยซู
หากพระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นได้ …
สามสิ่งที่ผมเรียนรู้จากปาฏิหาริย์ที่มักถูกมองข้ามไป
ยอห์นเป็นนักเขียนพระกิตติคุณเพียงคนเดียวที่เล่าเรื่องราวที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น (ดู ยอห์น 2:1–11) เขายังรู้สึกอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับประสบการณ์นั้นจนบอกเราว่ามันเป็น “หมายสำคัญครั้งแรก” ของพระผู้ช่วยให้รอด (ยอห์น 2:11)
ในทางวัฒนธรรม ผลที่ตามมาจากการที่เหล้าองุ่นหมดอาจกระทบสถานะทางสังคมผู้ที่เกี่ยวข้องได้ 1. และแม้ผมไม่เชื่อเลยว่าปาฏิหาริย์ต้องเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ผมก็สงสัยว่าทำไมยอห์นจึงรู้สึกว่าปาฏิหาริย์นี้มีความสำคัญมากในปาฏิหาริย์จำนวนมากทั้งที่ถือเป็นเรื่องน่าทึ่งและเปลี่ยนแปลงชีวิต
ทำไมต้องมีปาฏิหาริย์?
เหตุใดปาฏิหาริย์จึงมีความสำคัญมากในการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด? แน่นอนว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความเมตตาสงสารที่พระองค์ทรงมีต่อผู้ที่ต้องการ (ดู มาระโก 1:41) นอกจากนี้ปาฏิหาริย์ก็เป็นหลักฐานสำคัญของพลังอำนาจและสิทธิอำนาจจากสวรรค์ของพระองค์ (ดู มาระโก 2:5, 10–11) เหตุการณ์ปาฏิหาริย์ยังสามารถเสริมสร้างศรัทธาและให้ความสนใจกับข่าวสารของพระองค์ได้ (ดู ยอห์น 2:11; 6:2)
แต่แล้วก็มีคนชี้ให้ผมเห็นว่า ปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดนั้นไม่ได้มีเพียงแค่นำผู้คนมาฟังข่าวสารของพระองค์เท่านั้น แต่ยังช่วยสอนข่าวสารอีกด้วย2. เมื่อผมถามตัวเองว่าผมจะเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์จากการเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นเหล้าองุ่นได้บ้าง ผมก็เริ่มเห็นสิ่งใหม่ๆ
นี่คือบทเรียนสามบทเรียนที่ผมได้เรียนรู้จากปาฏิหาริย์ที่คานาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพลังอำนาจของพระองค์ในการช่วยให้รอด
1. “เวลาของเรายังมาไม่ถึง”
เมื่อมารีย์จอพระเยซูให้ช่วย พระองค์ทรงตอบกลับว่า “เวลาของเรายังมาไม่ถึง” (ยอห์น 2:4) หากไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ก็ไม่ชัดเจนว่าทำไมยอห์นถึงได้บันทึกอย่างตรงตัวถึงสิ่งที่มารีย์คาดหวังไว้ หรือสิ่งที่พระเยซูทรงหมายถึงไว้จากคำตอบของพระองค์ว่า เวลาของพระองค์ยังไม่มาถึง
วลีนี้ปรากฎออกมาตรงหน้าผมอย่างเด่นชัดว่าวลีนี้สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นไปได้ที่พระเยซูได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น การเริ่มต้นของการปฏิบัติศาสนกิจสาธารณะของพระองค์ ในขณะเดียวกัน วลีนี้ได้สะท้อนก้องอยู่ทั่วบันทึกของยอห์น ซึ่งมักชี้ไปที่สิ่งอัศจรรย์สูงสุดของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ (ดู ยอห์น 4:21–23; 5:25–29; 7:30; 8:20) ในที่สุด วลีนี้ก็ได้เอ่ยขึ้นซ้ำอีกในตอนท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระองค์ เมื่อ “พระเยซูทรงทราบว่า ถึงเวลาแล้ว ที่พระองค์จะทรงจากโลกนี้ไปหาพระบิดา” (ยอห์น 13:1, เเน้นตัวเอน; ดู ยอห์น 12:23, 27; 16:32 ด้วย) และก่อนที่จะออกไปเกทเสมนี พระองค์ทรงอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว ขอโปรดให้พระบุตรของพระองค์ได้รับเกียรติ เพื่อพระบุตรจะได้ถวายพระเกียรติแด่พระองค์” (ยอห์น 17:1 เน้นตัวเอน)
การได้เห็นยอห์นทวนข้อความนี้ตลอดบันทึกของเขาช่วยให้ผมมองเห็นจุดสิ้นสุดจากจุดเริ่มต้น ขั้นแรก พระเยซูทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นเพื่อเติมเต็มความกระหายทางกายภาพ จากนั้น ในท้ายที่สุด พระองค์ทรงใช้เหล้าองุ่นศีลระลึกเพื่อเป็นตัวแทนของโลหิตแห่งการไถ่บาปของพระองค์ ซึ่งมอบชีวิตนิรันดร์และทำให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์ไปต้องกระหายอีกต่อไป (ดู ยอห์น 4:13–16; 6:35–58; 3 นีไฟ 20:8)
2. “จงทำตามที่ท่านสั่งเจ้าเถิด”
หลังจากการร้องขอความช่วยเหลือจากพระเยซู มารีย์บอกพวกคนรับใช้ว่า “จงทำตามที่ท่านสั่งเจ้าเถิด”” (ยอห์น 2:5) มีบทเรียนในข้อความนี้และในความคล้ายคลึงที่น่าอัศจรรย์ใจระหว่างเรื่องราวนี้และเรื่องราวของโยเซฟในอียิปต์
“เมื่อชาวอียิปต์อดอยาก ประชาชนก็ร้องทูลขออาหารต่อฟาโรห์ ฟาโรห์มีรับสั่งแก่ชาวอียิปต์ทั้งหลายว่า “ไปหาโยเซฟ ท่านบอกอะไร ก็จงทำตาม” (ปฐมกาล 41:55, เน้นตัวเอน)
มารีย์อาจไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างความเชื่อมโยงนี้ และบางทียอห์นก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจเช่นกัน แต่เมื่อผมสังเกตเห็นความเหมือนกัน ความคิดสองอย่างได้เกิดขึ้นในใจ
อย่างแรก ผมยังเห็นวิธีการที่โยเซฟและคนอื่นพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมได้แสดงรูปแบบถึงพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เรื่องราวของอียิปต์และคานาเตือนผมว่า ไม่เพียงแต่พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยเราให้รอดจากบาปและความตายผ่านการชดใช้ของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงผ่านขนมปังและเหล้าองุ่นภายหลัง แต่พระองค์ยังสามารถช่วยเราให้รอดจากความลำบากทางกาย ทางสังคม และอื่นๆ ได้อีกด้วย เมื่อผู้คนทานขนมปังจนหมด ฟาโรห์บอกให้พวกเขาทำตามสิ่งที่โยเซฟพูดไว้ พวกเขาทำตามและได้รับขนมปัง และได้รับการช่วยให้รอดจากความทุกข์ทรมานทางกายภาพ เมื่อพวกคนรับใช้ไม่มีเหล้าองุ่นเหลืออยู่อีก มารีย์บอกให้พวกเขาทำตามที่พระเยซูตรัส พวกเขาทำตามและได้รับเหล้าองุ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างได้รับการช่วยไว้จากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน
ถ้าเราเต็มใจจะทำในสิ่งที่พระเยซูตรัส พระองค์สามารถทำอย่างเดียวกันกับเราได้ และจะทรงกระทำการปาฏิหาริย์ในชีวิตของเรา (ดู ฮีบรู 10:35–36) การที่จะได้รับการช่วยให้รอดเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้งปวงของพระองค์ และสิ่งนั้นต้องการการเชื่อฟังในส่วนของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7และ หลักแห่งความเชื่อ 1:3)
3. “และพวกเขาเติมจนเต็มจนถึงขอบ”
พระผู้ช่วยให้รอดได้ทรงสั่งให้เหล่าคนรับใช้เติมน้ำลงในหม้อหินหกใบ “แล้วพวกเขาก็ตักน้ำเต็มโอ่งเสมอปาก” (ยอห์น 2:6–7)
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำปริมาณที่แตกต่างกันออกไป คงพูดได้ว่าว่าหม้อหินแต่ละหม้อจัดเก็บน้ำได้หลายแกลลอน ไม่ว่าจะเป็นการยากหรือไม่ในการเปลี่ยนน้ำ 1 แกลลอนหรือ 100 แกลลอนให้เป็นเหล้าองุ่น ผมก็ไม่รู้ สิ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผมคือความคิดที่ว่าพระเยซูทรงมีพลังที่จะเปลี่ยนสิ่งหนึ่งให้เป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงได้ พระองค์ไม่ได้ทรงทำน้ำรสชาติเหล้าองุ่น พระองค์นำน้ำที่มีโครงสร้างโมเลกุลที่เรียบง่ายและเปลี่ยนให้เป็นเหล้าองุ่นที่มีส่วนผสมของสารประกอบทางเคมีหลายร้อยชนิด
ถ้าพระองค์ทรงทำได้ พระองค์ก็ทรงสามารถเปลี่ยนความลำบากของผมให้กลายเป็นพรได้ ไม่ใช่แค่การให้ความหวังท่ามกลางพายุแต่เป็นการเปลี่ยนการทดลองให้เป็นสิ่งที่ให้พรแก่ผม (ดู โรม 8:28; 2 นีไฟ 2:2)
และถ้าพระองค์ทรงทำได้กับความท้าทายอย่างหนึ่งอย่างใด พระองค์ก็ทรงสามารถทำได้กับความท้าทายทั้งปวงเช่นกัน ดังนั้นเมื่อชีวิตดูเหมือนเต็มไปด้วยทดลอง โปรดจำไว้ว่า พระองค์ทรงสามารถเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นได้ พระองค์ทรงสามารถเปลี่ยนขี้เถ้าให้เป็นมงกุฎได้เช่นกัน (ดู อิสยาห์ 61:3) พระองค์สามารถสิ่งชั่วร้ายให้กลายเป็นสิ่งดีงานได้ (ดู ปฐมกาล 50:20) พระองค์ทรงสามารถเปลี่ยนความผิดพลาดของผมให้กลายเป็นการเติบโต และนำความผิดบาปของผมไปและเปลี่ยนจากการลงโทษไปสู่ความก้าวหน้า3.
และสำหรับผมแล้ว การตระหนักเช่นนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในบรรดาเรื่องทั้งหมด ปาฏิหาริย์ที่ผมเคยมองข้ามไปนี้ได้สอนผมว่า ด้วยพลังอำนาจของพระองค์ ถ้าเรามีศรัทธาที่จะทำในสิ่งที่พระองค์ทรงขอ พระองค์จะทรงสามารถเปลี่ยนเราจากสิ่งที่เราเคยเป็นให้กลายเป็นสิ่งที่เราเป็นได้ เป็นเหมือนพระองค์