2019
พันธกิจอันน่าอัศจรรย์ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
มกราคม 2019


พันธกิจอันน่าอัศจรรย์ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

จากคำปราศรัยเรื่อง “Joseph Smith: The Prophet and the Man” ที่การสัมมนาผู้นำคณะเผยแผ่ วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2018

โจเซฟ สมิธบรรลุผลสำเร็จมากกว่ามนุษย์คนใดจะบรรลุได้ในเวลาอันสั้นเช่นนั้น คำอธิบายเดียวที่เป็นไปได้คือความช่วยเหลือจากสวรรค์

Painting of Joseph Smith

โจเซฟ สมิธ โดย วิลเลียม วิเทเกอร์

ข้าพเจ้าเลือกจะพูดถึงโจเซฟ สมิธ ศาสดาพยากรณ์และบุรุษ ในการพูดถึงศาสดาพยากรณ์ท่านนี้ ข้าพเจ้าหวังจะช่วยให้ท่านเข้าใจผลสำเร็จอันน่าอัศจรรย์และหาใดเทียบได้ของศาสดาพยากรณ์ผู้วางรากฐานแห่งสมัยการประทานนี้

ความสัมพันธ์ของความรู้และประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธกับงานเผยแผ่ศาสนานับว่าสำคัญยิ่ง เราทุกคนทราบว่าผู้สนใจบางคนยอมรับหลักธรรมคำสอนของพระกิตติคุณแต่ไม่สามารถยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กหนุ่มวัย 14 ปีได้รับการเสด็จเยือนจากพระบิดาและพระบุตร ท่านแปลพระคัมภีร์มอรมอนและกลายเป็นศาสดาพยากรณ์ที่เรารู้ว่าท่านเป็น หลายคนที่มีความลำบากใจเรื่องศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจำเป็นต้องเรียนรู้จากคำสอนนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“พันธกิจของโจเซฟในความเป็นมรรตัยได้รับแต่งตั้งล่วงหน้า ความคิดที่เปิดกว้างและบริสุทธิ์สะอาดของท่านเปิดรับการสอนจากพระเจ้า แต่ตามมาตรฐานของโลกโจเซฟเป็นคนอ่อนหัดที่สุด และภารกิจการเป็นศาสดาพยากรณ์ของท่านในสมัยการประทานสุดท้ายนี้ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลย ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นหลักธรรมหนึ่งซึ่งมักจะเป็นจริงเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงงาน นั่นคือ พระองค์ทรงใช้คนที่ไม่น่าจะทำได้ให้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้!”1

สำคัญมากที่ผู้สอนศาสนาของเราต้องมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์และงานอันน่าอัศจรรย์ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนวัย 65 ปีที่ศึกษาชีวิตของโจเซฟ สมิธ ข้าพเจ้าเกิดในปี 1932 เมื่อศาสนจักรเพิ่งอายุเกิน 100 ปี ข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้าเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งของศตวรรษที่สองนี้ เราไม่เคยพบโจเซฟ สมิธ แต่เรารู้สึกว่าเรารู้จักท่าน และเรารักท่านผ่านสิ่งที่ท่านเปิดเผยและสอน เราเป็นพยานถึงความจริงของคำทำนายในบทกวีที่ว่า “คนนับล้านจำจะรู้จัก ‘โจเซฟ’”2

I. โจเซฟ สมิธ ศาสดาพยากรณ์

เราทุกคนรู้ว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์คนแรกของสมัยการประทานนี้ เป็นเครื่องมือของพระเจ้าในงานฟื้นฟูของพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงฟื้นฟูอะไรผ่านศาสดาพยากรณ์ท่านนี้ ใช่ว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคน (และผู้ไม่เป็นสมาชิกบางคน) จะรู้ข้อมูลเพิ่มเติมจำนวนมากที่ให้ความกระจ่างและที่พระเจ้าทรงดลใจศาสดาพยากรณ์โจเซฟให้ทำเป็นหลักคำสอนของชาวคริสต์ ข้อมูลโดยสังเขปเหล่านี้ได้แก่

  • พระลักษณะของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • บทบาทหน้าที่ซึ่งสัมพันธ์กันของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์นี้และความสัมพันธ์ของพระองค์กับมนุษย์ทั้งหลาย

  • ลักษณะการตกของมนุษย์

  • จุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยในการส่งเสริมแผนของพระบิดาเพื่อให้บุตรธิดาของพระองค์บรรลุจุดหมายนิรันดร์ของพวกเขา

  • บทบาทของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในการทำให้เกิดความเป็นอมตะและจัดเตรียมโอกาสสำหรับชีวิตนิรันดร์

  • บทบาทของการแต่งงานทางโลกและการแต่งงานนิรันดร์ในแผนของพระบิดา

  • บทบาทจำเป็นของฐานะปุโรหิตและศาสนพิธีในแผนของพระบิดา

  • บทบาทจำเป็นของพระวิหารและศาสนพิธีแทนคนตายในแผนของพระบิดา

  • ความรู้ที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาจะช่วยให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์รอด และทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกนี้—ไม่ว่าจะรู้จักพระเยซูคริสต์หรือไม่—ล้วนสามารถไปถึงสวรรค์ชั้นสูงสุดหลังจากนี้

  • ความสัมพันธ์ของแหล่งความจริงสามแหล่งเกี่ยวกับมนุษย์และจักรวาล วิทยาศาสตร์ พระคัมภีร์ และการเปิดเผยต่อเนื่อง

images of the plan of salvation

ออกจากเอเดน พระผู้ช่วยให้รอด และ ระหว่างสวรรค์กับแผ่นดินโลก โดย แอนนี เฮนรี เนเดอร์

ใครก็ตามที่ได้ศึกษาแม้เพียงส่วนน้อยของรายการข้างต้น—ไม่ว่าผู้เชื่อหรือผู้ไม่เชื่อ—จะยอมรับแน่นอนว่าโจเซฟ สมิธเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดใหม่ที่ชัดเจนและล้ำค่ามากมายเกี่ยวกับศาสนา ตามที่เราอ่านใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา ความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณได้รับการฟื้นฟูสู่แผ่นดินโลกผ่านโจเซฟ สมิธ3

ท่านอาจจะสังเกตเห็นว่ารายการข้างต้นไม่ได้กล่าวเจาะจงว่าโจเซฟนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา แต่พระคัมภีร์เล่มใหม่นี้เป็นแหล่งแนวคิดใหม่ๆ มากมายเหล่านั้นเกี่ยวกับศาสนา หนังสือดังกล่าวสมควรได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษ ชื่อหนังสือประกาศหน้าที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือเป็น “พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์” แต่นอกเหนือจากบทบาทพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายบทบาท นักวิชาการที่หนังสือของเขาขายดีกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า

พระคัมภีร์มอรมอน เสนอจุดประสงค์ใหม่ให้อเมริกานั่นคือ เป็นราชอาณาจักรแห่งความชอบธรรมดีกว่าเป็นจักรวรรดิแห่งเสรีภาพ เมื่อเทียบกับความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น พระคัมภีร์มอรมอน สนับสนุนอุดมการณ์ของคนยากจน … เมื่อเทียบกับการปกครองแบบสาธารณรัฐ พระคัมภีร์มอรมอนเสนอการปกครองที่ชอบธรรมโดยผู้พิพากษาและกษัตริย์ภายใต้กฎของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเทียบกับพระคัมภีร์ไบเบิลที่อ่านได้เฉพาะกลุ่มและศาสนาที่ไม่เชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ พระคัมภีร์มอรมอน สนับสนุนการเปิดเผยต่อเนื่อง ปฏิหาริย์ และการเปิดเผยต่อทุกประชาชาติ เมื่อเทียบกับความสงสัย พระคัมภีร์มอรมอนส่งเสริมความเชื่อ เมื่อเทียบกับความเป็นชาตินิยม พระคัมภีร์มอรมอนส่งเสริมอิสราเอลทั่วโลก พระคัมภีร์มอรมอนมองเห็นล่วงหน้าว่าชาติจะเกิดภัยพิบัติถ้าความรักเงินทอง การต่อต้านการเปิดเผย และอารยธรรมของคนต่างชาติมีอำนาจเหนือความชอบธรรม การเปิดเผย และอิสราเอล”4

ที่สำคัญกว่านั้นคือสิ่งที่ประธานเนลสันกล่าวเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน: พระคัมภีร์มอรมอน “เป็นเครื่องมือที่จะทำให้การรวมอิสราเอลที่สัญญาไว้บรรลุผลสำเร็จ”5

ตามที่เราอ่านใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็น “ศิลาหลักแห่งศาสนาของเรา”6

คนที่ไม่ใช่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายส่วนใหญ่ไม่รู้คุณูปการใหญ่หลวงของโจเซฟ สมิธที่มีต่อความคิดทางศาสนา ในการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ นักสำรวจความคิดเห็นชื่อแกรีย์ ลอว์เรนซ์พบว่าราวครึ่งหนึ่งของคนที่เขาศึกษาคิดว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นคนรักสันโดษ ลึกลับ และมี “ความเชื่อแปลกๆ”7 เมื่อเขาถามผู้ให้สัมภาษณ์ว่า “อะไรคือคำกล่าวอ้างหลักของชาวมอรมอน” มีเพียงหนึ่งในเจ็ดคนเท่านั้นที่บอกได้ใกล้เคียงกับแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูหรือการสถาปนาความเชื่อดั้งเดิมของศาสนาคริสต์ขึ้นมาใหม่ ในทำนองเดียวกัน เมื่อการสำรวจระดับชาติอีกชุดหนึ่งขอให้ผู้ตอบคำถามบอกความประทับใจที่พวกเขามีต่อศาสนาของเรา ไม่มีสักคนพูดถึงแนวคิดเรื่องศาสนาคริสต์ดั้งเดิมหรือศาสนาคริสต์ที่ได้รับการฟื้นฟู8

การค้นพบเหล่านี้เตือนเราว่าเราต้องไม่ปล่อยให้ผู้สอนศาสนาของเราคิดเอาเองว่าผู้อื่นมีความรู้มากอยู่แล้วเกี่ยวกับศาสนาของเรา คนที่ผู้สอนศาสนาสอนอาจเคยได้ยินคำว่า มอรมอน แต่พวกเขาต้องไม่คิดเอาเองว่าคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้วในเรื่องหลักธรรมเบื้องต้นของศาสนาเรา

II. โจเซฟ สมิธ บุรุษ

ต่อไปนี้เป็นความคิดส่วนตัวของข้าพเจ้าเกี่ยวกับชีวิตอันน่าทึ่งของโจเซฟ สมิธ9 โจเซฟ สมิธที่ข้าพเจ้าพบในการค้นคว้าส่วนตัว ส่วนใหญ่ในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เป็นคนในพื้นที่ชายแดน—อายุน้อย อ่อนไหว มีชีวิตชีวา เป็นที่รักและสนิทกับคนของท่านมากจนพวกเขามักจะเรียกท่านว่า “บราเดอร์โจเซฟ” ท่านต้องปฏิบัติศาสนกิจในฐานะศาสดาพยากรณ์ทั้งที่อายุยังน้อย ท่านอายุ14 ปีเมื่อเห็นนิมิตแรก อายุ 21 ปีเมื่อได้รับแผ่นจารึกทองคำ และอายุเพียง 23 ปีเมื่อแปลพระคัมภีร์มอรมอนจบ (วันทำงานไม่ถึง 60 วัน)

การเปิดเผยเกินครึ่งในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาประทานผ่านศาสดาพยากรณ์ท่านนี้เมื่อท่านอายุ 25 ปีหรืออ่อนกว่านั้น ท่านอายุ 26 ปีเมื่อมีการจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุดและเพิ่งจะอายุ 33 ปีเมื่อท่านหนีจากการคุมขังในมิสซูรีและรับหน้าที่นำวิสุทธิชนอีกครั้ง ท่านอายุเพียง 38 ปีหกเดือนเมื่อท่านถูกสังหาร

ในช่วงชีวิตอันสั้น โจเซฟ สมิธมีความทุกข์มากกว่าปกติ เมื่อท่านอายุราวเจ็ดขวบ ท่านทรมานกับการผ่าตัดขาที่เจ็บปวดอย่างยิ่ง เพราะความยากจนของครอบครัว ท่านจึงมีการศึกษาในระบบเพียงเล็กน้อยและเป็นเยาวชนที่ถูกบีบให้ทำงานนานหลายชั่วโมงเพื่อช่วยให้ครอบครัวมีอาหารบนโต๊ะ ท่านถูกทำร้ายร่างกายหลายครั้ง ระหว่างพยายามทำความรับผิดชอบอันหนักหน่วงในการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ท่านต้องทำงานเป็นชาวไร่หรือไม่ก็พ่อค้าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ท่านทำเช่นนี้โดยไม่มีของประทานฝ่ายวิญญาณคอยประคับประคองท่านในการเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ พระเจ้ารับสั่งกับท่านว่า “ในงานฝ่ายโลก เจ้าจะไม่มีพละกำลัง, เพราะนี่มิใช่การเรียกของเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 24:9)

ในเรื่องทางวิญญาณ โจเซฟไม่มีต้นแบบให้ท่านเรียนรู้วิธีเป็นศาสดาพยากรณ์และผู้นำ ท่านต้องพึ่งพามิตรสหายที่ขาดประสบการณ์ ท่านกับพวกเขาดิ้นรนและเรียนรู้ด้วยกัน โจเซฟได้ความรู้และเป็นผู้ใหญ่เร็วมาก ท่านมีของประทานพิเศษอย่างไม่ต้องสงสัย ตามที่เราพูดกันทุกวันนี้ ท่านเป็น “คนเรียนรู้เร็ว” ท่านกล่าวว่าทูตสวรรค์และการเปิดเผยอื่นๆ จากพระผู้เป็นเจ้าสอนท่าน และข้าพเจ้าเชื่อท่าน

ของประทานส่วนตัวประการหนึ่งของท่านเห็นได้จากความรักและความภักดีของคนที่ติดตามท่าน เมื่อโจเซฟท้าทายผู้ติดตามท่านให้เอาชนะความบกพร่องตามประสามนุษย์ของพวกเขา ท่านไม่ได้ยกตนข่มพวกเขา และพวกเขารักท่านเพราะเหตุนี้ ในคำเทศนาที่โจเซฟสั่งสอนก่อนถูกสังหารเป็นมรณสักขีเดือนเศษ ท่านประกาศว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยบอกท่านว่าข้าพเจ้าดีพร้อม แต่ไม่มีความผิดพลาดในการเปิดเผยที่ข้าพเจ้าสอน”10 โจเซฟ สมิธมี “อารมณ์เบิกบานอันเป็นธรรมชาติวิสัย” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:28) ที่ทำให้แทบทุกคนที่รู้จักท่านรักท่าน คนที่คุ้นเคยกับท่านคนหนึ่งพูดว่า “ความรักที่วิสุทธิชนมีให้ท่านไม่สามารถบรรยายได้”11 ไมตรีจิตของผองเพื่อนเป็นความสุขใจของโจเซฟผู้มองว่าการสร้างสังคมและการสร้างชุมชนเป็นจุดประสงค์หลักของพระกิตติคุณ

Painting of Joseph Smith

โจเซฟ สมิธ โดย วิลเลียม วิเทเกอร์

ข้าพเจ้าเคยแสดงความเห็นว่า “ทั้งชีวิตของโจเซฟ สมิธ ท่านอยู่ชายแดนที่ผู้คนต้องเก็บแรงไว้สู้กับธรรมชาติและบางครั้งสู้กันเอง ท่านเป็นคนตัวใหญ่ แข็งแรงและปราดเปรียว ท่านชอบแข่งกีฬา รวมถึงการดึงไม้—ทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกาย (ดู History of the Church, 5:302) จดหมายเหตุของเรามีเรื่องราวน่าจดจำมากมายเมื่อท่านเล่นมวยปล้ำกับเพื่อนๆ และคนรู้จัก ในวันสะบาโตวันหนึ่ง ท่านกับบริคัม ยังก์สั่งสอนวิสุทธิชนในเมืองรามัส อิลลินอยส์ ควบม้าราวหนึ่งวันจากนอวู ในวันจันทร์ก่อนออกจากรามัส โจเซฟแข่งมวยปล้ำประลองกำลังกับชายคนหนึ่งที่มีคนเรียกเขาว่า ‘อันธพาลแห่งเมืองรามัส’ (ดู Joseph Smith Journal, 13 March 1843 บันทึกโดย วิลลาร์ด ริชาร์ดส์, Joseph Smith Collection, หอจดหมายเหตุของศาสนจักรแอลดีเอส) โจเซฟเหวี่ยงเขา ข้าพเจ้าดีใจที่กำหนดการประชุมใหญ่ในปัจจุบันของเราไม่ให้โอกาสสมาชิกในท้องที่ได้ทดสอบเจ้าหน้าที่ผู้มาเยือนในลักษณะนี้”12

น้อยคนเคยตกเป็นเป้าการโจมตีในเรื่องพันธกิจหรือความทรงจำของพวกเขามากกว่าโจเซฟ สมิธ ข้าพเจ้าสืบสวนข้อกล่าวหาเหล่านี้บางข้อโดยการค้นคว้าบันทึกดั้งเดิมในอิลลินอยส์ที่โจเซฟอาศัยอยู่ในช่วงห้าปีสุดท้ายของชีวิตท่าน ข้อกล่าวหาหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อโจเซฟ สมิธซึ่งเวลานั้นเป็นนายกเทศมนตรี และสภาเมืองนอวูห้ามพิมพ์หนังสือพิมพ์ต่อต้านศาสนจักรชื่อ Nauvoo Expositor การห้ามพิมพ์ครั้งนี้ทำให้ผู้คนจ้องเป็นศัตรูกับศาสนจักรและนำไปสู่การฆาตกรรมโจเซฟโดยตรง

นักประวัติศาสตร์วิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นแรก รวมทั้งเอ็ลเดอร์บี. เอช. โรเบิร์ตส์ยอมรับว่านี่เป็นการทำผิดกฎหมาย แต่เมื่อข้าพเจ้าค้นคว้าเรื่องนี้สมัยเป็นอาจารย์นิติศาสตร์วัยหนุ่ม ข้าพเจ้าประหลาดใจที่พบว่าตามกฎหมายอิลลินอยส์ปี 1844 การกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย มีการห้ามพิมพ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับตามชายแดนในช่วงก่อนสงครามกลางเมือง การรับรองเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในรัฐธรรมนูญสหรัฐไม่ได้ประกาศให้ใช้กับการกระทำของฝ่ายปกครองเมืองและรัฐจนถึงปี 1931 และศาลสูงของสหรัฐได้แก้ไขรัฐธรรมนูญสี่ถึงห้าครั้งก่อนนำมาใช้ในปี 186813 เราจึงควรตัดสินการกระทำของโจเซฟ สมิธตามกฎหมายและสภาวการณ์ในสมัยของท่าน ไม่ใช่ในสมัยของเรา

สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก ข้าพเจ้ากับมาร์วิน เอส. ฮิลล์นักประวัติศาสตร์ต่างสนใจใคร่รู้ข้อเท็จจริงที่คนรู้ไม่มากนักว่าชายห้าคนไปรับการไต่สวนในอิลลินอยส์ข้อหาฆาตกรรมโจเซฟ สมิธ เป็นเวลา 10 กว่าปีที่เราเที่ยวค้นคว้าตามห้องสมุดและหอจดหมายเหตุทั่วประเทศเพื่อหาข้อมูลทุกชิ้นเกี่ยวกับการพิจารณาคดีปี 1845 และการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับครั้งนั้น หนังสือของเราเขียนบทวิเคราะห์คำพูดและการกระทำของพลเมืองอิลลินอยส์ที่รู้จักโจเซฟ สมิธเป็นการส่วนตัว—บางคนที่รักท่านและเสี่ยงชีวิตเพื่อท่าน ตลอดจนคนอื่นๆ ที่เกลียดชังท่านและคบคิดกันสังหารท่าน เราไม่พบสิ่งใดในบันทึกต้นฉบับของศาลหรือในคำให้การขณะพิจารณาคดียืดยาวเปิดเผยสิ่งที่สะท้อนความเสื่อมเสียของบุรุษผู้ถูกฆาตกรรม14

การสามารถเข้าถึงบันทึกของศาลอิลลินอยส์นำไปสู่การค้นคว้าอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงมาก่อนเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ โจเซฟ ไอ. เบนท์ลีย์ซึ่งเวลานั้นเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ที่ชิคาโกและข้าพเจ้าค้นพบบันทึกจำนวนมากเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของโจเซฟ สมิธ เราทั้งสองเขียนบทความ Brigham Young University Law Review ปี 1976 เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยกัน15 ทศวรรษ 1840 ตามมาด้วยช่วงเวลาของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการแห่ถอนเงินทั่วประเทศ สภาพเศรษฐกิจพังย่อยยับในรัฐชายแดนอย่างอิลลินอยส์ ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนประวัติของอับราฮัม ลินคอล์นได้กล่าวถึงความยากลำบากทางการเงินของเขาในช่วงทศวรรษนี้เมื่อธุรกิจเกิดวิกฤติ คนจำนวนมากผิดสัญญา และมีเรื่องฟ้องร้องกันทุกวัน16

ศัตรูของโจเซฟ สมิธกล่าวหาว่าท่านฉ้อโกงเรื่องการถ่ายโอนทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการในนามของศาสนจักร การพิจารณาคดีต่อเนื่องของศาลที่ยืดเยื้อราวสิบปีสอบสวนข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน จนในที่สุด ปี 1852 หลังจากวิสุทธิชนอพยพออกจากอิลลินอยส์ไปนานแล้ว (ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีมูลเหตุทางการเมืองหรือมูลเหตุอื่นให้ใครๆ เข้าข้างวิสุทธิชนหรือผู้นำของพวกเขา) ตุลาการกลางตัดสินคดีนี้ด้วยการประกาศว่าโจเซฟ สมิธไม่ได้ฉ้อโกงหรือทำความผิดใดๆ ทางศีลธรรม17

เหล่านักวิชาการที่รู้ปัญหาสาธารณชนในช่วงนี้เขียนเกี่ยวกับการหาเสียงของโจเซฟ สมิธเพื่อเป็นประธานาธิบดีสหรัฐว่า

“ถึงแม้เขาจะไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งในประเทศปี 1844 แต่เขาเป็นผู้สมัครพรรคที่สามผู้จริงจังอย่างเห็นได้ชัดกับการสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายในสหรัฐ เขาหวังและทำงานเพื่อปรับปรุงมติมหาชนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ได้แก่ ระบบทาส เสรีภาพทางศาสนา เรือนจำ และที่ดินสาธารณะ เขากับโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีเป็นชาวอเมริกันเพียงสองคนที่ถูกลอบสังหารขณะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ”18

คนที่รู้จักโจเซฟ สมิธดีที่สุดและใกล้ชิดท่านมากที่สุดในฐานะผู้นำศาสนจักรน่าจะเข้าใจอุปนิสัยของท่านดีที่สุด พวกเขานับถือท่านและสนับสนุนท่านในฐานะศาสดาพยากรณ์ “ไฮรัมพี่ชายท่านเลือกสิ้นใจข้างท่าน จอห์น เทย์เลอร์อยู่กับท่านด้วยขณะท่านถูกฆาตกรรม เขากล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เหล่าเทพ และมนุษย์ว่าท่านเป็นคนดี น่ายกย่อง และทรงคุณธรรม … —ท่านมีชีวิตและเสียชีวิตในฐานะคนของพระผู้เป็นเจ้า]’ (The Gospel Kingdom [1987], 355; ดู คพ. 135:3 ด้วย) บริคัม ยังก์ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีใครบนแผ่นดินโลกรู้จัก [โจเซฟ สมิธ] ดีกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่า นอกจากพระเยซูคริสต์แล้ว ไม่มีใครที่เคยอยู่หรืออยู่บนโลกนี้ดีไปกว่าท่าน’ [“Remarks,” Deseret News, Aug. 27, 1862, 65].”19

III. โจเซฟ สมิธและกฎหมาย

ดังที่ประจักษ์ชัดแจ้งจากตัวอย่างที่ข้าพเจ้าอ้างไปแล้ว ความที่ข้าพเจ้าสนใจประวัติศาสตร์กฎหมายมายาวนาน ข้าพเจ้าจึงสนใจปฏิสัมพันธ์ของโจเซฟ สมิธกับระบบกฎหมายอเมริกันในสมัยของท่านมากเป็นพิเศษด้วย นักประวัติศาสตร์กล่าวกันว่าโจเซฟ สมิธมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางกฎหมายไม่เกิน 40 ครั้ง ปัจจุบัน ด้วยประโยชน์ของงานที่ทำไว้บน The Joseph Smith Papers เรารู้ว่าตัวเลขนั้นมากกว่า 220 ครั้ง การดำเนินการทางกฎหมายเหล่านี้มี “ตั้งแต่คดีง่ายๆ ไปจนถึง [การฟ้องร้อง] ที่ซับซ้อนเกี่ยวกับทฤษฎีกฎหมายที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน … โจเซฟว่าจ้างทนายหลายคนให้ … เบิกความและแก้ต่างให้การดำเนินการ [ดังกล่าว] … ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา”20

เจฟฟรีย์ เอ็น. วอล์คเกอร์นักวิชาการวิสุทธิชนยุคสุดท้ายใช้ความรู้ที่เรามีอยู่มากมายเกี่ยวกับชีวิตของท่านศาสดาพยากรณ์มาเขียนว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่าโจเซฟ สมิธมีส่วนเกี่ยวข้องในระบบกฎหมายอเมริกันอย่างใกล้ชิด อย่างแข็งขัน และอย่างสม่ำเสมอ การมองข้ามกิจกรรมสำคัญเหล่านี้เท่ากับพลาดวิธีที่ท่านใช้เวลาและพลังงานอย่างปราดเปรื่องและอย่างมีประสิทธิผล—ถึงขนาดที่ดาเนียล เอช. เวลส์ผู้เป็นทนายความ ผู้พิพากษา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และรู้จักสมิธเป็นอย่างดีแสดงความเห็นว่า ‘ผมรู้จักคนทำงานด้านกฎหมายมาตลอดชีวิต แต่โจเซฟ สมิธเป็นทนายความเก่งที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักในชีวิตผม’ [ตามที่อ้างใน The Journal of Jesse Nathaniel Smith: Six Decades in the Early West: Diaries and Papers of a Mormon Pioneer, 1834–1906 (1953), 456].”21

นักเขียนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสามคนสรุปดังนี้ “เนื่องจากคุณสมิธมีส่วนเกี่ยวข้องมากในระบบกฎหมาย เขาจึงเรียนรู้กฎกติกาอย่างรวดเร็วและใช้กฎกติกาเหล่านั้นอย่างถูกกฎหมายเพื่อให้ได้อรรถประโยชน์ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยพยายามใช้โอกาสใหม่ๆ และความคุ้มครองที่ได้จากกฎหมายของประเทศใหม่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ การเลือกใช้กฎหมายอย่างถูกต้องและความประพฤติของเขาบอกชัดเจนว่าเขารอบรู้กระบวนกฎหมายและเขาใช้มาตรการที่ชัดเจนทำประโยชน์ที่เหมาะสมทุกอย่างตามที่กฎหมายอนุญาต ไม่ว่าจะขอลิขสิทธิ์ให้พระคัมภีร์มอรมอนภายใต้กฎหมายสหพันธรัฐ ดำเนินการสมรสภายใต้กฎหมายโอไฮโอ ทำให้กฎเมืองนอวูเป็นรูปเป็นร่าง ขอความคุ้มครองเต็มที่ในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ใช้ประโยชน์จากกฎหมายใหม่ที่ควบคุมการขายที่หลวง ยืนยันสิทธิ์ของหมายศาลที่เรียกตัวบุคคลให้มาปรากฏต่อหน้าผู้พิพากษาหรือศาล ร้องขอสถานที่ชุมนุมที่เหมาะสม หรือขอความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลายที่สหพันธรัฐเพิ่งลงมติยอมรับ ในยามว่างเขาจะศึกษาตำรากฎหมาย เขารู้ข้อความในรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดและรู้ภาษาที่ใช้กับกฎหมายรัฐโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขารู้ดีแน่นอนเรื่องการร่างกฎหมายมากมายทั้งระดับรัฐและสหพันธรัฐตลอดช่วงชีวิตของเขา”22

ที่สำคัญ นักเขียนทั้งสามกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในฐานะจำเลย เขาไม่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาแต่อย่างใด เมื่อใดก็ตามที่เขาได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม จะพบว่าเขาเป็นพลเมืองที่ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา”23

บทสรุปโดยละเอียดของการฟ้องร้องท่านศาสดาพยากรณ์ที่คัดสรรมาและวิเคราะห์ไว้ในหนังสือที่ข้าพเจ้าอ้างถึงล้วนอิงผลงานของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์เจ. รูเบ็น คลาร์กหลายคนผู้ลงเรียนวิชานี้และทำผลงานอย่างละเอียดอันส่งผลให้เกิดหนังสือที่เขียนโดยผู้เขียนทั้งสามนี้ ข้าพเจ้าชื่นชอบการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษานิติศาสตร์เหล่านี้

“นักศึกษานิติศาสตร์ที่เคยใช้หนังสือเล่มนี้เป็นตำรามาหลายครั้งต่างลงความเห็นว่าโจเซฟเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ ภักดี สุขุม มีเมตตา รอบคอบ ละเอียดลออ เคารพกฎหมาย อดทน คิดบวก เจ้าปัญญา หลักแหลม รอบรู้ วิจารณญาณดี และแม้ปราดเปรื่องทางกฎหมาย (ใช้คำพูดของพวกเขาเองบ้าง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาถึงการคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิด้านศาสนาของผู้อื่นหรือทำหน้าที่ซึ่งเขาได้รับมอบหมาย … โจเซฟ สมิธไม่เคยสูญเสียศรัทธาในรัฐธรรมนูญและพยายามทำงานอย่างดีเยี่ยมภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ ถึงแม้เขาจะท้อแท้ สิ้นหวัง และคอยระวังคนที่กำลังบริหารงานรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้งก็ตาม”24

Drawing of Joseph Smith

โจเซฟ สมิธศาสดาพยากรณ์ โดย แอน เวกจีเลนด์ เอื้อเฟื้อโดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศาสนจักร

IV. สรุป

ในชีวิตของโจเซฟ สมิธ ท่านบรรลุผลสำเร็จมากกว่ามนุษย์คนใดจะบรรลุได้ในเวลาอันสั้นเช่นนั้น คำอธิบายอย่างเดียวที่เป็นไปได้คือความช่วยเหลือจากสวรรค์ ข้าพเจ้าชอบบทสรุปนี้

“ท่านแปลและจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนในนิวยอร์ก จัดตั้งศาสนจักรในนิวยอร์ก แล้วตั้งรกรากใหม่ในโอไฮโอ มิสซูรี และอิลลินอยส์ ก่อตั้งเมืองต่างๆ รวมทั้งเคิร์ทแลนด์ ฟาร์เวสท์ และนอวู เรียกและอบรมผู้นำศาสนจักรหลายร้อยคน ศึกษาภาษาฮีบรูและพระคัมภีร์ไบเบิล ก่อตั้งสมาคมสงเคราะห์แห่งนอวู ดำเนินธุรกิจคนเดียวและกับหุ้นส่วน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสร้างพระวิหาร เขียนและจัดพิมพ์บทความและบทบรรณาธิการ มีครอบครัวใหญ่และอ้าแขนรับแวดวงมิตรสหาย บำเพ็ญประโยชน์ในหน้าที่พลเหมืองหลายอย่าง อีกทั้งเป็นหัวหน้าผู้บัญชาการทหารบ้านกองใหญ่ และนายกเทศมนตรีรวมถึงหัวหน้าผู้พิพากษาของเมืองนอวู ท่านพูดเป็นประจำในพิธีนมัสการทุกสัปดาห์ พิธีอุทิศ และในพิธีศพที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ท่านดึงดูดผู้ติดตามหลายหมื่นคน โดยกระตุ้นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสจำนวนมากให้อพยพมาสหรัฐ”25

ในคำพูดการประชุมใหญ่สามัญเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ข้าพเจ้ากล่าวดังนี้

“เฉกเช่นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์คนอื่นๆ ข้าพเจ้าสร้างชีวิตข้าพเจ้าบนประจักษ์พยานและพันธกิจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ในการค้นคว้าดั้งเดิมและการอ่านทั้งหมดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เคยถูกชักนำให้ปฏิเสธประจักษ์พยานของข้าพเจ้าเกี่ยวกับการเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ของท่าน พระกิตติคุณ และการฟื้นฟูฐานะปุโรหิตที่พระเจ้าทรงเริ่มดำเนินการผ่านท่าน ข้าพเจ้ายืนยันประจักษ์พยานที่โจเซฟ สมิธแสดงไว้ในจดหมายเวนท์เวิร์ธอันเลื่องชื่อของปี 1842 ดังนี้

“‘… มาตรฐานแห่งความจริงได้รับการสถาปนา มือที่ไม่สะอาดไม่สามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าของงานนี้ได้ การข่มเหงอาจทวีความรุนแรง ฝูงชนอาจชุมนุมกันต่อต้าน กองทัพอาจรวมตัวกันเพื่อคุกคาม การสบประมาทอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ความจริงของพระผู้เป็นเจ้าจะออกไปอย่างองอาจ มีเกียรติ และเป็นอิสระ จนกว่าจะเข้าไปสู่ทุกทวีป ไปเยือนทุกถิ่น ไปยังทั่วทุกประเทศ และก้องอยู่ในทุกหู จนกว่าจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าจะสำเร็จ และพระเยโฮวาห์ผู้ทรงฤทธานุภาพจะตรัสว่างานสำเร็จแล้ว’ (Times and Seasons, 1 March 1842, 709; อ้างอิงใน Daniel H. Ludlow, ed., Encyclopedia of Mormonism, 5 vols. [1992], 4:1754).”26

Missionaries in Indonesia

พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของเราผู้ทรงปรากฏพร้อมพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาต่อศาสดาพยากรณ์หนุ่มและถึงพระองค์ผู้ซึ่งพระบิดาตรัสว่า “นี่คือบุตรที่รักของเรา จงฟังท่าน!” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17) เราได้ยินพระเจ้าพระเยซูคริสต์ของเราในการเปิดเผยนับจากเวลานั้น นี่คือศาสนจักรของพระองค์ เราเป็นผู้ดำรงสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ เราก้าวไปในอุดมการณ์ของพระองค์ ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงการเรียกของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและการเรียกของศาสดาพยากรณ์ผู้รับช่วงต่อจากท่านในงานอันสำคัญยิ่งนี้ซึ่งเรามีส่วนร่วม

อ้างอิง

  1. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, Accomplishing the Impossible (2015), 1–2.

  2. “สรรเสริญบุรุษ” เพลงสวด บทเพลงที่ 14.

  3. ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2004), 37.

  4. ริชาร์ด ไลแมน บุชแมน, Joseph Smith: Rough Stone Rolling (2005), 105.

  5. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ใน Sarah Jane Weaver, “President Nelson Shares the ‘Hopes of My Heart’ with New Mission Leaders,” Church News, June 26, 2018, news.lds.org.

  6. สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 112; ดูคำนำพระคัมภีร์มอรมอนด้วย.

  7. แกรีย์ ซี. ลอว์เรนซ์, How Americans View Mormonism: Seven Steps to Improve Our Image (2008), 32.

  8. ดู แกรีย์ ซี. ลอว์เรนซ์, How Americans View Mormonism, 42.

  9. ส่วนนี้จนถึงข้อความตรงอ้างอิงข้อ 10 ดัดแปลงจาก ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ “Joseph Smith in a Personal World,” in John W. Welch, ed., The Worlds of Joseph Smith: A Bicentennial Conference at the Library of Congress (2006), 159.

  10. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 561.

  11. แมรีย์ อลิซ แคนนอน แลมเบิร์ต ใน “Joseph Smith, the Prophet,” Young Woman’s Journal, Dec. 1905, 554.

  12. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Joseph, the Man and the Prophet,” Ensign, May 1996, 72.

  13. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “The Suppression of the Nauvoo Expositor,” Utah Law Review, vol. 9, no. 4 (1965), 862–903.

  14. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์และมาร์วิน เอส. ฮิลล์, Carthage Conspiracy: The Trial of the Accused Assassins of Joseph Smith (1975).

  15. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ และโจเซฟ ไอ. เบนท์ลีย์, “Joseph Smith and Legal Process: In the Wake of the Steamboat Nauvoo,” BYU Law Review, vol. 1976, no. 3 (1976), 735–82.

  16. ดู เดวิด เฮอร์เบิร์ต โดนัลด์, Lincoln (1995), 94–118.

  17. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ และโจเซฟ ไอ. เบนท์ลีย์, “Joseph Smith and Legal Process,” 781.

  18. Gordon A. Madsen, Jeffrey N. Walker, and John W. Welch, eds., Sustaining the Law: Joseph Smith’s Legal Encounters (2014), x–xi.

  19. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Joseph, the Man and the Prophet,” 73.

  20. เจฟฟรีย์ เอ็น. วอล์คเกอร์ ใน Gordon A. Madsen and others, eds., Sustaining the Law, vi.

  21. เจฟฟรีย์ เอ็น. วอล์คเกอร์ ใน Gordon A. Madsen and others, eds., Sustaining the Law, vii.

  22. Gordon A. Madsen and others, eds., Sustaining the Law, xvii.

  23. Gordon A. Madsen and others, eds., Sustaining the Law, xvii–xviii.

  24. Gordon A. Madsen and others, eds., Sustaining the Law, xviii.

  25. Gordon A. Madsen and others, eds., Sustaining the Law, xi–xii.

  26. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Joseph, the Man and the Prophet,” 73.

อายุ:

เหตุการณ์:

14

เห็นนิมิตแรก

21

ได้รับแผ่นจารึกทองคำ

23

แปลพระคัมภีร์มอรมอนจบ

25

ได้รับการเปิดเผยครึ่งหนึ่งในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา

26

จัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุด

33

หนีออกจากคุกในมิสซูรี เป็นผู้นำต่อไป

38

ถูกสังหารเป็นมรณสักขี