จนกว่าเราจะพบกันอีก
สิ่งกีดขวางอันใหญ่หลวงของไซอัน
จาก “Beware of Pride,” Ensign, May 1989, 4–7. ปรับเปลี่ยนเครื่องหมายวรรคตอนให้ตรงตามมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน
ความจองหองคือแก่นแท้ของการชิงดีชิงเด่น
ความจองหองเป็นบาปที่เข้าใจผิดกันมาก และหลายคนทำบาปด้วยความเขลา (ดู โมไซยาห์ 3:11; 3 นีไฟ 6:18) ในพระคัมภีร์ไม่มีเรื่องอย่างเช่นความจองหองที่ชอบธรรม—เราถือว่าความจองหองเป็นบาปเสมอ …
ลักษณะสำคัญของความจองหองคือความเป็นอริ—ความเป็นอริต่อพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นอริต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา ความเป็นอริ หมายถึง “ความเกลียดชัง การเป็นศัตรู หรือสภาพของการต่อต้าน” ความเป็นอริคืออำนาจที่ซาตานปรารถนาจะใช้ปกครองเรา
ความจองหองคือแก่นแท้ของการชิงดีชิงเด่น เราทำให้ความประสงค์ของเราขัดกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเรามุ่งความจองหองของเราไปที่พระผู้เป็นเจ้า เจตนารมณ์ของเราคือ “ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของเราและไม่ใช่ตามพระประสงค์ของพระองค์” …
ความประสงค์ของเราชิงดีชิงเด่นกับพระประสงค์ของพระเจ้า จะทำให้เราไม่ยอมหักห้ามความปรารถนา ความอยาก และความลุ่มหลง (ดู แอลมา 38:12; 3 นีไฟ 12:30)
คนจองหองไม่สามารถยอมรับผู้มีอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่กำลังชี้นำชีวิตพวกเขา (ดู ฮีลามัน 12:6) พวกเขาทำให้การรับรู้ความจริงของตนแข่งกับความรู้อันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ให้ความสามารถของตนต่อสู้กับอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า ให้ความสำเร็จของตนขัดกับงานยิ่งใหญ่ของพระองค์
… คนจองหองปรารถนาให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นด้วยกับพวกเขา พวกเขาไม่สนใจจะเปลี่ยนความคิดเห็นของตนให้สอดคล้องกับพระดำริของพระผู้เป็นเจ้า
ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งของบาปที่แพร่หลายอย่างมากของความจองหองคือความเป็นอริต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา เราถูกล่อลวงทุกวันให้ยกตนข่มท่านและดูหมิ่นผู้อื่น (ดู ฮีลามัน 6:17; คพ. 58:41)
คนจองหองทำให้ทุกคนเป็นปฏิปักษ์ของพวกเขาโดยใช้สติปัญญา ความคิดเห็น งาน ความมั่งคั่ง พรสวรรค์ หรือเครื่องวัดทางโลกอื่นๆ ของตนต่อต้านผู้อื่น ในถ้อยคำของซี. เอส. ลูอิส “คนจองหองไม่ได้รับความพอใจจากการมีบางสิ่ง แต่พอใจกับการมีมากกว่าคนข้างเคียง … การเปรียบเทียบนี้เองที่ทำให้ท่านจองหอง นั่นคือ ความพอใจจากการอยู่เหนือผู้อื่น ทันทีที่องค์ประกอบของการชิงดีชิงเด่นหมดไป ความจองหองก็หมดตาม” (Mere Christianity [1952], 109–10) …
คนจองหองกลัวการตัดสินของมนุษย์มากกว่าการตัดสินของพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 3:6–7; 30:1–2; 60:2) “มนุษย์จะคิดอย่างไรกับฉัน” มีน้ำหนักมากกว่า “พระผู้เป็นเจ้าจะทรงคิดอย่างไรกับฉัน” …
เมื่อความจองหองเกาะกุมใจเรา เราสูญเสียความเป็นอิสระจากโลกและปล่อยให้อิสรภาพของเราตกเป็นทาสการตัดสินของมนุษย์ โลกตะโกนเสียงดังกว่าสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์ การอ้างเหตุผลของมนุษย์สำคัญกว่าการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้า และคนจองหองปล่อยราวเหล็ก (ดู 1 นีไฟ 8:19–28; 11:25; 15:23–24) …
ความจองหองเป็นสิ่งกีดขวางอันใหญ่หลวงต่อไซอัน ข้าพเจ้าขอย้ำ ความจองหอง เป็น สิ่งกีดขวางอันใหญ่หลวงต่อไซอัน …
เราต้องยอม “ต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” ทิ้ง “ความเป็นมนุษย์ปุถุชน” อันเกิดจากความจองหอง กลับเป็น “วิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า” และกลายเป็น “ดังเด็ก, ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน” (โมไซยาห์ 3:19; ดู แอลมา 13:28ด้วย)