2019
ยอห์น สานุศิษย์ที่พระเยซูทรงรัก
มกราคม 2019


ยอห์น สานุศิษย์ที่พระเยซูทรงรัก

งานเขียนในพันธสัญญาใหม่เกี่ยวกับยอห์นผู้เป็นที่รักแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นทั้งครูและต้นแบบการเป็นสานุศิษย์ของเราเอง

John at the Last Supper

ส่วนหนึ่งจากภาพ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย โดย คาร์ล บลอค

หลังจากเปโตร ยอห์นน่าจะเป็นอัครสาวกสิบสองที่คนรู้จักมากที่สุดในบรรดาอัครสาวกสิบสองดั้งเดิมของพระเยซู เขากับยากอบพี่ชายอยู่กับเปโตรในช่วงสำคัญที่สุดบางช่วงของการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด และในทางปฏิบัติแล้วเขาเกี่ยวข้องแต่แรกกับหนังสือห้าเล่มในพันธสัญญาใหม่1 ความสนิทสนมเป็นส่วนตัวของเขากับพระเจ้าบอกเป็นนัยไว้ใน ยอห์น 13:23: “สาวกที่พระเยซูทรงรักเอนกายอยู่ใกล้พระองค์” ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมา ศิลปะของชาวคริสต์สะท้อนภาพนี้ ภาพที่ยอห์นวัยหนุ่มมักจะพักผ่อนในอ้อมพระพาหุของพระผู้ช่วยให้รอด นี่เป็นที่มาของชื่อเฉพาะของเขา ยอห์นผู้เป็นที่รัก แต่พยานและพันธกิจของเขาเปิดเผยแง่มุมต่างๆ ของการเป็นสานุศิษย์ที่เราทุกคนสามารถมีได้

ยอห์นบุตรของเศเบดี

ชื่อฮีบรูของยอห์นคือ โยฮานัน หมายถึง “พระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตา” รายละเอียดส่วนใหญ่ที่เรารู้เกี่ยวกับเขามาจากหนังสือกิตติคุณสามเล่มแรก ซึ่งเล่าเรื่องราวการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดจากมุมมองเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ กิตติคุณทั้งสามเล่มเห็นพ้องกันว่ายอห์นเป็นบุตรของชาวประมงกาลิลีที่มั่งคั่งชื่อเศเบดีผู้เป็นเจ้าของเรือและสามารถจ้างคนงานมาช่วยงานเขากับบุตรชายได้ ยอห์นกับยากอบพี่ชายเป็นหุ้นส่วนกับเปโตรและอันดรูว์สองพี่น้องด้วย ทั้งสี่คนทิ้งธุรกิจประมงเมื่อพระเยซูทรงเรียกพวกเขาเป็นสานุศิษย์เต็มเวลาติดตามพระองค์2

Jesus calling fishermen

พระคริสต์ทรงเรียกอัครสาวกยากอบและยอห์น เอ็ดเวิร์ด อาร์มิเทจ (1817–1896) / Sheffield Galleries and Museums Trust, UK / © Museums Sheffield / The Bridgeman Art Library International

แม้หนังสือกิตติคุณไม่ได้กล่าวถึงเศเบดีอีก แต่มารดาของยากอบและยอห์นกลายเป็นผู้ติดตามพระเยซู โดยช่วยขอร้องพระเยซูแทนบุตรชายและอยู่ที่นั่นขณะพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน3 ปกติจะเรียกชื่อมารดาของยากอบและยอห์นว่าสะโลเม เธออาจจะเป็นน้องสาวของมารีย์พระมารดาของพระเยซูก็ได้ ทำให้ยากอบกับยอห์นเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเยซูและเป็นญาติของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา4

หลังจากการเรียกครั้งแรกไม่นาน ยอห์นได้เป็นพยานถึงปาฏิหาริย์และคำสอนช่วงแรกมากมายของพระเจ้า5 การได้เห็นปาฏิหาริย์เหล่านี้และได้ฟังคำเทศนาเช่นคำเทศนาบนภูเขาเตรียมยอห์นอย่างไม่ต้องสงสัยให้พร้อมรับช่วงเวลาที่พระเยซูทรงเรียกเขาเป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสอง6 ในบรรดาพยานพิเศษเหล่านี้ เปโตร ยากอบ และยอห์นกลายเป็นวงในของสานุศิษย์คนสนิทผู้อยู่ในช่วงเวลาสำคัญๆ ของการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระเยซู อาทิ

  • เมื่อบุตรสาวของไยรัสคืนชีพ เห็นเดชานุภาพเหนือความตายของพระเจ้าด้วยตาตนเอง7

  • บนภูเขาแห่งการจำแลงพระกายที่พวกเขาเห็นพระเยซูทรงเปิดเผยในรัศมีภาพของพระองค์และได้ยินพระสุรเสียงของพระบิดาเป็นพยานว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรที่พระองค์พอพระทัยมาก8

  • บนภูเขามะกอกเทศสำหรับการพยากรณ์ครั้งสุดท้ายของพระองค์เกี่ยวกับวาระสุดท้าย9

  • ในสวนเกทเสมนีที่พวกเขาอยู่ใกล้ๆ ขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงเริ่มงานอันสำคัญยิ่งของการชดใช้10

เฉกเช่นพระเยซูคริสต์ประทานชื่อเพิ่มเติมให้ซีโมนว่า เคฟาส หรือเปโตร ซึ่งหมายถึง “ศิลา” พระองค์ประทานชื่อ โบอาเนอเย หรือ “ลูกฟ้าร้อง” ให้ยากอบกับยอห์นเช่นกัน11 เพราะพวกเขาถามพระเยซูว่าพวกเขาควรขอไฟลงมาเผาหมู่บ้านของชาวสะมาเรียที่ปฏิเสธพระองค์หรือไม่ (ดู ลูกา 9:51–56) ชื่อเล่นดังกล่าวจึงอาจบอกเป็นนัยว่าพวกเขาเป็นคนอารมณ์ร้อนหรืออย่างน้อยก็มีจิตใจเด็ดเดี่ยวมาก แต่อาจเป็นเพียงว่าชื่อนั้นมุ่งหวังให้พวกเขาเป็นพยานอันทรงพลัง ถึงแม้ชื่อของเปโตรจะสะท้อนถึงความอุทิศตนนอกจากความหุนหันพลันแล่นของเขาในช่วงแรก ก็คงไม่มากเท่าความหนักแน่นและความเข้มแข็งของเขาหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู12

ในการปรากฏของยอห์นในหนังสือกิจการของอัครทูต เขาได้ชื่อว่าเป็นสหายที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของเปโตร ยอห์นอยู่กับเปโตรขณะที่เขารักษาคนง่อยในพระวิหาร และอยู่ด้วยกันเมื่อพวกเขาสั่งสอนอย่างกล้าหาญต่อหน้าผู้นำชาวยิวของเยรูซาเล็ม อัครสาวกทั้งสองเดินทางไปสะมาเรียด้วยกันเพื่อประสาทของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ชาวสะมาเรียที่ฟิลิปสอนและให้บัพติศมา13

ทว่าในงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับยอห์นถือว่าเขาเป็นพยานอันทรงพลังถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ พระอาจารย์และสหายของเขา หนังสือพันธสัญญาใหม่แนะนำว่ายอห์นเป็นทั้งครูและต้นแบบสำหรับเราในการเป็นสานุศิษย์ของเราเอง

สานุศิษย์ผู้เป็นที่รัก

น่าสนใจตรงที่ไม่ได้เอ่ยชื่อยอห์นในหนังสือกิตติคุณที่คิดว่าเขาเป็นคนเขียนแต่แรก กิตติคุณของยอห์นกล่าวถึงบุตรชายสองคนของเศเบดีแค่ครั้งเดียวในบทสุดท้ายซึ่งเป็นสาวกสองคนในเจ็ดคนที่พบพระเจ้าผู้คืนพระชนม์ริมทะเลกาลิลี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเอ่ยชื่อพวกเขาอยู่ดี แต่ตามคำอ้างอิงในพระคัมภีร์ฉบับการฟื้นฟู14 ระบุว่ายอห์นเป็น “สานุศิษย์ [นิรนาม] ที่พระเยซูทรงรัก” ผู้อยู่ตอนพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ตอนตรึงกางเขน ที่อุโมงค์ว่างเปล่า และในการปรากฏครั้งสุดท้ายของพระเยซูที่ทะเลกาลิลี15

เขาอาจเป็น “สาวกคนนั้น” ที่ติดตามยอห์นผู้ถวายบัพติศมาไปกับอันดรูว์ และได้ยินยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเป็นพยานว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยอห์น 1:35–40) และเป็นไปได้ว่าเขาเป็นสาวกที่ไปกับเปโตรหลังจากพระเยซูถูกจับกุมและช่วยให้เปโตรได้เข้าไปถึงลานบ้านของมหาปุโรหิต (ดู ยอห์น 18:15–16)

ในกิตติคุณของยอห์น สานุศิษย์ผู้เป็นที่รักคนนี้ปรากฏเป็นสหายสนิทส่วนตัวของพระเจ้า ในกิตติคุณนี้บอกชัดเจนว่ายอห์นกับมารธา ลาซารัส และมารีย์ เป็นคนที่พระเยซูทรงรัก (ดู ยอห์น 11:3, 5) ตำแหน่งของเขาที่โต๊ะอาหารระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้ายไม่เพียงสะท้อนการได้รับความนับถือเท่านั้นแต่สะท้อนความสนิทสนมด้วย

นอกจากจะเป็นสหายกับพระผู้ช่วยให้รอดแล้ว ข้อความอื่นเปิดเผยว่ายอห์นเป็นพยานอันทรงพลังในเหตุการณ์สำคัญที่สุดแห่งพระพันธกิจของพระเยซูด้วย เขายืนอยู่ตรงกางเขนเพื่อเป็นพยานถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอันเป็นการพลีพระชนม์ชีพเพื่อบาปของเรา วิ่งไปที่อุโมงค์หลังการฟื้นคืนพระชนม์เพื่อยืนยันว่าอุโมงค์ว่างเปล่า และเห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์

กิตติคุณของยอห์นกล่าวสองครั้งว่าหนังสือนี้ยึดตามคำพยานของผู้เคยเห็นสานุศิษย์ผู้เป็นที่รักคนนี้และเน้นว่าคำพยานของเขาเป็นความจริง16 ซึ่งบอกได้จากการที่โจเซฟ สมิธตั้งชื่อใหม่ให้กิตติคุณเล่มนี้ว่า “ประจักษ์พยานของยอห์น”17

ถึงแม้นักวิชาการยังคงถกเถียงกันเรื่องอัตลักษณ์ของสานุศิษย์ผู้เป็นที่รัก แต่ถ้าเขาคืออัครสาวกยอห์น เขาย่อมเป็นแหล่งเนื้อหาในกิตติคุณเล่มนี้ ถ้าไม่ได้เป็นผู้เขียนดั้งเดิม18 แล้วเหตุใดจึงไม่เอ่ยชื่อเขา ไม่บอกตรงๆ ว่าเป็นอัครสาวกยอห์น คำตอบส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาตั้งใจจะให้ประสบการณ์ของเขาเองเป็นแบบรูปแบบสำหรับผู้เชื่อและสานุศิษย์ในทุกยุคทุกสมัย โดยการไม่เอ่ยนาม เขาจึงสามารถให้เราสมมติตัวเราเข้าไปอยู่ในประสบการณ์ของเขา โดยเรียนรู้วิธีรักพระเจ้าและให้พระเจ้ารัก จากนั้นก็เกิดพยานของเราเอง ซึ่งเขาขอให้เราแบ่งปันหลังจากนั้น

สาส์น: ยอห์นฉบับที่ 1, 2 และ 3

เช่นเดียวกับกิตติคุณของยอห์น จดหมายทั้งสามฉบับที่คิดว่ายอห์นเขียนไม่มีสักฉบับบอกชื่อเขาตรงๆ กระนั้นก็ตาม 1 ยอห์นซึ่งเป็นความเรียงด้านหลักคำสอนมากกว่าจะเป็นจดหมายจริงๆ ก็ยังสอดคล้องมากกับกิตติคุณของยอห์นทั้งในรูปแบบการเขียนและหัวข้อ ซึ่งรวมถึงความสำคัญของความรักและการเชื่อฟัง อันเป็นสาระสำคัญที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนไว้ในเรื่องพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของยอห์น

1 ยอห์นเขียนหลังจากกิตติคุณของยอห์น ซึ่งเริ่มโดยประกาศพยานของผู้เขียนถึงพระเจ้าพระเยซูคริสต์ว่า “สิ่งที่มีมาตั้งแต่ปฐมกาลซึ่งเรา ได้ยิน ได้ เห็น กับตา ได้ พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้น คือพระวาทะแห่งชีวิต” (1 ยอห์น 1:1; เน้นตัวเอน) นอกจากกล่าวซ้ำข้อความตอนเริ่มต้นกิตติคุณของยอห์นแล้ว ผู้เขียนยังได้เน้นพยานอันทรงพลังส่วนตัวทางกายของเขาถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นพระวาทะของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกิดเป็นมนุษย์ด้วย

คริสตศาสนิกชนสมัยแรกซึ่งเป็นผู้อ่านหนังสือนี้แต่ดั้งเดิมเกิดความแตกแยกภายในอย่างเห็นได้ชัดกับคนกลุ่มหนึ่งผู้มีความเชื่อผิดๆ ว่าพระเยซูทรงละทิ้งศาสนจักร19 ใน 1 ยอห์น ผู้เขียนไม่เพียงเป็นพยานเท่านั้น แต่เขาเป็นผู้มีสิทธิอำนาจที่ได้รับการขอร้องให้แก้ไขหลักคำสอนผิดและตอบโต้คำขู่จากคนต่อต้านพระคริสต์และวิญญาณเท็จ (ดู 1 ยอห์น 2:18–27; 4:1–6) พันธกิจของเขาคือกระตุ้นให้ผู้คนมีศรัทธาต่อไปโดยแบ่งปันความจริงที่มีความหมายเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์ ตลอดจนความสำคัญของศรัทธาและความชอบธรรมต่อเนื่อง

ใน 2 ยอห์นและ 3 ยอห์น เขาบอกเพียงว่าตัวเขาเป็น “ผู้ปกครอง” และยังคงเน้นความสำคัญของความรักและการเชื่อฟัง รวมถึงอันตรายของผู้สอนเท็จและคนที่ปฏิเสธสิทธิอำนาจที่ถูกต้องของศาสนจักร20

หนังสือทั้งสามเล่มนี้สอนเราให้รู้ความสำคัญของความภักดีต่อพระเยซูคริสต์ซึ่งได้รับการเปิดเผย

ผู้เปิดเผย

จากหนังสือห้าเล่มที่คิดว่าเขาเขียน มีเพียงวิวรณ์เท่านั้นที่ใช้ชื่อยอห์น โดยบอกชื่อผู้เขียนสามครั้งในข้อต้นๆ (ดู วิวรณ์ 1:1, 4, 9) นอกจากจะบอกว่าตัวเขาเองเป็นผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ผู้เขียนไม่ได้บอกตำแหน่งหรือการเรียกของเขา แต่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ในศาสนาคริสต์สมัยแรกเชื่อว่าเขาคือยอห์นบุตรของเศเบดี

พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญายืนยันว่าอัครสาวกยอห์นได้รับงานมอบหมายพิเศษให้รับและเขียนนิมิตที่เขาได้รับ21 วิวรณ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ซับซ้อนและมีสัญลักษณ์มากมายมุ่งหมายจะปลอบโยนและปลอบใจคริสตศาสนิกชนที่กำลังประสบการข่มเหงหรือการทดลองในทุกยุคทุกสมัยขณะเดียวกันก็เปิดเผยบทบาทของพระเยซูคริสต์ตลอดประวัติศาสตร์ไปด้วย

ถึงแม้จะระบุปีที่ยอห์นเขียนวิวรณ์ต่างกัน—ปี ค.ศ. 60 ในช่วงการปกครองของจักรพรรดิเนโรกับปี ค.ศ. 90 ในช่วงการปกครองของจักรพรรดิโดมิเชียน—แต่ทั้งสองปีคือหลังมรณสักขีของเปโตร ซึ่งยอห์นเป็นอัครสาวกอาวุโสที่ยังมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ดี การเรียกของเขาไม่เพียงรับและบันทึกนิมิตที่อยู่ในวิวรณ์เท่านั้น ในนิมิตหนึ่งของเขา เทพบอกยอห์นผู้เปิดเผยให้รับหนังสือเล่มเล็กหรือหนังสือม้วนไปกิน ตอนแรกหวานในปาก แต่ทำให้ท้องของเขาขม ซึ่งโจเซฟ สมิธตีความว่าเป็นพันธกิจของเขาที่จะช่วยรวมอิสราเอลอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสิ่งทั้งปวง (ดู วิวรณ์ 10:9–11; หลักคำสอนและพันธสัญญา 77:14) พันธกิจนี้เป็นไปได้เพราะการปฏิบัติศาสนกิจต่อเนื่องของยอห์นหลังจากเขาแปรสภาพ ถึงแม้นักวิจารณ์ทั้งในสมัยโบราณและสมัยปัจจุบันเห็นต่างกันเรื่องความหมายในพระดำรัสของพระเยซูต่อเปโตรเกี่ยวกับชะตากรรมของยอห์นตอนท้ายกิตติคุณของยอห์น (ดู ยอห์น 21:20–23) แต่โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยยืนยันว่าพันธกิจของยอห์นจะดำเนินต่อเนื่องในฐานะสัตภาวะที่แปรสภาพแล้วจนกว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จกลับมา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 7:1–6) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เขาไม่เพียงพยากรณ์ถึงวาระสุดท้ายเท่านั้น แต่พันธกิจของเขารวมถึงการช่วยทำให้คำพยากรณ์เหล่านี้เกิดสัมฤทธิผลและเป็นพยานถึงสัมฤทธิผลของสิ่งที่เปิดเผยต่อเขา

ถึงแม้พันธกิจของเราเองอาจไม่ยิ่งใหญ่เท่ายอห์น แต่แบบอย่างของยอห์นสอนเราว่าความรักที่เรามีต่อพระเยซูคริสต์นำเราให้ยอมรับการเรียกและความท้าทายของเราเองในชีวิต ไม่ว่าจะหวานอมขมกลืนเพียงใดก็ตาม

John and Peter at the tomb

ยอห์นเป็นพยานอันทรงพลังถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดแห่งพันธกิจของพระเยซู เขายืนอยู่ตรงกางเขนเพื่อเป็นพยานถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้า วิ่งไปถึงอุโมงค์หลังการฟื้นคืนพระชนม์เพื่อยืนยันว่าอุโมงค์ว่างเปล่า และเห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์

ยอห์นกับเปโตรที่อุโมงค์ โดย โรเบิร์ต ธีโอดอร์

การเป็นสานุศิษย์ที่รักด้วยตัวเราเอง

ยอห์นเป็นหัวหน้าสมาชิกอัครสาวกสิบสองดั้งเดิมของพระเยซู ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระผู้ช่วยให้รอดและรับใช้บทบาทสำคัญๆ ในฐานะพยานของพระองค์ ผู้นำของศาสนจักร และผู้เปิดเผย ทว่าวิธีที่เขาเลือกแสดงตนเป็นสานุศิษย์ผู้เป็นที่รักในหนังสือกิตติคุณที่มีชื่อของเขาทำให้เขาได้เป็นต้นแบบสำหรับเราทุกคนในการเป็นสานุศิษย์ของเราเอง เราเรียนรู้จากเขาว่าในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ เราทุกคนสามารถพักผ่อนในอ้อมพระพาหุแห่งความรักของพระองค์ ความรักซึ่งเราส่วนใหญ่รับรู้ได้มากที่สุดผ่านศาสนพิธีเช่นศาสนพิธีที่พระองค์ทรงสถาปนา ณ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย ในเชิงสัญลักษณ์เราสามารถยืนอยู่ตรงกางเขนได้ด้วย โดยเป็นพยานว่าพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา และวิ่งไปด้วยความหวังจะเรียนรู้ด้วยตนเองว่าพระเจ้าทรงพระชนม์ เช่นเดียวกับยอห์น การเรียกของเราในฐานะสานุศิษย์ผู้เป็นที่รักคือแบ่งปันพยานนั้นกับผู้อื่น โดยเป็นพยานถึงความจริงและทำให้การเรียกที่มาถึงเราเกิดสัมฤทธิผลจนกว่าพระเจ้าจะเสด็จมาอีกครั้ง

อ้างอิง

  1. น่าสนใจตรงที่มีเพียงหนังสือวิวรณ์เท่านั้นบอกว่าผู้เขียนวิวรณ์คือยอห์น (ดู วิวรณ์ 1:1, 4) หนังสือกิตติคุณรวมทั้งยอห์นไม่ได้บอกชื่อผู้เขียน แต่คำร่ำลือของคริสต์ศาสนิกชนสมัยแรกบอกรูปพรรณสัณฐานของสานุศิษย์ผู้เป็นที่รักในกิตติคุณของยอห์นได้ตรงกับอัครสาวกที่มีชื่อนั้น ดูการอภิปรายหลักฐาน การอภิปรายทางวิชาการ และข้อคิดเรื่องการฟื้นฟูเกี่ยวกับการพิสูจน์นี้ได้ในข้ออ้างอิง 17 หนังสือ 1 ยอห์นไม่ระบุชื่อผู้เขียนเช่นกัน แต่รูปแบบการเขียนและหัวข้อสำคัญในนั้นเชื่อมโยงกับกิตติคุณของยอห์น หนังสือ 2 และ 3 ยอห์นคิดว่าผู้เขียนคือ “ผู้ปกครอง” แต่คำร่ำลือของคริสต์ศาสนิกชนสมัยแรกเชื่อมโยงหนังสือสองเล่มนี้กับผู้เขียนยอห์นและ 1 ยอห์น

  2. ดู มาระโก 1:19–20; ดู มัทธิว 4:21–22; ลูกา 5:10–11 ด้วย. นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าเขียนมาระโกก่อน ประมาณกลาง ค.ศ. 60 และเขียนมัทธิวกับลูกาประมาณ ค.ศ. 70 หรือต้น ค.ศ. 80 ด้วยเหตุนี้ โดยการอ่านข้ออ้างอิงจากมาระโกครั้งแรกเราจึงเห็นว่าเพิ่มมัทธิวกับลูกาหรือปรับเรื่องราวแรกสุดอย่างไร

  3. ถึงแม้ มาระโก 10:35–37 จะบันทึกว่ายากอบและยอห์นขอนั่งเบื้องขวาและเบื้องซ้ายพระหัตถ์ของพระเยซูในอาณาจักรของพระองค์ แต่ มัทธิว 20:20–21 เพิ่มเติมว่าคำขอนี้จริงๆ แล้วมาจากมารดาของพวกเขา อ่านเรื่องราวที่เธออยู่ที่นั่นขณะตรึงกางเขนและต่อมาที่อุโมงค์ว่างเปล่าได้ใน มาระโก 15:40; 16:1–8; ดู มัทธิว 27:55–56; ลูกา 23:49, 55; 24:1–10; และ ยอห์น 19:25

  4. อ่านการอภิปรายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้เหล่านี้ของสะโลเม และภูมิหลังของครอบครัวตลอดจนธุรกิจประมงของเศเบดีได้ใน R. Alan Culpepper, John, the Son of Zebedee: The Life of a Legend (2000), 7–23.

  5. ดู มาระโก 1:21–31, 40–45; 2:1–12; 3:1–6; ดู มัทธิว 8:1–4; 9:1–8; 12:9–14; ลูกา 4:33–39; 5:12–15, 17–26; 6:6–11 ด้วย.

  6. อ่านคำเทศนาบนภูเขาได้ใน มัทธิว 5–7. อ่านการเรียกของยอห์นและอัครสาวกดั้งเดิมคนอื่นๆ ได้ใน มาระโก 3:13–19; ดู มัทธิว 10:2–4; ลูกา 6:13–16 ด้วย.

  7. ดู มาระโก 5:37; ดู มัทธิว 9:23–26; ลูกา 8:51 ด้วย ถึงแม้มัทธิวไม่ได้เอ่ยชื่อเปโตร ยากอบ และยอห์นก็ตาม.

  8. ดู มาระโก 9:2–10; ดู มัทธิว 17:1–8; ลูกา 9:28–36 ด้วย.

  9. ดู มาระโก 13:3–37.

  10. ดู มาระโก 14:32–34; ดู มัทธิว 26:36–38 ด้วย.

  11. ดู มาระโก 3:17. โบอาเนอเย เป็นการถอดตัวอักษร bene regesh หรือ r’m ในภาษาอาหรับมาเป็นภาษากรีก หมายถึง “ลูกฟ้าร้องหรือลูกแห่งความโกลาหล”

  12. ดู Culpepper, John, the Son of Zebedee, 38–40, 50.

  13. ดู กิจการของอัครทูต 3:1–11; 4:1–21; 8:14–17.

  14. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 7; 77; 88:141.

  15. ดู ยอห์น 13:23; 19:26, 34–35; 20:2–10; 21:1–14, 20–25; ดู Culpepper, John, the Son of Zebedee, 57–69 ด้วย.

  16. ดู ยอห์น 19:35; 21:24–25; ดู ยอห์น 20:30–31 ด้วย.

  17. ดู Joseph Smith’s New Translation of the Bible: Original Manuscripts, edited by Scott H. Faulring, Kent P. Jackson, and Robert J. Matthews (2004), 234.

  18. ดูตัวอย่างการอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของสานุศิษย์ผู้เป็นที่รักได้ใน Culpepper, John, the Son of Zebedee, 72–85, and Raymond E. Brown, An Introduction to the Gospel of John, edited by Francis J. Moloney (2003), 189–199. สำหรับอัครสาวกยอห์นผู้เป็นทั้งแหล่งข้อมูลหรือผู้เขียนกิตติคุณของยอห์น ดู Richard Neitzel Holzapfel, Eric D. Huntsman, and Thomas A. Wayment, Jesus Christ and the World of the New Testament (2006), 126–127, and my own recent treatment in “The Gospel of John” in New Testament History, Culture, and Society (2018), ed. Lincoln Blumell.

  19. ดู Raymond E. Brown, The Epistles of John (The Anchor Bible, vol. 30 [1982]), 49–55, 71.

  20. ดู Culpepper, John, the Son of Zebedee, 90–95, and Holzapfel, Huntsman, and Wayment, Jesus Christ and the World of the New Testament, 274–277.

  21. ดู Holzapfel, Huntsman, and Wayment, Jesus Christ and the World of the New Testament, 281–82, และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1 นีไฟ 14:18–27; อีเธอร์ 4:16; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 7:1–3; 77.