2023
พระกิตติคุณ: ประจักษ์พยานสี่เล่มของพระผู้ช่วยให้รอด
มกราคม 2023


ดิจิทัลเท่านั้น

พระกิตติคุณ: ประจักษ์พยานสี่เล่มของพระผู้ช่วยให้รอด

เมื่อพิจารณาพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มอย่างใกล้ชิด เราจะเห็นมุมมองที่แตกต่างซึ่งเน้นความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

พระเยซูคริสต์ประทับอยู่ที่โต๊ะกับอัครสาวกของพระองค์

ในความระลึกถึงเรา โดย วอลเตอร์ เรน, ภาพประกอบอื่นๆ ทั้งหมดโดยพอล แมนน์

คำว่า พระกิตติคุณ แปลว่า “ข่าวประเสริฐ” และข่าวประเสริฐคือพระเยซูคริสต์เสด็จมายังแผ่นดินโลกและบรรลุพันธกิจแห่งความรอดของพระองค์ (ดู 3 นีไฟ 27:13–14) พระกิตติคุณพันธสัญญาใหม่ทั้งสี่เล่มอธิบายถึงพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

แต่เดิมพระกิตติคุณแต่ละเล่มจารึกไว้เพื่อเป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อเราพิจารณาประจักษ์พยานแต่ละเล่มอย่างใกล้ชิด เราจะเห็นคุณค่ามุมมองที่แตกต่างซึ่งเน้นความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ชายคนหนึ่งกำลังเขียนลงในม้วนหนังสือขณะที่ชายอีกคนมองดู

มาระโก

ท่านเป็นใคร?

เป็นที่เชื่อกันแต่ดั้งเดิมว่าท่านคือยอห์น มาระโก ผู้เป็นคู่ผู้สอนศาสนากับเปาโล (ดู กิจการ 12:25)

แหล่งข้อมูลของท่านคืออะไร?

อาจเป็นไปได้ว่าเปโตร ซึ่งท่านร่วมเดินทางไปโรมและเป็นผู้จดความทรงจำเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด1

ท่านเขียนพระกิตติคุณเมื่อใด?

อาจจะอยู่ระหว่างค.ศ. 65 ถึง 70 (พระกิตติคุณพันธสัญญาใหม่เล่มแรกที่มีการจารึก)

ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของท่าน?

คนต่างชาติ เป็นไปได้ว่าเป็นผู้อ่านชาวโรมัน มาระโกอธิบายเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมของชาวยิวให้แก่ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรมของพระเยซู (ดู มาระโก 7:1–4) และท่านยังกล่าวถึงขนบธรรมเนียมของชาวโรมันอีกด้วย (ดู มาระโก 6:48; 13:35)

แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการประสูติของพระเยซู มาระโกเริ่มต้นด้วยบัพติศมาของพระองค์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรที่รักของพระองค์ (ดู มาระโก 1:11) การอนุมัติจากพระเจ้าและอัตลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นรากฐานแห่งสิทธิอำนาจของพระเยซูเหนือความเจ็บป่วย โรคร้าย และปฏิปักษ์

โดยทั่วไป มาระโกเน้นว่าแม้พระเยซูจะทรงถูกปฏิเสธ เข้าใจผิด และสิ้นพระชนม์อย่างน่าอับอายบนกางเขน แต่ในที่สุดแล้วพระองค์ทรงมีชัยเหนือทุกสิ่ง

ขณะที่พระเยซูทรงสำแดงสิทธิอำนาจของพระองค์ ชาวยิวมักเข้าใจพระองค์ผิด (ดู มาระโก 1:27; 4:11–12; 8:27–28) รวมทั้งผู้คนที่อยู่ในนาซาเร็ธซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระองค์ (ดู มาระโก 6:1–4) และสมาชิกในครอบครัวบางคน (ดู มาระโก 3:21; ดู ยอห์น 7:5 ด้วย) แม้แต่สานุศิษย์ของพระองค์เองก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในขอบเขตพระพันธกิจของพระองค์ (ดู มาระโก 4:36–41)

แม้จะมีการต่อต้านและความเข้าใจผิด แต่พระเยซูทรงมีชัย ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่า พระองค์จะทรงลุกขึ้นจากบรรดาคนตาย (ดู มาระโก 8:31; 9:31; 10:34) ที่กางเขน แม้แต่นายร้อยชาวโรมันก็ประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง (ดู มาระโก 15:39) ที่สุสาน ทูตสวรรค์ที่สวมเสื้คลุมยาวสีขาวยืนยันว่าพระเยซูทรงฟื้น (ดู มาระโก 16:5–6) และพยานจำนวนมากเห็นพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ด้วยตาตนเอง (ดู มาระโก 16:9–14)

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากมาระโก

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเหตุใดผู้คนจึงไม่ยอมรับพระเมสสิยาห์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและแสวงหาที่จะได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนเองให้เข้มแข็ง พระกิตติคุณของมาระโกมอบความหวัง ตอนแรก ผู้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แต่ผู้ที่มาจากเชื้อชาติหรือภูมิหลังใดก็ตามที่ยังคงภักดีอย่างอดทนและติดตามพระผู้ช่วยให้รอดจะได้รับคำยืนยันว่า “ท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงๆ” (มาระโก 15:39)

ชายคนหนึ่งกำลังเขียนลงในม้วนหนังสือ

มัทธิวพรรณนาถึงพระเยซูว่าเป็นผู้สำเร็จตามคำพยากรณ์ของชาวอิสราเอลและเป็นหลักฐานว่าพระผู้เป็นเจ้าสถิตกับผู้คนของพระองค์

มัทธิว

ท่านเป็นใคร?

เป็นที่เชื่อกันแต่ดั้งเดิมว่าท่านเป็นคนเก็บภาษีซึ่งมีการเอ่ยถึงใน มัทธิว 9:9

แหล่งข้อมูลของท่านคืออะไร?

พระกิตติคุณของท่านดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับพระกิตติคุณของมาระโก ทั้งในแง่เกี่ยวกับเรื่องราวที่บันทึกไว้และลำดับในการนำเสนอ ซึ่งมีข้อยกเว้นบางประการ

ท่านเขียนพระกิตติคุณเมื่อใด?

มีความเป็นไปได้ว่าระหว่างค.ศ. 80 ถึง 95

ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของท่าน?

ผู้อ่านชาวยิว มัทธิวต่างจากมาระโกตรงที่ท่านไม่รู้สึกว่าต้องอธิบายแนวคิดของชาวยิวให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจ พระกิตติคุณเริ่มต้นด้วยลำดับวงศ์ตระกูลที่เชื่อมโยงพระเยซูกับเชื้อพระวงศ์ดาวิดและอับราฮัม บิดาแห่งพันธสัญญาของชาวยิว (ดู มัทธิว 1:1–17) อย่างไรก็ตาม พระกิตติคุณเล่มนี้รวมถึงข้อพระคัมภีร์หลายช้อที่เน้นย้ำศรัทธาของคนต่างชาติและการรวมพวกเขาในอาณาจักรแห่งสวรรค์ (ดู มัทธิว 1:2–6; 8:5–12; 15:21–28) รอคอยพระดำรัสจากพระผู้ช่วยให้รอดบนภูเขามะกอกเทศให้ “สั่งสอนชนทุกชาติ” (มัทธิว 28:19)

มัทธิวพรรณนาถึงพระเยซูว่าเป็นผู้สำเร็จตามคำพยากรณ์ของชาวอิสราเอลเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ที่มาจากเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิด และพรรณนาว่าพระเยซูทรงเป็นโมเสสคนใหม่: พระองค์เสด็จออกจากอียิปต์ (ดู มัทธิว 2:13–15) เทศนาครั้งใหญ่ห้าครั้ง2 (ดังที่โมเสสได้มอบหนังสือธรรมบัญญัติห้าเล่ม) และมอบพระบัญญัติใหม่ของพระองค์บนภูเขา (ดู มัทธิว 5:1)

พระกิตติคุณของมัทธิวพรรณนาถึงการเสด็จมาของพระเยซูเพื่อเป็นหลักฐานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตกับผู้คนของพระองค์อีกด้วย เมื่อยอห์นผู้ถวายบัพติศมาอยู่ในเรือนจำ ท่านส่งสานุศิษย์ไปหาพระเยซูเพื่อถามว่าพระเยซูทรงเป็น “คนที่จะมานั้น” ใช่หรือไม่ (ดู มัทธิว 11:2–3) คำตอบของพระเยซูคือ พระองค์เสด็จมาเพื่อเยียวยาผู้คนและสอนพระกิตติคุณแก่คนขัดสน (ดู มัทธิว 11:4–5)

มีเพียงพระกิตติคุณของมัทธิวเท่านั้นที่บันทึกอัตลักษณ์ของพระเยซูที่ทูตสวรรค์ระบุไว้ว่าเป็น “อิมมานูเอล ซึ่งแปลว่า พระเจ้าสถิตกับเรา” (มัทธิว 1:23; ดู อิสยาห์ 7:14 ด้วย) และพระดำรัสสุดท้ายของพระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ที่ตรัสกับสานุศิษย์ของพระองค์คือ “เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มัทธิว 28:20)

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากมัทธิว

พระกิตติคุณของมัทธิวเป็นพยานสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อผู้คนของพระองค์ การเสด็จมายังโลกของพระเยซูคือการทำตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้น ก่อนวันแห่งการพิพากษา พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์เพื่อสอนและเยียวยาผู้คนของพระองค์ ทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ

ชายคนหนึ่งกำลังเขียนลงในม้วนหนังสือ

ลูกาเน้นว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่ได้รับเลือกหรือชนชั้นสูงเท่านั้น

ลูกา

ท่านเป็นใคร?

แพทย์และคู่ผู้สอนศาสนาของเปาโล (ดู โคโลสี 4:14; 2 ทิโมธี 4:11; ฟีเลโมน 1:24)

แหล่งข้อมูลของท่านคืออะไร?

ท่านเรียนรู้จากพยานที่เห็นกับตาและพระกิตติคุณที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจรวมถึงพระกิตติคุณของมาระโกด้วย (ดู ลูกา 1:1–3)

ท่านเขียนพระกิตติคุณเมื่อใด?

เป็นไปได้ว่าอยู่ระหว่างค.ศ. 80 ถึง 90 พร้อมกับเล่มที่มาคู่กัน นั่นคือหนังสือกิจการของอัครทูต (เปรียบเทียบ ลูกา 1:1–4 กับ กิจการ 1:1–3)

ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของท่าน?

ผู้อ่านที่เป็นคนต่างชาติ ขณะที่ลำดับการสืบเชื้อสายของพระเยซูเริ่มต้นด้วยอับราฮัม (ดู มัทธิว 1:2) ลูกาย้อนกลับไปถึงอาดัม ผู้เป็นบิดาของมวลมนุษย์ทั้งปวง (ดู ลูกา 3:38) เมื่อเปรียบเทียบกับมาระโก บางครั้งลูกาแก้ไขการอ้างอิงที่ไม่มีความหมายเท่าไรนักสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวยิว เช่น การละเว้นขนบธรรมเนียมทางศาสนาของชาวยิว และการเปลี่ยนชื่อหรือตำแหน่งของชาวอาราเมอิคหรือฮีบรู

นอกเหนือจากพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ ลูกากล่าวถึงสตรีที่ซื่อสัตย์ ซึ่งบางคนอยู่เคียงข้างพระเยซูและสนับสนุนพระองค์เป็นการชั่วคราว (ดู ลูกา 8:1–3) ท่านกล่าวว่า สตรีคนอื่นๆ เป็นพยานถึงการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดและประกาศต่ออัครสาวกว่าพระเยซูทรงฟื้นจากความตาย (ดู ลูกา 23:49, 55–56; 24:1–10)

ลูกาเน้นว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่ได้รับเลือกหรือชนชั้นสูงเท่านั้น ท่านเน้นเช่นกันว่าข่าวสารของพระผู้ช่วยให้รอดส่งต่อผ่านพลังอำนาจของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ลูกากล่าวถึงผู้ที่เปี่ยมด้วยพระวิญญาณขณะพวกเขาเตรียมรับและพยากรณ์ถึงพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ลูกา 1:15, 35, 41, 67; 2:25–27) พระเยซูพระองค์เองทรงรับพระวิญญาณ ปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นผ่านพระวิญญาณนั้น (ดู ลูกา 3:16, 22) และประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้าเต็มพระทัยจะประทานพระวิญญาณเดียวกันนี้แก่บุตรธิดาของพระองค์ (ดู ลูกา 12:10)

มีเพียงลูกาเท่านั้นที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้สาวกเจ็ดสิบสอนพระกิตติคุณให้ทุกคน (ดู ลูกา 10:1–12) หัวข้อนี้ยังคงดำเนินต่อไปในกิจการขณะที่เหล่าสาวกนำข่าวดีจากกรุงเยรูซาเล็มไปยัง “ที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (กิจการ 1:8)

เราเรียนรู้อะไรจากลูกา

นอกเหนือจากพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ แล้ว ลูกาแสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดของโลกทรงพบกับชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าด้วยเกียรติภูมิและความกล้าหาญเพื่อที่ พวกเราแต่ละคน จะได้สัมผัสกับพรแห่งการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังของเรา

ชายคนหนึ่งกำลังเขียนลงในม้วนหนังสือ

ยอห์น

ท่านเป็นใคร?

อัครสาวกยอห์น ชาวคริสต์ยุคแรกๆ หลายคนเชื่อว่ายอห์นเป็นสานุศิษย์ไร้นาม “ที่พระองค์ทรงรัก” ที่มีการกล่าวถึงในพระกิตติคุณเล่มนี้ (ดู ยอห์น 13:23) การเปิดเผยยุคใหม่ยืนยันถึงอัตลักษณ์นี้ (ดู 3 นีไฟ 28:6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 7:1)

แหล่งข้อมูลของท่านคืออะไร?

ประจักษ์พยานที่ท่านได้เห็นกับตา งานเขียนของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:6–16) และสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ผู้ไร้นามที่ได้ช่วยเหลือยอห์นในการรวบรวมข้อมูลนี้ (ดู ยอห์น 21:24)

ท่านเขียนพระกิตติคุณเมื่อใด?

มีความเป็นไปได้ว่าระหว่างค.ศ. 90 ถึง 110

ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของท่าน?

ทุกคน พระกิตติคุณของยอห์นเชื้อเชิญให้ทุกคน “เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์” (ยอห์น 20:31) ซึ่งรวมถึงผู้ที่ยังไม่เชื่อและสานุศิษย์ที่แสวงหาการทำให้ศรัทธาในพระองค์เข้มแข็งต่อไป

พระกิตติคุณของยอห์นมีความพิเศษในบรรดาพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม ในประวัติศาสตร์ พระกิตติคุณเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระกิตติคุณทางวิญญาณ”3 เนื่องจากการเน้นธรรมชาติอันสูงส่งของพระเยซู พระคัมภีร์ข้อแรกระบุว่า: “ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า” (ยอห์น 1:1; เน้นตัวเอน) แต่ยังเน้นด้วยว่า “พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา” (ยอห์น 1:14)

พระกิตติคุณเล่มนี้แสดงให้เห็นว่าหนึ่งในเหตุผลหลายประการที่ผู้คนมากมายล้มเหลวที่จะเข้าใจคำสอนของพระเยซูคือ พระองค์ทรง “เป็นของเบื้องบน” และมีมุมมองนิรันดร์ที่แตกต่างไปจากผู้คนที่ “เป็นของโลกนี้” (ยอห์น 8:23; ดู 3:11–13, 31 ด้วย) การอ่านบทสนทนาของพระองค์กับผู้อื่นอย่างละเอียดถี่ถ้วนแสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงใช้ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้คนมองเห็นและเริ่มพัฒนามุมมองนิรันดร์อย่างไร เมื่อใดก็ตามที่พระองค์ตรัส พระองค์ทรงเปิดเผยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยอห์น 8:40; 14:10, 24) และเมื่อพระองค์ทรงกระทำ พระองค์ทรงกระทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยอห์น 4:34; 5:30; 6:38)

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากยอห์น

พระกิตติคุณของยอห์นระบุถึงจุดประสงค์ดังนี้ “แต่ทุกคนที่ยอมรับ [พระเยซู] คือคนที่เชื่อในพระนามของพระองค์นั้น พระองค์ก็จะประทานสิทธิให้เป็นลูกของพระเจ้า” (ยอห์น 1:12) และ “การที่บันทึก [สิ่งเหล่านี้] ไว้ ก็เพื่อพวกท่านจะได้เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อแล้วท่านก็จะมีชีวิตโดยพระนามของพระองค์” (ยอห์น 20:31) พระกิตติคุณเล่มนี้จึงเป็นสิ่งย้ำเตือนผู้อ่านทุกคนถึงความสำคัญของการยินยอมให้พระเยซูทรงสอนเราถึงวิธีทำให้ความเข้าใจของเราลึกซึ้งขึ้นจากมุมมองนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า

สรุป

เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากมายผ่านการพิจารณาว่าพระกิตติคุณแต่ละเล่มมุ่งเน้นแง่มุมต่างๆ ในการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูและวาดภาพเหมือนของพระผู้ช่วยให้รอดที่แตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนพระกิตติคุณแต่ละท่านแบ่งปันประจักษ์พยานที่พิเศษสุดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์โดยผ่านการดลใจ ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วจะสามารถเพิ่มมิติที่กระจ่างแจ้งในการศึกษาพันธสัญญาใหม่ของเรา และความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดของโลก

ท่ามกลางหัวข้อที่ทรงพลังอื่นๆ ประจักษ์พยานเหล่านี้สอนว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงปฏิบัติตามคำสัญญาที่ทรงทำกับผู้คนในพันธสัญญาของพระองค์ (มัทธิว) ผู้ทรงช่วยเหลือเราผ่านความทุกข์ยากโดยคาดหวังถึงชัยชนะนิรันดร์ (มาระโก) ผู้ซึ่งพระวิญญาณทรงเชื้อเชิญให้เรายื่นมือออกไปในบรรดาผู้คนทั้งปวงด้วยความเห็นอกเห็นใจ (ลูกา) และผู้ที่ทำเครื่องหมายเส้นทางสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า (ยอห์น)