2019
สาเหตุที่ผมไม่กลัวอีกแล้วเมื่อต้องขอคำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต
มกราคม 2019


ดิจิทัลเท่านั้น

สาเหตุที่ผมไม่กลัวอีกแล้วเมื่อต้องขอคำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

การขอความช่วยเหลือที่ผมต้องการไม่ใช่เครื่องหมายของความอ่อนแอหรือความล้มเหลว

“คุณควรไปคุยกับผู้ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต”

คำแนะนำนี้ทำให้ผมประหลาดใจมาก ผมเพิ่งบอกเพื่อนสนิทคนหนึ่งว่าผมเครียดมากกับการเรียนโปรแกรมบัญชีที่มีชื่อเสียง การรักษาความสัมพันธ์ และการออกเดทในฐานะผู้สอนศาสนาที่เพิ่งจบ ผมไม่เคยคิดเรื่องการบำบัดด้วยซ้ำ และรู้สึกว่าการพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษามีไว้สำหรับคนที่มีปัญหา ใหญ่ เท่านั้นหรืออ่อนแอเกินกว่าจะแก้ไขความท้าทายด้วยตนเอง เพื่อนของผมพูดแต่เรื่องดีๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาเองในการพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา ผมจึงเริ่มพิจารณาเรื่องนี้

ไม่นานนักความวิตกกังวลของผมเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม หลังจากนอนไม่หลับมาหลายคืนเพราะกังวล ผมจึงตัดสินใจทำนัด ผมกังวลใจไม่ทราบคนอื่นจะพูดหรือคิดอย่างไรถ้าพวกเขารู้ว่าผมจะไปพบผู้ให้คำปรึกษา แต่ตอนนั้นความวิตกกังวลของผมส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินชีวิต ผมจึงไป

เอาชนะความวิตกกังวล

ในวันนัดผู้ให้คำปรึกษาถามคำถามหลายข้อที่ช่วยให้ผมคิดคำตอบด้วยตนเอง ผู้ให้คำปรึกษาไม่ได้ให้วิธีแก้ไขแบบได้ผลทันตา เขาไม่ได้ปฏิบัติกับผมเหมือนผมเป็นคนบ้า—เขาเคยเห็นคนมีปัญหาคล้ายผมมาเยอะมาก ในบางด้านผมรู้สึกเหมือนไปพบอายุรแพทย์ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการวินิจฉัยปัญหาและมีความชำนาญในการสอนผมให้รู้วิธีป้องกันและรักษาความวิตกกังวล

ผู้ให้คำปรึกษาเสนอแนะหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือให้ผมเขียนความรู้สึกและความคิดลงในบันทึกส่วนตัว นี่ช่วยผมมากในการเอาชนะความวิตกกังวล ผมออกกำลังกาย ใช้เวลากับเพื่อนๆ และครอบครัว กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (หรือดีเท่าที่นักศึกษาคนหนึ่งจะทำให้ตนเองได้) ศึกษาพระคัมภีร์ ไปโบสถ์ และสวดอ้อนวอนอยู่เสมอ

หลังจากพบกับผู้ให้คำปรึกษาสามสี่ครั้ง สองสิ่งเปลี่ยนไปคือ หนึ่ง ผมมีมุมมองใหม่และดีขึ้นเกี่ยวกับความวิตกกังวลของตน ต่อตนเอง และคนอื่นๆ และสอง ผมรู้สึกเหมือนผมมีเครื่องมือที่ผมจะใช้ช่วยผมในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในภายหน้า ผมไม่หายวิตกกังวล แต่รู้สึกว่าสามารถรับมือได้ดีขึ้นเมื่อปะทุอีกครั้ง นับจากนั้น ผมไม่ต้องกลับไปพบผู้ให้คำปรึกษาอีก แต่ถ้าผมต้องไป ผมจะไม่ห่วงเรื่องขอความช่วยเหลือ—ผมได้เรียนรู้ว่าไม่มีเหตุให้ต้องทนทุกข์อย่างเงียบๆ หรืออับอายกับการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพจิต

เลิกคิดลบ

น่าเสียดายที่มีความคิดลบๆ มากมายเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพจิต แต่นั่นอาจจะเป็นเพราะบางคนไม่เข้าใจว่าการพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหลักๆ แล้วเหมือนกับการรักษาความเจ็บป่วยทางกายอื่นๆ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงคาดหวังให้ท่านแสวงหาพรฐานะปุโรหิต และ ไปรับการรักษา ความผิดปกติทางอารมณ์ก็เช่นกัน พระบิดาในสวรรค์ทรงคาดหวังให้เราใช้ของประทานอันน่าอัศจรรย์ ทุกอย่าง ที่พระองค์ประทานให้ในสมัยการประทานอันเรืองโรจน์นี้”1

ความต้องการด้านสุขภาพจิตเป็นปัญหาแอบแฝงเช่นกัน การพูดถึงปัญหาเหล่านี้ไม่ง่ายเท่ากับการเป็นไข้หวัดหรือกระดูกหัก แต่พบเห็นได้ทั่วไป องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าคนจำนวนมากที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้รับการรักษา: ราว 35 ถึง 50 เปอร์เซนต์ในประเทศที่พัฒนาแล้วและ 76 ถึง 85 เปอร์เซนต์ในประเทศที่กำลังพัฒนา2

การขอความช่วยเหลือที่ท่านต้องการไม่ใช่เครื่องหมายของความอ่อนแอหรือความล้มเหลว พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เรามีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และทรงมอบ “ของประทานอันน่าอัศจรรย์” ให้เราเพื่อช่วยเราเผชิญกับความท้าทายด้านจิตใจและอารมณ์ของความเป็นมรรตัย ได้แก่

สุขภาพจิต

การออกกำลังกาย

มิตรสหายและครอบครัว

การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

การนอนหลับให้เพียงพอ

ผู้นำศาสนจักร

การรับใช้ผู้อื่น

ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

เราจะไม่สามารถเอาชนะความท้าทายด้านสุขภาพจิตได้ทั้งหมดในชีวิตนี้ และมักจะไม่มีวิธีแก้ได้ง่ายๆ และแก้ได้ทุกสถานการณ์ แต่เมื่อเราทำสุดความสามารถเพื่อช่วยเหลือตัวเราเองโดยใช้เครื่องมือที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่เรา พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยให้เราแบกภาระได้โดยง่าย (ดู โมไซยาห์ 24:15) และเราจะได้รับพรด้วยพละกำลังและมีความหวังสำหรับความพยายามของเรา

อ้างอิง

  1. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เหมือนภาชนะแตก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 41.

  2. K. Demyttenaere and others, “Prevalence, Severity, and Unmet Need for Treatment of Mental Disorders in the World Health Organization World Mental Health Surveys,” The Journal of the American Medical Association, vol. 291, no. 21 [June 2004], 2581–2590.