เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ ตอน 2: พบที่ของท่าน ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
อย่าปล่อยให้ผู้อื่นหยุดยั้งท่านไม่ให้ได้รับพรของการเป็นสมาชิกในศาสนจักรของพระคริสต์
หลังจากไม่ได้มาโบสถ์แปดปี เปาโล (นามสมมติ) ได้รับโทรศัพท์จากอธิการของเขาในบราซิลถามว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง เปาโลอยากกลับไปมากแต่ความกังวลหลายเรื่องทำให้เขาไม่เข็งขันเต็มที่ เขาจะหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตัวเองที่ยังโสดกับคนที่แต่งงานแล้วและมีบุตรได้อย่างไร เขาจะพบเพื่อนที่โบสถ์ไหมหลังจากไม่ได้ไปนานและหากพบ คนเหล่านั้นจะคิดกับเขาอย่างไร เขาจะยังสามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณเหมือนที่เคยรู้สึกในช่วงเปลี่ยนใจเลื่อมใสและเป็นผู้สอนศาสนาหรือมีศรัทธามากพอจะยอมรับการเรียกหรือไม่
หนึ่งเดือนหลังจากได้รับโทรศัพท์ เปาโลชมคำปราศรัยการประชุมใหญ่ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุด เรื่อง “เชิญมาร่วมกับเรา”1 “คำพูดนั้นโดนใจผม” เขาจำได้ และภายในไม่กี่สัปดาห์เขาพบตนเองนั่งตัวสั่นอยู่ในลานจอดรถที่โบสถ์ และกล่าวคำสวดอ้อนวอนในใจขอให้มีเรี่ยวแรงลงจากรถเข้าไปในอาคาร
“ทุกอย่างไม่สมบูรณ์แบบ” เขานึกถึงปีแรกหลังจากกลับมา ไม่ง่ายที่จะเข้ากับคนอื่น ทว่าความรู้สึกเชื่อมสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอดและความปรารถนาแรงกล้าอยากได้ใบรับรองพระวิหารช่วยให้เขาเอาชนะความไม่มั่นใจของตนเอง เขาเริ่มอ่านพระคัมภีร์และสวดอ้อนวอนอีกครั้ง “ถ้าคุณไม่ยอมแพ้ คุณจะมีพลังและรู้สึกได้ว่าพระเจ้ากำลังอวยพรคุณ” เขาแนะนำคนที่พยายามทำให้ตนเป็นที่ยอมรับ “ผมมีประจักษ์พยานว่านี่คือศาสนจักรของพระคริสต์ แต่คุณจะพบความเข้าพวกที่แท้จริงในพระองค์”
เรื่องราวของเปาโลแสดงให้เห็นหลายประเด็นที่ผู้นำศาสนจักรอธิบายในชุดวีดิทัศน์ ความเป็นหนึ่งเดียวในความต่าง ข่าวสารของพวกท่านให้ความหวังและคำแนะนำแก่คนที่รู้สึกไม่เข้าพวก บางครั้งเรารู้สึกว้าเหว่แม้ในศาสนจักร แต่ตามที่ผู้นำเหล่านี้และสมาชิกชี้ให้เห็น มีสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยให้ตัวเราผ่านพ้นความท้าทายต่างๆ เช่นการกีดกันหรือการปฏิบัติไม่ดีของผู้อื่น เราสามารถหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ ก้าวต่อไปในความไม่มั่นใจ รู้ว่าเรากลับมาได้ทุกเมื่อ และเหนือสิ่งอื่นใด จงวางใจพระผู้ช่วยให้รอด
หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ: เราทุกคนจะได้รับพรในท้ายที่สุด
“เมื่อท่านเริ่มเปรียบเทียบตัวท่าน เปรียบเทียบกัน สิ่งนั้นนำไปสู่ความท้อแท้ไม่ก็นำไปสู่ความจองหอง … พรมาในอนาคตอันใกล้ พรมาในระยะยาว ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางครั้งพรมีเตรียมไว้ให้เราหลังจากเราผ่านม่านไปแล้ว … สุดท้ายแล้ว เรามั่นใจได้ว่าสัญญาของชีวิตนิรันดร์มีให้ทุกคน”
—เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
โรเชลล์ย้ายเข้าไปอยู่บ้านขนาดเล็กในแถบคนร่ำรวยทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาหลังออกจากบ้านพักคนจรจัด เธอหย่าร้างและเลี้ยงดูลูกหลายคน เธอทำงานสองที่ บางครั้งก็สาม เพื่อจะมีเงินพอสำหรับค่าอาหารและที่พัก และแข็งขันน้อยในการไปโบสถ์เป็นครั้งคราวตั้งแต่เธอเปลี่ยนใจเลื่อมใส
“แม้ว่าแทบจะทุกคนในวอร์ดใหม่จะมีฐานะดีกว่าฉัน” เธออธิบาย “แต่พวกเขาเข้ามาคุยกับฉันและยอมรับในวิธีที่ฉันแต่งตัว ทุกคนห่วงใยฉันอย่างแท้จริง”
แม้จะอยู่ภายใต้ความกดดันทางการเงินอย่างหนักหน่วง โรเชลล์ไม่เคยรู้สึกขุ่นเคืองที่ผู้อื่นอยู่ในสภาวการณ์ที่สะดวกสบายกว่า “แน่นอนว่าฉันต้องการความมั่นคง แต่ฉันไม่เคยมองที่บ้านของเพื่อนบ้านแล้วรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าทอดทิ้งฉัน” เธอกล่าว “ฉันสามารถรู้สึกได้ว่าพระองค์ทรงเดินเคียงข้างฉันแม้ฉันจะเลือกทางที่ไม่ค่อยดี”
แม้ตารางทำงานของโรเชลล์จะท้าทายบ้างในบางครั้ง แต่ในที่สุดผู้นำและเพื่อนในวอร์ดช่วยให้เธอได้ทำตามความปรารถนายิ่งของเธอในการไปพระวิหาร “การไปพระวิหารเป็นประจำช่วยฉันสำนึกคุณว่าฉันมาไกลขนาดไหน” เธอตั้งข้อสังเกต “ฉันไม่กังวลว่าคนอื่นอาจดูเหมือนจะล้ำหน้าไปก่อนแล้ว”
โรเชลล์ยอมรับว่าเธอกับลูกสาวต้องดิ้นรนและ “ไม่ใช่ครอบครัวแอลดีเอสที่ดีพร้อม” แต่เธอตระหนักด้วยว่า “ทุกคนมีปัญหาและไม่มีครอบครัวไหนที่ดีพร้อมจริงๆ” มุมมองนั้นปลดเธอเป็นอิสระจากการมองผู้คนรอบข้างและให้เธอมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์ของเธอกับพระผู้เป็นเจ้า
“ลูกสาวของฉันสามารถเห็นความแตกต่างที่พระกิตติคุณมีต่อชีวิตฉัน” เธอกล่าว “ฉันรู้สึกถึงความแตกต่างได้เช่นกันและฉันยุ่งมากกับงาน ครอบครัว และโบสถ์จนฉันไม่มีเวลาเปรียบเทียบ ฉันเพียงแค่มีความสุขที่ได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง”
อยู่อย่างเข้มแข็ง: พระคริสต์ทรงเปลี่ยนท่านได้
“คนนั่งใกล้ข้าพเจ้าไม่สนใจข้าพเจ้าหรือแม้กระทั่งอยากเขยิบออกห่าง … คนๆ นี้ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่าพระคริสต์ทรงรู้สึกอย่างไรต่อข้าพเจ้าและสิ่งที่ข้าพเจ้าทำได้เพราะพระคริสต์ … ทุกคนต้องตั้งใจว่าพวกเขาจะต้องมีที่ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า [และใน] พระกายของพระคริสต์ และคนที่ไม่นึกถึงใครหรือไม่สนใจใครหรือแย่กว่าใครจะหยุดยั้งไม่ได้”
—เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ขณะเติบใหญ่ แมทธิวเข้าโบสถ์ในสาขาเล็กๆ เขากับภรรยาที่เป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสจากยูเครนคุ้นกับการเรียกมากมายและการมีส่วนร่วมเต็มที่กับชุมชนนานาชาติแอลดีเอส แต่จากนั้นก็ย้ายไปอยู่สหรัฐ วอร์ดใหญ่และความคาดหวังทางวัฒนธรรมอันแตกต่างทำให้พวกเขารู้สึก “ไม่เป็นที่ต้องการและเคว้งคว้าง” เขาจำได้ “ดูเหมือนเราไม่สามารถเข้ากับคนอื่นได้ เรารู้สึกถูกมองข้าม ขาดการหนุนใจและการเชื่อมสัมพันธ์ในวันอาทิตย์”
ความคับข้องใจของพวกเขาถึงจุดแตกหักหลังจากย้ายมาอยู่อีกเมืองหนึ่งเมื่อแมทธิวกับภรรยาตั้งตารอการเยี่ยมจากผู้นำฐานะปุโรหิตในท้องที่คนหนึ่งซึ่งในที่สุดก็บอกจุดประสงค์ของการมาเยี่ยมว่าเพื่อขอให้พวกเขาควบคุมลูกวัยหัดเดินให้อยู่นิ่งๆ ระหว่างการประชุมศีลระลึก แมทธิวเสียใจมากและคิดว่าจะไม่กลับไปอาคารประชุมหลังนั้นอีก “สิ่งที่หยุดความคิดนั้น” เขาอธิบาย “คือประจักษ์พยานของผมที่ว่านี่เป็นศาสนจักรของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ผมอยู่ที่นั่น การมีส่วนร่วมในพระกิตติคุณมีผลเหนือความเสียใจหรือสิ่งที่ผมประสบพบเจอในชีวิตนี้”
สถานการณ์ในศาสนจักรบางครั้งทำให้เรารู้สึกว้าเหว่ ไม่มีความสำคัญ และไม่เป็นที่ต้องการ สภาวการณ์ที่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเท่านั้น เดวิด มิลส์นักเขียนนิกายคาทอลิกพูดถึงความท้าทายที่คนไปโบสถ์ประสบในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่ “รวยกว่าหรือจนกว่า มีการศึกษามากกว่าหรือน้อยกว่าคุณ พวกเขาอาจจะมีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรืออายุต่างจากคุณ” เราอาจจะไม่เลือกพวกเขาเป็นเครือข่ายสังคมของเรา เขาอธิบาย แต่คำมั่นสัญญาทางศาสนาครอบคลุมถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนที่เราไม่เลือกและ “เหลือที่สักแห่งไว้ให้เหมือนชุมชนมากกว่าเครือข่าย … คุณต้องเรียนรู้ที่จะรักคนเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็แสดงความรักทั้งที่คุณไม่อยากทำ”2 การพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าเมื่อท่านไม่สามารถปิดกั้นหรือเลิกติดตามคนในชุมชนศาสนาของท่านมักเป็นหนทางเดียวของการเอาชนะความท้าทายเรื่องนี้
แมทธิวพบว่าการพึ่งพาพระเจ้าสำคัญยิ่งต่อการอยู่อย่างแข็งขันในศาสนจักร “สิ่งเดียวที่หยุดยั้งผมไม่ให้ไปบางครั้งคือประจักษ์พยานของผมในพระคริสต์” เขาอธิบาย “พระกิตติคุณใหญ่กว่าพวกเรา พระคริสต์ทรงเห็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ทรงทราบว่าเราจะเป็นอะไรได้ และมีที่ว่างให้เราทุกคน”
แจสมินสมาชิกทางภาคใต้ของสหรัฐยอมรับว่า “ดิฉันไม่ลงรอยกับพี่น้องสตรีคนหนึ่งในวอร์ดที่ดูเหมือนจะเข้ามาจุ้นจ้านในชีวิตดิฉันมากเกินเหตุ และดิฉันยอมให้สิ่งนั้นผลักไสไล่ส่งดิฉัน” แต่เมื่อความเป็นห่วงลูกชายตัวน้อยเริ่มมีน้ำหนักมากกว่าความไม่มั่นใจว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อกลับมา แจสมินรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้อง “ไม่ปล่อยให้ความเห็นของผู้อื่นต่อดิฉันทำให้ดิฉันหันหลังให้พระคริสต์—ไม่ว่าดิฉันจะรู้สึกว่ามีคนในวอร์ดดูถูกดิฉันก็ตาม”
เธอรวบรวมความกล้าจนมากพอจะฝ่าพายุลูกใหญ่ในวันอาทิตย์วันหนึ่งไปจนถึงวันที่ซึ่งครอบครัวเล็กๆ ของเธอรู้สึกทันทีถึงการยอมรับจากเพื่อนๆ ผู้ช่วยให้พวกเขาเติบโตในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ “ดิฉันเสียดายที่ออกไป” เธอกล่าว “แต่ดิฉันรู้สึกขอบคุณที่ไม่ยอมแพ้และไม่ละความพยายาม เพราะพระกิตติคุณไม่เกี่ยวกับผู้อื่น—หรือแม้แต่ดิฉัน—แต่เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดของดิฉัน”
ก้าวเข้าไปในความมืด: แสงสว่างจะตามมา
“ปุถุชนชายหญิงพูดว่า ‘ฉันไม่มีทางก้าวเข้าไปในความมืดจนกว่าแสงสว่างจะปรากฏและฉันมองเห็นว่าฉันกำลังไปทางไหน ข้อกำหนดคือให้เราก้าวเดิน โดยคาดหวังว่าเมื่อเท้าของเราเหยียบพื้น แสงสว่างจะปรากฏ”
—เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
บางครั้งยากที่สมาชิกใหม่จะหยั่งรากในพระกิตติคุณเมื่อพวกเขาไม่มั่นใจเลยว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร การเรียนรู้เกี่ยวกับศรัทธาในแง่นี้สำหรับเหม่ยซินแม่บ้านในไต้หวันเกี่ยวข้องกับคำตักเตือนในพระกิตติคุณให้นำเด็กเข้ามาในโลก ซึ่งเป็นก้าวที่ท้าทายเพราะ “คนจำนวนมากในวัฒนธรรมของดิฉันมีลูกคนเดียวหรือไม่ก็เลี้ยงสัตว์แทน” เธอตั้งข้อสังเกต การตั้งครรภ์แต่ละครั้งเรียกร้องให้เธอมีศรัทธาจะทำสิ่งที่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นและบางครั้งต้องไม่ใส่ใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากญาติๆ และวัฒนธรรมส่วนใหญ่
บ่อยครั้งการเดินหน้าต่อไปเรียกร้องให้ทำสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะน่ากลัวสำหรับคนใหม่ในศาสนา อีกทั้งเรียกร้องให้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยพวกเขาระหว่างทาง เอ็ลเดอร์เบดนาร์รับรองว่า การมีความกังวลใจและความไม่มั่นใจเป็นเรื่องปกติของกระบวนการเรียนรู้และเติบโตของเรา แต่บางครั้งการทำสิ่งที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้น—ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างครอบครัวหรือกลับมามีส่วนร่วมในศาสนจักร—จะน่าหวาดหวั่นเป็นพิเศษเพราะพยานมาหลังจากการทดลองศรัทธาของเรา (ดู อีเธอร์ 12:6) เหม่ยซินกับสามีเธอได้รับพยานเช่นนั้นหลังจากสร้างครอบครัว “เรามีความสุขและปลื้มลูกๆ ของเรามาก” เธอกล่าว “เราได้เรียนรู้ว่าต้องดำเนินชีวิตอย่างประหยัดมัธยัสถ์ ช่วยเหลือและรักกัน ดิฉันสำนึกคุณที่เรานำพวกเขาเข้ามาในโลก”
บ่อยครั้งก้าวแรกๆ นั้นยากที่สุด “ครั้งแรกที่เรา [ก้าวเข้าไปในความมืด]” ตามที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว “มันไม่ใช่ความสงสัย แต่มีความไม่มั่นใจนิดๆ มีแม้กระทั่งความหวาดวิตกหน่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก” แม้กระบวนการเดินหน้าต่อไปจะไม่ราบรื่นไปเสียทั้งหมด (“ไม่ใช่วงจรที่ไม่เคยถูกขัดจังหวะ” เขาอธิบาย) เราสามารถเติบโตทีละน้อย “บรรทัดมาเติมบรรทัด” โดยมีศรัทธาเพิ่มขึ้น
ลาซาร์จากจอร์เจียเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในประเทศแถบชายแดนรัสเซียและยุโรปแนะนำว่าการเดินหน้าต่อไปต้องอาศัยการปฏิบัติ การฝึกวางใจเพื่อนแอลดีเอสเป็นก้าวแรกของเขาหลังจากเขาตกลงใจยอมรับพรฐานะปุโรหิต “ผมเดินหน้าต่อจากนั้นโดยเรียนบทสนทนากับผู้สอนศาสนา” เขาอธิบาย เมื่อลาซาร์มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์เพิ่มขึ้น “ผมเดินก้าวใหญ่ของบัพติศมาทั้งที่ผมไม่แน่ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พระเจ้าประทานความกล้าให้ผมในแต่ละช่วง และผมสำนึกคุณอย่างยิ่งที่ผมเดินก้าวนั้น”
อย่ายอมแพ้
“คนทั่วไปที่คิดว่าพวกเขาทำบาปมากหรือไปไกลเกินหรืออยู่ห่างเกินไปแล้วและไม่สามารถกลับเข้ามาในวงจรได้ คำประกาศของข้าพเจ้าคือไม่มีใครตกต่ำเกินกว่าแสงสว่างของพระคริสต์จะส่องถึง เป็นไปไม่ได้”
—เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ไบรอันเติบโตในครอบครัวแอลดีเอสที่เคร่งศาสนา เขารู้สึกว่าศาสนาจักรไม่เหมาะกับเขา “ผมชอบเกมแฟนตาซี ภาพยนตร์ และดนตรีร็อค” เขากล่าว “ไม่ชอบลูกเสือ พระคัมภีร์ เซมินารี และกีฬา” ทันทีที่เขาออกจากบ้านได้ เขาย้ายเข้าไปอยู่อพาร์ตเมนต์และ “ยอมรับวิถีของโลก รวมทั้งเรื่องเพศและยาเสพติด” หลังจากช่วงเวลายาวนานที่ไบรอันเรียกว่า “การใช้ชีวิตเสเพลและการทดลอง” เขาประสบปัญหาการเงินและพ่อแม่นำตัวเขากลับบ้านอีกครั้ง แต่เขาไม่กลับไปโบสถ์
การเกิดของน้องสาวทำให้ไบรอันประเมินทัศนะของตนเองอีกครั้ง เมื่อเขาอุ้มเธอครั้งแรก เขานึกว่า “ผมรู้ว่าเธอไม่ได้เป็นแค่สัตว์อีกชนิดหนึ่งเท่านั้น” เขาเข้าร่วมการให้พรน้องสาวอย่างประหวั่นพรั่นพรึง และเมื่อศีลระลึกมาถึงเขา “ผมส่งต่อโดยไม่รับส่วน แต่ส่วนหนึ่งของผมรู้สึกหิวโหยทางวิญญาณ”
ไบรอันพยายามแยกแยะความรู้สึกขัดแย้งของตนและเริ่มจดบันทึกส่วนตัว “คืนหนึ่งผมอยู่ดึกเพื่อเขียนภาวะวิกฤตทางวิญญาณของผม” เขากล่าว “ผมมีประสบการณ์ทางวิญญาณครั้งแรก แม้จะไม่ใช่ประสบการณ์ด้านดีก็ตาม” เขารู้สึกว่าพลังความชั่วร้าย ความโกรธ และความเกลียดชังครอบงำจิตวิญญาณของเขา “หลังจากนั้น” เขาอธิบาย “ผมรู้ว่าผมต้องการพระเจ้า” แต่เพราะหลงทางมาไกลมาก ไบรอันจึงสงสัยว่า “ผมจะมีค่าควรรับความช่วยเหลือและความคุ้มครองจากพระองค์หรือ” เขาสงสัยด้วยว่าเขาจะรับส่วนศีลระลึกได้อีกครั้งหรือไม่
ถนนวกกลับมันยาก การเลิกบุหรี่ไม่ง่าย การสารภาพต่ออธิการต้องอาศัยความกล้าหาญ และการหันหลังให้เพื่อนเก่าและกิจกรรมเดิมก็ยากเช่นกัน ครอบครัว แฟนสาว และอธิการของไบรอันล้วนสนับสนุนเขา แต่เขาค้นพบแหล่งใหญ่ของพลังในพระเยซูคริสต์
“ผมพบว่าพระเจ้าทรงปรารถนาจะช่วยผม” เขาจำได้ “โอกาสใหม่ๆ เปิดกว้างทดแทนสิ่งที่ผมเคยแสวงหา ยิ่งผมพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณมากเพียงใด เส้นทางของผมยิ่งชัดเจนเพียงนั้น” เมื่อไบรอันวางใจพระเจ้าและค้นพบว่าพระองค์เต็มพระทัยให้อภัยและเยียวยา ศีลระลึกจึงมีความหมายต่อเขามากขึ้นและช่วยทำให้เขาใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น “แม้ผมจะเคยกินขนมปังและน้ำที่โบสถ์หลายร้อยครั้งสมัยเด็ก แต่ในที่สุดผมก็สามารถรับส่วนศีลระลึกได้เหมือนผมรับศีลระลึกครั้งแรก”
ไม่มีใครทำหน้าที่แทนท่านได้
การก้าวลงจากรถและเข้าไปในโบสถ์ การยื่นมือช่วยเหลือสมาชิกคนอื่นๆ การเอาชนะสถานการณ์ที่เจ็บปวด การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณโดยไม่มั่นใจเลยว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และการสารภาพบาป—เราทุกคนล้วนล้วนเดินบนเส้นทางยากๆ ที่ไม่แน่นอนระหว่างทางไปถึงต้นไม้แห่งชีวิต (ดู 1 นีไฟ 8)
คำมั่นสัญญาของตัวเราว่าจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดจำเป็นต่อการมาถึงอย่างปลอดภัย แม้กำลังใจ ความรัก และการยอมรับจากเพื่อนสมาชิกและผู้นำจะสำคัญ ทว่าเราแต่ละคนอาจประสบหลายครั้งเมื่อเราต้องเต็มใจติดตามพระผู้ช่วยให้รอด แม้เรารู้สึกว่าเราติดตามเพียงลำพัง
ทำหน้าที่ของท่านในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ อย่าเปรียบเทียบ ยอมให้พระคริสต์เปลี่ยนท่าน ก้าวเดินด้วยศรัทธาเพื่อจะได้รับรางวัล และรู้ว่าไม่มีวันสายเกินกว่าจะกลับมา “ดังนั้น, หากท่านจะมุ่งหน้า, ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว, ดูเถิด, พระบิดาตรัสดังนี้: เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์”(2 นีไฟ 31:20)