2015
โจเซฟ สมิธและหนังสือวิวรณ์
ธันวาคม 2015


โจเซฟ สมิธ และหนังสือวิวรณ์

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธช่วยเผยความลี้ลับบางประการเกี่ยวกับหนังสือวิวรณ์และแสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของหนังสือนี้กับสมัยของเรา

ภาพ
Product Shot from December 2015 Liahona
ภาพ
Actor - Movie still from "Joseph Smith; Prophet of the Restoration"

ถ่ายภาพประกอบโดย คริสตินา สมิธ; ยอห์นบนเกาะปัทมอส โดย มาร์ สไตเนอร์ © Providence Collection

หนังสือวิวรณ์เขียนไว้ในคริสตศักราชแรก แต่เป็นหนังสือลำดับสุดท้ายของพันธสัญญาใหม่ที่ยอมรับกันว่าเป็นพระคัมภีร์ นักวิชาการชาวคริสต์บางคนในศตวรรษต่อๆ มาสงสัยเกี่ยวกับคนเขียนหนังสือวิวรณ์ คัดค้านหลักคำสอนบางอย่างในนั้น (อาทิ คำสอนเรื่องมิลเลเนียมหรือคำสอนที่ว่าผู้คนจะได้รับการพิพากษาตามงานของพวกเขา) และพบว่าการพาดพิงถึงพันธสัญญาเดิมและคำบรรยายเกี่ยวกับนิมิตต่างๆ แปลกประหลาดมากและแตกต่างมากจากงานเขียนอื่นๆ ของพันธสัญญาใหม่

แต่ข้อเท็จจริงบางประการที่ไม่อาจหักล้างได้ทำให้หนังสือดังกล่าวเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป อย่างเช่น นักเขียนชาวคริสต์สมัยแรกสุดหลายคนกล่าวถึงหนังสือวิวรณ์ ซึ่งน่าจะเขียนโดยอัครสาวกยอห์น และงานเขียนของพวกเขาอ้างอิงจากหนังสือนี้อย่างกว้างขวางและเห็นชอบด้วย หนังสืออีกหลายเล่มที่ยอมรับว่าเป็นพระคัมภีร์ไม่สามารถอ้างหลักฐานเช่นนั้นได้

ราวต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟู หนังสือวิวรณ์รวมอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลแทบทุกฉบับและอ่านกันอย่างกว้างขวาง ภาพนิมิตของยอห์นจุดประกายความคิดของผู้คนและส่งผลให้เกิดการตีความไปต่างๆ นานา อย่างเช่นที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

ในฐานะศาสดาพยากรณ์ของสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา โจเซฟ สมิธอยู่ในจุดที่ต้องเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือวิวรณ์และช่วยลดความน่ากลัวที่จะอ่านและทำความเข้าใจ โจเซฟทำเช่นนี้อย่างน้อยสองวิธี ได้แก่ (1) ท่านอธิบายหนังสือวิวรณ์บางส่วนและขยายบริบททั้งหมดของหนังสือ และ (2) ท่านทำให้หนังสือนั้นลี้ลับน้อยลง

อธิบายและขยายความ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการให้คำอธิบายหนังสือวิวรณ์ของโจเซฟ สมิธ อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 77 การเปิดเผยนี้ได้รับเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1832 ประกอบด้วยคำถามและคำตอบเกี่ยวกับบางข้อในวิวรณ์บทที่ 4-11 ท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวว่าคำอธิบายนี้เปิดเผยต่อท่านขณะท่านทำงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ (ดู คพ. 77, คำนำภาค)

คำถามค่อนข้างตรงไปตรงมา โดยคำถามหลักคือ “นี่หมายความว่าอะไร” และ “เมื่อใดสิ่งนี้จะเกิดขึ้น” คำตอบตรงไปตรงมาเช่นกัน แม้จะไม่ละเอียดลออทุกครั้ง คำตอบที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธแสวงหาและได้รับต่างหักล้างการคาดเดาสารพัดและส่วนมากช่วยให้เราเห็นว่านิมิตของยอห์นเกี่ยวข้องกับงานยุคสุดท้ายอย่างไร

ตัวอย่างเช่น การเปิดเผยนี้ช่วยให้เราเห็นว่าตราเจ็ดดวงในหนังสือที่ยอห์นพูดถึงโดยเริ่มตั้งแต่บทที่ 5 ของหนังสือวิวรณ์เป็นตัวแทนของช่วงเวลาสำคัญเจ็ดช่วงในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินโลกและสองช่วงชุดท้ายคือช่วงที่เกี่ยวกับสมัยของเราและหลังจากนั้น (ดู คพ. 77:6-7) ช่วยให้เราเห็นว่าเหตุใดนิมิตของยอห์นจึงใช้เวลากับตราดวงที่หกและตราที่เจ็ดมากกว่า จากนั้นการเปิดเผยของโจเซฟ สมิธอธิบายต่อไปว่าบุคคลสำคัญบางคนในตราดวงที่หก (เทพสี่องค์และผู้รับใช้ 144,000 คนได้รับการประทับตราจากเผ่าอิสราเอล) เกี่ยวข้องอย่างไรกับงานแห่งการฟื้นฟูและการรวมในยุคสุดท้าย (ดู คพ. 77:9-11)

แน่นอนว่าการเปิดเผยที่เป็นคำอธิบายนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธช่วยให้เราเข้าใจหนังสือวิวรณ์จากการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของท่านเท่านั้น ขณะทำงาน บางครั้งท่านได้รับการดลใจเพียงเพื่อทำให้ข้อความชัดเจนขึ้น1 แต่ท่านได้รับการดลใจบ่อยครั้งเช่นกันให้เพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความให้เชื่อมโยงกับพระคัมภีร์ข้ออื่นทั้งนี้เพื่อจะเสริมกัน2 งานส่วนหนึ่งของโจเซฟ สมิธกับพระคัมภีร์ไบเบิลดูเหมือนจะถักทอเส้นด้ายเหล่านี้ที่สอดแทรกอยู่ระหว่างพระคัมภีร์เล่มต่างๆ ให้เป็นพรมผืนเดียวของคำสอนตลอดจนคำพยากรณ์ และหนังสือวิวรณ์ไม่มีข้อยกเว้น

ภาพ
John writing on s scroll about the second coming of Christ.

ส่วนหนึ่งจากภาพ The Revelation of St. John the Divine โดย พอล มานน์; ส่วนหนึ่งจากภาพ Christ of the Cornfield โดย โธมัส ฟรานซิส ดิคซี

นอกจากนี้ โดยผ่านการเปิดเผยและการแปลอื่นๆ โจเซฟ สมิธยังได้ขยายบริบทของหนังสือวิวรณ์ด้วยโดยแสดงให้เห็นว่าหนังสือนี้เป็นไปตามรูปแบบของนิมิตอันต่อเนื่องที่ประทานแก่ศาสดาพยากรณ์หลายท่านตลอดหลายยุคหลายสมัย ในพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า เราเรียนรู้ว่านีไฟ พี่ชายของเจเร็ด โมเสส และเอโนคล้วนมีนิมิตคล้ายกันโดยแสดงให้เห็นกระแสประวัติศาสตร์มนุษย์ รวมทั้งจุดจบของโลก เราเรียนรู้เช่นกันว่าถึงแม้ศาสดาพยากรณ์เหล่านี้จะเห็นจุดจบของโลก แต่พวกท่านถูกห้ามแบ่งปันกับโลกเพราะยอห์นได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้เขียน (ดู 1 นีไฟ 14:25-26) ดังนั้น พระคัมภีร์มอรมอนที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธนำออกมาจึงสอนเราว่าเราจะมีคำอธิบายของยอห์นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์และนี่เป็นเรื่องที่เราควรศึกษา

เพราะความรู้เพิ่มเติมเช่นที่เปิดเผยผ่านโจเซฟ สมิธ เราจึงสามารถเห็นสาระสำคัญครอบคลุมวิวรณ์ได้ดีขึ้น นั่นคือ “จะมีชัยชนะในที่สุดบนโลกนี้ของพระผู้เป็นเจ้าเหนือมาร ชัยชนะถาวรของความดีเหนือความชั่ว ของวิสุทธิชนเหนือผู้ข่มเหงพวกเขา ของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเหนืออาณาจักรของมนุษย์และของซาตาน … ชัยชนะ [จะ] เกิดขึ้นผ่านพระเยซูคริสต์”3 นอกจากนี้โจเซฟ สมิธยังได้เน้นว่าข่าวสารของวิวรณ์มีศูนย์กลางอยู่ที่พระเยซูคริสต์อันเป็นจุดศูนย์รวมความหวังของเรา และสอนเราว่าโดยการซื่อสัตย์ต่อพระองค์และงานของพระองค์ในยุคสุดท้าย เราสามารถเอาชนะโลกได้

ทำให้ลี้ลับน้อยลง

ในการประชุมใหญ่ของศาสนจักรเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1843 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า “หนังสือวิวรณ์เป็นหนึ่งในหนังสือเรียบง่ายที่สุดเล่มหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้เขียน”4 คำกล่าวนี้อาจทำให้ผู้ฟังตกใจเพราะขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับประสบการณ์ของพวกเขา ถ้าเช่นนั้นท่านศาสดาพยากรณ์หมายความว่าอย่างไร

แม้โจเซฟ สมิธไม่ได้ไขความลี้ลับบางประการของหนังสือวิวรณ์ แต่ในคำปราศรัยครั้งนี้ดูเหมือนท่านจะมุ่งไปที่การทำให้ลี้ลับน้อยลง ท่านทำเช่นนี้โดยแสดงให้เห็นว่าภาพกำกวมของหนังสือไม่กำกวมอย่างที่เราคิดเสมอไป และภาพที่เข้าใจยากในพระคัมภีร์ไม่จำเป็นต้องมีความสำคัญหรือมีความหมายมากขึ้นสำหรับเรา

ตัวอย่างเช่น ที่อื่นในคำปราศรัย โจเซฟ สมิธแสดงให้เห็นว่าการอ่านหนังสือวิวรณ์อย่างละเอียดสามารถวางขีดจำกัดให้การตีความได้ ท่านชี้ให้เห็นว่าสามบทแรกของหนังสือเกี่ยวข้องกับสมัยของยอห์น และ “สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้” (วิวรณ์ 1:1) และบทที่เหลือเกี่ยวข้องกับ “สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้” (วิวรณ์ 4:1) หรือเลยสมัยของยอห์น5 โดยให้ขีดจำกัดบางอย่างแก่การประยุกต์ใช้จินตภาพในส่วนเหล่านี้ของหนังสือ กรอบเวลาเหล่านี้จึงทำให้ส่วนดังกล่าวลี้ลับน้อยลง

นอกจากนี้ โจเซฟ สมิธยังสอนว่าบางครั้งสัตว์เป็นเพียงสัตว์ ท่านอธิบายว่าเมื่อยอห์นกล่าวว่าเขาเห็นสัตว์ในสวรรค์ (ดู วิวรณ์ 4:6) สิ่งที่เขาเห็นจริงๆ คือ … สัตว์ในสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดาพยากรณ์จึงแสดงให้เห็นว่าคำอธิบายบางส่วนของยอห์นเกี่ยวกับนิมิตของเขาเป็นไปตามตัวอักษร ขณะที่อีกหลายส่วนเป็นการเปรียบเทียบ6 ท่านอธิบายหลักธรรมเกี่ยวกับภาพพจน์เหล่านี้ว่า

“เมื่อใดก็ตามที่พระผู้เป็นเจ้าประทานนิมิตของภาพ หรือสัตว์ หรือตัวเลขใดก็ตาม พระองค์ทรงถือเสมอว่าพระองค์ทรงมีหน้าที่ให้การเปิดเผยหรือการตีความตามความหมายของนิมิตนั้น อีกประการหนึ่ง เราไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบต่อความเชื่อของเราในนิมิตนั้น อย่ากลัวถูกตำหนิเพราะไม่รู้ความหมายของนิมิตหรือตัวเลขถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ประทานการเปิดเผยหรือการตีความของเรื่องนั้น”7

การรู้ความหมายของนิมิตที่ลี้ลับทุกรายละเอียดไม่ใช่เรื่องสำคัญในการศึกษาพระคัมภีร์ของเรา ความลี้ลับในภาษาเปรียบเทียบของเหล่าศาสดาพยากรณ์ไม่เหมือนกับความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประทานแก่บุคคลที่ “กลับใจและใช้ศรัทธา, และนำงานดีออกมา, และสวดอ้อนวอนอย่างสม่ำเสมอโดยไม่หยุด” (แอลมา 26:22)

ท่านศาสดาพยากรณ์ได้นำสิ่งที่อาจทำให้เขวออกจากเรื่องที่สำคัญกว่าในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์โดยทำให้หนังสือวิวรณ์ลี้ลับน้อยลง แน่นอนว่านิมิตของยอห์นให้ข้อมูลสำคัญแก่เราเกี่ยวกับยุคสุดท้าย อาทิ การละทิ้งความเชื่อและการฟื้นฟู การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ ชัยชนะของพระองค์เหนือมาร การปกครองมิลเลเนียมของพระองค์ การฟื้นคืนชีวิตและการพิพากษาครั้งสุดท้าย สิ่งเหล่านี้จะช่วยเราได้เมื่อเราพยายามหาความจริงและทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า แต่ถ้าเราหมกมุ่นกับการตีความภาพที่บอกไว้ในนิมิตนั้น เราอาจมองข้ามสิ่งสำคัญที่สุด8

ขณะที่เราศึกษาหนังสือวิวรณ์และใช้ประโยชน์จากความรู้ที่เปิดเผยเกี่ยวกับหนังสือนี้ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เราจะเห็นได้ว่าเรายืนตรงจุดไหนในขอบเขตอันกว้างใหญ่ของประวัติศาสตร์โลกและการติดต่อของพระผู้เป็นเจ้ากับบุตรธิดาของพระองค์ การรู้เช่นนี้ทำให้เราเห็นความสำคัญของประจักษ์พยานส่วนตัวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานของพระองค์ในยุคสุดท้าย จากนั้นเราจะสามารถเอาชนะโลก และได้รับทุกสิ่งจากพระบิดาเป็นมรดกร่วมกับพระคริสต์ (ดู วิวรณ์ 3:21; 21:7)

อ้างอิง

  1. ดูตัวอย่างใน วิวรณ์ 2:1, เชิงอรรถ a; หรือ วิวรณ์ 6:14, เชิงอรรถ a.

  2. ตัวอย่างเช่น การถอดความ วิวรณ์ 1:7 ของโจเซฟ สมิธ (ในภาคผนวกของพระคัมภีร์ไบเบิล) อ่านได้ว่า “นี่แนะ พระองค์จะเสด็จมา ใน หมู่เมฆ พร้อมกับวิสุทธิชนหลายหมื่นคนของพระองค์ในอาณาจักร ห่อหุ้มด้วยรัศมีภาพของพระบิดาของพระองค์ และนัยน์ตาทุกดวงจะเห็นพระองค์ และคนทั้งหลายที่แทงพระองค์ และมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะคร่ำครวญเพราะพระองค์” คำที่โจเซฟ สมิธเพิ่มเข้ามา (ตัวเอน) เชื่อมโยงข้อนี้กับคำสอนข้ออื่นในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์—อาทิ มัทธิว 16:27 (“รัศมีภาพของพระบิดา”) และ ยูดา 1:14 (“ผู้บริสุทธิ์ของพระองค์นับเป็นหมื่นๆ”).

  3. Bible Dictionary, “Revelation of John.”

  4. History of the Church, 5:342.

  5. แน่นอนว่า เท่าที่โจเซฟ สมิธทราบ ตราห้าดวงแรกในเจ็ดดวงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีต แต่ทั้งห้าดวงทำหน้าที่เน้นสาระสำคัญของจุดประสงค์หรือจุดจบของประวัติศาสตร์มนุษย์ จบลงด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง—เลยสมัยของยอห์น

  6. ในตัวอย่างนี้ สัตว์คือสัตว์ เป็นตัวแทนของสัตว์สี่ชนิด ส่วน คำอธิบาย ของยอห์นเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้มีองค์ประกอบเชิงเปรียบเทียบ (ตาและปีก) หมายถึงคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น (ดู วิวรณ์ 4:6-8; คพ. 77:4).

  7. History of the Church, 5:343.

  8. โจเซฟ สมิธรู้สึกชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับผู้สอนศาสนา ท่านกล่าวว่า “โอ้ เอ็ลเดอร์แห่งอิสราเอลทั้งหลาย จงฟังเสียงข้าพเจ้า และเมื่อท่านถูกส่งไปในโลกเพื่อสั่งสอน จงบอกเรื่องที่ท่านถูกส่งไปให้บอก สั่งสอนและป่าวร้องด้วยเสียงอันดังว่า ‘เจ้าจงกลับใจ เพราะอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อพระกิตติคุณ’ จงประกาศหลักธรรมเบื้องต้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องลี้ลับ เกลือกท่านจะถูกล้มล้าง อย่ากังวลกับนิมิตของสัตว์และสิ่งของที่ท่านไม่เข้าใจ” (History of the Church, 5:344).

พิมพ์