2023
ข่าวสารห้าประการที่เราทุกคนต้องได้ยิน
มกราคม 2023


ดิจิทัลเท่านั้น

ข่าวสารห้าประการที่เราทุกคนต้องได้ยิน

พระบัญญัติสำคัญสองข้อคือเป้าหมายหลักแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระบัญญัติสองข้อนี้เป็นรากฐานของเราในฐานะเป็นผู้ติดตามของพระองค์

แม้สภาวการณ์อาจแตกต่าง แต่ใจเราไม่ต่าง ด้วยเหตุนี้จึงมีข่าวสารบางประการที่บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าต้องได้ยิน ข้าพเจ้าต้องการแบ่งปันข่าวสารห้าประการนี้กับท่าน—ความจริงและคำแนะนำที่พูดกับเราทุกคน

ภาพ
เครื่องบินและดวงอาทิตย์

1. มุ่งไปหาแสงสว่าง

สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นกัปตันสายการบิน บางครั้งข้าพเจ้าจะขับเครื่องบินโบอิ้ง 747 จากเยอรมนีไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ในเที่ยวบินเหล่านั้นที่ไปมุ่งหน้าไปทางตะวันตก แสงตะวันดูเหมือนจะเจิดจ้าอยู่ตลอดกาล เราออกเดินทางจากเยอรมนีเวลา 13:00 น. และ 10 ชั่วโมงต่อมาเราก็ลงจอดที่แคลิฟอร์เนีย—ซึ่งเป็นเวลา 14:00 น. ของวันเดียวกัน! เราไม่เคยได้เห็นดวงอาทิตย์ตกดินเลย

สิ่งตรงข้ามกันนี้เกิดขึ้นเมื่อบินไปทางตะวันออก ดวงอาทิตย์ตกเร็วกว่าปกติ เมื่อออกเดินทางเวลา 13.00 น. นั่นหมายความว่าในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เราถูกกลืนหายไปในค่ำคืนที่มืดมิดที่สุด แต่เนื่องจากทิศทางและความเร็ว ดังนั้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็พบว่าตัวเราถูกอาบไปด้วยแสงแดดจ้าและมักจะทำให้ตาพร่ามัว

ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเดินทางไปตะวันตกหรือตะวันออก ดวงอาทิตย์ไม่เคยเปลี่ยนเส้นทาง แต่ยังคงอยู่ที่เดิม มั่นคงในม่านฟ้า ให้ความอบอุ่นและแสงสว่างแก่แผ่นดินโลก

การเข้าถึงความอบอุ่นและแสงสว่างนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ทิศทาง และความเร็วของข้าพเจ้า

ทำนองเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าประทับในสวรรค์ พระองค์ทรงไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเราต่างหากที่เปลี่ยนไป

เราทุกคนต้องการแสงสว่างของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิต แต่เราทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตนเองอยู่ในความมืด

เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง เรามั่นใจได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ที่นั่นเสมอเหมือนดวงอาทิตย์ เมื่อเราโน้มใจไปหาพระองค์ พระองค์จะทรงโอบกอดเราและทำให้จิตวิญญาณของเราเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่น ความรู้ และการนำทาง

2. ท่านเก่งกว่าที่ท่านคิด

พระเจ้ามักทรงใช้สิ่งธรรมดาและอ่อนแอของโลกเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ (ดู แอลมา 26:12; 37:6)

เยเรมีย์เชื่อว่าเขายังเด็กเกินกว่าที่จะเป็นศาสดาพยากรณ์ (ดู เยเรมีย์ 1:6–7)

โมเสสสงสัยในตนเองเพราะเขาพูดช้า (ดู อพยพ 4:10–12)

เอโนครู้สึกไม่คู่ควรที่จะสั่งสอนการกลับใจเพราะในคำพูดของเขา “ผู้คนทั้งปวงเกลียดชังข้าพระองค์” (โมเสส 6:31)

พระเจ้ามักทรงบรรลุผลสำเร็จมากที่สุดกับคนที่รู้สึกว่าประสบความสำเร็จได้น้อยที่สุด พระองค์ทรงนำหนุ่มเลี้ยงแกะคนหนึ่งและทำให้เขามีพละกำลังมากพอจะสังหารคนร่างยักษ์และนำประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้ (ดู 1 ซามูเอล 17)

ภาพ
โจเซฟ สมิธในป่าศักดิ์สิทธิ์

เด็กหนุ่มชาวไร่คนหนึ่งที่ไม่มีการศึกษากลายเป็นศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายผู้ยิ่งใหญ่ที่เริ่มงานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง

ความปรารถนาของใจข้าพเจ้า โดย วอลเตอร์ เรน

ในสมัยการประทานของเรา พระผู้เป็นเจ้าทรงนำเด็กหนุ่มชาวไร่คนหนึ่งที่ไม่มีการศึกษาและทรงแนะนำจนกระทั่งเขากลายเป็นศาสดาพยากรณ์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคสุดท้ายผู้เริ่มงานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวงที่เวลานี้แผ่ขยายออกไปทุกประเทศในโลก

บางทีเราทุกคนอาจมองตนเองด้อยกว่าที่เราเป็นอยู่ ไม่มีค่าควร ไม่มีพรสวรรค์ ไม่มีอะไรพิเศษ ขาดแคลนทางใจ ความคิด ทรัพยากร ความสามารถพิเศษ หรือรูปร่างที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากมายต่อพระผู้เป็นเจ้า

ท่านบอกว่าตัวท่านเองไม่สมบูรณ์แบบใช่ไหม? ยินดีต้อนรับสู่ชมรม! ท่านอาจเป็นคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมองหา

พระเจ้าทรงเลือกคนอ่อนน้อมและอ่อนโยน—ส่วนหนึ่งเป็น เพราะ พวกเขานอบน้อมถ่อมตน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีความสงสัยใดๆ เกี่ยวกับที่มาของความสำเร็จของพวกเขา คนธรรมดาๆ ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ทำสิ่งยิ่งใหญ่สำเร็จได้ไม่ใช่เพราะตัวตนที่พวกเขาเป็น แต่เป็นเพราะพระองค์ผู้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า! เพราะ “สิ่ง​ที่​มนุษย์​ทำ​ไม่‍ได้ พระ‍เจ้า​ทรง​ทำ​ได้” (ลูกา 18:27, ฉบับสากลใหม่ [2011]; ดู มาระโก 10:27 ด้วย)

พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงต้องการให้ท่านเป็นคนพิเศษเลิศเลอ ไม่แม้แต่จะต้องสมบูรณ์แบบ

พระองค์จะทรงใช้พรสวรรค์กับความสามารถของท่านและขยายสองสิ่งนี้ให้พัฒนายิ่งขึ้น—แม้ว่าอาจหาได้ยากพอๆ กับขนมปังไม่กี่ก้อนและปลาสองสามตัว หากท่านวางใจในพระองค์และซื่อสัตย์ พระองค์จะทรงขยายคำพูดและการกระทำของท่าน และใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อเป็นพรและปฏิบัติศาสนกิจต่อมวลชน! (ดู ยอห์น 6:8–13)

พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงต้องการคนที่ไร้ที่ติ

พระองค์ทรงแสวงหาคนที่จะถวายใจและความคิดที่เต็มใจ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:31–34] และจะทรงทำให้พวกเขาดีพร้อมในพระคริสต์ (ดู โมโรไน 10:32–33)

ภาพ
ชายคนหนึ่งช่วยผู้บาดเจ็บ

เรารักครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนบ้านของเราหรือไม่?

ชาวสะมาเรียผู้ใจดี โดย วอลเตอร์ เรน

3. เรียนรู้ที่จะรักพระผู้เป็นเจ้าและรักกันและกัน

เมื่อฟาริสีถามพระเยซูว่าพระบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด พระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดลำดับความสำคัญของเราในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะศาสนจักรไว้ดังนี้:

  1. รักพระผู้เป็นเจ้า (ดู มัทธิว 22:37)

  2. รักเพื่อนบ้าน (ดู มัทธิว 22:39; ดู ข้อ 34–40 ด้วย)

นี่เป็นศูนย์กลางของพระกิตติคุณ และควรเป็นศูนย์กลางในความพยายามทุกอย่างของเราทั้งในฐานะศาสนจักรและในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

ผืนผ้าใบแห่งพระกิตติคุณกว้างและสวยงามมากจนเราอาจใช้เวลาศึกษาชั่วชีวิตและรู้เพียงผิวเผินเท่านั้น เราทุกคนต่างมีหัวข้อหรือหลักธรรมที่เราสนใจมากกว่าเรื่องอื่นๆ โดยปกติ สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ดึงดูดใจ พูดถึง และเน้นในงานรับใช้ของเราในศาสนจักร

หลักธรรมเหล่านั้นมีความสำคัญหรือไม่? สำคัญแน่นอน

แต่เราควรพิจารณาให้ดีว่าหลักธรรมเหล่านั้นสำคัญ ที่สุด หรือไม่

พวกฟาริสีในยุคโบราณรวบรวมกฎและพระบัญญัติหลายร้อยข้อจากงานเขียนศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาใช้ความพยายามอย่างมากในการจัดทำให้เป็นเล่ม ปฏิบัติตาม และบังคับให้ผู้อื่นดำเนินชีวิตตามกฎและพระบัญญัติเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด พวกเขาเชื่อว่าการเชื่อฟังกฎข้อเล็กที่สุดจะนำผู้คนไปหาพระผู้เป็นเจ้า

พวกเขาทำพลาดตรงไหน?

พวกเขาละเลยศูนย์กลาง

พวกเขาละเลยสิ่งล้ำค่าที่สุดสำหรับจุดประสงค์นิรันดร์ของพวกเขา

พวกเขามองกฎมากมายนี้ว่าเป็นทางตัน แทนที่จะมองว่าเป็นหนทางไปสู่ปลายทางสุดท้าย

วันนี้เราหวั่นไหวต่อการเข้าใจผิดแบบเดียวกันนี้หรือไม่? ถ้าเราจะระดมความคิด ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเราสามารถรวบรวมรายการความคาดหวังในยุคสุดท้ายที่จะทัดเทียมหรืออาจล้ำหน้าความคาดหวังที่มีมาแต่โบราณ

ไม่ได้บอกว่ากฎและหัวข้อพระกิตติคุณเหล่านี้ไม่สำคัญหรือด้อยค่า สิ่งเหล่านี้ต่างมีจุดประสงค์ เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด

สามารถนำเราไปสู่ศูนย์กลาง แต่ไม่ได้สำคัญที่สุด

เป็นกิ่งก้านของต้นไม้ แต่ไม่ใช่ต้นไม้ทั้งต้น และหากแยกออกจากต้น ก็จะไม่มีชีวิต แล้วเหี่ยวเฉาตายไป (ดู ยอห์น 15:1–12)

เมื่อเราพบพระผู้ช่วยให้รอดที่บัลลังก์พิพากษา เราจะรายงานว่าเราดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติข้อสำคัญสองข้ออย่างไร1

เราแสวงหาพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ หรือไม่? เรารักพระองค์ด้วยสุดใจ สุดกำลัง ความนึกคิด และกำลังของเราหรือไม่?

เรารักครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนบ้านหรือไม่? เราแสดงความรักนั้นอย่างไร?

เรายึดมั่นหลักธรรมทั้งหมดของพระกิตติคุณ เรา “ดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำที่ออกจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:44) แต่เราต้องจำไว้เสมอว่า “ธรรม‍บัญญัติ​และ​คำ​ของ​ผู้‍เผย‍พระ‍วจนะ​ทั้ง‍หมด” มุ่งไปที่พระบัญญัติสองข้อใหญ่ (มัทธิว 22:40)

นี่คือศูนย์กลางของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เป็นรากฐานของสิ่งที่เราเป็นในฐานะผู้ติดตามของพระองค์

ภาพ
พระเยซูเบื้องหน้าคายาฟาส

ขณะที่คนอื่นโต้เถียงพระองค์ พระเยซูตรัสความจริงที่เรียบง่าย—ไม่ใช่ด้วยความโกรธ แต่ด้วยความสง่าผ่าเผย

พระเจ้าทรงถูกกล่าวหาต่อหน้าคายาฟาส โดย แฟรงค์ อดัมส์

4. ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การโต้เถียงเป็นสิ่งที่เลือกได้

บางครั้งเราคิดว่าชีวิตจะน่ารื่นรมย์สักเพียงใดถ้าไม่มีการต่อต้านมากนัก

พระเยซูคริสต์—แบบอย่างแห่งความสมบูรณ์แบบ—ไม่ได้ทรงดำเนินชีวิตที่ปราศจากความขัดแย้ง พระองค์ทรงถูกต่อต้านตลอดพระพันธกิจของพระองค์ และในวาระสุดท้าย พระองค์ทรงถูกเพื่อนทรยศ ถูกกล่าวหาโดยพยานเท็จ ใส่ร้าย ทุบตี ทำให้เสียพระโลหิต และถูกตรึงกางเขน

พระองค์ทรงตอบโต้อย่างไร?

กับบางคน พระองค์ไม่ตรัสอะไร

แต่กับบางคน พระองค์ตรัสความจริงอันเรียบง่าย—ไม่ใช่ด้วยความโกรธ แต่ด้วยความสง่าผ่าเผย

ขณะที่คนอื่นๆ โต้เถียง พระองค์ทรงยืนอยู่ในที่ของพระองค์—วางใจในพระบิดา สงบนิ่งในประจักษ์พยานของพระองค์ ยึดมั่นในความจริง

เราอาจเลี่ยงความขัดแย้งไม่ได้ เพราะเป็นสภาพหนึ่งของความเป็นมรรตัย และเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง

อย่างไรก็ตาม การโต้เถียงเป็นสิ่งที่เลือกได้ เป็นหนทางหนึ่งที่ผู้คนเลือกจะตอบสนองต่อความขัดแย้ง และเราเลือกทางที่ดีกว่านั้นได้

โลกของเราเต็มไปด้วยการโต้เถียงกัน เราพบเห็นสิ่งนี้ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นข่าว บนโซเชียลมีเดีย—แม้บางครั้งในความสัมพันธ์ของเรากับคนที่เรารัก

เราไม่สามารถปรับระดับความขมขื่น ความขุ่นเคือง หรือความโกรธของผู้อื่นได้

แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะตอบโต้อย่างไร

แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก

การอดกลั้นที่จะไม่โต้เถียงกับผู้ที่โต้แย้งต้องใช้การฝึกฝนอย่างมาก แต่นั่นคือวิถีของการเป็นสานุศิษย์ พระเยซูทรงสอนว่า “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง … นี่เป็นหลักคำสอนของเรา, ว่าเรื่องเช่นนั้นจะหมดไป” (3 นีไฟ 11:29–30)

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าตรัส—แม้เมื่อพระองค์ทรงเรียกเราให้กลับใจ—สุรเสียงของพระองค์ไม่น่าจะเป็น “เสียงฟ้าร้อง, ทั้งมิใช่เสียงดังกึกก้อง, แต่ … เป็นเสียงสงบแห่งความนุ่มนวลอย่างสมบูรณ์, [เหมือน] เป็นเสียงกระซิบ, และเสียงนั้นเสียดแทงแม้จนถึงจิตวิญญาณทีเดียว” (ฮีลามัน 5:30)

ในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ เราทำตามแบบอย่างนี้ เราไม่โจมตีหรือทำให้ผู้อื่นขายหน้า เราพยายามรักพระผู้เป็นเจ้าและรับใช้เพื่อนบ้านของเรา เราพยายามรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าอย่างมีความสุขและดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ และเราเชื้อเชิญให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน

เราไม่สามารถบังคับใครให้เปลี่ยนแปลงได้ แต่เรารักพวกเขาได้ เราสามารถเป็นแบบอย่างของสิ่งที่มีในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ และเราสามารถเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง

เวลาคนอื่นกล่าวร้ายเรา เราสวนกลับหรือไม่?

มีวิธีที่ดีกว่านั้น

กับบางคนเราไม่พูดอะไรเลย กับบางคน เราบอกกล่าวอย่างมีศักดิ์ศรีว่าเราเป็นใคร เราเชื่ออะไร และเหตุใดเราจึงเชื่อ เราเชื่อมั่นในศรัทธาของเราในพระผู้เป็นเจ้า โดยวางใจว่าพระองค์จะทรงค้ำจุนในการทดลองของเรา

ให้เราทำกิจธุระของพระบิดา

เรามีงานหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อเลียนแบบพระคริสต์ เราทำเช่นนั้นผ่านการเรียนรู้ที่จะรักพระผู้เป็นเจ้าและเอื้อมออกไปเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น

แน่นอนว่าจะยังคงมีความขัดแย้ง แต่พระบิดาผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดของเราทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงต่อสู้เพื่อเรา (ดู อพยพ 14:13–14; เฉลยธรรมบัญญัติ 3:21–22; สดุดี 20:6; 34:17; สุภาษิต 20:22)

ภาพ
พระเยซูในเกทเสมนี

พระคริสต์ในเกทเสมนี โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

5. พระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่

ตราบใดที่พวกเราเหล่ามนุษย์ปุถุชนยังเหยียบย่างอยู่บนดาวเคราะห์ที่น่าอัศจรรย์และสวยงามนี้ เราย่อมทำผิดพลาด เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้พระผู้เป็นเจ้าแปลกพระทัย

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงส่งพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์มาประสูติในสตรีที่เป็นมนุษย์ เพื่อดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบ และทำการเสียสละอันยิ่งใหญ่นิรันดร์ที่ชำระเราให้สะอาดจากบาปและเปิดประตูสู่ความศักดิ์สิทธิ์ สันติสุข และรัศมีภาพตลอดนิรันดรเมื่อเรากลับใจและมีศรัทธาในพระองค์

เพราะพระเยซูคริสต์ ความผิดพลาดและบาปของเรา—แม้กระทั่งความเศร้าโศก ความเจ็บปวด ความผิดหวัง และความคับข้องใจที่เกิดขึ้นทุกวัน—สามารถรักษาให้หายได้ ขอบพระทัยพระผู้ช่วยให้รอดที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขัดขวางเราจากการบรรลุจุดหมายอันสูงส่งของเรา!

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญเรา “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28) พระองค์ประทานการให้อภัยและความเข้มแข็งเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะพระเยซูคริสต์ เราจึงสามารถทิ้งภาระไว้เบื้องหลัง แก้ไขแต่ละวันเพื่อติดตามพระองค์ได้ดีขึ้น

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่ ทุกวัน ทุกชั่วโมง สามารถเป็นการเริ่มต้นใหม่ได้—เป็นโอกาสในการเชื่อมตนเองใหม่อีกครั้งในพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และดำเนินชีวิตได้ดีขึ้นในฐานะสานุศิษย์ที่แน่วแน่และซื่อสัตย์ของพระผู้ช่วยให้รอด พระกิตติคุณของพระองค์เป็นข่าวดีว่าเราเริ่มต้นใหม่ได้—เราสามารถเป็นคนที่ถูกสร้างใหม่ในพระคริสต์ (ดู 2 โครินธ์ 5:17)

ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าเราลดทอนหรือทำให้บาปและความผิดพลาดของเราน้อยลง เราไม่หมกไว้ใต้พรมหรือพยายามซ่อนสิ่งเหล่านี้

ในทางกลับกัน เพื่อให้ได้รับการให้อภัยจากพระผู้เป็นเจ้า เราต้องสารภาพบาปของเรา เราต้องยอมรับความอ่อนแอทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น เราจึงจะเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นและเอาชนะได้ เราต้องประเมินอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนว่าเราอยู่ตรงจุดใดก่อนที่เราจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางและก้าวไปยังจุดที่เราต้องการได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องกลับใจ!

เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราระลึกถึงพันธสัญญาที่เราทำเมื่อบัพติศมาเพื่อรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดและเดินในเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์ เราเข้าหาพระ‍ที่‍นั่ง‍กรุณาของพระผู้เป็นเจ้า และวางบาปของเราอย่างนอบน้อมต่อพระพักตร์พระองค์เพื่อถวายเครื่องบูชาและวิงวอนขอพระเมตตาจากพระองค์ เราให้คำมั่นว่าจะรักและรับใช้พระองค์และผู้อื่น เราทูลขอพรจากพระองค์เมื่อเราอุทิศความคิดและการกระทำของเราแก่การรับใช้พระองค์

เมื่อทำเช่นนี้ ท่านจะรู้สึกว่าพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเอื้อมออกมาหาท่าน พระผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาลจะประทานความเข้มแข็งและแรงจูงใจให้ท่านทำได้ดีขึ้น

แต่ยังคงมีความผิดพลาดและอุปสรรคในอนาคต เฉกเช่นที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทุกวันอันเป็นการส่งสัญญาณถึงวันใหม่ ทุกครั้งที่กลับใจเราย่อมเริ่มต้นใหม่บนเส้นทางการเป็นสานุศิษย์

เราเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง

พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้เรามาหาพระองค์ พระเมตตาของพระองค์เพียงพอที่จะเยียวยาบาดแผลของเรา เป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งหน้าต่อไป ชำระเราให้สะอาดจากบาป ทำให้เราเข้มแข็งขึ้นต่อการทดลองที่จะเกิดขึ้น ทรงอวยพรเราด้วยความหวังและสันติสุขของพระองค์

หากเราปรารถนาอย่างสุดใจ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำทางเราผ่านชีวิตมรรตัยนี้ และพระองค์จะทรงรอคอยพร้อมพระพาหุที่จะโอบกอดเราในการฟื้นคืนพระชนม์

ไม่ว่าข้อตำหนิและข้อบกพร่องจะเป็นเช่นไร พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถเยียวยา เป็นแรงบันดาลใจ และชำระเราให้สะอาดได้

พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่

เช่นเดียวกับท่าน ข้าพเจ้าเป็นนักเดินทางผู้ต่ำต้อยที่พยายามอย่างล้มลุกคลุกคลานเพื่อเดินบนเส้นทางแห่งการเป็นสานุศิษย์และหวังจะบรรลุความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของพระบิดาบนสวรรค์—เพื่อกลับไปหาพระองค์และอยู่กับท่าน “ในสภาพแห่งความสุขอันไม่รู้จบ” (โมไซยาห์ 2:41)

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้ท่านพบความหวัง ความเข้มแข็ง และปีติในการเดินทางของท่าน เพื่อท่านจะพบพระผู้เป็นเจ้าและรักพระองค์ด้วยสุดใจขณะที่ท่านพยายามเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่น

จากคำปราศรัยที่ BYU Education Week เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2021 ในหัวข้อ “Five Messages That All of God’s Children Need to Hear”

อ้างอิง

  1. ในคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของพระองค์ในความเป็นมรรตัย พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการพิพากษาครั้งสุดท้าย โดยทรงอธิบายว่าอนาคตนิรันดร์ของเราจะขึ้นอยู่กับวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่นเป็นส่วนใหญ่ (ดู มัทธิว 25:31–40)

พิมพ์