ไม่มีพื้นที่ตรงกลาง: วิธีที่สื่อมีอิทธิพลต่อเรา
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
ความรับผิดชอบของเราไม่ใช่หลีกเลี่ยงสื่อทั้งหมดหรือปฏิเสธสื่อที่ไม่ดีเท่านั้นแต่เลือกสื่อที่ดีงามและสร้างสรรค์จรรโลงใจด้วย
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี เราถูกกระหน่ำด้วยทางเลือกสารพัด อาทิ ดูนี่สิ อ่านนั่นสิ ฟังนี่สิ สังคมของเราท่วมท้นไปด้วยสื่อและความบันเทิง อิทธิพลที่สื่อมีต่อความเชื่อ ความนึกคิด และการ กระทำของเราแยบยลแต่มีพลัง สิ่งที่เรายอมใส่เข้ามาในความคิดเราจะหล่อหลอมตัวเรา—เราเป็นอย่างที่เราคิด งานวิจัยระดับปริญญาโทของดิฉันต้องสำรวจอิทธิพลของสื่อ บทสรุปอันน่าหนักใจที่ดิฉันพบคือสื่อที่เราเลือกบริโภคจะมีผลต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่าดีหรือร้าย
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “เทคโนโลยีไม่ได้ดีหรือเลวในตัวมันเอง แต่จุดประสงค์ที่เทคโนโลยีทำให้บรรลุผลสำเร็จเป็นตัวบ่งชี้ความดีหรือความเลว”1 ภารกิจของเราคือไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีแต่ใช้ในวิธีที่จะยกระดับชีวิตเรา
เราสามารถใช้พลังของสื่อเพื่อประโยชน์ของเรา ทำให้ความนึกคิดและพฤติกรรมของเราดีขึ้นโดย
(1) ยอมรับว่าเราอ่อนไหวต่ออิทธิพลของสื่อและตระหนักว่าสื่อมีอิทธิพลต่อเรา
(2) แยกแยะและเลือกสื่อที่ดี
สื่อมีผลต่อเราอย่างไร
ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันอิทธิพลของสื่อ เราคาดไม่ได้ว่าจะหมกมุ่นกับสื่อที่ออกแบบไว้ให้มีผลต่อเราทางใจและทางอารมณ์โดยไม่รับอิทธิพลของสื่อนั้นไว้ในจิตใต้สำนึกของเราหลังจากภาพยนตร์เรื่องนั้นจบไปนานแล้ว ปิดหนังสือเล่มนั้นนานแล้ว หรือเพลงจบไปนานแล้ว คนที่เชื่อว่าสื่อไม่มีผลต่อพวกเขามักจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะพวกเขาไม่ยอมเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลและด้วยเหตุนี้จึงไม่ระวัง น้ำจะซึมผ่านรอยรั่วในเรือตลอดเวลาไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ว่ามีรอยรั่ว ฉันใดก็ฉันนั้น สื่อจะมีอิทธิพลต่อความนึกคิดของเราตลอดเวลาเช่นกันไม่ว่าเราจะจัดการหรือไม่จัดการกับผลกระทบของมัน
สื่อบันเทิงสามารถมีอิทธิพลต่อความนึกคิดของเราได้เมื่อเราหันไปใช้สื่อนั้นคลายเครียดจากชีวิตประจำวัน เรามักใช้ความบันเทิงเป็นเครื่องหย่อนใจชั่วคราวจากความทุกข์ประจำวัน ไม่ว่าจะผ่านภาพยนตร์ หนังสือ โทรทัศน์ นิตยสาร หรือดนตรี ถึงแม้เราจะใช้สื่อบันเทิงเพื่อผ่อนคลาย แต่เราต้องไม่ผ่อนคลายมาตรฐานของเรา นั่นเป็นเวลาที่เราต้องระวังสิ่งที่เรายอมให้เข้ามาในความคิดของเรา
เพื่อให้ประสบความบันเทิงอย่างเต็มที่ บางคนถึงกับยอมรับข่าวสารทุกอย่างที่สื่อมอบให้ ด้วยเหตุนี้จึงยอมให้ทัศนะที่สื่อนำเสนอมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของพวกเขา นักวิจารณ์ภาพยนตร์พูดถึงการใช้แนวคิดนี้ในภาพยนตร์ว่า
“การทำให้ความเชื่อที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เป็นเรื่องจริงต้องอาศัยการสร้างสภาพแวดล้อมที่แปลกประหลาดหรือมหัศจรรย์พันลึกตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง สร้างความรู้สึกว่าเป็นอีกเวลาหนึ่ง หรือสร้างตัวละครประหลาดๆ ทั้งนี้เพื่อให้เรารับเจตนารมณ์ อารมณ์ และบรรยากาศทั้งหมดของภาพยนตร์เรื่องนั้น ถ้าผู้สร้างภาพยนตร์เชี่ยวชาญการสร้างความจริงลักษณะนี้ เรายินดีพักความไม่เชื่อของเราไว้ชั่วคราว เราทิ้งความคลางแคลงสงสัยและความสามารถในการใช้เหตุผลไว้เบื้องหลังขณะเข้าสู่โลกจินตนาการของภาพยนตร์”2
ถ้าเราพักความไม่เชื่อของเราไว้ชั่วคราว เรามักจะเปิดรับค่านิยม ความคาดหวัง และความเชื่อที่สื่อแสดงให้เห็นมากขึ้น ด้วยเหตุนี้สื่อจึงอาจมีอิทธิพลต่อความนึกคิดของเราได้อย่างแยบยล แต่ในอิทธิพลนี้คืออันตรายของการยอมรับทัศนะที่อาจไม่สอดคล้องกับหลักธรรมพระกิตติคุณ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองดึงความสนใจมาที่การทำงานของสื่อบันเทิงเมื่อท่านกล่าวว่า “ท่านรู้หรือไม่ว่าความหมายดั้งเดิมในภาษาลาตินของคำว่า amusement (เครื่องหย่อนใจ) คือ ‘สิ่งเบี่ยงเบนความคิดที่มีเจตนาจะหลอกลวง’”3 บางครั้งเราแสวงหาสิ่งเบี่ยงเบน เราหันไปให้สื่อเบี่ยงเบนเราจากปัญหาในโลกจริงของเรา เราอาศัยสื่อนั้นทำให้เราเชื่อทุกอย่างที่สื่อมอบให้ ยิ่งสื่อน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจริงหรือเท็จ เราจะยิ่งชอบสื่อ
คาเร็น อี .ดิลล์นักสังคมจิตวิทยากล่าวว่า “เมื่อเราเคลิ้มไปตามโลกของนวนิยาย เจตคติและความเชื่อของเราเปลี่ยนไปสอดคล้องมากขึ้นกับความคิดและข้ออ้างที่เกิดขึ้นในเรื่อง เราพักความไม่เชื่อไว้ชั่วคราวและในการทำเช่นนั้น เราเปิดรับการซึมซับระบบความเชื่อที่อยู่ในโลกนวนิยาย เราทำตามความเชื่อตลอดจนความคิดเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว หลายครั้งสิ่งที่เราเห็นบนหน้าจอก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการตอบสนองนอกการรับรู้ของเรา นี่คือวิธีที่โลกจินตนาการของสื่อหล่อหลอมความเป็นจริงของเรา”4
เมื่อเรายอมให้สื่อบรรลุจุดประสงค์ในการ หย่อนใจ เรา เราอาจแทนที่กระบวนความคิดอย่างมีเหตุผลตามธรรมดาทั่วไปด้วยความนึกคิดที่สื่อเสนอ ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมของเรา เอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์ (1906–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เมื่อความนึกคิดเป็นบ่อเกิดของการกระทำ การเปิดรับย่อมสามารถชักนำให้ทำตามสิ่งที่ถูกหล่อเลี้ยงในความคิด”5
เพื่อจะยังควบคุมอิทธิพลสื่อในชีวิตเราได้ เราจำเป็นต้องเลือกสื่อที่สร้างสรรค์จรรโลงใจและยอมรับว่าเราอ่อนไหวต่ออิทธิพลของสื่อ สื่อมีผลต่อความนึกคิดของเราจึงสามารถมีอิทธิพลต่อการกระทำของเราได้ คำแนะนำของกษัตริย์เบ็นจามินใช้ได้กับเราในทุกวันนี้ “ระวังตน และความนึกคิดของท่าน, และคำพูดของท่าน, และการกระทำของท่าน” (โมไซยาห์ 4:30)
เราเลือกสื่อที่ดีอย่างไร
โดยเข้าใจอิทธิพลที่สื่อมีต่อชีวิต เราสามารถรับมือกับทางเลือกตรงหน้าเราได้อย่างมีสติ การเลือกของเราส่งผลต่อการตัดสินใจรับพระวิญญาณและความดีงามที่มีอยู่รอบข้างเรา ทุกการตัดสินใจที่เราทำนำเราให้เข้าใกล้ไม่ก็ออกห่างจากพระบิดาในสวรรค์
ซี. เอส. ลูอิสนักเขียนชาวคริสต์เขียนว่า “เวลาว่างของเรา แม้แต่การเล่นของเรา เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจจริงจัง ไม่มีพื้นที่้ตรงกลางในจักรวาล พระผู้เป็นเจ้าทรงมีสิทธิ์ทุกตารางนิ้ว ทุกวินาที และซาตานเข้ามาสวมรอย”6
ความรับผิดชอบของเราไม่ใช่หลีกเลี่ยงสื่อทั้งหมดหรือปฏิเสธสื่อที่ไม่ดีเท่านั้นแต่รายรอบตัวเราด้วยสื่อที่ดีงามและสร้างสรรค์จรรโลงใจ โชคดีที่สื่อส่วนใหญ่มีสิ่งที่เป็นประโยชน์และดีงามมากมายที่ยกย่องเชิดชูค่านิยมตามประเพณี มีหนังสือ ภาพยนตร์ เพลง และอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่มีข่าวสารแห่งความหวังและความสุข ความรักและความเมมตา ปีติและการให้อภัย
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เพราะขอบข่ายอันน่ามหัศจรรย์นี่เองที่ทำให้สื่อทุกวันนี้นำเสนอทางเลือกมากมายและต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยและไม่เคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์แล้ว สื่อยังเสนอสิ่งที่สร้างสรรค์และเกิดผลดีมากมายด้วย … ด้วยเหตุนี้ความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดของเราคือเลือกอย่างฉลาดว่าจะฟังอะไรและจะดูอะไร”7
บางทีรายการโทรทัศน์หรือหนังสือที่เราเคยชอบอาจเสื่อมโทรมทางศีลธรรมแต่เราพบว่าเราเลิกได้ยาก หรือภาพยนตร์เรื่องใหม่อาจมีคนชอบดูและดึงดูดใจมากเป็นพิเศษแต่เราไม่เห็นอันตรายจากการดูเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การโอนอ่อนผ่อนตามแม้เพียงเล็กน้อยทำให้โอนอ่อนผ่อนตามมากขึ้นอีกนิดได้ง่ายขึ้นจนเรายอมให้ตัวเราหลงระเริงกับสิ่งซึ่งเราพบว่ายากจะนำตัวเรากลับมา แต่โดยการวางมาตรฐานให้เรายอมรับแต่สื่อที่ดีงามเข้ามาในชีวิต เท่ากับเรายอมให้ตัวเรารับพระวิญญาณได้ง่ายขึ้น
เราสามารถทำตามคำแนะนำที่ไม่ตกยุคซึ่งซูซานนา เวสลีย์กล่าวไว้ในปี 1725 กับจอห์นลูกชายของเธอผู้ก่อตั้งนิกายเมโธดิสต์ดังนี้ “ลูกอยากตัดสินความถูกต้องตามกฎหรือความไม่ถูกต้องตามกฎของความสำราญ [ความไม่มีพิษภัยอันเป็นความประสงค์ร้ายของการกระทำไหม ลองใช้กฎนี้] อะไรก็ตามที่ทำให้เหตุผลของลูกอ่อนลง ทำลายความอ่อนโยนของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของลูก บดบังการรับรู้เรื่องพระผู้เป็นเจ้า หรือหมดความชื่นชอบในเรื่องทางวิญญาณ สรุปคือ อะไรก็ตามที่เพิ่มพลังและอำนาจของร่างกายให้อยู่เหนือจิตใจ สิ่งนั้นเป็นบาปต่อลูก แม้ตัวมันเองจะดูไม่มีพิษภัยก็ตาม”8
พลังความสามารถในการเลือก
การเลือกมีส่วนร่วมในสื่อที่สร้างสรรค์จรรโลงใจทางศีลธรรมเท่ากับเราอัญเชิญพระวิญญาณและยอมให้ตัวเราเข้มแข็งขึ้น พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สอนเราว่าเราได้รับพลังความสามารถที่จะกระทำด้วยตนเอง (ดู 2 นีไฟ 2:26) การแสวงหาสิ่งเหล่านั้นซึ่ง “เป็นคุณธรรม, งดงาม, หรือกล่าวขวัญกันว่าดี” (หลักแห่งความเชื่อ 1:13) เปิดใจและความคิดเราให้รับเอาความนึกคิดและเจตคติซึ่งนำเราไปสู่ความประพฤติที่ชอบธรรม ในความพยายามเหล่านี้ เราจะได้รับพรด้วยความคุ้มครองให้รอดพ้นอิทธิพลของปฏิปักษ์ (ดู ฮีลามัน 5:12)
ความก้าวหน้าขนานใหญ่ของเทคโนโลยีสื่อซึ่งพระเจ้าประทานพรแก่เรามาพร้อมความรับผิดชอบให้เราเลือกวิธีใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น ดิฉันเคยเห็นผลกระทบของสื่อผ่านการศึกษาและประสบการณ์มาแล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกยอมรับหรือไม่ก็ตาม ตรงหน้าเรามีสื่อที่เสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือสี่อที่ดีงามและสร้างสรรค์จรรโลงใจให้เลือก เรามีโอกาสเลือก—แต่สำคัญกว่านั้นคือเรามีพลังความสามารถในการเลือก