“การค้นหาการออกแบบอันศักดิ์สิทธิ์ในครอบครัว ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ของเรา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2023.
คนหนุ่มสาว
การค้นหาการออกแบบอันศักดิ์สิทธิ์ในครอบครัว “ไม่สมบูรณ์แบบ” ของเรา
การไม่ได้มีครอบครัว “สมบูรณ์แบบ” ในโลกของปุถุชนทั่วไปถือเป็นเรื่องเจ็บปวดอย่างยิ่งแต่เราสามารถใช้ความเป็นจริงของเราในการเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
ไม่มีสิ่งใดที่จะนำความรู้สึกลึกซึ้งถึงความหมายของความสุข ความปรารถนา และความเจ็บปวดได้มากไปกว่าความสัมพันธ์ที่เป็นศูนย์กลางของประสบการณ์ในความเป็นมรรตัยของเรา นั่นคือความสัมพันธ์ในครอบครัวเรา และ เนื่องจาก ความสัมพันธ์เหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก ผู้นำศาสนจักรของเราจึงได้รับการดลใจให้เขียน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”1. ความจริงของถ้อยแถลงกล่าวคำพยานถึงพระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยรักที่ทรงปรารถนาให้เรารู้ถึงรูปแบบอันศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปสู่ความสุขนิรันดร์ในชีวิตครอบครัว
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “เพราะพระบิดาของเราทรงรักบุตรธิดาของพระองค์ พระองค์จะไม่ปล่อยให้เราคาดเดาสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตนี้เกี่ยวกับจุดใดที่เรามุ่งสนใจอาจนำไปสู่ความสุขหรือความไม่ยินดียินร้ายของเราอาจนำมาสู่ความเศร้า”2. ซึ่งรวมถึงบทบาทในครอบครัวที่มีความศักดิ์สิทธิ์อันหลากหลายลึกซึ้งมากมาย บทบาทซึ่งเราอาจมีได้ในชีวิตนี้ ได้แก่ บุตรสาวหรือบุตรชาย พี่น้องหญิงหรือชาย แม่หรือพ่อ ลุงป้าน้าอา หรือปู่ย่าตายาย
ความจริงในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวนี้ส่องสว่างเส้นทางแห่ง “อุดมคตินิรันดร์” ซึ่งพวกเราหลายคนปรารถนาอย่างแรงกล้า นั่นคือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวนิรันดร์อันเข้มแข็งและมีความสุข ปัญหาคือเราอาศัยอยู่ใน “ความเป็นจริงของมรรตัย” และช่องว่างระหว่าง “ความเป็นจริง” และ “อุดมคติ” นั้นอาจสร้างความเจ็บปวดได้ บางครั้ง แทนที่เราจะมองเป็นแสงนำทาง เราอาจแม้รู้สึกว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงจุดที่เรา “ล้มเหลว” ในการทำให้เป็นไปตาม “อุดมคติ”
-
เราอาจปรารถนาการแต่งงานแต่ไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้
-
เราอาจแต่งงานและประสบกับการหย่าร้างที่ส่งผลเสียหายมหาศาล
-
เราอาจปรารถนามีลูกของเรา ซึ่งเราไม่สามารถให้กำเนิดได้
-
เราอาจประสบกับการกระทำทารุณกรรมในความสัมพันธ์ครอบครัวที่เราไว้วางใจ
-
เราอาจได้รับความเจ็บปวดอย่างมากเนื่องจากการเลือกของคนในครอบครัวที่รัก
-
เราอาจรู้สึกถึงการแบ่งแยกแม้เราจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะสร้างความสามัคคีในหมู่คนที่เรารักแล้วก็ตาม
-
เราอาจรู้สึกว่าความปรารถนาและสัญญาที่ไม่บรรลุเป้าหมายนั้นไม่เป็นที่เข้าใจ
ในความเป็นจริง เราทุกคนจะรู้ถึงความท้าทาย ความเจ็บปวด และความเศร้าในชีวิตครอบครัว บางคนมากกว่าคนอื่นๆ พวกเราทั้งหมดต่างอยู่นอกเหนือรูปแบบในอุดมคติของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว อย่างน้อยในระดับหนึ่ง
สิ่งที่เราอาจ ไม่ ตระหนักคือการออกแบบอันศักดิ์สิทธิ์ในความเป็นจริงนั้น
การค้นหาและการยอมต่อพระผู้ช่วยให้รอด
ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการแต่งงานและมีลูกเป็นเวลาหลายปี ฉันปรารถนาและเชื่อว่าจุดประสงค์พื้นฐานของชีวิตฉันคือการบรรลุอุดมคติของชีวิตครอบครัวที่ตั้งไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว แม้ว่าฉันจะพยายามอย่างจริงใจที่สุดแล้ว แต่ฉันก็ไม่อาจทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างที่ฉันเชื่อว่าควรจะเป็น การดิ้นรนกับอุปสรรคเหล่านั้นเจ็บปวดอย่างยิ่ง
ในตอนนั้น ฉันไม่เห็นผลงานที่น่าอัศจรรย์ใจที่พระเจ้าทรงสร้างไว้ในหัวใจของฉันผ่านการต่อสู้ดิ้นรนที่ยากลำบากนั้น
เมื่อมองย้อนไป ความปรารถนาที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มของฉันมีบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ในการโน้มเอียงใจฉันไปยังพระผู้ไถ่เพื่อแสวงหาสันติและการนำทางของพระองค์เพียงผู้เดียว ซึ่งทรงสามารถมอบและทำให้การวางใจของฉันในความรักและพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถลึกซึ้งขึ้น การสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำในการประชุมใหญ่สามัญ กลายเป็นการนำทางและความหวัง ฉันรู้สึกว่าจำเป็นต้องหันไปหาถ้อยคำของปิตุพร และพรฐานะปุโรหิตอื่นๆ เพื่อค้นหาความรักและการนำทางที่เป็นส่วนตัวของฉันจากพระบิดานิรันดร์
ขณะที่ฉันสวดอ้อนวอนพระเจ้า แม้ในยามที่ฉันถูกล่อลวงให้กลับไปสู่ความขมขื่น ความประทับใจอันศักดิ์สิทธิ์ก็มาถึงความคิดและจิตใจของฉันและทำให้ฉันมั่นใจว่า พระองค์ทรงรู้ว่าฉันอยู่ที่ใด รู้ว่าชีวิตฉันมีแผนที่สวยงามรองรับอยู่ และรู้ว่าฉันสามารถวางใจพระองค์ การเป็นส่วนหนึ่งในพันธสัญญา3กับพระผู้ไถ่ของฉันเป็นเสมือนช่องทางของปีติและสันติอันลึกซึ้งที่ข้ามผ่านแหล่งอารมณ์แห่งความปรารถนาหรือความสุขอื่นใด
ฉันได้เข้าใจว่าแม้ฉันจะเชื่อว่าจุดประสงค์ในชีวิตของฉันคือการบรรลุความฝันของครอบครัวอุดมคติของฉัน แต่พระเจ้าทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ นั่นคือสิ่งที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกว่า จุดประสงค์พื้นฐานของความเป็นมรรตัย ด้วยการอ้างอิงถึงคำพูดของกษัตริย์เบนจามิน ท่านอธิบายว่า “บางทีจุดประสงค์พื้นฐาน … คือเพื่อเป็น ‘วิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า’ ซึ่งเราต้องกลายเป็น ‘ดังเด็ก, ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน, อดทน, เปี่ยมด้วยความรัก, เต็มใจยอมในสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้า ทรงเห็นควรจะอุบัติแก่เขา, แม้ดังเด็กยินยอมต่อบิดาตน’”4.
ความต้องการที่จะได้ความช่วยเหลือและความเข้มแข็งจากพระผู้ช่วยให้รอดทำให้ฉันแสวงหาและประสบหัวใจแห่งการเป็นคนว่าง่าย ความเมตตา ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอดทน และความรักของพระองค์ ในกระบวนการนี้ ฉันเปลี่ยนแปลงไปโดยเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ และจริงๆ แล้วนั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการมากที่สุด สิ่งที่ดูเหมือน “ไม่สมบูรณ์แบบ” ปูทางสู่ความ “สมบูรณ์แบบ” ที่สวยงามที่สุด
เพื่อนและเพื่อนร่วมงานของฉัน ไท แมนส์ฟิลด์ อธิบายถึงความจริงที่คล้ายกัน ในฐานะชายคนหนึ่งที่ประสบความเสน่หาเพศเดียวกัน ไทเห็นการเติบโตทางวิญญาณซึ่งเกิดขึ้นได้ขณะที่เรายึดชีวิตของเราไว้กับพระเยซูคริสต์ และยินยอมถวายใจของเราทั้งหมดแด่พระองค์ ยอมให้พระองค์อุทิศถวายประสบการณ์อันยากลำบากทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของเรา สำหรับไท สิ่งนั้นเริ่มต้นจากพระวิญญาณทรงสอนเขา “ว่าไม่ว่าผมจะแต่งงานหรือไม่ก็ตาม ผมได้รับความรักและได้รับการยอมรับจากพระเจ้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หน้าที่รับผิดชอบของผมคือการดำเนินชีวิตต่อไปทีละวันขณะแสวงหาและปฏิบัติตามการทรงนำของพระวิญญาณ”5. และในที่สุดความไว้วางใจในพระเจ้าก็นำไทเข้าสู่การแต่งงานนิรันดร์อันเปี่ยมสุขงดงามกับภรรยาของเขา
การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระผู้ช่วยให้รอด
ในที่สุดฉันก็ได้แต่งงานเช่นกันหลังจากสงสัยมานานว่าฉันจะได้แต่งงานหรือไม่ แต่ความจำเป็นที่จะยึดเหนี่ยวพระเยซูคริสต์อย่างมั่นคงยังคงดำเนินต่อไป หากไม่ได้เพิ่มขึ้นในเวลาหลายปีนับตั้งแต่ฉันได้รับการผนึกกับสามีของฉัน ฉันเริ่มต้นแสวงหาพระองค์เพื่อสันติสุขอีกครั้งขณะที่ฉันต่อสู้กับภาวะการเป็นหมัน ฉันไม่รู้ว่าฉันจะมีความสุขอย่างที่หวังไว้ในชีวิตครอบครัวได้อย่างไรหากฉันไม่มีลูกของตัวเอง แต่แม้กระทั่งหลังจากที่สามีและฉันได้รับพรจากพระองค์ในการมีทายาทถึงสองคนแล้ว ฉันก็มักจะให้ความสนใจกับจุดอ่อนของฉันในฐานะมารดา แม้ว่าในที่สุดฉันมีสิ่งที่ฉันต้องการอยู่เสมอ แต่ในบางวิธีนั้น ช่องว่างระหว่าง “อุดมคติ” และ “ความจริง” ก็ดูเหมือนจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้ฉันทบทวนถึงจุดประสงค์ของความเป็นมรรตัย และกระบวนการแต่งตั้งอันศักดิ์สิทธิ์ที่เราเติบโตมา บางทีจุดประสงค์ของชีวิตจริงๆ แล้วอาจไม่ได้อยู่ที่การมีครอบครัวในอุดมคติ บางทีอุดมคติอาจไม่ได้มีอยู่ในความเป็นมรรตัย บางทีครอบครัวอาจเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
อันที่จริง บางทีความเป็นจริงที่รู้สึกว่า “ด้อยกว่าอุดมคติ” อันแสนเจ็บปวดจะเติมเต็มจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ในการเชื้อเชิญการเติบโตที่เราจำเป็นต้องมีจริงๆ เพื่ออยู่ในความสัมพันธ์ “อุดมคติ” ที่มีอยู่จริง บางทีพลังอำนาจเหล่านั้นอาจซ่อนอยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่า ช่องว่างอันลึกซึ้งระหว่างความเป็นจริงและอุดมคติของเราเชื้อเชิญให้เรามามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์อย่างลึกซึ้ง ในที่ซึ่งพระองค์ทรงเยียวยาและชำระความรู้สึกล้มเหลวนั้นให้บริสุทธิ์ ทรงสร้างสติปัญญา ความเข้มแข็ง และความรักขึ้นในกระบวนการนั้น สิ่งนั้นผ่านพระคุณและการไถ่บาปของพระองค์เพียงลำพังอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งทำให้เราสามารถกลายเป็นบุคคลในความสัมพันธ์ที่เราพยายามจะมีในสวรรค์ได้
ฉันเชื่อว่า “ความสมบูรณ์แบบ” ไม่สามารถเป็นไปได้ในความสัมพันธ์กับครอบครัวหรือกับใครเลยจริงๆ อย่างน้อยก็ในชีวิตนี้ แต่ความซื่อสัตย์ คุณธรรม และความจริงใจสามารถกระทำได้ อันที่จริง การเสแสร้งหรือความคาดหวังความสมบูรณ์แบบจะส่งผลกระทบต่อความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า ครอบครัวของเรา และผู้อื่นอย่างแท้จริง แต่ขณะที่เรายินยอมให้ตัวเราเองถูกมองในตัวตนที่แท้จริงของเราโดยพระคริสต์ โดยครอบครัวของเราและคนอื่นๆ ได้ ซึ่งรวมถึงทุกอย่างที่ “ด้อยกว่าอุดมคติ” เราสามารถเชิญเดชานุภาพแห่งการชำระให้บริสุทธิ์ของพระองค์มาสู่ชีวิตเรา เราสามารถพบกับพลังมหัศจรรย์ของพระองค์ในการแก้ไขสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เติมเต็มเราด้วยความรักของพระองค์ และเปลี่ยนเราให้เป็นสัตภาวะที่มีความสัมพันธ์กับพระองค์และคนที่เรารักอย่างลึกซึ้งมากกว่านี้
บางทีจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวคือการทำให้เรามั่นใจว่า เนื่องด้วยพระเยซูคริสต์ ครอบครัว “อุดมคติ” อาจเป็นจุดหมายนิรันดร์ของเราแต่ละคนได้
ในฐานะบุตรธิดาอันเป็นที่รักของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ พวกเราล้วนเป็นของครอบครัวนิรันดร์ ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครของเราในความเป็นมรรตัยถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของแผนของพระบิดา เพื่อช่วยให้เราก้าวหน้าต่อไปและ “ในที่สุดจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์ [ของเรา] เป็นทายาทแห่งชีวิตนิรันดร์”6 ด้วยชีวิตครอบครัวที่สวยงามเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงประสบ ทว่าแตกต่างจากอุดมคติที่ประสบการณ์ของครอบครัวเราดูจะเป็นในตอนนี้ เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองประกาศว่า “การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และในบั้นปลาย จะชดเชยการลิดรอนสิทธิ์และการสูญเสียทุกอย่างสำหรับผู้ที่หันมาหาพระองค์ ไม่มีผู้ใดถูกกำหนดให้รับน้อยกว่าทุกสิ่งที่พระบิดาทรงมีให้บุตรธิดาของพระองค์”7
เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงสัญญากับยาโคบท่ามกลางความลำบากของครอบครัว “ด้อยกว่าอุดมคติ” ของเขา ความสัมพันธ์ทางพันธสัญญาของเขากับเราทำให้เรามั่นใจ “เราอยู่กับเจ้า และจะพิทักษ์รักษาเจ้าทุกแห่งหนที่เจ้าไป และจะนำเจ้ากลับมายัง [บ้าน] เพราะเราจะไม่ทอดทิ้งเจ้า จนกว่าเราจะได้ทำสิ่งซึ่งเราพูดไว้กับเจ้า” (ปฐมกาล 28:15) ขณะที่เราติดตามพระองค์ ไม่ว่าความจริงที่ไม่สมบูรณ์แบบของเราจะเป็นอย่างไร พระองค์จะไม่ทรง “ยอมปล่อยเราไป” จนกว่าเราจะกลายเป็นทุกสิ่งที่เราปรารถนา จนกว่าเราจะผูกพันอยู่ในความสัมพันธ์แบบครอบครัวที่เปี่ยมปีติตลอดกาล