“บทที่ 3: บทเรียน 4—การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ชั่วชีวิต” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)
“บทที่ 3: บทเรียน 4” สั่งสอนกิตติคุณของเรา
บทที่ 3: บทเรียน 4
การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ชั่วชีวิต
การสอนบทเรียนนี้
บัพติศมาเป็นศาสนพิธีอันน่ายินดีแห่งความหวัง เมื่อเรารับบัพติศมา เราแสดงความปรารถนาจะติดตามพระผู้เป็นเจ้าและเข้าสู่เส้นทางที่นำสู่ชีวิตนิรันดร์ เราแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจเช่นกันว่าจะเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ชั่วชีวิต
บทเรียนนี้จัดเรียงตามพันธสัญญาที่เราทำตอนรับบัพติศมา จะมีหมวดหลักๆ ต่อไปนี้ด้วย ซึ่งแต่ละหมวดมีหมวดย่อย:
ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าหลักธรรมและพระบัญญัติที่ท่านสอนคือส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่พวกเขาจะทำตอนรับบัพติศมา แสดงให้พวกเขาเห็นว่าแต่ละส่วนของบทเรียนนี้จะช่วยให้พวกเขา “มาหาพระคริสต์ … และรับส่วนความรอดของพระองค์” อย่างไร (ออมไน 1:26; ดู 1 นีไฟ 15:14 ด้วย)
ท่านจะต้องสอนบทเรียนนี้ในการเยี่ยมหลายครั้ง การเยี่ยมสอนไม่ควรเกิน 30 นาที ปกติจะดีกว่าถ้าไปเยี่ยมสั้นๆ บ่อยๆ เพื่อสอนเนื้อหาสั้นๆ
วางแผนว่าท่านจะสอนอะไร สอนเมื่อใด และจะใช้เวลาสอนนานเท่าใด พิจารณาความต้องการของคนที่ท่านสอน และแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณ ท่านยืดหยุ่นการสอนได้ตามที่เห็นว่าอะไรจะช่วยผู้คนเตรียมรับบัพติศมาและการยืนยันได้ดีที่สุด
บางหมวดในบทเรียนนี้จะมีคำเชื้อเชิญที่เฉพาะเจาะจง จงแสวงหาการดลใจในการตัดสินใจว่าจะให้คำเชื้อเชิญอย่างไรและเมื่อใด จงคำนึงถึงระดับความเข้าใจของแต่ละบุคคล ช่วยให้เขาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณทีละขั้น
พันธสัญญาว่าเราจะเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์
เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญาว่าจะติดตามพระเยซูคริสต์ “ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว” เราเป็นพยานด้วยว่าเรา “เต็มใจรับพระนามของพระคริสต์” (2 นีไฟ 31:13; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 ด้วย)
การรับพระนามของพระเยซูคริสต์หมายความว่าเราระลึกถึงพระองค์และมุ่งมั่นดำเนินชีวิตเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ชั่วชีวิต เราให้แสงสว่างของพระองค์ส่องผ่านเราไปถึงผู้อื่น เรามองตัวเราเป็นของพระองค์และให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิต
หมวดต่อไปนี้พูดถึงสองวิธีที่เราจะระลึกถึงและติดตามพระเยซูคริสต์
สวดอ้อนวอนบ่อยๆ
การสวดอ้อนวอนเป็นการสนทนาที่เรียบง่ายจากใจกับพระบิดาบนสวรรค์ ในการสวดอ้อนวอนเราพูดกับพระองค์อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา เราแสดงความรักต่อพระองค์และความสำนึกคุณต่อพรของเรา เราขอความช่วยเหลือ ความคุ้มครอง และการนำทางเช่นกัน เมื่อเราจบการสวดอ้อนวอน เราควรใช้เวลาหยุดฟังสักครู่
พระเยซูทรงสอนว่า “เจ้าต้องสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเสมอ ในนามของเรา” (3 นีไฟ 18:19, เน้นตัวเอน; ดู โมเสส 5:8 ด้วย) เมื่อเราสวดอ้อนวอนในพระนามของพระเยซูคริสต์ เราระลึกถึงทั้งพระองค์กับพระบิดาบนสวรรค์
พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างให้เราทำตามเมื่อเราสวดอ้อนวอน เราเรียนรู้ได้มากเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนโดยศึกษาคำสวดอ้อนวอนของพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์ (ดู มัทธิว 6:9–13; ยอห์น 17)
คำสวดอ้อนวอนของเราจะรวมถึงส่วนต่อไปนี้:
-
เริ่มโดยเอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์
-
แสดงความรู้สึกจากใจเรา เช่น ความสำนึกคุณต่อพรที่เราได้รับ
-
ถามคำถาม แสวงหาการนำทาง และขอพร
-
จบโดยกล่าวว่า “ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน”
พระคัมภีร์เตือนเราให้สวดอ้อนวอนตอนเช้าและตอนค่ำ แต่เราสามารถสวดอ้อนวอนได้ทุกเวลาและในทุกสภาวะแวดล้อม สำหรับการสวดอ้อนวอนส่วนตัวและกับครอบครัวการคุกเข่าสวดอ้อนวอนจะมีความหมาย เราควรสวดอ้อนวอนในใจเราตลอดเวลา (ดู แอลมา 34:27; 37:36–37; 3 นีไฟ 17:13; 19:16)
คำสวดอ้อนวอนของเราควรใช้ความคิดและมาจากใจ เมื่อเราสวดอ้อนวอน เราไม่ควรพูดเรื่องเดิมแบบเดิม
เราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา ความจริงใจ และเจตนาแท้จริงว่าจะทำตามคำตอบที่ได้รับ เมื่อทำเช่นนี้ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำทางเราและช่วยให้เราตัดสินใจได้ดี เราจะรู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น พระองค์จะประทานความเข้าใจและความจริงแก่เรา จะทรงอวยพรเราให้มีความสบายใจ ความสงบสุข และความเข้มแข็ง
ศึกษาพระคัมภีร์
นีไฟสอนว่า “จงดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์; เพราะ [พระวจนะเหล่านั้น] จะบอกท่านทุกสิ่งที่ท่านควรทำ” (2 นีไฟ 32:3; ดู 31:20 ด้วย)
การศึกษาพระคัมภีร์เป็นวิธีที่จำเป็นในการระลึกถึงและติดตามพระเยซูคริสต์ ในพระคัมภีร์เราเรียนรู้จากพระชนม์ชีพ การปฏิบัติศาสนกิจ และคำสอนของพระองค์ เราเรียนรู้จากคำสัญญาของพระองค์เช่นกัน ขณะอ่านพระคัมภีร์ เราประสบความรักของพระองค์ จิตวิญญาณเราขยาย ศรัทธาของเราในพระองค์เพิ่มพูน และความคิดเรากระจ่าง ประจักษ์พยานของเราในพระพันธกิจของพระองค์เข้มแข็งขึ้น
เราระลึกถึงและติดตามพระเยซูเมื่อเราประยุกต์ใช้พระวจนะของพระองค์ในชีวิตเรา เราควรศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน
พระคัมภีร์ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือ พระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า เราเรียกพระคัมภีร์เหล่านี้ว่า “งานมาตรฐาน” ด้วย
พันธสัญญาว่าเราจะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า
หมายเหตุ: มีหลายวิธีให้สอนพระบัญญัติในหมวดนี้ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะสอนในการเยี่ยมสองสามครั้ง หรือจะสอนบางข้อให้เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนสามบทแรกก็ได้ เมื่อสอนพระบัญญัติ จงแน่ใจว่าได้เชื่อมโยงกับพันธสัญญาบัพติศมาและแผนแห่งความรอด
เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าเราจะ “รักษาพระบัญญัติของพระองค์” (โมไซยาห์ 18:10; แอลมา 7:15)
พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เราเพราะทรงรักเรา ทรงต้องการให้เราได้รับสิ่งดีที่สุด ทั้งเวลานี้และในนิรันดร เพราะทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของเรา พระองค์จึงทรงทราบว่าเราต้องการอะไรเพื่อความผาสุกทางร่างกายและทางวิญญาณของเรา ทรงทราบเช่นกันว่าอะไรจะทำให้เรามีความสุขมากที่สุด พระบัญญัติแต่ละข้อเป็นของประทานจากสวรรค์ ประทานให้เพื่อชี้นำการตัดสินใจของเรา คุ้มครองเรา และช่วยให้เราเติบโต
เหตุผลหนึ่งที่เรามาโลกนี้คือเพื่อเรียนรู้และเติบโตผ่านการใช้สิทธิ์เสรีของเราอย่างฉลาด (ดู อับราฮัม 3:25) การเลือกเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า—และกลับใจเมื่อเราผิดพลาด—จะช่วยเราฟันฝ่าการเดินทางในชีวิตนี้ที่มักท้าทายบ่อยๆ ไปได้
พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเป็นแหล่งพลังและพร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:8–9) โดยการรักษาพระบัญญัติ เราเรียนรู้ว่าพระบัญญัติไม่ใช่กฎเกณฑ์หนักอึ้งที่จำกัดเสรีภาพของเรา เสรีภาพที่แท้จริงมาจากการเชื่อฟังพระบัญญัติ การเชื่อฟังเป็นแหล่งพลังที่นำแสงสว่างและความรู้มาให้เราผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นและช่วยให้เราบรรลุศักยภาพอันสูงส่งของเราในฐานะลูกของพระผู้เป็นเจ้า
พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะอวยพรเราเมื่อเรารักษาพระบัญญัติของพระองค์ พรบางอย่างกำหนดไว้สำหรับพระบัญญัติที่แน่นอน พรสูงสุดของพระองค์คือสันติสุขในโลกนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง (ดู โมไซยาห์ 2:41; แอลมา 7:16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7; 59:23; 93:28; 130:20–21)
พรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก บางครั้งเราต้องอดทนรอพร โดยวางใจว่าพรจะมาตามพระประสงค์และเวลาที่เหมาะสมของพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 7:33; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:68) เพื่อมองพรบางอย่างออก เราต้องใส่ใจและสังเกตทางวิญญาณ นี่เป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับพรที่มาแบบเรียบง่ายและดูธรรมดา
พรบางอย่างอาจจะเห็นชัดเมื่อมองย้อนกลับไปเท่านั้น พรหลายอย่างอาจจะไม่เกิดขึ้นจนหลังจากชีวิตนี้ ไม่ว่าจังหวะเวลาและลักษณะของพรของพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นอย่างไร เรามั่นใจได้ว่าพรจะมาเมื่อเรามุ่งมั่นดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:10)
พระผู้เป็นเจ้าทรงรักลูกทุกคนของพระองค์อย่างสมบูรณ์ ทรงอดทนกับความอ่อนแอของเรา และทรงให้อภัยเมื่อเรากลับใจ
พระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อ
เมื่อมีคนถามพระเยซูว่า “พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด?” พระองค์ทรงตอบว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน”
พระเยซูตรัสต่อจากนั้นว่าพระบัญญัติข้อสำคัญข้อสองก็เหมือนกับข้อแรกคือ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:36–39) “ไม่มีพระบัญญัติอื่นใดที่สำคัญยิ่งกว่าพระบัญญัติเหล่านี้” (มาระโก 12:31)
เพราะเป็นลูกทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า เราจึงมีความสามารถมากมายที่จะรัก นั่นเป็นมรดกทางวิญญาณส่วนหนึ่งของเรา การดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติข้อสําคัญสองข้อ—รักพระผู้เป็นเจ้าอันดับแรกและรักเพื่อนบ้านของเรา—เป็นลักษณะสำคัญของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์
ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า
มีหลายวิธีที่เราสามารถแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (ดู ยอห์น 14:15, 21) เราสามารถให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา โดยยอมให้ความประสงค์ของเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ เราสามารถทำให้ความปรารถนา ความคิด และใจเรามีศูนย์รวมอยู่ในพระเยซูคริสต์ (ดู แอลมา 37:36) เราสามารถดำเนินชีวิตด้วยความสำนึกคุณต่อพรที่พระองค์ประทานแก่เรา—และเอื้อเฟื้อในการแบ่งปันพรเหล่านั้น (ดู โมไซยาห์ 2:21–24; 4:16–21) เราสามารถแสดงความรักต่อพระองค์และทำให้ความรักนั้นลึกซึ้งขึ้นผ่านการสวดอ้อนวอนและการรับใช้ผู้อื่น
พระบัญญัติให้รักพระผู้เป็นเจ้ามีไว้เพื่อประโยชน์ของเราเหมือนพระบัญญัติข้ออื่นๆ สิ่งที่เรารักกำหนดสิ่งที่เราแสวงหา สิ่งที่เราแสวงหากำหนดสิ่งที่เราคิดและทำ สิ่งที่เราคิดและทำกำหนดตัวตนที่เราเป็น—และตัวตนที่เราจะเป็น
ความรักต่อผู้อื่น
การรักผู้อื่นเป็นการขยายความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนวิธีรักผู้อื่นหลายๆ วิธี (ดูตัวอย่างใน ลูกา 10:25–37 และ มัทธิว 25:31–46) เรายื่นมือออกไปต้อนรับพวกเขาเข้ามาในใจและในชีวิตเรา เรารักโดยรับใช้—โดยสละเวลาและพลังงานแม้ในวิธีเล็กๆ น้อยๆ เรารักผู้อื่นโดยใช้ของประทานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เราเพื่อเป็นพรแก่พวกเขา
การรักผู้อื่นรวมถึงการอดทน มีน้ำใจ และซื่อสัตย์ รวมถึงการให้อภัยโดยไม่จำกัด หมายถึงการปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ
เมื่อเรารักใครสักคน เรากับคนนั้นได้รับพรทั้งคู่ ใจเราเบ่งบาน ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น และปีติของเราเพิ่มพูน
พร
พระบัญญัติข้อสําคัญสองข้อ—รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเรา—เป็นรากฐานของพระบัญญัติทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้า (ดู มัทธิว 22:40) เมื่อเรารักพระผู้เป็นเจ้าอันดับแรก และรักผู้อื่นด้วย ทุกอย่างในชีวิตเราจะเข้าที่เข้าทาง ความรักนี้จะส่งผลต่อมุมมองของเรา การใช้เวลาของเรา ความสนใจที่เราตามหา และลำดับความสำคัญของเรา
ทำตามศาสดาพยากรณ์
พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์มาเป็นตัวแทนของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงเปิดเผยความจริง ให้การนำทางและคำเตือนผ่านศาสดาพยากรณ์
พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์คนแรกของยุคสุดท้าย (ดู บทที่ 1) ผู้สืบทอดต่อจากโจเซฟ สมิธได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าในทำนองเดียวกันให้นำศาสนจักรของพระองค์ รวมถึงศาสดาพยากรณ์ที่นำศาสนจักรทุกวันนี้ เราควรมีความเชื่อมั่นในการทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่และทำตามคำสอนของท่าน
คำสอนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความจริงนิรันดร์ในโลกที่ค่านิยมเปลี่ยนไป เมื่อเราทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ความสับสนและความขัดแย้งกันของโลกจะไม่ครอบงำเรา เราจะมีความสุขมากขึ้นในชีวิตนี้และได้รับการนำทางในส่วนนี้ของการเดินทางนิรันดร์ของเรา
รักษาพระบัญญัติสิบประการ
พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยพระบัญญัติสิบประการต่อศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณชื่อโมเสสเพื่อนำทางผู้คนของเขา พระบัญญัติเหล่านี้นำมาใช้ในสมัยของเรามากเช่นกัน พระบัญญัติสอนเราให้นมัสการและแสดงความคารวะต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งยังสอนเราให้รู้วิธีปฏิบัติต่อกันด้วย
-
“ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพยพ 20:3) “พระเจ้า” อื่นมีหลายอย่าง เช่น ทรัพย์สมบัติ อำนาจ หรือชื่อเสียง
-
“ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน” (อพยพ 20:4)
-
“ห้ามใช้พระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าไปในทางที่ผิด” (อพยพ 20:7)
-
“จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์” (อพยพ 20:8)
-
“จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า” (อพยพ 20:12)
-
“ห้ามฆ่าคน” (อพยพ 20:13)
-
“ห้ามล่วงประเวณีผัวเมียเขา” (อพยพ 20:14)
-
“ห้ามลักขโมย” (อพยพ 20:15)
-
“ห้ามเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน” (อพยพ 20:16)
-
“ห้ามโลภ” (อพยพ 20:17)
ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ
กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศเป็นส่วนสำคัญยิ่งของแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอดและความสูงส่งของเรา พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างสามีภรรยาไว้สำหรับการให้กำเนิดบุตรและการแสดงความรักในชีวิตสมรส ความสัมพันธ์ดังกล่าวและอำนาจการสร้างชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งสวยงามและศักดิ์สิทธิ์
กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศของพระผู้เป็นเจ้าคือการละเว้นความสัมพันธ์ทางเพศโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานกันตามกฎหมายระหว่างชายหนึ่งหญิงหนึ่ง กฎนี้หมายถึงการมีความซื่อสัตย์ภักดีโดยสมบูรณ์ต่อคู่สมรสหลังแต่งงานด้วย
เพื่อช่วยให้เรารักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ ศาสดาพยากรณ์จึงได้เตือนเราให้สะอาดในความคิดและคำพูด เราควรหลีกเลี่ยงสื่อลามกทุกรูปแบบ ในการรักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ เราควรมีพฤติกรรมและภาพลักษณ์ที่สุภาพเรียบร้อย
ผู้จะรับบัพติศมาพึงดำเนินชีวิตตามกฎความบริสุทธิ์ทางเพศ
การกลับใจและการให้อภัย
ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า การทำผิดกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศเป็นเรื่องร้ายแรงมาก (ดู อพยพ 20:14; เอเฟซัส 5:3) เป็นการใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ประทานไว้ให้สร้างชีวิตในทางที่ผิด แต่พระองค์ทรงรักเราเหมือนเดิมแม้เราจะทำผิดกฎนี้ พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เรากลับใจและสะอาดผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ความสิ้นหวังในบาปจะถูกแทนที่ด้วยสันติสุขอันหอมหวานจากการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:42–43)
พร
พระผู้เป็นเจ้าประทานกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศเพื่อเป็นพรแก่เราและลูกๆ ทางวิญญาณที่ทรงส่งมาโลกนี้ การเชื่อฟังกฎนี้จำเป็นต่อสันติสุขส่วนตัวและการมีความรัก ความไว้วางใจ และความเป็นหนึ่งเดียวกันในสัมพันธภาพครอบครัวของเรา
เมื่อเราดำเนินชีวิตตามกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ เราจะได้รับความคุ้มครองจากอันตรายทางวิญญาณที่มาจากการความสัมพันธ์ทางเพศโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน เราจะหลีกเลี่ยงปัญหาทางอารมณ์และทางกายที่มักมาคู่กับความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วย เราจะมีความมั่นใจเบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45) เราจะเปิดรับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้น เราจะพร้อมทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหารมากขึ้นเพื่อทำให้ครอบครัวเราเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์
รักษากฎส่วนสิบ
สิทธิพิเศษอันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกในศาสนจักรคือโอกาสในการจ่ายส่วนสิบ เมื่อเราจ่ายส่วนสิบ เราช่วยส่งเสริมงานของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นพรแก่ลูกๆ ของพระองค์
กฎส่วนสิบมีมาตั้งแต่สมัยพันธสัญญาเดิม ตัวอย่างเช่น ศาสดาพยากรณ์อับราฮัมจ่ายส่วนสิบของทั้งหมดที่เขาครอบครอง (ดู แอลมา 13:15; ปฐมกาล 14:18–20)
คำว่า ส่วนสิบ ตามตัวอักษรหมายถึงหนึ่งส่วนสิบ เมื่อเราจ่ายส่วนสิบ เราบริจาคหนึ่งส่วนสิบของรายได้ให้ศาสนจักร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 119:3–4; ผลประโยชน์ เข้าใจว่าหมายถึงรายได้) ทั้งหมดที่เรามีล้วนเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเราจ่ายส่วนสิบ เราแสดงความสำนึกคุณต่อพระองค์โดยคืนส่วนหนึ่งที่พระองค์ประทานแก่เรา
การจ่ายส่วนสิบเป็นการแสดงศรัทธา เป็นวิธีถวายเกียรติพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน พระเยซูทรงสอนว่าเราควร “แสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า … ก่อน” (มัทธิว 6:33) และส่วนสิบเป็นวิธีทำเช่นนั้น
การใช้เงินทุนส่วนสิบ
เงินทุนส่วนสิบเป็นเงินศักดิ์สิทธิ์ เรามอบส่วนสิบให้สมาชิกในฝ่ายอธิการหรือในหลายๆ พื้นที่เราสามารถจ่ายออนไลน์ได้ เมื่อฝ่ายอธิการได้รับส่วนสิบ พวกเขาส่งส่วนสิบไปสำนักงานใหญ่ของศาสนจักร
สภาที่ประกอบด้วยฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และฝ่ายอธิการควบคุมจะกำหนดวิธีใช้เงินทุนส่วนสิบในงานของพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 120:1) การใช้เหล่านี้ได้แก่การ:
-
สร้างและบำรุงรักษาพระวิหารและอาคารประชุม
-
แปลและจัดพิมพ์พระคัมภีร์
-
สนับสนุนกิจกรรมและการดำเนินงานของที่ประชุมระดับท้องที่ของศาสนจักร
-
สนับสนุนงานสอนศาสนาทั่วโลก
-
สนับสนุนงานประวัติครอบครัว
-
ให้ทุนแก่สถานศึกษาและการศึกษา
ศาสนจักรไม่ได้ใช้ส่วนสิบจ่ายให้ผู้นำระดับท้องที่ พวกเขารับใช้ด้วยความสมัครใจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
พร
เมื่อเราจ่ายส่วนสิบ พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาพรมากเกินกว่าที่เราให้ พระองค์จะทรง “เปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้า [จนไม่มีที่พอรับมัน]” (มาลาคี 3:10; ดู ข้อ 7–12) พรเหล่านี้อาจเป็นทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก
เชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา
กฎแห่งสุขภาพของพระเจ้า
ร่างกายเราเป็นของประทานศักดิ์สิทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้า เราแต่ละคนต้องมีร่างกายเพื่อเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น ร่างกายเราสำคัญมากถึงขนาดพระคัมภีร์เปรียบเทียบกับพระวิหาร (ดู 1 โครินธ์ 6:19–20)
พระเจ้าทรงต้องการให้เราปฏิบัติต่อร่างกายเราด้วยความเคารพ เพื่อช่วยเราทำเช่นนี้ พระองค์จึงทรงเปิดเผยกฎแห่งสุขภาพเรียกว่าพระคำแห่งปัญญา การเปิดเผยนี้สอนเราเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์และไม่ใช้สารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย—โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ และเครื่องดื่มร้อน (หมายถึงชาและกาแฟ)
ตามเจตนารมณ์ของพระคำแห่งปัญญา ศาสดาพยากรณ์สมัยใหม่เตือนไม่ให้ใช้สารอื่นที่เป็นอันตราย ผิดกฎหมาย หรือสารเสพติด ศาสดาพยากรณ์เตือนไม่ให้ใช้ยาตามแพทย์สั่งในทางที่ผิดเช่นกัน (ประธานคณะเผยแผ่ของท่านจะตอบคำถามว่าไม่ควรใช้สารอื่นในเขตภูมิศาสตร์ของท่านหรือไม่)
พร
พระเจ้าทรงจัดเตรียมพระคำแห่งปัญญาเพื่อความผาสุกทางร่างกายและทางวิญญาณของเรา พระองค์ทรงสัญญาพรสำคัญๆ เมื่อเรารักษาพระบัญญัติข้อนี้ พรเหล่านี้ ได้แก่ สุขภาพ สติปัญญา ขุมทรัพย์แห่งความรู้ และความคุ้มครอง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 89:18–21)
การเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญาจะช่วยให้เรารับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ง่ายขึ้น ถึงแม้เราทุกคนจะมีความท้าทายด้านสุขภาพ แต่การเชื่อฟังกฎนี้จะช่วยให้เรามีสุขภาพกาย ใจ และวิญญาณดีขึ้น
ผู้จะรับบัพติศมาพึงเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา
ดูแนวทางการช่วยเหลือคนที่มีปัญหากับการเสพติดใน บทที่ 10
รักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์
วันพักผ่อนและนมัสการ
สะบาโตเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกันไว้แต่ละสัปดาห์ให้เราพักจากงานประจำวันและนมัสการพระองค์ พระบัญญัติสิบประการข้อหนึ่งที่ประทานแก่โมเสสคือ “จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์” (อพยพ 20:8; ดู ข้อ 9–11 ด้วย)
ในการเปิดเผยยุคปัจจุบัน พระเจ้าทรงยืนยันอีกครั้งว่าสะบาโต “คือวันที่กำหนดไว้ให้เจ้าเพื่อพักผ่อนจากการทำงานของเจ้า, และเพื่อแสดงความจงรักของเจ้าแด่พระผู้สูงสุด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:10) พระองค์ตรัสด้วยว่าสะบาโตควรเป็นวันแห่งการชื่นชมยินดี การสวดอ้อนวอน และการน้อมขอบพระทัย (ดู ข้อ 14–15)
ส่วนหนึ่งของการนมัสการในวันสะบาโตของเราคือเราเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกแต่ละสัปดาห์ ในการประชุมนี้ เรานมัสการพระผู้เป็นเจ้าและรับส่วนศีลระลึกเพื่อระลึกถึงพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราต่อพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและแสดงให้เห็นว่าเราเต็มใจกลับใจจากบาป ศาสนพิธีศีลระลึกเป็นศูนย์รวมของการถือปฏิบัติวันสะบาโตของเรา
ที่โบสถ์เราเข้าชั้นเรียนเพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วย ศรัทธาของเราเพิ่มขึ้นเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกัน ความรักของเราเพิ่มขึ้นเมื่อเรารับใช้และเพิ่มพลังให้กัน
นอกจากจะพักจากงานในวันสะบาโตแล้ว เราจะไม่ซื้อของและทำกิจกรรมอื่นที่จะทำให้รู้สึกเหมือนเป็นวันธรรมดาด้วย เราหยุดกิจกรรมต่างๆ ของโลกไว้ก่อน จดจ่อความคิดและการกระทำของเราอยู่กับเรื่องทางวิญญาณ
วันทำดี
การทำดีในวันสะบาโตอย่างน้อยก็สำคัญเท่าๆ กับสิ่งที่เราไม่ทำเพื่อรักษาวันนั้นให้บริสุทธิ์ เราเรียนรู้พระกิตติคุณ เพิ่มพลังศรัทธา สร้างความสัมพันธ์ รับใช้ และร่วมกิจกรรมอื่นที่เชิดชูจิตวิญญาณกับครอบครัวและเพื่อนๆ
พร
การรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์เป็นการแสดงความจงรักต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เมื่อเราทำให้กิจกรรมวันสะบาโตสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับวันนั้น เราจะรู้สึกปีติและสันติ เราจะได้รับการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณและร่างกายสดชื่อกระปรี้กระเปร่า เราจะรู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้ช่วยให้รอดจะแน่นแฟ้นขึ้นด้วย เราจะรักษาตัวเราให้ “หมดจดจากโลก” ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9) สะบาโตจะกลายเป็น “วันปีติยินดี” (อิสยาห์ 58:13; ดู ข้อ 14 ด้วย)
เชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎหมาย
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อในการเชื่อฟังกฎหมายและในการเป็นพลเมืองดี (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 134; หลักแห่งความเชื่อข้อ 12) ศาสนจักรขอให้สมาชิกรับใช้เพื่อทำให้ชุมชนและประเทศชาติดีขึ้น นอกจากนี้ยังขอให้พวกเขาเป็นอิทธิพลส่งเสริมค่านิยมอันดีทางศีลธรรมในสังคมและการปกครองด้วย
ศาสนจักรเชื้อเชิญให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการปกครองและกระบวนการทางการเมืองตามกฎหมาย สมาชิกที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของศาสนจักร
พันธสัญญาว่าเราจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่น
การรับใช้
เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่น การรับใช้ผู้อื่นเป็นหนึ่งในวิธีเบื้องต้นที่เรารับใช้พระผู้เป็นเจ้า (ดู โมไซยาห์ 2:17) ศาสดาพยากรณ์แอลมาสอนคนที่ปรารถนาจะรับบัพติศมาว่าพวกเขาควร “เต็มใจจะแบกภาระของกันและกัน, … โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า … , และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน” (โมไซยาห์ 18:8–9)
ไม่นานหลังจากรับบัพติศมา ปกติสมาชิกใหม่จะได้รับการเรียกให้รับใช้ในศาสนจักร การเรียกเหล่านี้เป็นไปโดยสมัครใจและไม่ได้รับค่าจ้าง เมื่อเรายอมรับและรับใช้อย่างขยันหมั่นเพียร เราจะเพิ่มพูนในศรัทธา พัฒนาพรสวรรค์ และเป็นพรแก่ผู้อื่น
การรับใช้อีกส่วนหนึ่งของเราในศาสนจักรคือการเป็น “บราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ” หรือ “ซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ” ในความรับผิดชอบนี้ เรารับใช้บุคคลและครอบครัวที่ได้รับมอบหมาย
ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เรามองหาโอกาสรับใช้ทุกวัน เราไป “ทำคุณประโยชน์” เหมือนพระองค์ (กิจการ 10:38) เรารับใช้เพื่อนบ้านและคนอื่นๆ ในชุมชนของเรา เราสามารถมีส่วนในโอกาสรับใช้ต่างๆ ผ่าน JustServe.org เราสามารถสนับสนุนงานมนุษยธรรมของศาสนจักรและร่วมช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ
การแบ่งปันพระกิตติคุณ
ส่วนหนึ่งของพันธสัญญาบัพติศมาคือเราสัญญาว่าจะ “ยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า” (โมโซยาห์ 18:9) วิธีหนึ่งที่เรายืนเป็นพยานคือการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ การช่วยให้ผู้อื่นได้รับพระกิตติคุณเป็นการรับใช้ที่ทำให้เกิดปีติมากที่สุดแบบหนึ่งเราสามารถให้ได้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:15–16) เป็นการแสดงความรักของเราได้อย่างทรงพลัง
เมื่อเราประสบพรของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เรามักจะอยากแบ่งปันพรเหล่านั้น สมาชิกครอบครัว เพื่อนๆ และคนรู้จักมักจะสนใจเมื่อเราเป็นแบบอย่างที่ซื่อสัตย์และเมื่อพวกเขาเห็นว่าพระกิตติคุณเป็นพรแก่ชีวิตเรา เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณได้ในวิธีที่เป็นปกติธรรมชาติ (ดู คู่มือทั่วไป, บทที่ 23)
เราเชิญคนอื่นๆ มาร่วมกับเราในกิจกรรมการรับใช้ กิจกรรมชุมชน กิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร เราสามารถเชิญพวกเขามาร่วมการประชุมของศาสนจักรหรือพิธีบัพติศมา เราสามารถเชื้อเชิญให้พวกเขาดูวีดิทัศน์ออนไลน์ที่อธิบายพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ อ่านพระคัมภีร์มอรมอน หรือไปโอเพ่นเฮาส์พระวิหาร เราสามารถให้คำเชื้อเชิญได้หลายร้อยอย่าง บ่อยครั้งการเชื้อเชิญแค่หมายถึงการรวมครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนบ้านของเราไว้ในสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว
ถ้าเราทูลขอ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยให้เรารับรู้โอกาสในการแบ่งปันพระกิตติคุณและบอกคนอื่นๆ ว่าพระกิตติคุณเป็นพรแก่ชีวิตเราอย่างไร
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักธรรมเรื่องรัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญใน “เป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิก” ในบทที่ 9
การอดอาหารและเงินบริจาคอดอาหาร
พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนากฎแห่งการอดอาหารให้เป็นวิธีพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณของเราและช่วยเหลือคนขัดสน
การอดอาหารหมายถึงการไม่กินไม่ดื่มอะไรเลยเป็นระยะเวลาหนึ่ง ศาสนจักรจะกันวันอาทิตย์แรกของทุกเดือนไว้เป็นวันอดอาหาร วันอดอาหารปกติจะรวมถึงการไม่กินไม่ดื่มอะไรเลยเป็นเวลา 24 ชั่วโมงถ้าร่างกายทนไหว ส่วนสำคัญอื่นๆ ของวันอาทิตย์อดอาหาร ได้แก่ การสวดอ้อนวอนและการแสดงประจักษ์พยาน เราอดอาหารเวลาอื่นด้วยเมื่อรู้สึกว่าต้องอด
การสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณ
การอดอาหารจะช่วยให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น และรู้สึกมีชีวิตชีวาทางวิญญาณ ก่อนเริ่มการปฏิบัติศาสนกิจ พระเยซูคริสต์ทรงอดอาหาร (ดู มัทธิว 4:1–2) พระคัมภีร์บันทึกหลายเรื่องเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์และคนอื่นๆ อดอาหารเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางวิญญาณและแสวงหาพรพิเศษให้กับตนเองและคนอื่นๆ
การอดอาหารจะทำควบคู่กับการสวดอ้อนวอน เมื่อเราอดอาหารและสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา เราจะพร้อมรับการเปิดเผยส่วนตัวมากขึ้น เราจะรับรู้ความจริงและเข้าใจพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าได้ง่ายขึ้น
การช่วยเหลือคนขัดสน
เมื่อเราอดอาหาร เราบริจาคเงินให้ศาสนจักรใช้ช่วยดูแลคนขัดสน นี่เรียกว่าเงินบริจาคอดอาหาร ศาสนจักรเชื้อเชิญให้เราบริจาคเงินอย่างน้อยเท่ากับค่าอาหารที่เราไม่ได้กิน ศาสนจักรขอให้เราเอื้อเฟื้อและบริจาคมากกว่าค่าอาหารเหล่านี้ถ้าเราทำได้ การให้เงินบริจาคอดอาหารเป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถรับใช้ผู้อื่น
เงินบริจาคอดอาหารจะใช้จัดหาอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นให้คนขัดสน ทั้งในระดับท้องที่และทั่วโลก ดูข้อมูลเกี่ยวกับวิธีบริจาคเงินอดอาหารได้จาก “การบริจาคส่วนสิบและเงินบริจาคอื่นๆ” ในบทเรียนนี้
พันธสัญญาว่าเราจะอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่
เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าจะ “อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” ในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2 นีไฟ 31:20; ดู โมไซยาห์ 18:13 ด้วย) เรามุ่งมั่นเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ชั่วชีวิต
นีไฟศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนพูดถึงบัพติศมาว่าเป็นประตูที่เราเข้าสู่เส้นทางพระกิตติคุณ (ดู 2 นีไฟ 31:17) หลังจากบัพติศมา เรา “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์” ต่อไป (2 นีไฟ 31:20)
ขณะ “มุ่งหน้า” บนเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์ เราเตรียมไปพระวิหาร ที่นั่นเราจะทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับศาสนพิธีพระวิหาร ในพระวิหาร เราจะได้รับประสาทพรด้วยอำนาจและจะผนึกเป็นครอบครัวชั่วนิรันดร์ การรักษาพันธสัญญาที่เราทำในพระวิหารจะเปิดประตูรับสิทธิพิเศษทางวิญญาณและพรทุกอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีให้เรา
เมื่อเราเดินตามเส้นทางพระกิตติคุณต่อไปอย่างซื่อสัตย์ ในที่สุดเราจะได้รับของประทานสำคัญที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ ชีวิตนิรันดร์ (ดู 2 นีไฟ 31:20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7)
หมวดต่อไปนี้อธิบายบางแง่มุมของสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ช่วยให้เราอดทนจนกว่าการเดินทางในมรรตัยของเราจะสิ้นสุด—และพบปีติในนั้น
ฐานะปุโรหิตและองค์การต่างๆ ของศาสนจักร
ฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำงานของพระองค์ให้สำเร็จผ่านฐานะปุโรหิตเพื่อ “ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบสิทธิอำนาจและพลังอำนาจให้บุตรและธิดาของพระองค์บนแผ่นดินโลกเพื่อช่วยดำเนินงานนี้ให้สำเร็จลุล่วง
ฐานะปุโรหิตเป็นพรแก่เราทุกคน เราได้รับศาสนพิธี เช่น บัพติศมาและศีลระลึก ผ่านผู้ดำรงตำแหน่งฐานะปุโรหิต เราได้รับพรของการเยียวยา การปลอบโยน และคำแนะนำเช่นกัน
ฐานะปุโรหิต การเป็นผู้นำ และการเรียกต่างๆ ในศาสนจักร
พระเยซูคริสต์ทรงนำศาสนจักรผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก ผู้นำเหล่านี้ได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า ได้รับแต่งตั้ง และได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้กระทำในพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด
สมัยโบราณพระคริสต์ทรงมอบสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเดียวกันนี้ให้อัครสาวกของพระองค์ ซึ่งให้พวกเขาได้นำศาสนจักรหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ สิทธิอำนาจดังกล่าวสูญสิ้นไปในที่สุดเมื่อผู้คนปฏิเสธพระกิตติคุณและอัครสาวกสิ้นชีวิต
ทูตสวรรค์ฟื้นฟูฐานะปุโรหิตในปี 1829 ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ และพระเจ้าทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์อีกครั้งพร้อมกับอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ (ดู บทเรียน 1)
ในระดับท้องที่ อธิการและประธานสเตคมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในการนำที่ประชุมต่างๆ ของศาสนจักร
เมื่อชายและหญิงได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ให้รับใช้ในศาสนจักร พวกเขาได้รับสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกนั้น สิทธิอำนาจดังกล่าวมอบให้ผู้สอนศาสนา ผู้นำ ครู และคนอื่นๆ จนกว่าพวกเขาพ้นจากหน้าที่การเรียก สิทธิอำนาจนี้มอบให้ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต
เราจะใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในความชอบธรรมเท่านั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46) สิทธิอำนาจนี้เป็นความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นตัวแทนของพระผู้ช่วยให้รอดและปฏิบัติในพระนามของพระองค์ อีกทั้งมุ่งหมายอยู่เสมอให้เป็นพรและรับใช้ผู้อื่นด้วย
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
ในศาสนจักร ฐานะปุโรหิต ได้แก่ ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค มีการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคให้สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักรภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต หลังจากประสาทฐานะปุโรหิตที่เหมาะสมแล้ว บุคคลจะได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตนั้น เช่น มัคนายกหรือเอ็ลเดอร์ เขาต้องได้รับการแต่งตั้งโดยผู้มีสิทธิอำนาจที่จำเป็น
เมื่อชายหรือเยาวชนชายได้รับฐานะปุโรหิต เขาทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าจะทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดสัมฤทธิผล รับใช้ผู้อื่น และช่วยเสริมสร้างศาสนจักร
เยาวชนชายจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและได้รับการแต่งตั้งเป็นมัคนายกตอนต้นเดือนมกราคมของปีที่พวกเขาอายุครบ 12 ปี พวกเขาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สอนในปีที่พวกเขาอายุครบ 14 ปี และเป็นปุโรหิตในปีที่พวกเขาอายุครบ 16 ปี ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชายที่อายุตามนั้นจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหลังจากรับบัพติศมาและการยืนยันได้ไม่นาน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนประกอบศาสนพิธี เช่น ศีลระลึกและบัพติศมา
หลังจากรับใช้เป็นปุโรหิตในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนช่วงหนึ่งแล้ว ชายที่มีค่าควรผู้อายุอย่างน้อย 18 ปีจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ ชายผู้ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสามารถทำศาสนพิธีฐานะปุโรหิตได้ เช่น ให้พรแห่งการรักษาและการปลอบโยนแก่สมาชิกครอบครัวและคนอื่นๆ
ดูข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกใหม่ที่จะรับฐานะปุโรหิตได้จาก คู่มือทั่วไป, 38.2.9.1
โควรัมและองค์การต่างๆ ของศาสนจักร
โควรัมฐานะปุโรหิต โควรัมคือกลุ่มผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่จัดตั้งขึ้น แต่ละวอร์ดมีโควรัมเอ็ลเดอร์สำหรับผู้ชายผู้ใหญ่ โควรัมมัคนายก ผู้สอน และปุโรหิตสำหรับเยาวชนชาย
สมาคมสงเคราะห์ สมาคมสงเคราะห์จะมีผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป สมาชิกของสมาคมสงเคราะห์เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว บุคคล และชุมชน
เยาวชนหญิง เยาวชนหญิงเข้าร่วมองค์การเยาวชนหญิงตอนต้นเดือนมกราคมของปีที่พวกเธออายุครบ 12 ปี
ปฐมวัย เด็กอายุ 2 ถึง 11 ปีเป็นส่วนหนึ่งขององค์การปฐมวัย
โรงเรียนวันอาทิตย์ ผู้ใหญ่และเยาวชนทุกคนเข้าชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่พวกเขาพบกันเพื่อศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตได้จาก คู่มือทั่วไป บทที่ 3
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควรัมฐานะปุโรหิตและองค์การศาสนจักรได้จาก คู่มือทั่วไป บทที่ 8–13
การแต่งงานและครอบครัว
การแต่งงาน
การแต่งงานระหว่างชายหนึ่งหญิงหนึ่งได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นศูนย์กลางในแผนของพระองค์เพื่อความก้าวหน้านิรันดร์ของลูกๆ ของพระองค์
เอกภาพของสามีภรรยาในชีวิตสมรสควรเป็นความสัมพันธ์ทางโลกที่น่าทะนุถนอมมากที่สุดของพวกเขา พวกเขามีความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะภักดีต่อกันและซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาการแต่งงาน
สามีและภรรยาเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า ฝ่ายหนึ่งจะไม่มีอำนาจเหนืออีกฝ่าย พวกเขาจะทำการตัดสินใจในความเป็นหนึ่งเดียวกันและความรักด้วยความร่วมมือกันเต็มที่
เมื่อสามีภรรยารักกันและทำงานด้วยกัน ชีวิตสมรสของพวกเขาจะเป็นแหล่งความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พวกเขาสามารถช่วยเหลือกันและช่วยลูกๆ ให้เจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ได้
ครอบครัว
ครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและเป็นศูนย์กลางในแผนของพระองค์เพื่อความสุขนิรันดร์ของเรา ครอบครัวเรามีแนวโน้มจะมีความสุขที่สุดเมื่อเราดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ พ่อแม่สอนลูกๆ ให้รู้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตามนั้น ครอบครัวให้โอกาสเราได้รักและรับใช้กัน
พ่อแม่ควรทำให้ครอบครัวของตนมีความสำคัญสูงสุด สิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ของพ่อแม่คือดูแลลูกๆ ที่พวกเขาให้กำเนิดหรือรับเป็นบุตรบุญธรรม
ทุกครอบครัวมีความท้าทาย เมื่อเราแสวงหาการสนับสนุนของพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ ความท้าทายในครอบครัวจะช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโต บางครั้งความท้าทายเหล่านี้ช่วยให้เราเรียนรู้ว่าต้องกลับใจและให้อภัย
ผู้นำศาสนจักรได้ขอให้สมาชิกจัดกิจกรรมยามค่ำที่บ้านทุกสัปดาห์ พ่อแม่ใช้เวลานี้สอนพระกิตติคุณให้กับลูกๆ กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว และสนุกสนานด้วยกัน ผู้นำศาสนจักรได้ออกถ้อยแถลงที่สอนความจริงนิรันดร์เกี่ยวกับครอบครัวด้วย (ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ChurchofJesusChrist.org)
วิธีอื่นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว ได้แก่ การสวดอ้อนวอนกับครอบครัว ศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว และนมัสการด้วยกันที่โบสถ์ เราสามารถค้นคว้าประวัติครอบครัว รวบรวมเรื่องราวครอบครัว และรับใช้ผู้อื่นได้ด้วย
หลายคนมีโอกาสจำกัดสำหรับการแต่งงานหรือสัมพันธภาพครอบครัวที่รักกัน หลายคนประสบการหย่าร้างและสภาวการณ์ยุ่งยากอื่นๆ ในครอบครัว แต่พระกิตติคุณเป็นพรแก่เราเป็นรายบุคคลไม่ว่าสภาวการณ์ครอบครัวเราเป็นเช่นไร และเมื่อเราซื่อสัตย์ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเตรียมทางให้เราได้รับพรของครอบครัวที่รักกัน ไม่ว่าในชีวิตนี้หรือในชีวิตที่จะมาถึง
งานพระวิหารและประวัติครอบครัวสำหรับบรรพชนที่ถึงแก่กรรมแล้ว
พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักลูกทุกคนของพระองค์และทรงปรารถนาให้พวกเขาได้รับความรอดและความสูงส่ง แต่มีหลายพันล้านคนเสียชีวิตโดยไม่ได้ยินพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือไม่ได้รับศาสนพิธีแห่งความรอดของพระกิตติคุณ ศาสนพิธีเหล่านี้ ได้แก่ บัพติศมา การยืนยัน การแต่งตั้งฐานะปุโรหิตสำหรับผู้ชาย เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร และการแต่งงานชั่วนิรันดร์
โดยผ่านพระคุณและพระเมตตาของพระเจ้า พระองค์ได้ทรงเตรียมอีกวิธีหนึ่งให้คนเหล่านี้ได้รับพระกิตติคุณและศาสนพิธีของพระกิตติคุณ ในโลกวิญญาณมีการสั่งสอนพระกิตติคุณให้กับคนที่ตายโดยไม่ได้รับพระกิตติคุณ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 138) ในพระวิหาร เราสามารถทำศาสนพิธีแทนบรรพชนและคนอื่นๆ ที่ถึงแก่กรรมแล้วได้ จากนั้นผู้ถึงแก่กรรมเหล่านี้ในโลกวิญญาณจะเลือกยอมรับหรือปฏิเสธพระกิตติคุณและศาสนพิธีที่ทำแทนพวกเขาก็ได้
ก่อนจะทำศาสนพิธีเหล่านี้ เราจำเป็นต้องระบุชื่อบรรพชนที่ยังไม่ได้รับศาสนพิธี การระบุชื่อสมาชิกครอบครัวเพื่อพวกเขาจะได้รับศาสนพิธีเป็นจุดประสงค์หลักของงานประวัติครอบครัวของเรา เมื่อเราพบข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขา เราจะเพิ่มลงในฐานข้อมูลของศาสนจักรที่ FamilySearch.org จากนั้นเรา (หรือคนอื่นๆ) จะทำศาสนพิธีแทนพวกเขาในพระวิหาร
เมื่อเราระบุชื่อบรรพชนและทำศาสนพิธีแทนพวกเขา ครอบครัวเราจะเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์
พระวิหาร เอ็นดาวเม้นท์ การแต่งงานนิรันดร์ และครอบครัวนิรันดร์
พระวิหาร
พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่เราสามารถทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าขณะรับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ เมื่อเรารักษาพันธสัญญาเหล่านี้ เราจะมีพลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าประจักษ์ในชีวิตเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19–22; 109:22–23)
เอ็นดาวเม้นท์
ศาสนพิธีหนึ่งที่เรารับในพระวิหารเรียกว่าเอ็นดาวเม้นท์ คำว่า เอ็นดาวเม้นท์ หมายถึง “ของประทาน” ของประทานแห่งความรู้และพลังอำนาจนี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า ระหว่างเอ็นดาวเม้นท์ เราทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าที่ผูกมัดเรากับพระองค์และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ (ดู บทที่ 1)
ผู้ใหญ่จะมีสิทธิ์รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารของตนหลังจากเป็นสมาชิกศาสนจักรแล้วอย่างน้อยหนึ่งปี ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอ็นดาวเม้นท์ได้จาก คู่มือทั่วไป, 27.2
การแต่งงานนิรันดร์และครอบครัวนิรันดร์
แผนแห่งความสุขของพระผู้เป็นเจ้าทำให้สัมพันธภาพครอบครัวดำเนินต่อไปหลังความตาย ในพระวิหารเราสามารถแต่งงานเพื่อกาลเวลาและนิรันดร ซึ่งจะทำให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันตลอดไป
หลังจากคู่แต่งงานได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนแล้ว พวกเขาจะผนึกหรือแต่งงานเพื่อนิรันดร ลูกๆ จะผนึกกับพวกเขา
สามีภรรยาที่ผนึกในพระวิหารต้องรักษาพันธสัญญาที่พวกเขาทำไว้เพื่อได้รับพรของการแต่งงานนิรันดร์