2017
โจเซฟ สมิธ: ความเข้มแข็งจากความอ่อนแอ
December 2017


โจเซฟ สมิธ: ความเข้มแข็งจากความอ่อนแอ

จากคำปราศรัยเรื่อง “Out of Weakness He Shall Be Made Strong” ที่การให้ข้อคิดทางวิญญาณรำลึกถึงโจเซฟ สมิธประจำปีครั้งที่ 70 ในโลแกน ยูทาห์ สหรัฐอเมริกา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013

ถ้าเราจะยอมรับความอ่อนแอเหมือนโจเซฟ สมิธและหันไปพึ่งพระเจ้าด้วยศรัทธา เราจะเข้มแข็งเช่นกัน

young Joseph Smith

ส่วนหนึ่งจากภาพ จุดประสงค์ของชีวิต โดย โจเซฟ บริกคีย์

หลายพันปีก่อน โยเซฟสมัยโบราณพยากรณ์ว่า “พระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าดังนี้: เราจะยกผู้หยั่งรู้ที่เลิศเลอผู้หนึ่งขึ้นจากเลือดเนื้อเชื้อไขของเจ้า; … และเราจะให้พลังความสามารถแก่เขาเพื่อนำคำของเราออกมา … และจากความอ่อนแอเราจะทำให้เขาเข้มแข็ง” (2 นีไฟ 3:7, 11, 13)

ข้าพเจ้าสนใจและได้รับแรงบันดาลใจจากคำพยากรณ์นี้ว่า “จากความอ่อนแอเราจะทำให้เขาเข้มแข็ง” อาจดูเหมือนไม่มีเหตุผลที่พระเจ้าจะทรงขอให้คนอ่อนแอทำงานใหญ่ให้สำเร็จ ทว่าคนที่ยอมรับความอ่อนแอของตน ความอ่อนแอนั้นจะผลักดันให้เขาแสวงหาความเข้มเข็งของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้พระองค์ผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งมวลในสวรรค์และแผ่นดินโลกจึงทรงทำให้คนนอบน้อมถ่อมตนในศรัทธาเข้มแข็ง (ดู มัทธิว 28:18; โมไซยาห์ 4:9)1

ตั้งแต่วัยเยาว์โจเซฟ สมิธเข้าใกล้พระเจ้าด้วยเหตุดังนี้ เมื่อโจเซฟอายุ 15 ปี ท่านโหยหาการอภัยบาปและปรารถนาจะเรียนรู้ว่าศาสนจักรใดถูกต้อง ท่านเขียนว่า “แม้ว่าความรู้สึกของข้าพเจ้าจะลึกซึ้งและมักจะแรงกล้า … จนสุดวิสัยที่ผู้อ่อนวัยอย่างข้าพเจ้า, และไม่ประสาต่อมนุษย์และเรื่องต่างๆ จะสรุปได้แน่ชัดว่าใครถูกและใครผิด” (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8)

โดยที่ทราบความอ่อนแอนี้ดี ท่านจึงเข้าไปในป่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อเรียนรู้ว่าท่านจะพบศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้าที่ใด ท่านทูลถามทั้งนี้เพื่อท่านจะได้ ทำ บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อท่านจะได้ เข้าร่วม ศาสนจักรนั้น (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:18) เพื่อตอบคำทูลวิงวอนที่จริงใจและนอบน้อมของท่าน พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อท่าน ในการปรากฎนั้น พระองค์ทรงปลดปล่อยท่านจากอำนาจของมารและเตรียมทางสำหรับการฟื้นฟู (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–19)

โจเซฟ สมิธไม่โต้แย้งที่ท่านเป็นหนึ่งใน “สิ่งอ่อนแอของโลก” (คพ. 1:19; 35:13) หลายปีต่อมาพระเจ้าตรัสกับท่านทำนองนี้ “เพราะเพื่อจุดหมายนี้เรายกเจ้าขึ้น, เพื่อเราจะได้แสดงปรีชาญาณของเราออกมาทางสิ่งอ่อนแอของแผ่นดินโลก” (คพ. 124:1)

เด็กซึ่งไม่มีใครรู้จัก

โจเซฟบอกว่าท่านเป็น “เด็กซึ่งไม่มีใครรู้จัก … ที่ตกอยู่ในชะตากรรมอันมีความจำเป็นต้องหาสิ่งประทังชีวิตขาดแคลนด้วยแรงงานรายวัน” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:23) ท่านเกิดมาในชนชั้นล่างทางสังคมและศึกษาในระบบอย่างจำกัด การพยายามเขียนประวัติของท่านครั้งแรกเน้นย้ำสภาพความอ่อนแอซึ่งจากสภาพนั้นท่านได้รับเรียกให้ทำงาน

entry from Joseph Smith 1832 history written in his own hand

“ข้าพเจ้าเกิดในเมืองชารอน ในรัฐเวอร์มอนต์ อเมริกาเหนือเมื่อวันที่ยี่สิบสามธันวาคม ค.ศ. 1805 จากบิดามารดาที่แสนประเสริฐผู้พยายามสอนข้าพเจ้าให้รู้จักศาสนาคริสต์ เมื่ออายุราวสิบขวบ โจเซฟ สมิธ ซีเนียร์บิดาข้าพเจ้าย้ายไปอยู่เทศมณฑลพอลไมรา ออนแทรีโอในรัฐนิวยอร์กและอยู่ในสภาพข้นแค้นจนต้องทำงานหนักเพื่อจุนเจือครอบครัวใหญ่ที่มีลูกเก้าคนและเพราะต้องทุ่มเททั้งหมดจึงจะสามารถช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้ เราจึงไม่ได้ประโยชน์ของการศึกษาจนพอจะพูดได้ว่าข้าพเจ้ามีความรู้เพียงอ่านเขียนและกฎคณิตศาสตร์พื้นฐานเท่านั้น”2

โจเซฟรู้สึกรันทดใจอย่างยิ่งที่ขาดการศึกษาจนท่านคร่ำครวญครั้งหนึ่งว่าการถูกขังอยู่ใน “เรือนจำเล็กๆ แคบๆ แทบจะเหมือนความมืดมนอนธกาลของกระดาษ ปากกา น้ำหมึก และภาษาที่ขาดตกบกพร่อง เปะปะ กระท่อนกระแท่น และไร้ระเบียบแบบแผน”3 แต่กระนั้นพระเจ้าทรงเรียกท่านให้แปลพระคัมภีร์มอรมอน—ครั้งแรกจัดพิมพ์พระคัมภีร์เล่มนี้ทั้ง 588 หน้า—ซึ่งท่านแปลในเวลาไม่ถึง 90 วัน

บุคคลใดที่คิดได้อย่างถ่องแท้จะสรุปว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่โจเซฟผู้ด้อยการศึกษาจะทำสิ่งนี้สำเร็จด้วยตนเอง และคำอธิบายที่บางคนคิดขึ้นเชื่อได้ยากยิ่งกว่าคำอธิบายที่แท้จริงว่า ท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ผู้แปลโดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

พยานของเอ็มมา

Emma scribing

ในชีวิตบั้นปลาย เอ็มมา สมิธจำได้ว่าเวลาที่สามีเธอแปลแผ่นจารึกทองคำ เขา “ไม่สามารถเขียนหรือบอกให้เขียนปะติดปะต่อกันด้วยถ้อยคำสละสลวยได้ นับประสาอะไรกับการบอกให้เขียนหนังสืออย่างพระคัมภีร์มอรมอน และแม้ดิฉันจะเป็นคนหนึ่งผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้น แต่ดิฉันก็ยังอัศจรรย์ใจใน ‘การอัศจรรรย์และการอันน่าพิศวง’ มากเท่าๆ กับคนอื่นๆ”4

เบื้องหลังของประวัติศาสตร์เรื่องนี้น่าสนใจตรงหน้าหนึ่งของบันทึกส่วนตัวเล่มแรกของโจเซฟลงวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1832 (ภาพด้านขวา) ท่านเขียนบันทึกนี้หลังจบการแปลพระคัมภีร์มอรมอนได้ประมาณสามปีครึ่ง จะเห็นว่าท่านเขียนแล้วขีดฆ่าคำต่อไปนี้

Joseph Smith journal

“โจเซฟ สมิธ จูเนียร์—ซื้อสมุดบันทึกมาเขียนสภาวการณ์เล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็น”

ขณะข้าพเจ้าถือสมุดบันทึกเล่มนี้และอ่านคำเหล่านี้ที่ถูกขีดฆ่า ข้าพเจ้าจินตนาการว่าโจเซฟนั่งอยู่ในภาวะแวดล้อมแบบชนบทในเขตแดนอเมริกา พลางเขียนประโยคเริ่มต้นแล้วคิดว่า “ไม่ ยังไม่ถูก เดี๋ยวลองเขียนใหม่” ท่านจึงขีดฆ่าประโยคนั้นและเขียนว่า “โจเซฟ สมิธ จูเนียร์ซื้อสมุดบันทึกวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1832 เพื่อจดเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็น และ— —”

ในที่สุด อาจจะไม่พอใจโดยสิ้นเชิงกับภาษาซึ่งไม่สละสลวย กะพร่องกะแพร่งที่พึ่งเขียน ท่านจึงเขียนว่า “โอ้ ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้ข้าพระองค์ได้รับการนำทางในความคิดทั้งหมดของข้าพระองค์ ขอทรงอวยพรผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยเถิด อาเมน”5 ข้าพเจ้าสัมผัสได้ในประโยคนี้ว่าโจเซฟรู้สึกถึงความไม่ดีพอและความอ่อนแอของท่าน และกำลังเรียกหาพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธาขอให้ทรงนำท่านในทั้งหมดที่ท่านทำ

ทีนี้ลองเปรียบเทียบข้อความในบันทึกนั้นกับสำเนาต้นฉบับเดิมของพระคัมภีร์มอรมอนที่คัดลอกไว้ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ปี 1829 (ภาพในหน้าถัดไป)

Book of Mormon manuscript page

พระคัมภีร์มอรมอนฉบับแรกและภาพต้นฉบับ เอื้อเฟื้อโดยหอสมุดประวัติศาสนจักร

ลองสังเกตความเรียงสละสลวย—ไม่มีการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ไม่มีการขีดฆ่า นี่ไม่ใช่กวีนิพนธ์ร้อยแก้ว โจเซฟบอกให้จดคำต่อคำขณะท่านมองเข้าไปในเครื่องมือที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้ท่าน รวมทั้งอูริมกับทูมมิมและศิลาผู้หยั่งรู้บางครั้ง โดยใช้หมวกบังตาท่านจากแสงภายนอกเพื่อจะได้เห็นคำตามที่ปรากฏอย่างชัดเจน (ดู 2 นีไฟ 27:6, 19–22; โมไซยาห์ 28:13) เท่าที่ท่านเห็น มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างงานแปลพระคัมภีร์มอรมอนกับข้อความในบันทึกส่วนตัว งานแปลเป็นผลงานของโจเซฟ สมิธ ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย ส่วนข้อความในบันทึกเป็นผลงานของชายชื่อโจเซฟ สมิธ หากท่านมองดูต้นฉบับเดิมของงานแปลอย่างถี่ถ้วน ท่านจะอ่านพบคำที่คงจะให้กำลังใจโจเซฟเสมอมา นั่นคือ

“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือข้าพเจ้า, นีไฟ, กล่าวแก่บิดาข้าพเจ้า : ข้าพเจ้าจะไปและทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา, เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงให้บัญญัติแก่ลูกหลานมนุษย์, นอกจากพระองค์จะทรงเตรียมทางไว้ให้พวกเขาเพื่อพวกเขาจะทำสำเร็จในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงบัญชาพวกเขา.” (1 นีไฟ 3:7)

ก่อนคำเหล่านี้ไม่นาน ท่านได้แปลดังนี้ “แต่ดูเถิด, ข้าพเจ้า, นีไฟ, จะแสดงต่อท่านว่าพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้ามีอยู่เหนือคนทั้งปวงที่พระองค์ทรงเลือกไว้, เพราะศรัทธาของพวกเขา, เพื่อทำให้พวกเขาแข็งแกร่งแม้จนถึงพลังแห่งการปลดปล่อย” (1 นีไฟ 1:20)

ใช่แล้ว สาระสำคัญของพระคัมภีร์—และชีวิตของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ—คือคนอ่อนแอที่แสวงหาพระเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตนในศรัทธา พระองค์จะทรงทำให้คนคนนั้นเข้มแข็ง แม้ยิ่งใหญ่ในงานของพระเจ้า การทำให้เข้มแข็งนี้จะเกิดขึ้นแม้ในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย

Joseph and Oliver working on translation of Book of Mormon

ตัวอย่างเช่น โจเซฟเป็นคนสะกดคำไม่เก่ง และท่านแก้ไขตัวสะกดของชื่อ Coriantumr (ดู ฮีลามัน 1:15) ที่ออลิเวอร์ คาวเดอรีผู้จดคนแรกของท่านเขียนไว้ ครั้งแรกที่โจเซฟบอกให้ออลิเวอร์เขียนชื่อนี้ ออลิเวอร์เขียนว่า Coriantummer นับว่าสมเหตุสมผลเพราะไม่มีคำภาษาอังกฤษที่ลงท้ายด้วย “mr” แต่โจเซฟ—ผู้สะกดคำไม่เก่งพอจะยอมรับตัวสะกดที่พระเจ้าประทานแก่ท่าน—แก้ไขตัวสะกดระหว่างการแปล เวลานี้เรารู้ว่าแม้นี่จะเป็นตัวสะกดแปลกๆ ในภาษาอังกฤษ แต่เป็นตัวสะกดภาษาอียิปต์ที่ดีสมบูรณ์แบบและสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในโลกเก่า โจเซฟคงไม่รู้เรื่องนี้นอกจากโดยการเปิดเผย6

พระองค์ทรงทำให้เราเข้มแข็งได้

ปาฏิหาริย์ของการแปลพระคัมภีร์มอรมอนเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำให้โจเซฟเข้มแข็งจากความอ่อนแอ มีอีกบทเรียนหนึ่งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่า นั่นคือ ถ้าเราจะยอมรับความอ่อนแอเหมือนโจเซฟและหันไปพึ่งพระเจ้าในศรัทธาด้วยสุดใจของเรา ตั้งใจจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงทำให้เราเข้มแข็งจากความอ่อนแอด้วย นี่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าความอ่อนแอถูกลบทิ้งในความเป็นมรรตัย—แต่หมายความว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้บุคคลเช่นนั้นเข้มแข็ง

โจเซฟยอมรับความบกพร่องของท่านอย่างนอบน้อมถ่อมตน ท่านกล่าวว่าในช่วงวัยเยาว์ท่าน “แสดงความอ่อนแอของวัยเยาว์, และจุดอ่อนของธรรมชาติมนุษย์” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:28) ต่อมาในชีวิตท่านบอกวิสุทธิชนในนอวูว่า ท่าน “เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง และพวกเขาต้องไม่คาดหวังว่า [ท่าน] จะเป็นคนดีพร้อม … แต่ถ้าพวกเขาจะอดทนต่อความบกพร่อง [ของท่าน] และความบกพร่องของพี่น้อง [ท่าน] จะอดทนต่อความบกพร่องของพวกเขาเช่นกัน”7

โจเซฟไม่เสแสร้งว่าดีพร้อมหรือไม่ทำผิดพลาด แต่ท่านยอมรับเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่สำแดงผ่านท่านเมื่อกำลังทำหน้าที่ศาสดาพยากรณ์ “เมื่อข้าพเจ้าพูดในฐานะชายคนหนึ่ง คนพูดคือโจเซฟเท่านั้น แต่เมื่อพระเจ้าตรัสผ่านข้าพเจ้า คนพูดไม่ใช่โจเซฟ สมิธ แต่คือพระผู้เป็นเจ้า”8

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงทำให้โจเซฟเข้มแข็งจากความอ่อนแอ—เข้มแข็งมากพอจะทำมากกว่าศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นใดในประวัติศาสตร์ทั้งหมด “เพื่อความรอดของมนุษย์ในโลกนี้, ยิ่งกว่าคนอื่นใดที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลก, ยกเว้นพระเยซูเท่านั้น” (คพ. 135:3)

พระผู้เป็นเจ้าที่ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงของเราจะทำให้ท่านและข้าพเจ้าเข้มแข็งจากความอ่อนแอเช่นกัน—หากเราหันไปพึ่งพระองค์ในศรัทธาด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยวเฉกเช่นโจเซฟ

การสวดอ้อนวอนและความนอบน้อมถ่อมตน

ตามวิถีซีเลสเชียลของพระองค์ พระเจ้าประทานความอ่อนแอให้เราเพื่อช่วยให้เราเข้มแข็งในวิธีเดียวที่สำคัญในกาลเวลาและนิรันดร—นั่นคือโดยผ่านพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “และหากมนุษย์มาหาเรา เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นความอ่อนแอของพวกเขา. เราให้ความอ่อนแอแก่มนุษย์เพื่อพวกเขาจะนอบน้อม; และพระคุณของเราเพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา; เพราะหากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27)

ตามที่พระคัมภีร์ข้อนี้กล่าว เราได้รับความอ่อนแอเพื่อเราจะนอบน้อมถ่อมตน คนที่เลือกนอบน้อมถ่อมตนและใช้ศรัทธาในพระองค์ พระองค์จะทรงทำให้เข้มแข็ง ความนอบน้อมถ่อมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นตัวเร่งที่จำเป็นต่อการทำให้ความเข้มแข็งและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าประจักษ์ในชีวิตเรา

มีคนที่ “คิดว่าตนฉลาด, และพวกเขาไม่สดับฟังคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้า, เพราะพวกเขาเมินคำแนะนำเหล่านั้น, โดยคิดว่าพวกเขารู้ด้วยตนเอง, ดังนั้น, ปัญญาของพวกเขาคือความโง่และมันหาเป็นประโยชน์แก่พวกเขาไม่” (2 นีไฟ 9:28) ยาถอนพิษความจองหองคือการ “พิจารณาตน [ตัวเรา] เป็นคนโง่ต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า, และลงมาสู่ห้วงลึกแห่งความถ่อมตน” (2 นีไฟ 9:42)

ตั้งแต่วัยเยาว์โจเซฟเข้าใจว่ากุญแจดอกสำคัญของการปลูกฝังความนอบน้อมถ่อมตนคือแสวงหาพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการสวดอ้อนวอนที่จริงใจและตั้งใจ ดาเนียล ไทเลอร์สมาชิกรุ่นแรกของศาสนจักรจำครั้งหนึ่งในเคิร์ทแลนด์ได้เมื่อคนมากมายหันมาต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์ บราเดอร์ไทเลอร์อยู่ในการประชุมที่ท่านศาสดาพยากรณ์สวดอ้อนวอนกับผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า เขาบรรยายประสบการณ์นั้นดังนี้

“ข้าพเจ้าเคยได้ยินชายหญิงหลายคนสวดอ้อนวอน … แต่จนถึงเวลานั้นข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินใครพูดกับพระผู้รังสรรค์ของเขาประหนึ่งพระองค์ทรงฟังอยู่ที่นั่นเสมือนพ่อใจดีฟังความทุกข์โศกของลูกกตัญญู เวลานั้นโจเซฟไม่มีการศึกษา แต่การสวดอ้อนวอนครั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการสวดอ้อนวอนให้คนที่กล่าวหาว่าท่านออกนอกลู่นอกทาง … รับการเรียนรู้และพลังโน้มน้าวของสวรรค์ … สำหรับข้าพเจ้าดูประหนึ่งม่านถูกนำออกไป ข้าพเจ้าเห็นพระเจ้าประทับยืนตรงหน้าผู้รับใช้ที่นอบน้อมที่สุดในบรรดาผู้รับใช้ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา”9

ความเข้มแข็งจากความอ่อนแอ

เมื่อโจเซฟอายุั 17 ปี โมโรไนบอกท่านว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้ข้าพเจ้าทำ; และชื่อข้าพเจ้าจะทั้งดีและชั่วในบรรดาประชาชาติ, ตระกูล, และภาษาทั้งปวง, หรือจะมีผู้เอ่ยถึงทั้งในทางดีและชั่วในบรรดาผู้คนทั้งปวง” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:33)

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าเวลานั้นคนมากมายคิดว่าคำอ้างเช่นนั้นเป็นหลักฐานยืนยันความหลงผิดคิดว่าตนเขื่อง ทว่าในโลกปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ต ชื่อของเด็กชาวไร่ซึ่งไม่มีใครรู้จักนั้น เป็น ที่รู้ไปทั่วโลกและถูกพูดถึงทั้งในทางดีและชั่ว

early Book of Mormon

ก่อนโจเซฟกับไฮรัม สมิธไปสู่ความตายที่คาร์เทจ อิลลินอยส์ ไฮรัมอ่านให้โจเซฟและคนอื่นๆ ในคุกที่อยู่ห้องเดียวกับพวกท่านฟัง จากนั้นก็พับหน้ากระดาษที่มีถ้อยคำต่อไปนี้

“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนพระเจ้าขอให้พระองค์ประทานพระคุณแก่คนต่างชาติ, เพื่อพวกเขาจะมีจิตกุศล.

“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า : หากพวกเขาไม่มีจิตกุศล ก็ไม่สำคัญสำหรับเจ้า, เจ้าซื่อสัตย์; ดังนั้นเราจะทำให้อาภรณ์ของเจ้าสะอาด. และเพราะเจ้าเห็นความอ่อนแอของเจ้า, เราจะทำให้เจ้าเข้มแข็ง, แม้ไปสู่การได้นั่งลงในสถานที่ซึ่งเราเตรียมไว้ในปราสาทพระบิดาของเรา” (อีเธอร์ 12:36–37)

ในความเป็นจริงแล้ว จากความอ่อนแอ นั่นเองที่พระองค์ทรงทำให้โจเซฟเข้มแข็ง โดยได้แรงกระตุ้นส่วนหนึ่งจากความอ่อนแอของท่าน ท่านจึงแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าในศรัทธา ตั้งใจทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ท่านเข้าใกล้พระบิดาในสวรรค์ของเราด้วยเหตุเหล่านี้ตลอดชีวิตท่าน เพราะเหตุนี้ท่านจึงประสบนิมิตแรก แปลพระคัมภีร์มอรมอน ได้รับกุญแจฐานะปุโรหิต จัดตั้งศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระคริสต์ และนำความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มาให้แผ่นดินโลก ศาสดาพยากรณ์โจเซฟเข้มแข็งขึ้น พระองค์ไม่ได้ทรงทำให้ท่านยิ่งใหญ่ในชั่วพริบตา ความเข้มแข็งเกิดขึ้นกับท่านศาสดาพยากรณ์ กับท่านและข้าพเจ้าเป็น “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์, ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” (คพ. 128:21; ดู อิสยาห์ 28:10; 2 นีไฟ 28:30)

ดังนั้นจงอย่าท้อถอย เพราะกระบวนการทำให้เข้มแข็งเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยและเรียกร้องความอดทนด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ว่าจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดและยอมทำตามพระประสงค์ของพระองค์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

ได้ของประทานคืน

วิลเลียม ทีนเดลผู้แปลและจัดพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 16 กล่าวกับคนมีการศึกษาที่คัดค้านไม่ให้พระคัมภีร์ไบเบิลไปอยู่ในมือสามัญชนว่า “หากพระผู้เป็นเจ้าทรงไว้ชีวิตข้าพเจ้า ภายในไม่กี่ปี ข้าพเจ้าจะทำให้เด็กไถนารู้จักพระคัมภีร์มากกว่าท่านเสียอีก!”10

ในเหตุการณ์ที่น่าสนใจคล้ายกันนี้ในอีก 300 ปีต่อมา แนนซี โทว์เลนักเทศน์สัญจรที่มีชื่อเสียงในทศวรรษ 1830 มาเยือนเคิร์ทแลนด์เพื่อสังเกต “ชาวมอรมอน” ด้วยตนเอง ในการสนทนากับโจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่น เธอวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรด้วยวาจาเชือดเฉือน

ตามบันทึกของโทว์เล โจเซฟไม่พูดอะไรจนกระทั่งเธอหันมามองท่านและเรียกร้องให้ท่านสาบานว่าเทพแสดงให้ท่านเห็นว่าแผ่นจารึกทองคำอยู่ที่ไหน ท่านตอบอย่างอารมณ์ดีว่าท่านไม่เคยสาบาน! เมื่อไม่สามารถทำให้ท่านโมโหได้ เธอจึงพยายามดูถูกเหยียดหยามท่าน “คุณไม่ละอายใจบ้างหรือกับการอวดอ้างเช่นนั้น” เธอถาม “คุณก็แค่เด็กไถนาโง่เง่าของประเทศเรา!”

โจเซฟตอบอย่างใจเย็นว่า “เหมือนในสมัยก่อนที่ชาวประมงผู้ไม่รู้หนังสือได้ของประทานคืนอีกครั้ง”11

ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำของทีนเดลจึงบอกล่วงหน้าว่าเด็กไถนาน่าจะรู้พระคัมภีร์มากกว่าทุกคนที่เคยมีชีวิต ยกเว้นพระผู้ช่วยให้รอด

แน่นอนว่าศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูและพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไม่ใช่งาน ของ โจเซฟ สมิธ “เด็กไถนา” ของเขตแดนอเมริกา แต่เป็นงานของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ได้รับการฟื้นฟู ผ่าน โจเซฟ สมิธศาสดาพยากรณ์ ขณะใคร่ครวญชีวิตท่าน โจเซฟอาจเห็นพ้องกับความเห็นของเจคอบที่ว่า “พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้ายังทรงแสดงให้เราเห็นความอ่อนแอของเราเพื่อเราจะรู้ว่าโดยพระคุณของพระองค์, และพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมหาที่สุดมิได้ของพระองค์ที่มีต่อลูกหลานมนุษย์, เราจึงมีพลังความสามารถทำสิ่งเหล่านี้” (เจคอบ 4:7)

ข้าพเจ้ารู้ว่าโจเซฟ สมิธเคยเป็นและยังคงเป็นศาสดาพยากรณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้เข้มแข็งจากความอ่อนแอ ประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกอยากตะโกนฮาเลลูยาห์ตลอดเวลาเมื่อข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าเคยรู้จักโจเซฟ สมิธศาสดาพยากรณ์”12 แม้ข้าพเจ้าไม่เคยมีสิทธิพิเศษเช่นนั้นในความเป็นมรรตัย แต่ข้าพเจ้าได้รับการปลอบใจในคำสัญญาที่ว่า “คนนับล้านจะรู้จักโจเซฟอีก”13 ข้าพเจ้าสำนึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อท่านศาสดาพยากรณ์และความนอบน้อมถ่อมตนของท่านต่อพระผู้เป็นเจ้าของเราผู้ทำให้ท่านเข้มแข็ง ข้าพเจ้าได้รับกำลังใจจากประวัตินี้และหลักคำสอนที่ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้เราแต่ละคนเข้มแข็งจากความอ่อนแอหากเรานอบน้อมถ่อมตนต่อพระองค์ในทำนองเดียวกันและใช้ศรัทธาของเราในพระองค์ด้วยความตั้งใจแน่วแน่วว่าจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์

อ้างอิง

  1. ข้าพเจ้าขอบคุณเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งริชาร์ด อี. เทอร์เลย์ จูเนียร์ และเจด วูดเวิร์ธในแผนกประวัติศาสนจักรสำหรับข้อมูลที่น่าคิดของพวกเขา

  2. โจเซฟ สมิธ ใน The Joseph Smith Papers, Histories, Volume 1: 1832–1844, ed. Karen Lynn Davidson and others (2012), 11.

  3. โจเซฟ สมิธ, “Letter to William W. Phelps, 27 November 1832,” 4, josephsmithpapers.org.

  4. เอ็มมา สมิธ ใน “Last Testimony of Sister Emma,” Saints’ Herald, Oct. 1, 1879, 290; ปรับตัวสะกดให้ตรงตามมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน; ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “A Treasured Testament,” Ensign, July 1993, 62–63 ด้วย.

  5. โจเซฟ สมิธ ใน The Joseph Smith Papers, Journals, Volume 1: 1832–1839, ed. Dean C. Jessee and others (2008), 9.

  6. เกี่ยวกับ “Coriantumr” และการสะกดชื่อที่ถูกต้อง ให้ดู Royal Skousen, ใน Book of Mormon Authorship Revisited: The Evidence for Ancient Origins, ed. Noel B. Reynolds (1997), 61–93. สเกาเซ็นใช้หลักฐานจากต้นฉบับเดิมแสดงให้เห็นว่าครั้งแรกชื่อที่ถูกต้องปรากฏในเนื้อความ ชื่อเหล่านั้นสะกดไว้อย่างถูกต้อง ส่วนชื่อที่ปรากฏต่อจากนั้นอาจสะกดไม่ถูกต้อง ซึ่งบ่งบอกว่าโจเซฟ สมิธสะกดแต่ละชื่อแค่ครั้งแรกแต่จากนั้นก็อาศัยความจำของผู้จด

  7. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 561.

  8. เอ็ดเวิร์ด สตีเวนสัน ใน Hyrum L. Andrus and Helen Mae Andrus, comps., They Knew the Prophet (1974), 87.

  9. ดาเนียล ไทเลอร์ ใน “Recollections of the Prophet Joseph Smith,” Juvenile Instructor, Feb. 15, 1892, 127; ดู Teachings: Joseph Smith, 127 ด้วย.

  10. วิลเลียม ทีนเดล ใน S. Michael Wilcox, Fire in the Bones: William Tyndale—Martyr, Father of the English Bible (2004), 47.

  11. Vicissitudes Illustrated, in the Experience of Nancy Towle, in Europe and America (1833), 156, 157.

  12. คำสอนของประธานศาสนาจักร: บริคัม ยัง (1997), 382.

  13. “สรรเสริญบุรุษ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 14.