เซมินารี
บทที่ 12—หลักคำสอนและพันธสัญญา 2: ใจเราจะหันไปหาบรรพชนของเรา


“บทที่ 12–หลักคำสอนและพันธสัญญา 2: ใจเราจะหันไปหาบรรพชนของเรา” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“หลักคำสอนและพันธสัญญา 2: ใจเราจะหันไปหาบรรพชนของเรา” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทที่ 12: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:27–65

หลักคำสอนและพันธสัญญา 2; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:27–65

ใจเราจะหันไปหาบรรพชนของเรา

งานประวัติครอบครัว

เมื่อเทพโมโรไนผู้เป็นศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนมาปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ ท่านอ้างคำพยากรณ์หลายอย่างในพระคัมภีร์ หนึ่งในนั้นคือคำประกาศของมาลาคีว่าศาสดาพยากรณ์เอลียาห์จะกลับมาและ “ใจของลูกหลานจะหันไปหาบรรพบุรุษของพวกเขา” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:38–39) บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในคำพยากรณ์ของพระเจ้าในการหันใจไปหาบรรพชนของตน

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

ครอบครัวของฉัน

เพื่อช่วยให้นักเรียนนึกถึงบรรพชนของตนและเหตุผลที่เราทำประวัติครอบครัว ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้

หมายเหตุ: นักเรียนบางคนอาจประสบสถานการณ์ที่ท้าทายในครอบครัว ท่านต้องเห็นใจคนที่อาจมีข้อกังวลต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงชั่วนิรันดร์กับครอบครัวของตนหรือการไม่รู้จักครอบครัวที่แท้จริงของตน

อาจเป็นประโยชน์ถ้าแบ่งปันแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม “งานพระวิหารและประวัติครอบครัวจะช่วยรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อย่างไร?

เขียนชื่อคนลงในสาแหรกครอบครัวของท่านให้มากเท่าที่ท่านจำได้ ดูว่าท่านเขียนได้กี่รุ่น

  • บุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตท่านอย่างไร?

  • ประสบการณ์ที่มีความหมายเรื่องใดที่ท่านสามารถแบ่งปันเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัวคนหนึ่ง?

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมในงานพระวิหารและประวัติครอบครัวเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้แผนของพระบิดาบนสวรรค์ที่จะรวมบุตรธิดาของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์เกิดขึ้นได้ เพื่อช่วยนักเรียนประเมินว่าปัจจุบันพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการมีส่วนร่วมในประวัติครอบครัว ท่านอาจใช้ข้อความต่อไปนี้

ข้อความใดต่อไปนี้สะท้อนความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับประวัติครอบครัวได้ดีที่สุด?

  • ฉันชอบทำประวัติครอบครัวและเห็นเหตุผลชัดเจนในการทำงานนี้

  • ฉันรู้ว่าประวัติครอบครัวสำคัญแต่ใช้เวลาทำไม่มาก

  • ฉันรู้ว่าประวัติครอบครัวสำคัญ แต่ฉันปล่อยให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวดูแล

  • ฉันไม่เห็นเหตุผลชัดเจนในการทำประวัติครอบครัว

ให้นักเรียนประเมินว่าความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับงานพระวิหารและประวัติครอบครัวได้รับอิทธิพลอย่างไรขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 2

ไอคอนการอบรมสอนโดยพระวิญญาณ: สำหรับการอบรมเพิ่มเติมเรื่องการสร้างแบบประเมินตนเองของนักเรียน ให้ดูการอบรมหัวข้อ “สร้างสภาวะแวดล้อมและโอกาสให้ผู้เรียนได้รับการสอนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์” อยู่ใน ทักษะการพัฒนาครู: สอนโดยพระวิญญาณ

การกลับมาของศาสดาพยากรณ์เอลียาห์

เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธศึกษาพระคัมภีร์

เพื่อให้บริบทสำหรับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 2 ท่านอาจให้ดูภาพเทพโมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ และเชื้อเชิญให้นักเรียนเชื่อมโยงกับสิ่งที่พวกเขาจำได้เกี่ยวกับการมาเยือนของท่าน อีกทางเลือกหนึ่งคือท่านอาจแบ่งปันย่อหน้าต่อไปนี้ด้วยคำพูดของท่านเอง หรือเชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เมื่อเทพโมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ สมิธวัย 17 ปี โมโรไนอ้างคำพยากรณ์สมัยโบราณหลายเรื่องที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล คำพยากรณ์เหล่านี้เปิดเผยมากขึ้นเกี่ยวกับงานในอนาคตของโจเซฟ รวมถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนและหลังการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด

คำพยากรณ์เรื่องหนึ่งในพันธสัญญาเดิมที่โมโรไนอ้างถึงคือ มาลาคี 4:5–6 ถ้อยคำของโมโรไนที่บันทึกไว้ใน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:38–39 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 2 เปิดเผยว่าศาสดาพยากรณ์เอลียาห์จะกลับมาแผ่นดินโลกก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด

นักเรียนอาจสนใจที่จะรู้ว่ามีการอ้างอิงถึงการกลับมาของเอลียาห์ในงานมาตรฐานแต่ละเล่ม (ดู มาลาคี 4:5–6; 3 นีไฟ 25:5–6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:38–39) ขณะนักเรียนอ่านข้อต่อไปนี้ ท่านอาจช่วยพวกเขาระบุคำและวลีที่พวกเขาอาจไม่เข้าใจ

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 2 และมองหาว่าเหตุใดการกลับมาของเอลียาห์จึงสำคัญต่อบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:17–19 ด้วย)

  • ท่านมีคำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับข้อเหล่านี้?

    ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้อาจช่วยตอบคำถามของนักเรียนเกี่ยวกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:

    • “ฐานะปุโรหิต …, โดยมือของเอลียาห์” (ข้อ 1) หมายถึงอำนาจการผนึกที่เอลียาห์ฟื้นฟูในพระวิหารเคิร์ทแลนด์เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1836 (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:13–16 ด้วย)

    • “วันสำคัญและน่าพรั่นพรึงของพระเจ้า” (ข้อ 1) หมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด

    • “สัญญาที่ทำกับบรรพบุรุษ” (ข้อ 2) อาจหมายถึงพันธสัญญาอับราฮัมและสัญญาที่ทำไว้กับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:9–10 ด้วย)

    • วิธีหนึ่งที่ใจลูกหลานจะหันไปหาบรรพบุรุษคือโดยผ่านงานพระวิหารและประวัติครอบครัว

    • หากไม่มีการผนึกครอบครัว จุดประสงค์ของแผ่นดินโลกจะไม่บรรลุ แผ่นดินโลกจะ “ร้างลงสิ้น” (ข้อ 3; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:17–19 ด้วย)

  • การกลับมาของเอลียาห์ส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร?

  • ท่านอาจระบุความจริงอะไรได้บ้างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 2?

นักเรียนอาจบันทึกความจริงที่พบไว้บนกระดาน ความจริงเหล่านี้อาจรวมถึง: พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะส่งเอลียาห์มาฟื้นฟูอำนาจการผนึกของฐานะปุโรหิตบนแผ่นดินโลกก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง (ดู ข้อ 1) ใจเราจะหันไปหาบรรพชนของเรา และเราสามารถประกอบศาสนพิธีแทนพวกเขาในพระวิหาร (ดู ข้อ 2) หากไม่มีอำนาจในการทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวชั่วนิรันดร์ จุดประสงค์สำหรับแผ่นดินโลกจะไม่ไม่บรรลุ (ดู ข้อ 3)

ใจเราจะหันไปหาบรรพบุรุษ

วลี “ใจของ [เรา] จะหันไปหาบรรพบุรุษ [ของเรา]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:2) อาจหมายถึงอับราฮัม อิสอัค และยาโคบผู้เป็น “บรรพบุรุษ” ของเชื้อสายอิสราเอลโดยเฉพาะ ปัจจุบันวลีนี้ถูกใช้บ่อยเพื่อหมายถึงบรรพชนทุกคนของเรา—พ่อแม่และทุกคนในครอบครัวเราทุกรุ่น

  • ประสบการณ์ใดกับพระวิหารและประวัติครอบครัวได้ช่วยหันใจท่านไปหาครอบครัว?

  • การหันใจเราไปหาครอบครัวจะช่วยหันใจเราไปหาพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?

เพื่อช่วยให้นักเรียนคิดวิธีหันใจของตน ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาบอกวิธีที่ตนสามารถหรือเคยมีส่วนร่วมในงานพระวิหารและประวัติครอบครัว ท่านอาจเขียนคำแนะนำของพวกเขาไว้บนกระดาน โดยเพิ่มแนวคิดต่อไปนี้หากจำเป็น ให้เวลานักเรียนระหว่างชั้นเรียนเริ่มทำกิจกรรมที่พวกเขาเลือก

เลือกกิจกรรมร่วมกับการสวดอ้อนวอนที่จะช่วยให้คำพยากรณ์ของพระเจ้าในการหันใจไปหาสมาชิกครอบครัวของท่านเกิดสัมฤทธิผล แนวคิดบางประการได้แก่:

  • เตรียมคำถามที่ท่านจะถามผู้สูงอายุในครอบครัวเกี่ยวกับช่วงวัยเยาว์ของพวกเขาหรือสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตของตน จากนั้นให้บันทึกการสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัวของท่าน

  • เขียนหรือแบ่งปันเรื่องราวที่มีความหมายจากประวัติครอบครัวของท่าน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจบันทึกว่าสมาชิกคนแรกของครอบครัวท่านเข้าร่วมศาสนจักรได้อย่างไร

  • ใช้ FamilySearch.org หรือแอปสาแหรกครอบครัวเพื่อ:

    • สำรวจสาแหรกครอบครัวของท่านและเรียนรู้วิธีเชื่อมโยงตัวท่านกับบรรพชน

    • อัปโหลดภาพถ่ายครอบครัว รวมถึงชื่อบุคคลในแต่ละภาพ

    • บันทึกเรื่องโปรดหรือความทรงจำที่ชื่นชอบเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัว

    • ระบุชื่อสมาชิกครอบครัวที่ถึงแก่กรรมผู้ที่สามารถรับศาสนพิธีพระวิหาร (เลือก พระวิหาร ตามด้วย ศาสนพิธีพร้อมทำ)

  • วางแผนเวลาให้ครอบครัวท่าน กลุ่มเพื่อน หรือกลุ่มเยาวชนเข้าพระวิหาร ช่วยกันหาชื่อสมาชิกครอบครัวที่เสียชีวิตแล้วผู้ต้องได้รับศาสนพิธีพระวิหาร เชิญชวนสมาชิกครอบครัวให้รับใช้พระเจ้าโดยช่วยประกอบศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้

กระตุ้นให้นักเรียนทำกิจกรรมที่พวกเขาเลือกให้เสร็จ พวกเขาอาจต้องการให้สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนสนิทมีส่วนในกระบวนการนี้ ท่านอาจต้องการวางแผนเวลาให้นักเรียนรายงานความก้าวหน้าหรือแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับชั้นเรียน