ฉะนั้นพวกเขาจึงข่มความกลัว
ไม่เหมือนกับความกลัวทางโลกที่สร้างความหวาดผวาและความวิตกกังวล ความยำเกรงพระเจ้าคือบ่อเกิดแห่งสันติสุข ความวางใจ และความเชื่อมั่น
ข้าพเจ้าจำประสบการณ์ในวัยเด็กได้อย่างแจ่มแจ้ง วันหนึ่งขณะกำลังเล่นกับเพื่อนๆ ข้าพเจ้าบังเอิญทำหน้าต่างร้านค้าใกล้บ้านของเราแตก เมื่อกระจกแตกและสัญญาณกันขโมยดังขึ้น ใจและความคิดของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยความกลัวสุดขีด ข้าพเจ้าตระหนักในทันทีว่าจะต้องรับเคราะห์ใช้ชีวิตอยู่ในคุกตลอดไป พ่อแม่ข้าพเจ้าเกลี้ยกล่อมให้ข้าพเจ้าออกมาจากที่ซ่อนใต้เตียงและช่วยข้าพเจ้าชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของร้าน โชคดีที่ข้าพเจ้าไม่ต้องเข้าคุก
ความกลัวที่ข้าพเจ้ารู้สึกในวันนั้นมากเหลือล้นและเป็นเรื่องจริง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกท่านเคยประสบกับความกลัวมากยิ่งกว่านั้นหลังจากรู้เรื่องปัญหาสุขภาพส่วนตัว พบว่าสมาชิกครอบครัวอยู่ในความยากลำบากหรืออยู่ในอันตราย หรือเฝ้าสังเกตเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ของโลก ในกรณีเช่นนั้น ความรู้สึกกลัวเกิดขึ้นเพราะอันตรายที่ใกล้เข้ามา ความไม่แน่นอน หรือความเจ็บปวดและผ่านประสบการณ์ที่ไม่คาดคิด บางครั้งเกิดขึ้นฉับพลันทันที และคงจะเกิดผลในแง่ลบ
ในชีวิตประจำวันของเรา รายงานข่าวอันไม่รู้จบเกี่ยวกับอาชญากรรมรุนแรง ความอดอยาก สงคราม การฉ้อราษฎร์บังหลวง การก่อการร้าย ค่านิยมที่เสื่อมทราม โรคภัยไข้เจ็บ และภัยพิบัติจากธรรมชาติก่อให้เกิดความกลัวและความหวาดหวั่น แน่นอนว่าเราอาศัยอยู่ในฤดูกาลที่พระเจ้าทรงทำนายไว้ว่า “ในวันนั้น … ทั้งแผ่นดินโลกจะอยู่ในความโกลาหล, และใจมนุษย์จะท้อแท้” (คพ. 45:26)
จุดประสงค์ของข้าพเจ้าคือการอธิบายว่าความกลัวจะถูกขจัดออกไปอย่างไรโดยความรู้ที่ถูกต้องและศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนอย่างจริงจังว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงอวยพรเราแต่ละคนขณะที่เราร่วมกันพิจารณาหัวข้อสำคัญนี้
ความกลัวแบบมรรตัย
เมื่อได้ยินพระสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าหลังจากรับส่วนผลไม้ต้องห้าม อาดัมกับเอวาซ่อนตัวอยู่ในสวนเอเดน พระผู้เป็นเจ้าตรัสเรียกอาดัมและถามว่า “เจ้าอยู่ที่ไหน? [และอาดัมตอบว่า] ข้าพระองค์ได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ … ก็กลัว” (ปฐมกาล 3:9–10) น่าสังเกตว่าผลในช่วงแรกที่ตามมาอย่างหนึ่งสืบเนื่องจากการตกคือเพื่ออาดัมและเอวาจะได้รู้สึกกลัว ความรู้สึกอันทรงพลังนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงอยู่แบบมรรตัยของเรา
ตัวอย่างหนึ่งจากพระคัมภีร์มอรมอนเน้นถึงพลังที่ความรู้เรื่องพระเจ้า (ดู2 เปโตร 1:2–8; แอลมา 23: 5–6) ขจัดความกลัวและให้สันติสุขแม้เมื่อเราเผชิญกับความทุกข์ยากใหญ่หลวง
ในแผ่นดินฮีลัม ผู้คนของแอลมาตกใจกลัวกองทัพชาวเลมันที่กำลังรุกเข้ามา
“แต่แอลมาออกไปยืนรวมกลุ่มกับพวกเขา, และเตือนสติมิให้พวกเขาตกใจกลัว, แต่ให้ระลึกถึงพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาและพระองค์จะทรงปลดปล่อยพวกเขา
“ฉะนั้นพวกเขาจึงข่มความกลัว” (โมไซยาห์ 23:27–28)
สังเกตว่าแอลมาไม่ได้ข่มความกลัวของผู้คน แต่แอลมาแนะนำผู้ที่เชื่อให้ระลึกถึงพระเจ้าและการปลดปล่อยที่พระองค์เท่านั้นจะประทานได้ (ดู2 นีไฟ 2:8) และความรู้ที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเฝ้าคุ้มครองดูแลทำให้ผู้คนสามารถข่มความกลัวของตนเองได้
ความรู้ที่ถูกต้องและศรัทธาในพระเจ้าให้พลังเราที่จะข่มความกลัวของเราเพราะพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของสันติสุขอันยั่งยืนเพียงแหล่งเดียว พระองค์ตรัสว่า “จงเรียนรู้จากเรา, และฟังถ้อยคำของเรา; จงเดินด้วยความสุภาพอ่อนน้อมแห่งพระวิญญาณเรา, และเจ้าจะมีสันติสุขในเรา” (คพ. 19:23)
พระอาจารย์ยังทรงอธิบายว่า “คนที่ทำงานแห่งความชอบธรรมจะได้รับรางวัลของเขา, แม้สันติสุขในโลกนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง” (คพ. 59:23)
ความวางใจกับความมั่นใจในพระคริสต์และความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพึ่งพาความดีงาม พระเมตตา และพระคุณของพระองค์นำไปสู่ความหวัง โดยผ่านการชดใช้ของพระองค์ ในการฟื้นคืนพระชนม์และชีวิตนิรันดร์ (ดูโมโรไน 7:41) ศรัทธาและความหวังเช่นนั้นเชื้อเชิญสันติสุขอันหวานชื่นของมโนธรรมเข้ามาสู่ชีวิตเราซึ่งเราทุกคนปรารถนา พลังแห่งการชดใช้ทำให้การกลับใจอยู่ในวิสัยที่ทำได้และระงับความสิ้นหวังที่เกิดจากบาป และยังเสริมสร้างให้เราเห็นสิ่งดี ทำความดี และเป็นคนดีในวิธีที่เราจะไม่มีวันรับรู้หรือทำสำเร็จได้ด้วยความสามารถแบบมรรตัยที่มีขีดจำกัดของเรา โดยแท้แล้ว พรอันประเสริฐอย่างหนึ่งของการเป็นสานุศิษย์ที่อุทิศตนคือ “สันติสุขของพระเจ้าที่เกินความเข้าใจ” (ฟีลิปปี 4:7)
สันติสุขที่พระคริสต์ประทานทำให้เราเข้าใจความเป็นมรรตัยผ่านทัศนคติอันล้ำค่าแห่งนิรันดรและให้ความมั่นคงทางวิญญาณ (ดูโคโลสี 1:23) ซึ่งช่วยให้เรายังคงมุ่งเน้นไปที่จุดหมายบนสวรรค์อย่างมั่นคง ด้วยเหตุนี้ เราจะได้รับพรเพื่อข่มความกลัวของเราเพราะหลักคำสอนของพระองค์ให้จุดประสงค์และแนวทางในทุกแง่มุมของชีวิตเรา ศาสนพิธีและพันธสัญญาของพระองค์เสริมกำลังและปลอบโยนทั้งในยามดีและในยามร้าย สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์ให้การรับรองว่าสิ่งสำคัญที่สุดสามารถยืนยงทั้งในกาลเวลาและในนิรันดร
แต่เราจะข่มความกลัวที่รุมเร้าเราอย่างง่ายดายบ่อยครั้งในโลกปัจจุบันของเราได้หรือไม่ คำตอบที่ชัดเจนคือ ได้ หลักธรรมพื้นฐานสามประการเป็นศูนย์กลางต่อการรับพรนี้ในชีวิตของเรา ได้แก่ (1) พึ่งพาพระคริสต์ (2) สร้างบนรากฐานของพระคริสต์ และ (3) มุ่งหน้าด้วยศรัทธาในพระคริสต์
พึ่งพาพระคริสต์
คำแนะนำที่แอลมาให้แก่ฮีลามันบุตรชายของท่านประยุกต์ใช้กับเราทุกวันนี้โดยตรง “แท้จริงแล้ว, จงดูว่าลูกพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต” (แอลมา 37:47) เราควรพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอดและมีใจจดจ่ออยู่กับพระองค์อย่างมั่นคงแน่วแน่ทุกที่ ทุกเวลา
ลองนึกถึงอัครสาวกของพระเจ้าที่อยู่บนเรือ โคลงเคลงอยู่กลางทะเล พระเยซูเสด็จไปหาพวกเขา ดำเนินอยู่บนน้ำ แต่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้ พวกเขาร้องด้วยความกลัว
“พระเยซูตรัสกับพวกเขาทันทีว่า ทำใจดีดีเถิด นี่เราเอง อย่ากลัวเลย
“เปโตรจึงทูลตอบพระองค์ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าถ้าเป็นพระองค์แน่แล้ว ขอตรัสให้ข้าพระองค์เดินบนน้ำไปหาพระองค์
“พระองค์ตรัสว่า มาเถิด” (มัทธิว 14:27–29)
เปโตรจึงลงจากเรือเดินบนน้ำไปหาพระเยซู
“แต่เมื่อเขาเห็นลมพัดแรงก็กลัว” และเมื่อกำลังจะจมก็ร้องว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ช่วยข้าพระองค์ด้วย
“พระเยซูจึงเอื้อมพระหัตถ์จับเขาไว้ทันที แล้วตรัสว่า ช่างมีความเชื่อน้อย ท่านสงสัยทำไม?” (มัทธิว 14:30–31)
ข้าพเจ้าคิดว่าเปโตรตอบรับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างกระตือรือร้นและโดยฉับพลัน โดยที่สายตาจับจ้องที่พระเยซู เขาก้าวออกจากเรือและเดินบนน้ำอย่างน่าอัศจรรย์ เพียงแต่เมื่อสายตาของเขาเหลือบแลไปทางอื่นเพราะลมและคลื่นเขาจึงเริ่มกลัวและเริ่มจม
เราจะได้รับพรให้เอาชนะความกลัวของเราและเสริมสร้างศรัทธาของเราได้เมื่อเราทำตามคำสอนของพระเจ้า “จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว” (คพ. 6:36)
สร้างบนรากฐานของพระคริสต์
ฮีลามันตักเตือนนีไฟและลีไฮ บุตรชายของท่านว่า “จงจำ, จงจำไว้ว่าบนศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา, ผู้ทรงเป็นพระคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ที่ลูกต้องสร้างรากฐานของลูก; เพื่อเมื่อมารจะส่งลมอันมีกำลังแรงของเขามา, แท้จริงแล้ว, ลูกศรของเขาในลมหมุน, แท้จริงแล้ว, เมื่อลูกเห็บของเขาและพายุอันมีกำลังแรงของเขาทั้งหมดจะกระหน่ำมาบนลูก, มันจะไม่มีพลังเหนือลูกเพื่อลากเอาลูกลงไปสู่ห้วงแห่งความเศร้าหมองและวิบัติอันหาได้สิ้นสุดไม่, เพราะศิลาซึ่งบนนั้นลูกได้รับการสร้างขึ้น, ซึ่งเป็นรากฐานอันแน่นอน, รากฐานซึ่งหากมนุษย์จะสร้างบนนั้นแล้วพวกเขาจะตกไม่ได้” (ฮีลามัน 5:12)
ศาสนพิธีและพันธสัญญาคือชิ้นส่วนตัวต่อที่เราใช้สร้างชีวิตของเราบนรากฐานของพระคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ เราเชื่อมโยงต่อพระผู้ช่วยให้รอดและกับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างแน่นแฟ้นเมื่อเรารับศาสนพิธีและเข้าสู่พันธสัญญาอย่างมีค่าควร ระลึกถึงและให้เกียรติคำมั่นสัญญาศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นอย่างซื่อสัตย์ และทำสุดความสามารถในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับพันธะที่เรายอมรับ และข้อผูกมัดนั้นคือบ่อเกิดของความเข้มแข็งและความมั่นคงทางวิญญาณในทุกฤดูกาลของชีวิตเรา
เราจะได้รับพรเพื่อข่มความกลัวของเราเมื่อเราสร้างความปรารถนาและการกระทำของเราบนรากฐานที่แน่นอนของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านทางศาสนพิธีและพันธสัญญา
มุ่งหน้าด้วยศรัทธาในพระคริสต์
นีไฟประกาศว่า “ดังนั้น, ท่านต้องมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง. ดังนั้น, หากท่านจะมุ่งหน้า, ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว, ดูเถิด, พระบิดาตรัสดังนี้: เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31:20)
ความอดทนอันเป็นวินัยที่อธิบายไว้ในข้อนี้คือผลจากความเข้าใจและวิสัยทัศน์ทางวิญญาณ การยืนหยัด ความอดทน และพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า การใช้ศรัทธาในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์และการใช้ศรัทธาผ่านทางพระองค์ การยินยอมตามพระประสงค์ของพระองค์และตามเวลาในชีวิตเราอย่างสุภาพอ่อนน้อม และการรับรู้ถึงพระหัตถ์ของพระองค์ในทุกสิ่ง ก่อให้เกิดสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุขของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าที่นำมาซึ่งปีติและชีวิตนิรันดร์ (ดูคพ. 42:61) แม้เราเผชิญกับความยากลำบากและความไม่แน่นอนของอนาคต แต่เราสามารถเบิกบานในความมานะบากบั่นและดำเนินชีวิต “อย่างสงบและมีสันติในทางพระเจ้า และเป็นที่นับถือ” (1 ทิโมธี 2:2)
เราจะได้รับพรเพื่อข่มความกลัวของเราเมื่อเราได้รับพลังที่มาจากการเรียนรู้ การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ และมุ่งหน้าอย่างเด็ดเดี่ยวบนเส้นทางแห่งพันธสัญญา
ความยำเกรงพระเจ้า
ความกลัวที่แตกต่างแต่เกี่ยวข้องกับความกลัวที่เรารู้สึกบ่อยครั้ง ในพระคัมภีร์อธิบายว่าเป็น “ความยำเกรง (พระเจ้า)” (ฮีบรู 12:28) หรือ “ความยำเกรงพระยาห์เวห์” (โยบ 28:28; สุภาษิต 16:6; อิสยาห์ 11:2–3) ไม่เหมือนกับความกลัวทางโลกที่สร้างความหวาดผวาและความวิตกกังวล ความยำเกรงพระเจ้าคือบ่อเกิดแห่งสันติสุข ความวางใจ และความเชื่อมั่น
แต่สิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความกลัวจะจรรโลงใจหรือเป็นประโยชน์ทางวิญญาณได้อย่างไร
ความกลัวอันชอบธรรมที่ข้าพเจ้าพยายามอธิบายหมายรวมถึงความคารวะ ความเคารพ และความเกรงขามพระเจ้าพระเยซูคริสต์อย่างลึกซึ้ง (สดุดี 33:8; 96:4) การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ (ดูเฉลยธรรมบัญญัติ 5:29; 8:6; 10:12; 13:4; สดุดี 112:1) และการมุ่งหวังรอคอยการพิพากษาครั้งสุดท้ายและความยุติธรรมที่พระหัตถ์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ความยำเกรงพระเจ้าจึงเติบโตจากความเข้าใจที่ถูกต้องของพระลักษณะแห่งสวรรค์และพระพันธกิจของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ความเต็มใจที่เรายินยอมต่อพระประสงค์ของพระองค์ และความรู้ที่ว่าชายหญิงทุกคนจะรับผิดชอบต่อบาปของตนเองในวันแห่งการพิพากษา (ดูคพ. 101:78; หลักแห่งความเชื่อ 1:2)
พระคัมภีร์สอนว่า ความยำเกรงพระเจ้า “เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้” (สุภาษิต 1:7) “สอนให้เกิดปัญญา” (สุภาษิต 15:33) “มีสวัสดิภาพ” (สุภาษิต 14:26) และ “เป็นน้ำพุแห่งชีวิต” (สุภาษิต 14:27)
ขอให้สังเกตว่าความยำเกรงพระเจ้าเชื่อมโยงอย่างแยกกันไม่ได้กับความเข้าใจในการพิพากษาครั้งสุดท้ายและความรับผิดชอบส่วนตัวสำหรับความปรารถนา ความคิด คำพูด และการกระทำของเรา (ดูโมไซยาห์ 4:30) ความยำเกรงพระเจ้าไม่ใช่ความหวาดวิตกแบบฝืนใจกับการเข้ามาในที่ประทับของพระองค์เพื่อรับการพิพากษา ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลยว่าเราจะกลัวพระองค์ แต่คือความคิดที่ว่าเราจะอยู่ในที่ประทับของพระองค์เพื่อเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นความจริงแท้แน่นอนเกี่ยวกับตัวเราและมี “ความรู้อันสมบูรณ์” (2 นีไฟ 9:14; ดูแอลมา 11:43ด้วย) ของการแก้ตัว การเสแสร้ง และการหลอกตนเองของเราทั้งหมด สุดท้ายแล้วเราจะตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีข้ออ้าง
ทุกคนที่เคยอาศัยอยู่หรือกำลังจะอาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก “จะ [ถูก] นำไปยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์พิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า, เพื่อรับการพิพากษาจากพระองค์ตามงานของ [เขาหรือเธอ] ไม่ว่าดีหรือชั่ว” (โมไซยาห์ 16:10) ถ้าเราปรารถนาความชอบธรรมและงานของเราดี บัลลังก์พิพากษาจะเป็นประสบการณ์ที่น่ายินดี (ดูเจคอบ 6:13; อีนัส 1:27; โมโรไน 10:34) และในวันสุดท้ายเราจะ “ได้รางวัลอันไปสู่ความชอบธรรม” (แอลมา 41:6)
ในทางกลับกัน ถ้าเราปรารถนาความชั่วและงานของเราชั่วร้าย บัลลังก์พิพากษาก็จะทำให้เราหวาดกลัว “เราจะไม่กล้าเงยหน้าดูพระผู้เป็นเจ้าของเรา; และเราจะค่อนข้างยินดีหากเราสั่งก้อนหินและภูเขาให้ตกลงมาทับเราได้เพื่อปิดบังเราจากที่ประทับของพระองค์” (แอลมา 12:14) และในวันสุดท้ายเราจะ “ได้รางวัลแห่งความชั่ว” (แอลมา 41:5)
ดังที่สรุปไว้ในหนังสือปัญญาจารย์
“จงยำเกรงพระเจ้า และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เพราะสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทั้งปวง
“เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเอาการงานทุกอย่างเข้าสู่การพิพากษาพร้อมด้วยสิ่งเร้นลับทุกอย่าง ไม่ว่าดีหรือชั่ว” (ปัญญาจารย์ 12:13–14)
พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า ความยำเกรงพระเจ้าขจัดความกลัวแบบมรรตัย แม้ข่มความวิตกกังวลใจที่ว่าเราจะไม่มีวันดีพอทางวิญญาณและจะไม่มีวันบรรลุข้อเรียกร้องและความคาดหวังของพระเจ้าได้ ในความเป็นจริง เราไม่สามารถดีพอหรือบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่เราต้องการโดยอาศัยความสามารถและผลงานของเราเพียงอย่างเดียว งานและความปรารถนาของเราเพียงเท่านั้นช่วยเราไม่ได้และไม่สามารถช่วยเราได้ “หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” (2 นีไฟ 25:23) เราจะบริสุทธิ์โดยผ่านพระเมตตาและพระคุณจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้อันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ของพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น (ดูแอลมา 34:10, 14) แน่นอน “เราเชื่อว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์, มนุษยชาติทั้งมวลจะรอดได้, โดยการเชื่อฟังกฎและศาสนพิธีทั้งหลายของพระกิตติคุณ” (หลักแห่งความเชื่อข้อ 3)
ความยำเกรงพระเจ้าคือรักและวางใจพระองค์ เมื่อเรายำเกรงพระผู้เป็นเจ้าอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น เรารักพระองค์อย่างบริบูรณ์ยิ่งขึ้น และ “ความรักที่บริบูรณ์ย่อมขับความกลัวออกไปสิ้น” (โมโรไน 8:16) ข้าพเจ้าสัญญาว่าแสงสว่างอันเจิดจ้าแห่งความยำเกรงพระเจ้าจะขับไล่เงามืดแห่งความกลัวแบบมรรตัยออกไป (ดูคพ. 50:25) เมื่อเราพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอด สร้างรากฐานของเราบนพระองค์ และมุ่งหน้าบนเส้นทางแห่งพันธสัญญาของพระองค์ด้วยคำมั่นสัญญาที่อุทิศถวาย
ประจักษ์พยานและสัญญา
ข้าพเจ้ารักและเคารพพระเจ้า เดชานุภาพและสันติสุขของพระองค์มีอยู่จริง พระองค์คือพระผู้ไถ่ของเรา ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และเพราะพระองค์ ใจของเราไม่ต้องเป็นทุกข์หรือกลัว (ดูยอห์น 14:27) เราจะได้รับพรเพื่อข่มความกลัวของเรา ข้าพเจ้าเป็นพยานในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ขององค์พระเจ้าพระเยซูคริสต์ เอเมน