เซมินารี
บทเรียนที่ 184—การดูแลร่างกายของเรา: การถือปฏิบัติกฎแห่งสุขภาพร่างกาย


“บทเรียนที่ 184—การดูแลร่างกายของเรา: การถือปฏิบัติกฎแห่งสุขภาพร่างกาย” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“การดูแลร่างกายของเรา” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

บทเรียนที่ 184: สุขภาพทางกายและอารมณ์

การดูแลร่างกายของเรา

การถือปฏิบัติกฎแห่งสุขภาพทางกาย

ภาพกลุ่มคนที่หน้าพระวิหาร

ร่างกายของเราเป็นของประทานอันเหลือเชื่อจากพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา เราให้เกียรติของประทานนี้โดยการเลือกอย่างฉลาดในการดูแลร่างกายของเรา บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนแสดงความสํานึกคุณต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์โดยการดูแลร่างกายของพวกเขา

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทําได้

ร่างกายของเรา

หมายเหตุ: ขณะสอนบทเรียนนี้ สําคัญที่ต้องจําไว้ว่าเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องยากสําหรับนักเรียนบางคน การดูแลร่างกายเป็นเรื่องท้าทายเป็นพิเศษสําหรับผู้มีความผิดปกติในการกินอาหาร ความพิการ ความเจ็บป่วยร้ายแรง และสภาวการณ์อื่นๆ

ช่วยนักเรียนเตรียมศึกษาบทเรียนนี้โดยเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันแรงกดดันที่ผู้คนรู้สึกและเจตคติที่มีเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขา วิธีหนึ่งที่จะทําสิ่งนี้คือเขียนคําว่า ร่างกาย บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับคําถามต่อไปนี้

  • ผู้คนอาจรู้สึกถึงความกดดันอะไรบ้างเกี่ยวกับร่างกายของตน?

  • ผู้คนมีเจตคติต่างกันอะไรบ้างเกี่ยวกับร่างกายของตน?

    เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคําถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา:

  • ท่านรู้สึกอย่างไรกับร่างกายของตน? เพราะเหตุใด?

  • ท่านรู้สึกว่าท่านดูแลร่างกายของท่านดีเพียงใด? เพราะเหตุใด?

ขณะที่ท่านศึกษาบทเรียนนี้ จงแสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อรู้ว่าท่านจะดูแลร่างกายของท่านอย่างไร

ความจริงจากพระเจ้าเกี่ยวกับร่างกายของเรา

อ่านย่อหน้าของหมวด “ร่างกายของท่านศักดิ์สิทธิ์” ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก ([2022], 23)

  • สิ่งใดสะดุดใจท่าน?

    เมื่อนักเรียนแบ่งปัน เขียนความจริงที่พวกเขากล่าวถึงบนกระดาน ท่านอาจขอให้นักเรียนอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงรู้สึกว่าความจริงนั้นสําคัญต่อวัยรุ่นในปัจจุบัน

    หากนักเรียนไม่ได้กล่าวถึง ให้เพิ่มความจริงต่อไปนี้ลงในรายการบนกระดาน: ร่างกายของท่านเป็นของประทานอันน่าพิศวงจากพระบิดาบนสวรรค์

  • การรู้ว่าร่างกายของเราเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าอาจส่งผลต่อเจตคติของเราเกี่ยวกับร่างกายอย่างไร?

  • การรู้ความจริงนี้อาจส่งผลต่อวิธีที่เราดูแลร่างกายของเราอย่างไร?

ไอคอนเอกสารแจก เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้และวิธีดูแลของประทานแห่งร่างกายของเรา ท่านอาจแยกเอกสารแจก “การดูแลร่างกายของเรา” เป็นฐานการเรียนรู้สี่ฐาน ท่านอาจจัดชั้นเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่หมุนเวียนกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละฐาน ท่านอาจแจกกระดาษหนึ่งแผ่นที่ยังอยู่ที่แต่ละฐานให้นักเรียนทําส่วนการเขียนที่อยู่ท้ายแต่ละหมวดให้ครบถ้วน จากนั้นนักเรียนอาจอ่านสิ่งที่กลุ่มอื่นเขียนและเพิ่มเข้าไป

การดูแลร่างกายของเรา

ภาพลักษณ์ทางร่างกาย

  • ความคิดเห็นของผู้อื่นมีอิทธิพลอย่างไรต่อความรู้สึกของเราเกี่ยวกับร่างกายของเรา?

  • ความจริงที่พระเจ้าทรงต้องการให้เรารู้ใน ปฐมกาล 1:26–27 และ 1 โครินธ์ 6:19–20 ต่างจากข่าวสารที่เราอาจได้รับจากผู้อื่นอย่างไร?

ศึกษาคําแนะนําต่อไปนี้ที่พระเจ้าประทานผ่านประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันและเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์.ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองโดยมองหาสิ่งที่จะช่วยเรื่องภาพลักษณ์ทางร่างกายของเรา:

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

แต่ละครั้งที่ท่านมองเข้าไปในกระจก จงมองว่าร่างกายเป็นวิหารของท่าน ความจริงดังกล่าว—ซึ่งเราควรสำนึกคุณทุกวัน—สามารถเป็นอิทธิพลบวกต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะดูแลร่างกายและใช้ร่างกาย การตัดสินใจเหล่านั้นจะกําหนดจุดหมายปลายทางของท่าน (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การตัดสินใจเพื่อนิรันดร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 107)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

ข้าพเจ้าวิงวอนท่าน … ขอให้ยอมรับตนเองมากกว่านี้ รวมทั้งรูปร่างและรสนิยมของตนเอง โดยที่เฝ้าปรารถนาน้อยลงที่จะให้ตนเองดูเหมือนคนอื่น เราทุกคนแตกต่างกัน บางคนสูง บางคนร่างเล็ก บางคนท้วม บางคนผอม และเกือบทุกคนไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่งจะอยากเป็นสิ่งที่ตนเองไม่ได้เป็น! แต่ดังผู้ให้คําปรึกษาสาววัยรุ่นทั้งหลายกล่าวไว้ว่า: “ท่านจะดําเนินชีวิตโดยวิตกกังวลว่าโลกกําลังจ้องมองท่านไม่ได้ เมื่อท่านยอมให้ความคิดเห็นของผู้คนทําให้ท่านรู้สึกเขินอาย ท่านกําลังโยนพลังของตนเองทิ้งไป … หัวใจของความรู้สึก [เชื่อมั่น] อยู่ที่การฟังตัวตนที่อยู่ข้างในเสมอ—[ตัวตนที่แท้จริงของท่าน]” และในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ตัวตนที่แท้จริงของท่าน “ลํ้าค่ายิ่งกว่าทับทิม” [สุภาษิต 3:15] (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “แด่หญิงสาวทั้งหลาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 35)

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากคํากล่าวเหล่านี้?

จดบางสิ่งที่ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ท่านพูดกับคนที่กําลังมีปัญหาในการรู้สึกคิดบวกเกี่ยวกับร่างกายของตน

การนอนหลับ

อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 88:124 โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการนอนหลับ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการนอนหลับจึงสําคัญ?

การนอนหลับไม่เพียงพออาจเป็นปัญหาสุขภาพที่สําคัญ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนําให้วัยรุ่นนอนหลับคืนละ 8–10 ชั่วโมง (ดู National Sleep Foundation, “How Much Sleep Do You Really Need?,” Oct. 1, 2020 thensf.org) การนอนหลับไม่เพียงพอจะทําให้บุคคลหนึ่งเหน็ดเหนื่อย ทํางานไม่ดี และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ การรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจะทําให้เราหวั่นไหวต่อการล่อลวงมากขึ้น

  • ท่านเคยเห็นนิสัยการนอนหลับส่งผลต่อชีวิตท่านอย่างไร?

  • นิสัยการนอนหลับที่ดีจะปรับปรุงความสามารถของเราในการรับใช้พระเจ้าได้อย่างไร?

สนทนากับกลุ่มถึงคําแนะนําที่ท่านจะให้กับคนที่ต้องการปรับปรุงนิสัยการนอนหลับของพวกเขาหรือคนที่ท่านจะแนะนําให้พวกเขาไปขอคําแนะนํา เขียนความคิดของท่านลงในกระดาษที่เตรียมไว้ให้

การออกกําลังกายและวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง

ความเกียจคร้านหมายถึงการเสียเวลาของเรา เฉื่อยชา หรือหลีกเลี่ยงงาน อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้หนึ่งหรือสองข้อโดยมองหาความรู้สึกของพระเจ้าเกี่ยวกับการที่บุตรธิดาของพระองค์เกียจคร้าน: หลักคําสอนและพันธสัญญา 42:42; 60:13; 75:3

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้เรากระฉับกระเฉงและขยันขันแข็งแทนที่จะเกียจคร้าน?

  • พระเจ้าทรงอวยพรท่านอย่างไรเมื่อท่านพยายามกระฉับกระเฉงและขยันขันแข็ง?

  • การออกกําลังกายและวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงจะปรับปรุงสุขภาพจิตของเราได้อย่างไร? สิ่งนี้จะช่วยให้เรารับใช้พระเจ้าได้อย่างไร?

จดคําแนะนําของท่านสําหรับวัยรุ่นคนหนึ่งที่ปรารถนาจะปรับปรุงระดับการออกกําลังกายและกิจกรรมของพวกเขา

นิสัยการรับประทานที่มีประโยชน์

อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้โดยมองหาคําแนะนําของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ: หลักคําสอนและพันธสัญญา 59:16–20; 89:10–16

  • การเลือกอาหารของเราส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร?

สนทนาถึงอุปสรรคบางอย่างของการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ บอกบางวิธีที่เราสามารถแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าและเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้

  • การทําตามคําแนะนําของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่ดีขณะท่านยังเยาว์วัยจะได้ประโยชน์ระยะยาวอะไรบ้าง?

ให้กลุ่มเขียนสามหัวข้อ “หลีกเลี่ยง” “เป็นครั้งคราว” และ “ดีต่อสุขภาพ” ทํางานร่วมกัน ให้เลือกอาหารทั่วไปบางชนิดที่ท่านเห็นทุกวัน สนทนาว่าอาหารประเภทใดเหมาะสมกับแต่ละหัวข้อ

หลังจากการเวียนฐาน เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และข้อกังวลที่พวกเขาอาจมี คําถามต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์:

  • เหตุใดการพัฒนานิสัยที่ดีต่อสุขภาพและการดูแลร่างกายของเราอย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องท้าทาย?

  • ท่านคิดว่าการจดจําว่าร่างกายเราเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยได้อย่างไร?

  • พระเจ้าทรงช่วยท่านหรือคนที่ท่านรู้จักพัฒนานิสัยที่ดีต่อสุขภาพอย่างไร?

เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนแบ่งปันความจริงหรือประสบการณ์ที่อาจช่วยรับมือกับความท้าทายหรือข้อกังวลที่นักเรียนกล่าวถึง

เพื่อสรุป เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาของพวกเขาว่าพวกเขารู้สึกว่าพระเจ้าทรงต้องการให้พวกเขาทําอะไรเพื่อดูแลร่างกายของพวกเขาให้ดีขึ้น