2023
ผมรับรู้พระวิญญาณอย่างไร?
มิถุนายน 2023


“ผมรับรู้พระวิญญาณอย่างไร?” เลียโฮนา, มิถุนายน 2023

ผมรับรู้พระวิญญาณอย่างไร?

เพื่อนำทางเราให้รับรู้พระวิญญาณ พระเจ้าประทานคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้ในพระคัมภีร์

ภาพ
เยาวชนหญิงนั่งครุ่นคิด

ภาพถ่ายโดย แซม โซไลตา

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “ไม่มีเวลาใดจำเป็นมากไปกว่าเวลานี้ที่ต้องรู้ว่าพระวิญญาณตรัสกับท่านอย่างไร”1 แต่หลายคนยังคงสงสัยว่า เราจะรับรู้พระวิญญาณได้อย่างไร? นี่เป็นคำถามที่ผมถูกถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฐานะครูที่ศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา ครูเซมินารีและสถาบัน และอาจารย์มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ โชคดีที่พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงตอบคำถามนี้ไว้ในพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน

อัครสาวกเปาโลสอนชาวโครินธ์ว่า “พระดำริของพระผู้เป็นเจ้าไม่มีใครหยั่งรู้ได้เว้นแต่ [คนนั้นมี] พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า” (Joseph Smith Translation, 1 Corinthians 2:11 [ใน 1 โครินธ์ 2:11, เชิงอรรถ c]) โดยปกติความจริงทางวิญญาณไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยดวงตาธรรมชาติของเรา จึงไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสตามธรรมชาติหรือสติปัญญาของเราเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้จักความจริงเหล่านี้ได้ด้วยพระวิญญาณเท่านั้น (ดู 1 โครินธ์ 2:9–10) พระวิญญาณบริสุทธิ์ต้องยืนยันกับเรา (ดู โมโรไน 10:4)

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราแต่ละคนต้องเรียนรู้ด้วยตนเองว่าจะรับรู้และพึ่งพาพระวิญญาณเพื่อรู้ความจริงได้อย่างไร2 ดังที่ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ถ้าทั้งหมดที่ท่านรู้คือสิ่งที่ท่านเห็นด้วยดวงตาธรรมชาติและได้ยินด้วยหูธรรมชาติ ท่านก็คงจะรู้ไม่มากนัก”3

พระเจ้าประทานคำอธิบายต่อไปนี้เพื่อนำทางเราให้รับรู้พระวิญญาณของพระองค์:

“ความสงบแก่จิตใจเจ้า” เพื่อช่วยให้ออลิเวอร์ คาวเดอรีรับรู้พระวิญญาณ พระเจ้าตรัสถามว่า “เรามิได้พูดให้ความสงบแก่จิตใจเจ้าหรือเกี่ยวกับเรื่องนี้?” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:23)4 เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “ความรู้สึกสงบเป็นพยานยืนยันที่ข้าพเจ้ารู้สึกด้วยตนเอง เมื่อข้าพเจ้ากังวลเกี่ยวกับเรื่องสำคัญ ดิ้นรนแก้ไขแต่ก็ไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าพยายามแก้ไขต่อไปด้วยศรัทธา ต่อมา ความสงบสุขในข้าพเจ้าแผ่ไปทั่ว ทำให้ความกังวลของข้าพเจ้าหมดไปตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้”5

“ในความนึกคิดเจ้าและในใจเจ้า” อีกโอกาสหนึ่ง พระเจ้าประทานคำอธิบายของการเปิดเผยดังนี้ “เราจะบอกเจ้าในความนึกคิดเจ้าและในใจเจ้า, โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ … นี่คือวิญญาณแห่งการเปิดเผย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3) เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยสอนว่า “พระเจ้าทรงบ่งบอก [ที่นี่] ว่าบ่อยครั้งการเปิดเผยมาเป็นความคิดเข้ามาในความนึกคิดและความรู้สึกเข้ามาในใจ”6

ความคิดและความรู้สึกที่ได้รับการดลใจเหล่านี้สามารถ “ให้ความสว่างแก่ความคิด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:13) และทำให้ใจท่าน “เปี่ยมด้วยปีติ” (โมไซยาห์ 4:20) ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่า “การบอกเป็นนัยครั้งแรกของวิญญาณแห่งการเปิดเผย” คือเมื่อท่าน “รู้สึกถึงสติปัญญาอันบริสุทธิ์ที่หลั่งไหลมาสู่ท่าน” ทำให้ท่าน “ฉุกคิดขึ้นได้ในทันที”7

“ใจเรารุ่มร้อนภายใน” ขณะใคร่ครวญการสอนของพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ สาวกสองคนของพระองค์กล่าวว่า “ใจเรารุ่มร้อนภายในเมื่อพระองค์ตรัสตามทาง และเมื่อทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟังไม่ใช่หรือ?” (ลูกา 24:32) ในทำนองเดียวกัน พระเยซูคริสต์รับสั่งกับออลิเวอร์ คาวเดอรีว่า “เราจะทำให้ทรวงอกของเจ้าเผาไหม้อยู่ภายในเจ้า” เพื่อยืนยันความจริง (หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:8; ดู 3 นีไฟ 11:3 ด้วย) ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายว่านี่ “ไม่ใช่ความรู้สึกร้อนเหมือนการเผาไหม้ แต่เป็นความรู้สึกสงบ อบอุ่น ปลอดโปร่งแจ่มใสและดีงาม”8

“รู้สึกว่ามันถูกต้อง” พระเยซูคริสต์ทรงสอนออลิเวอร์ คาวเดอรีว่าเขาจะรู้ว่าบางอย่างเป็นความจริงโดยพระวิญญาณ เพราะเขาจะ “รู้สึกว่ามันถูกต้อง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:8) เอ็ลเดอร์สก็อตต์ตีความว่า “คำตอบมาเป็น ความรู้สึก พร้อมกับความเชื่อมั่น”9

“เสียง [สงบแผ่ว] เบา” พระเจ้าทรงสอนเอลียาห์ว่าโดยปกติพระองค์จะไม่ตรัสอย่างรวดเร็วผ่านไฟ พายุ และแผ่นดินไหว แต่การสื่อสารทางวิญญาณของพระองค์บ่อยกว่านั้นจะละเอียดอ่อนผ่าน “เสียง [สงบแผ่ว] เบา” (1 พงศ์กษัตริย์ 19:12)10 เสียงทางวิญญาณนี้เหมือน “เสียงกระซิบ” ที่เสียดแทง “ถึงจิตวิญญาณ” (ฮีลามัน 5:30) และ “แม้จะอธิบายว่าเป็นเสียง” ประธานแพคเกอร์สอน “แต่เป็นเสียงที่คนเรารู้สึกได้มากกว่าได้ยิน”11

“เจ้าก็ได้รับคำแนะนำจากพระวิญญาณของเรา” เนื่องจากพระวิญญาณทรงสื่อสารอย่างเงียบๆ และละเอียดอ่อน เราจึงได้รับการเปิดเผยโดยไม่รู้ตัว พระเจ้าทรงอธิบายกับออลิเวอร์ คาวเดอรีว่า “บ่อยเท่าที่เจ้าถาม เจ้าก็ได้รับคำแนะนำจากพระวิญญาณของเรา. หากไม่เป็นเช่นนั้น, เจ้าคงไม่ได้มาอยู่ตรงที่ซึ่งเจ้าอยู่ ณ เวลานี้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:14) พระเจ้าทรงนำทางเขามาตลอด แต่ตอนนั้นเขาไม่รับรู้ เขาเห็นการนำทางของพระเจ้าเมื่อมองย้อนกลับไปหลังเกิดเหตุการณ์แล้วเท่านั้น เมื่อพระเจ้าทรงชี้ให้เห็น ในทำนองเดียวกัน เรา “อยู่ในการเปิดเผย”12 ด้วยและอาจไม่รับรู้พระวิญญาณจนหลังจากพระองค์ทรงนำทางเราแล้ว

“ข้าพเจ้าครุ่นคิดถึงข้อความนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า” โจเซฟ สมิธบรรยายประสบการณ์กับพระวิญญาณที่ท่านมีขณะค้นหาพระคัมภีร์ โดยกล่าวว่าพระคัมภีร์ข้อหนึ่ง “ดูเหมือนจะเข้าถึงความรู้สึกทุกอย่างของจิตใจข้าพเจ้าด้วยพลังอันแรงกล้า ข้าพเจ้าครุ่นคิดถึงข้อความนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า” (โจเซฟ สมิธ–ประวัติ 1:12) เราเองสามารถแยกแยะพระวิญญาณได้เมื่อข้อพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์สัมผัสใจเราและดลใจให้เราอ่านทวนและไตร่ตรอง

“บรรทัดมาเติมบรรทัด” ถึงแม้บางครั้งเราคาดหวังให้การเปิดเผยมาหมดทีเดียว แต่พระเจ้าทรงอธิบายว่า “เราจะให้แก่ลูกหลานมนุษย์บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์, ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” (2 นีไฟ 28:30) กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีที่พระเจ้าทรงทำมากกว่าคือประทานการเปิดเผยให้ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนเห็นแสงอาทิตย์ขึ้นทีละนิดไม่ใช่เห็นหมดทีเดียวหลังจากเปิดไฟ13 บ่อยครั้งเรารับรู้การเปิดเผยนี้เมื่อดูรวมๆ ทั้งหมดเท่านั้น

“นำให้ทำดี” บางคนสงสัยว่าการกระตุ้นเตือนให้ทำดีมาจากพระวิญญาณหรือแค่ความคิดของพวกเขาเอง พระเยซูคริสต์ทรงตอบคำถามนี้เมื่อทรงสอนไฮรัม สมิธให้รู้วิธีรับรู้พระวิญญาณของพระองค์ “จงวางใจในพระวิญญาณองค์นั้นซึ่งนำให้ทำดี … ; และนี่คือพระวิญญาณของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12) เราควรสันนิษฐานว่าการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณให้ทำดีมาจากพระวิญญาณ และเราควรทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้น

ภาพ
เยาวชนชายกำลังอ่านพระคัมภีร์

ภาพถ่ายโดย เคลย์ตัน ชาน

“จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า” บางครั้งพระเจ้าไม่ทรงตอบผ่านพระวิญญาณของพระองค์เร็วเท่าที่เราคาด นี่อาจเป็นเรื่องยากและเรียกร้องให้เราใช้ศรัทธาในพระดำรัสแนะนำของพระองค์ “นิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:16) ประธานเนลสันอธิบายว่า “อาจมีบางครั้งที่ท่านรู้สึกประหนึ่งสวรรค์ปิด แต่ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าเมื่อท่านเชื่อฟังต่อไป โดยแสดงความสำนึกคุณต่อพรทุกประการที่พระเจ้าประทานแก่ท่าน และเมื่อท่านให้เกียรติตารางเวลาของพระเจ้าอย่างอดทน ท่านจะได้รับความรู้และความเข้าใจที่ท่านแสวงหา”14 เมื่อเราประสบความเงียบจากสวรรค์เช่นนี้ เราควรจดจำสิ่งที่ประธานโอ๊คส์สอนว่า “พระเจ้าจะตรัสกับเราผ่านพระวิญญาณในเวลาของพระองค์และในวิธีของพระองค์เอง … เรารอคอยการเปิดเผยจากพระเจ้า”15

แม้ว่าคำอธิบายเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ แต่สุดท้ายก็ยังไม่เพียงพอ ดังที่ประธานแพคเกอร์อธิบาย “เราไม่มีคำ (แม้แต่พระคัมภีร์ก็ไม่มีคำ) ที่พูดถึงพระวิญญาณได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ปกติพระคัมภีร์ใช้คำว่า เสียง ซึ่งไม่ถูกเสียทีเดียว การสื่อสารทางวิญญาณที่ละเอียดอ่อนและประณีตเหล่านี้เราไม่เห็นกับตาหรือไม่ได้ยินกับหูของเรา”16 สุดท้ายแล้วการรับรู้พระวิญญาณจึงเหมือนการชิมเกลือ อธิบายเป็นคำพูดได้ยากแต่รับรู้ได้ทันทีที่ท่านได้ประสบด้วยตนเอง17

นี่คือเหตุผลที่เราต้องฝึกรับรู้พระวิญญาณด้วยตัวเราเอง แม้เราจะบังคับให้เกิดประสบการณ์ทางวิญญาณไม่ได้ แต่เราสร้างประสบการณ์นั้นให้เกิดขึ้นได้ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผยสิ่งเล็กน้อยและเรียบง่ายบางอย่างที่เราทำได้เพื่อฝึกฟังพระองค์ตรัสกับเราผ่านพระวิญญาณ เพื่อให้เรารับรู้อิทธิพลทางวิญญาณได้ดีขึ้นเมื่อใดก็ตามที่พระองค์ตรัสกับเรา

พระคัมภีร์ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผยว่าเราจะได้ยินเสียงทางวิญญาณของพระองค์ตรัสกับเราเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ พระองค์ตรัสว่า:

“ถ้อยคำเหล่านี้มิใช่ของนรชาติ … แต่เป็นของเรา; …

“เพราะนี่คือเสียงของเราซึ่งพูดมันกับเจ้า; เพราะพระวิญญาณของเราให้มันแก่เจ้า, และโดยอำนาจของเราเจ้าจะอ่านมันให้กันได้ … ;

“ดังนั้น, เจ้าจะเป็นพยานได้ว่าเจ้าได้ยินเสียงเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:34–36)

เอ็ลเดอร์เบดนาร์อธิบายหลักธรรมนี้ว่า “วิธีหนึ่งที่ข้าพเจ้าสามารถได้ยินพระองค์คือในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์เป็นสุรเสียงของพระเจ้าที่บันทึกไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่การได้ยินเสียงจริงๆ แม้บางครั้งจะเกิดขึ้นได้ แต่เป็นการได้ยินพระคัมภีร์ในความรู้สึก—ความรู้สึกในความนึกคิดข้าพเจ้า ความรู้สึกในใจข้าพเจ้า สำหรับข้าพเจ้า พระคัมภีร์เป็นกุญแจในการได้รับและรับรู้ความคิดและความรู้สึกเหล่านั้น”18

ภาพ
ภาพยืนอยู่หน้าพระวิหาร

พระวิหาร ประธานเนลสันสอนว่า “เราสามารถ ฟังพระองค์ ในพระวิหารได้เช่นกัน พระนิเวศน์ของพระเจ้า เป็น บ้านแห่งการเรียนรู้ … ที่นั่นเราเรียนรู้วิธีที่จะแหวกม่านและสื่อสารกับสวรรค์ให้ชัดเจนขึ้น”19 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสวดอ้อนวอนให้เราสามารถฝึกรับรู้พระวิญญาณได้อย่างเต็มที่มากขึ้นในพระวิหารเมื่อท่านสวดอ้อนวอน “ให้คนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นผู้ที่จะนมัสการในพระนิเวศน์แห่งนี้ … เติบโตขึ้นในพระองค์, และได้รับความสมบูรณ์แห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:14–15) เมื่อเรานมัสการในพระวิหารอย่างสม่ำเสมอ เราได้ประสบความรู้สึกถึงพระวิญญาณ และเราสามารถรับรู้สุรเสียงของพระองค์ในชีวิตได้มากขึ้น

ศาสดาพยากรณ์ “สุดท้าย” ประธานเนลสันสอน “เรา ฟังพระองค์ เมื่อเราเอาใจใส่ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย”20 เมื่อเราฟังข่าวสารของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตเป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของพวกท่าน เท่ากับเราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทรงสอนเรา นี่เป็นแหล่งสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของการประสบกับพระวิญญาณที่สามารถช่วยให้เรารับรู้อิทธิพลของพระองค์

นอกจากนี้เรายังสามารถสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจ รับใช้อย่างซื่อสัตย์ในศาสนจักร บันทึกความประทับใจทางวิญญาณ และรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร โดยการทำสิ่งเหล่านี้ด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระวิญญาณจะเสด็จมาเยือน และเราจะจำพระองค์ได้ตามคำอธิบายในพระคัมภีร์ คุ้นเคยกับการกระตุ้นเตือนของพระองค์ตามประสบการณ์ของเราเอง และรับรู้อิทธิพลของพระองค์ในทุกด้านของชีวิตเราอย่างมั่นใจมากขึ้น “โดยการเรียนรู้และเข้าใจพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า ท่านจะค่อยๆ เติบโตไปสู่หลักธรรมแห่งการเปิดเผย จนท่านดีพร้อมในพระเยซูคริสต์”21 และมี “พระทัยของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 2:16)

พิมพ์