2015
การถามคำถามที่เหมาะสมในวิธีที่เหมาะสม
ธันวาคม 2015


การถาม คำถาม ที่เหมาะสม ในวิธีที่เหมาะสม

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

การฝึกเตรียมคำถาม ตั้งคำถาม ถามคำถาม และตอบคำถามจะส่งผลทั่วทุกด้านต่อวิธีที่ท่านเรียนและสอนพระกิตติคุณ

ภาพ
People standing in the shape of a question mark.

ภาพโดย lDigitalstorm/iStock/Thinkstock

มีหลายอย่างที่สามารถพูดถึงเพื่อสร้างบทเรียนที่ดีเยี่ยมหรือการสนทนาที่ดีเยี่ยมในครอบครัว กิจกรรม การศึกษาในใจ และการทำงานกลุ่มเป็นเครื่องมือสองสามอย่างที่ครูสอนพระกิตติคุณ—ไม่ว่าจะเป็นครูที่มีการเรียกอย่างเป็นทางการ ครูอาสาของเซมินารีหรือสถาบัน หรือบิดามารดา—จะใช้ยกระดับการสอนของพวกเขาได้

แต่หนึ่งในทักษะที่จำเป็นสองสามอันดับต้นๆ ที่ครูทุกคนควรมีคือความสามารถในการทำงานกับคำถามได้ดี ทั้งการตั้งคำถาม ถามคำถาม และได้คำตอบที่มีความหมาย ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “การถามคำถามและการตอบคำถามเป็นหัวใจของการเรียนรู้ทั้งหมดและการสอนทั้งหมด”1 การจะเป็นครูที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีทักษะนี้ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำห้าประการสำหรับทำเช่นนั้น

พยายามให้ได้คำตอบที่มีประสิทธิผลมากที่สุด

การนั่งเรียนในชั้นและฟังคำถามที่ดีเตือนเราให้นึกถึงพลังของการสอนที่ดีเยี่ยม แต่วิธีตั้งคำถามที่มีประสิทธิภาพและถามคำถามนั้นเป็นเรื่องน่าสับสนและอาจทำให้ครูหลายคนหนักใจ โชคดีที่เป็นทักษะที่ครูทุกคนเรียนรู้ได้

เมื่อท่านตั้งคำถาม ให้พยายามกำหนดรูปแบบคำตอบที่คำถามจะดึงออกมา คำถามบางข้อต้องการคำตอบที่เจาะจง—คำตอบที่ถูกต้องตรงตามคำถามที่ถาม คำถามเหล่านั้นใช้ได้ดีในวิชาคณิตศาสตร์ (“สี่เหลี่ยมรูปนี้มีพื้นที่เท่าไร”) หรือในวิชาวิทยาศาสตร์ (“น้ำเดือดที่อุณหภูมิเท่าใด”) เพราะมีเพียงคำตอบเดียวที่ถูกต้อง อีกทั้งใช้ในการศึกษาพระกิตติคุณเช่นกัน เป็นวิธีได้ข้อเท็จจริงเพื่อเริ่มการสนทนาแต่ก็กระตุ้นการสนทนาเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ครูใช้คำถามแบบนี้มากที่สุดเพราะเตรียมง่าย

เราถามอย่างเช่น “ครั้งที่แล้วเราศึกษาเรื่องอะไร” หรือ “ช่วยบอกชื่อของ … ” คำถามเหล่านี้มักทำให้คนที่ท่านสอนไม่กล้าตอบ พวกเขาคิดว่ารู้คำตอบแต่ไม่แน่ใจและด้วยเหตุนี้จึงไม่กล้าเดา ครูมักจะถือเอาความเงียบนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคำถามนั้นยากเกินไป ทั้งที่ความเป็นจริงคำถามธรรมดามากเกินกว่าจะกระตุ้นสิ่งที่มีความหมายจากผู้เรียนมากกว่าคำตอบแบบรวดเร็วทันใจ

เพื่อให้เกิดการสนทนาในห้องเรียน คำถามที่เป็นประโยชน์มากกว่านั้นคือคำถามที่เชื้อเชิญให้คิดหาคำตอบหลายๆ คำตอบ เมื่อท่านถามคำถามแบบนี้ ท่านจะทราบว่าคนที่ท่านถามกำลังคิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นหรือพวกเขากำลังสับสนเรื่องอะไรระหว่างการสนทนาของท่าน ตัวอย่างเช่น โมโรไนบทที่ 1 มีสี่ข้อ แต่ละข้อเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้ง จะเกิดอะไรขึ้นถ้าท่านอ่านทั้งสี่ข้อกับคนที่ท่านกำลังสอนแล้วถามว่า “ข้อใดทำให้เกิดความรู้สึกลึกซึ้งที่สุดในใจท่าน” ให้เวลาพวกเขาหนึ่งนาทีเพื่อเริ่มพูดคุย เนื่องจากท่านไม่ได้ขอคำตอบที่เจาะจง แทบทุกอย่างที่พวกเขาพูดจึงใช้ได้ ผมเคยใช้บทนั้นกับคำถามนั้นและได้รับคำตอบเหลือเชื่อบางอย่างอันก่อให้เกิดการสนทนาที่ลึกซึ้ง

คำถามในรูปแบบเช่นนั้นเชื้อเชิญให้คิดและรู้สึกตรงข้ามกับคำถามที่เรียกร้องให้นึกถึงบางสิ่งหรือบอกข้อเท็จจริงบางอย่าง การนึกถึงสามารถพูดถึงช่วงเวลาและสถานที่ แต่ครูสามารถพูดได้มากในสิ่งที่ต้องการให้นึกถึง อาทิ “จำได้ว่าครั้งสุดท้ายเราคุยกันเกี่ยวกับ โมโรไน 1 และแต่ละข้อมีบทเรียนอันทรงพลังบางอย่าง … ” ผมพูดเพียงเท่านั้นก็กระตุ้นให้คิดแล้วและผู้เรียนจะกระโดดเข้าร่วมวงสนทนา แต่ถ้าผมพูดว่า “ครั้งที่แล้วเราพูดกันเรื่องอะไร” นักเรียนมักจะตอบสนองด้วยความเงียบและการยักไหล่

ถามคำถามที่สอง

ภาพ
Dominoes arranged in the shape of a question mark. A finger is about to push over the first domino.

ภาพ © iStock/Thinkstock

คำถามทั่วไปที่ครูสอนพระกิตติคุณใช้คือรูปแบบต่างๆ ของคำถามนี้ “ศรัทธาในชีวิตท่านสำคัญเพียงใด” แวบแรกฟังเหมือนเป็นคำถามที่มีความหมาย แต่ถ้าท่านตรึกตรองคำถามนี้ มีเพียงคำตอบเดียวเท่านั้นคือ “สำคัญมาก” แน่นอนว่าศรัทธา (และหลักธรรมพระกิตติคุณทุกข้อ) สำคัญมาก แต่คำถามรูปแบบนั้นโดยปกติไม่ได้ผลเพราะท่านยังต้องถามคำถามเพิ่มเติม ซึ่งเป็นคำถามทำนองนี้ “เหตุใดจึงสำคัญมาก” หรือ “ท่านจะยกตัวอย่างเมื่อศรัทธาสำคัญในชีวิตท่านได้ไหม” คำถามเหล่านั้นสามารถเริ่มการสนทนาที่ดีในชั้นเรียน จงไปที่คำถามเหล่านั้นเลยและข้ามคำถามแรก การถามคำถามที่สองก่อนจะประหยัดเวลาและทำให้การสนทนาดีขึ้นเรื่อยๆ

เขียนคำถามของท่านล่วงหน้า

การทำสองสิ่งต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์มากขณะที่ท่านเตรียมบทเรียน หนึ่ง เขียนคำถามออกมา อย่าเพียงแต่คิด ให้เขียน เลือกใช้คำอย่างระมัดระวังและอ่านทวนสองสามรอบเพื่อให้แน่ใจว่าคำถามถามสิ่งที่ท่านต้องการถามได้อย่างชัดเจน

สอง ถามตัวท่านเองว่า คนที่ฉันสอนจะทำอะไรเมื่อฉันถามคำถามนั้น มีหลายครั้งที่ผมคิดว่าผมเขียนคำถามไว้ดีมาก จากนั้นก็พูดออกเสียง และขณะนึกภาพชั้นเรียน ผมรู้ว่าจะไม่บรรลุผลตามคาด คำถามอาจใช้ได้สำหรับชั้นเรียนอื่น แต่สำหรับชั้นเรียนของผม ผมรู้ว่าจะไม่ได้ผล ผมจึงเริ่มใหม่ ผมรู้ว่าถ้าผมมีคำถามสองสามข้อที่คิดออกมาดีและเขียนไว้ดีแล้วในแผนบทเรียน ผมจะเริ่มการสนทนาได้ คำถามอื่นจะตามมาเอง แต่ผมต้องมีจุดเริ่มต้นที่ขัดเกลาอย่างดี

เทคนิคนี้ใช้ได้ผลที่บ้านเช่นกัน ดูเหมือนเราจะมีการสนทนาพระกิตติคุณเกิดขึ้นมากมายในบ้านของผมเมื่อคำถามและคำตอบหลั่งไหลมา แต่มีหลายครั้งที่บางเรื่องจริงจังและตรงไปตรงมามากเกินกว่าจะพูดกับเด็กบางคน ในกรณีเหล่านั้นผมเรียนรู้ว่าถ้าผมเตรียมคำถามที่เจาะจง ฝึกถามคำถาม และใช้ตามสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ทุกอย่างจะดีขึ้นมาก คำถามเหล่านั้นไม่ได้เขียนไว้บนกระดาษแต่เขียนไว้ในใจผม และผมสามารถใช้ได้ตามต้องการ

อย่ากลัวความเงียบ

ภาพ
Illustration depicting a pencil drawing a speech bubble.

ภาพ © iStock/Thinkstock

ถ้าท่านตั้งคำถามที่ดีจริง คำถามที่ทำให้คิดและให้ตอบหลายระดับ ท่านอย่าประหลาดใจถ้านักเรียนใช้เวลาสองสามวินาทีเพื่อคิดหาคำตอบ อาจจะมีความเงียบ แต่อย่าตกใจ คำถามที่ไม่ลึกซึ้ง—คำถามที่ต้องการเฉพาะคำตอบใดคำตอบหนึ่ง (อาทิ “หลักแห่งความเชื่อมีกี่ข้อ”)—ได้คำตอบเร็ว คำถามที่ลึกซึ้ง—คำถามที่ต้องการให้ตอบ—มักต้องใช้เวลาใคร่ครวญในความคิดของผู้เรียน ในกรณีนี้ ความเงียบคือเพื่อนของท่าน จงปล่อยให้ความเงียบเกิดขึ้น และเมื่อคนที่ท่านกำลังสอนเริ่มตอบ ท่านจะประหลาดใจระคนพอใจกับสิ่งที่พวกเขาพูดออกมา

ถามคำถามเกี่ยวกับพระคัมภีร์

ถ้าท่านต้องการยกระดับความสามารถของท่านจริงๆ ในการตั้งคำถามที่มีประสิทธิภาพและถามคำถามเหล่านั้น ท่านต้องฝึกถามคำถามหลายๆ ข้อเกี่ยวกับพระคัมภีร์ระหว่างที่ท่านศึกษาและเตรียม

การอ่านพระคัมภีร์รูปแบบหนึ่งคืออ่านเพื่อให้ได้รับการเปิดเผยส่วนตัว เราอ่านบทและข้อเพื่อชื่นชมความสวยงามที่พบในนั้นและได้รับการสอนด้วยหลักคำสอนและความจริง อีกวิธีซึ่งได้ผลดีกว่าสำหรับบิดามารดาหรือครูขณะเตรียมบทเรียนคือ อ่านพระคัมภีร์และสำรวจพระคัมภีร์โดยใช้คำถาม ผมทำเช่นนี้เพื่อกระตุ้นให้คิดขณะพยายามตัดสินใจว่าวิธีใดจะช่วยคนที่ผมสอนให้เข้าใจพระคัมภีร์ได้ดีที่สุด ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง: หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10 มีประโยคหนึ่งที่รู้จักกันดีและยกระดับวิญญาณของเรา “จำไว้ว่าค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า” ผมชอบความคิดนั้น แต่ถ้าสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างเดียว นั่นจะไม่เป็นประโยชน์ในชั้นเรียน

จะเป็นอย่างไรถ้าผมไตร่ตรองคำถามนี้ขณะศึกษาและเตรียม “ฉะนั้นค่าของจิตวิญญาณคืออะไร ผมรู้ว่ายิ่งใหญ่ แต่เราจะเพิ่มค่าของจิตวิญญาณได้ไหม” คืนหนึ่งขณะรับประทานอาหารค่ำ ลูกสาวคนหนึ่งของผมถามคำถามนั้น และนั่นกระตุ้นการสนทนาอย่างมาก เรามาจบตรงนี้ นั่นคือ ค่าของจิตวิญญาณคือสิ่งที่บางคนจะจ่ายให้ และพระบิดาของเราทรงจ่ายอะไรให้จิตวิญญาณของเรา พระองค์ทรงจ่ายด้วยพระโลหิตของพระบุตรที่ดีพร้อมของพระองค์ นั่นทำให้แต่ละจิตวิญญาณมีค่าเกินบรรยาย เราคงจะไม่ได้ข้อสรุปเช่นนั้นถ้าเราไม่ถามคำถามให้ตรงกับเนื้อหาของข้อนั้น

การสนทนาที่โต๊ะอาหารค่ำวันนั้นปรับใช้ได้ในสภาวะแวดล้อมอื่นของการสอน ถ้าท่านต้องการถามคำถามคนที่ท่านสอนได้ดีขึ้น ให้ถามคำถามจริงๆ เกี่ยวกับพระคัมภีร์ขณะที่ท่านอ่าน ศึกษา และเตรียม จงเต็มไปด้วยความสนใจใคร่รู้และอย่ากลัวการค้นหาคำตอบ พระคัมภีร์จะเป็นจริงเสมอแม้เมื่อท่านค้นคว้าอย่างถี่ถ้วน ยิ่งท่านถามคำถามเกี่ยวกับพระคัมภีร์เก่งเพียงใดขณะที่ท่านศึกษา ท่านจะยิ่งถามคำถามเดิมๆ ที่ดีมากเหล่านั้นกับคนที่ท่านสอนได้ดีเพียงนั้น

พัฒนาความสามารถในการสอนของท่านต่อไป

เมื่อมองดูครูที่ยิ่งใหญ่เรามักจะคิดว่าพวกเขาเกิดมาแบบนั้น ดูเหมือนพวกเขาจะมีของประทานที่คนทั่วไปได้มายาก แน่นอนว่า ความสามารถในการสอนเป็นของประทานอย่างหนึ่งในบรรดาของประทานแห่งพระวิญญาณ (ดู โมโรไน 10:9-10) ด้วยเหตุนี้ทักษะบางอย่างที่ท่านมองเห็นจึงอาจเป็นของประทานจากสวรรค์—แต่ของประทานนั้นมีให้ทุกคนที่แสวงหา ส่วนมากสิ่งที่ครูส่วนใหญ่ทำมีผลต่อท่านผ่านการศึกษาและการปฏิบัติ การฝึกถามคำถามที่มีประสิทธิภาพเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ขณะท่านแสวงหาความสามารถในการทำเช่นนั้นร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านจะพบว่ามีประโยชน์มากในการตั้งคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนคิด และความสามารถของท่านในการทำเช่นนั้นจะเพิ่มขึ้น

อ้างอิง

  1. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “The Lord Will Multiply the Harvest” (satellite broadcast address to religious educators in the Church Educational System, Feb. 6, 1998), 5–6.

พิมพ์