มารีย์ พระมารดาของพระเยซู
เรื่องราวของมารีย์เป็นเครื่องเตือนใจไม่เสื่อมคลายให้นึกถึงค่าและพรของการเป็นสานุศิษย์
มารีย์พระมารดาของพระเยซูเป็นหนึ่งในสตรีไม่กี่คนที่พระคัมภีร์กล่าวถึงและเป็นคนเดียวที่ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของเธอพยากรณ์ไว้นานหลายศตวรรษก่อนเธอเกิด (ดู 1 นีไฟ 11:15, 18; โมไซยาห์ 3:8; แอลมา 7:10)1 มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์นผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ให้ข้อมูลเล็กน้อยเกี่ยวกับชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของเธอเพราะพวกเขาจะเน้นเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดเป็นหลัก แต่คริสตจักรสมัยแรกตั้งฉายาให้มารีย์ว่า theotokos “ผู้ให้กำเนิดหรือพระมารดาของพระผู้เป็นเจ้า”2 อันเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงบทบาทสำคัญของเธอในแผนของพระบิดาเช่นกัน
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนไว้ว่า “เราพูดยกย่องเธอผู้ซึ่งพระเจ้าทรงอวยพรเหนือสตรีทั้งปวงเกินจริงไม่ได้หรือ มีพระคริสต์เพียงองค์เดียว และมีมารีย์เพียงคนเดียว ทั้งสองสูงส่งและยิ่งใหญ่ใน [การดำรงอยู่ก่อนเกิด] และทั้งสองได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าสู่การปฏิบัติศาสนกิจที่เขาหรือเธอทำ เราอดคิดไม่ได้ว่าพระบิดาทรงเลือกวิญญาณสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นมารดาของพระบุตรของพระองค์ เฉกเช่นทรงเลือกวิญญาณบุรุษเหมือนพระองค์ให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด … เราควร … เคารพนับถือมารีย์ตามที่เธอสมควรได้รับ”3
เรื่องราวของลูกาในการประกาศของเทพต่อมารีย์ (ดู ลูกา 1:26–56) เปิดช่องให้เราสำนึกคุณต่อหญิงสาวที่น่าทึ่งคนนี้มากขึ้น จากปฏิสัมพันธ์ของเธอกับกาเบรียลและเอลิซาเบธทำให้เรามองเห็นหญิงสาวที่พยายามเข้าใจการเรียกพิเศษจำเพาะของเธอจากพระผู้เป็นเจ้า ขนาดของการเรียกนั้นต้องหนักอึ้งเป็นแน่แท้สำหรับคนอายุน้อยเช่นนั้น แต่เธอยอมให้ความประสงค์ของเธอเป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา เรื่องราวของเธอเตือนเราว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์และทรงเรียกชายหญิงธรรมดาให้มีส่วนช่วยสร้างอาณาจักรของพระองค์ในวิธีที่ไม่ธรรมดา เธอกลายเป็นสานุศิษย์คนแรกของพระเยซู และด้วยเหตุนี้จึงเป็นต้นแบบสำหรับทุกคนที่เลือกติดตามพระองค์
นาซาเร็ธ: บ้านของมารีย์
น่าเสียดายที่พันธสัญญาใหม่ไม่บอกเราเกี่ยวกับบิดามารดาของมารีย์ การเกิด หรือเรื่องใดๆ เกี่ยวกับชีวิตเธอในนาซาเร็ธ ลูกาเรียกนาซาเร็ธว่า polis ซึ่งแปลว่าเมือง แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นสถานที่สำคัญแต่อย่างใด นอกจากพันธสัญญาใหม่แล้ว ไม่มีตำราเล่มใดกล่าวถึงนาซาเร็ธจนถึงปลายศตวรรษที่สองหลังคริสต์ศักราช
เรารู้ว่านาซาเร็ธตั้งอยู่บนเนินเขาในกาลิลีตอนล่างเหนือหุบเขายิสเรเอลที่อุดมสมบูรณ์ไปทางเหนือของเยรูซาเล็ม 105 กม. โบราณคดีระบุว่านาซาเร็ธในศตวรรษแรกเหมือนหมู่บ้านมากกว่าเมือง คาดว่ามีประชากรราว 400–500 คน4 ประชากรส่วนใหญ่ทั่วกาลิลีดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการเป็นคนงาน เลี้ยงสัตว์ หาปลา และทำไร่ไถนาเพียงเพื่อให้มีอาหารพอกินสำหรับครอบครัวและจ่ายภาษี หมู่บ้านไม่มีกำแพงล้อมรอบ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีถนนลาดยางหรือสถาปัตยกรรมสำคัญ ทั้งไม่ใช้ของหรูหราอย่างเช่นหินอ่อน โมเสค หรือภาพปูนเปียกในอาคารต่างๆ และครัวเรือนไม่มีเครื่องปั้นดินเผานำเข้า5 บ้านเรือนสองศตวรรษแรกที่ถูกขุดค้นดูเหมือนจะเป็นที่อาศัยชั้นเดียวแบบเรียบง่าย มีสองห้อง หลังคามุงจาก และมีลานบ้านเล็กๆ6 พิธีฝังศพและเศษถ้วยโถโอชามที่เป็นหินปูนบ่งบอกว่าผู้อาศัยเป็นชาวยิวไม่ใช่คนต่างชาติ
แม้ไม่สามารถเชื่อมโยงการค้นพบเหล่านี้กับมารีย์หรือครอบครัวของเธอได้โดยตรง แต่ก็ทำให้เรารับรู้ว่าชีวิตของเธอในนาซาเร็ธน่าจะเป็นอย่างไร สาวบ้านนอกอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบท ห่างจากศูนย์กลางทางศาสนาของเยรูซาเล็มที่มีพระวิหาร ชนชั้นสูงอย่างปุโรหิต และความมั่งคั่ง แม้จะเป็นเด็กสาว แต่เธอน่าจะทำงานเคียงข้างมารดาและสตรีคนอื่นๆ ของหมู่บ้าน ทอผ้า ทำอาหาร เก็บฟืน ตักน้ำจากถังเก็บน้ำในบ้านหรือบ่อของหมู่บ้าน และทำงานในเรือกสวนไร่นา—ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้ครอบครัวอยู่รอดไปวันๆ
การเรียกของมารีย์
เรื่องราวของมารีย์ในหนังสือของลูกาเริ่มต้นด้วยการปรากฏของเทพกาเบรียล เทพองค์เดียวกับที่เคยปรากฏต่อเศคาริยาห์ในพระวิหาร (ดู ลูกา 1:11, 19, 26) ตอนที่กาเบรียลปรากฏ มารีย์เป็นหญิงสาวผู้หมั้นหมายจะแต่งงานกับโยเซฟ (ดู ลูกา 1:27) ถึงแม้เราไม่ทราบว่าเวลานั้นมารีย์อายุเท่าใด แต่ในสมัยก่อนน่าจะตกลงทำสัญญาแต่งงานก่อนวัยสาว การปรากฏและคำประกาศของกาเบรียลว่ามารีย์เป็น “ผู้ที่พระเจ้าโปรดปรานมาก” ว่า “พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่กับเธอ” ว่า “ในบรรดาสตรีเธอได้รับพรมาก” และจากงานแปลของโจเซฟ สมิธใน ลูกา 1:28 กล่าวว่าเธอ “ได้รับเลือก” (ดู แอลมา 7:10 ด้วย) คงทำให้มารีย์เกิดความสับสนระคนความกลัว เราจินตนาการได้เพียงว่าน่าจะมีความคิดหลายอย่างพรั่งพรูเข้ามาในขณะนั้น แต่น่าจะมีคำถามทำนองนี้รวมอยู่ด้วย “เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงคิดว่า ‘ในบรรดาสตรี [ฉัน] ได้รับพรมาก’” “เหตุใดฉันจึงเป็น ‘ผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน’ และนั่นหมายความว่าอย่างไร” “เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงส่งกาเบรียลมาหาฉันแทนที่จะไปหาหญิงสาวคนอื่นในนาซาเร็ธหรือในเยรูซาเล็ม” ใช่ เธอมาจากเชื้อสายของดาวิด (ดู ลูกา 1:32; โรม 1:3) แต่นั่นมีความหมายเล็กน้อยภายใต้การยึดครองของโรม เธอเป็นเพียงหญิงสาวจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เท่านั้นเอง ดังที่นาธานาเอลถามในเวลาต่อมาว่า “สิ่งดีๆ จะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ?” (ยอห์น 1:46)
กาเบรียลไม่ตอบคำถามใดๆ ที่น่าจะทำให้มารีย์อิ่มเอมใจ แต่กาเบรียลบอกข่าวสารต่อไปว่าเธอจะตั้งครรภ์เด็กคนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เด็กธรรมดา และเด็กคนนี้จะมีชื่อเรียกว่า “บุตรของพระเจ้าสูงสุด” และจะได้รับ “บัลลังก์ของดาวิดบรรพบุรุษของท่าน” (ดู ลูกา 1:32–33) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กาเบรียลบอกมารีย์ว่าบุตรชายของเธอจะเป็นทั้งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ ถ้ามารีย์สับสนและกลัวก่อนการประกาศครั้งนี้ เราจินตนาการได้เพียงว่าเธอคงเครียดมากหลังจากนั้น
เราลองพิจารณาหลักธรรมหนึ่งที่เรื่องราวส่วนนี้ของมารีย์สอนเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ แผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับมารีย์ไม่ใช่สิ่งที่เธอขอ! กาเบรียลปรากฏต่อเศคาริยาห์เพราะเขากับเอลีซาเบธสวดอ้อนวอนขอบุตรซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ แต่กาเบรียลมาหามารีย์ภายใต้สภาวการณ์ที่ต่างจากนั้นมาก ไม่ใช่เพื่อทำตามคำขอ แต่เพื่อประกาศพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อเธอ เพราะใกล้จะแต่งงาน มารีย์จึงน่าจะคิดว่าเธออาจจะมีบุตรในอนาคต ถึงแม้จะมีกระแสความคาดหวังเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในลัทธิยูดาห์ช่วงศตวรรษแรก แต่มารีย์จะเคยคิดไหมว่าสาวชนบทจากนาซาเร็ธอย่างเธอจะได้เป็นมารดาของพระเมสสิยาห์ อาจจะไม่เคยคิด ประเด็นสำคัญคือการเรียกให้เป็นสานุศิษย์บ่อยครั้งเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแผนชีวิตส่วนตัว
ลูกาเน้นบันทึกของเขาที่คำประกาศของกาเบรียลและเอลีซาเบธหลังจากนั้น แต่มีสามครั้งที่มารีย์แสดงความคิดและความรู้สึกของเธอออกมา
คำถามที่ได้รับการดลใจ
คำถามแรกที่เธอถามกาเบรียลคือ “เหตุการณ์นั้นจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้ายังไม่เคยหลับนอนกับชายใด?” (ลูกา 1:34) ตามสภาวการณ์ คำถามของเธอมีเหตุผล คำถามดังกล่าวทำให้ผู้อ่านนึกถึงคำถามของเศคาริยาห์ “ข้าพเจ้าจะรู้แน่ได้อย่างไร [ว่าเอลีซาเบธจะให้กำเนิดบุตรชาย]” (ข้อ 18) แต่คำถามของเศคาริยาห์แสดงถึงความกังขาในคำตอบของกาเบรียลต่อคำสวดอ้อนวอนที่เขาทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยตนเอง ส่วนคำถามของมารีย์มุ่งหมายจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ประกาศต่อเธอ คำถามเกิดขึ้นแน่นอนเมื่อพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้เป็นเจ้าท้าทายให้สานุศิษย์ยกมาตรฐานและออกจากสิ่งที่พวกเขาเคยชิน คำถามที่ได้รับการดลใจนำไปสู่การเปิดเผย
คำตอบของกาเบรียลต่อคำถามของมารีย์มีสามส่วน ได้แก่
-
หนึ่ง กาเบรียลบอกมารีย์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ” (ข้อ 35) พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังอำนาจที่สานุศิษย์ในทุกยุคทุกสมัยใช้ขยายการเรียกของพวกเขา “จำไว้ว่านี่ไม่ใช่งานของท่านหรือของข้าพเจ้าเท่านั้น” ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สอน “นี่คืองานของพระเจ้า และเมื่อเรากำลังทำกิจธุระของพระเจ้า เรามีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า จำไว้ว่าคนที่พระเจ้าทรงเรียก พระเจ้าทรงทำให้คู่ควร”7 จากนั้นกาเบรียลให้ข้อมูลตามสถานการณ์ของมารีย์ว่า “ฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ:8 เพราะฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (ข้อ 35)
-
สอง กาเบรียลบอกมารีย์เกี่ยวกับเอลีซาเบธ คนที่กำลังประสบการตั้งครรภ์คล้ายกันอย่างน่าอัศจรรย์แม้ไม่เหมือนกันทุกประการก็ตาม (ดูข้อ 36) การตั้งครรภ์ของเอลีซาเบธเป็นการบอกใบ้ให้มารีย์รู้ว่าเธอไม่โดดเดี่ยว อย่างน้อยก็มีอีกคนหนึ่งเข้าใจสิ่งที่เธอกำลังประสบ
-
สาม กาเบรียลประกาศชัดเจนว่า “เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” (ข้อ 37) พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้เมื่อเอลีซาเบธตั้งครรภ์9 คำประกาศของกาเบรียลเป็นเครื่องเตือนใจสานุศิษย์ในทุกยุคทุกสมัยว่าเมื่อเราตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้เป็นเจ้า ปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้น
ความเต็มใจของสานุศิษย์
คำตอบรับครั้งที่สองของมารีย์ในเรื่องนี้ในความคิดของผมถือว่าเป็นตัวอย่างชัดเจนของคำมั่นสัญญาและทัศนคติของสานุศิษย์ “นี่แน่ะข้าพเจ้าเป็นทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน” (ลูกา 1:38) “ทาส” บ่งบอกว่ามารีย์ได้เลือกยอมรับการเรียกที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เธอ คำกล่าวนี้เป็นวิธีพูดของมารีย์ที่พระบุตรจะตรัสในเกทเสมนี “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (ลูกา 22:42) แม้ดูเหมือนจะชัดเจน ณ จุดนี้ในการเดินทางของเธอ แต่เธอไม่น่าจะเข้าใจทั้งหมดที่เรียกร้องจากเธอได้—สิเมโอนพยากรณ์ต่อเธอในเวลาต่อมาว่า “ถึงหัวใจของท่านเองก็จะถูกดาบแทงทะลุด้วย” (ลูกา 2:35)—แต่มารีย์ก็เลือกเดินหน้าต่อไปด้วยศรัทธา
“แล้วทูตสวรรค์ก็จากนางไป” (ลูกา 1:38) เมื่อกาเบรียลจากไป มารีย์ถูกทิ้งไว้ตามลำพัง แม้การประกาศต่อหน้าทูตสวรรค์เหมือนที่เธอทำจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สานุศิษย์พึงทำ แต่เธอจะทำอย่างไรเพราะเทพไปแล้ว เธอจะอธิบายประสบการณ์นี้กับบิดามารดาของเธอ และกับโยเซฟอย่างไร เธอจะสูญเสียอะไรถ้าพวกเขาหรือผู้อาศัยอยู่ในนาซาเร็ธไม่เชื่อเธอ เวลานี้คนใกล้ชิดกับเธอในนาซาเร็ธอาจทำให้เธอลำบากใจ
ด้วยเหตุนี้เธอจึงนึกถึงคำตอบส่วนที่สองของกาเบรียลต่อคำถามของเธอและการเดินทางไปบ้านของเอลีซาเบธ เรื่องราวสองเรื่องตอนต้นหนังสือลูการ้อยเรียงเข้าด้วยกันอีกครั้ง ทันทีที่มารีย์ทักทายเอลีซาเบธ “ทารกในครรภ์ของนางก็ดิ้น และนางเอลีซาเบธก็เต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงร้องเสียงดังว่า ในบรรดาสตรีเธอได้รับพรมาก และทารกในครรภ์ของเธอก็ได้รับพระพรด้วย” (ลูกา 1:41–42) คำทักทายของเธอตามที่พระวิญญาณทรงนำเสริมสิ่งที่กาเบรียลประกาศไว้แล้วเกี่ยวกับสถานะได้รับพรของมารีย์ในบรรดาสตรีทั้งหลาย เวลานี้มารีย์มีพยานปากที่สองยืนยันการเรียกของเธอ แต่มาหลังจากเธอเต็มใจยอมรับการเรียกเท่านั้น
เรื่องราวของมารีย์กับเอลีซาเบธเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงสองด้านสำคัญในชีวิตของสานุศิษย์ยุคปัจจุบัน เป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงคุณค่าเชิงสัญลักษณ์อันเป็นหัวใจของสมาคมสงเคราะห์ทั่วโลก นั่นคือ สตรีที่วัยต่างกันและสถานภาพในชีวิตต่างกันมารวมกันเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือกันในยามยาก อีกทั้งเป็นเครื่องเตือนใจด้วยว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งคนที่พระองค์ทรงเรียกในยามยากของพวกเขาแต่บ่อยครั้งพระองค์ทรงตอบสนองโดยทรงโอบพวกเขาไว้ในอ้อมแขนของคนที่พระองค์ทรงเรียกเช่นกัน
การถวายสดุดี
คำกล่าวสุดท้ายของมารีย์รู้กันว่าเป็นการถวายสดุดีและเป็นการแสดงความยินดีต่อคำประกาศของเอลีเซเบธ เธอแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่อุบัติขึ้นในชีวิตเธอและสะท้อนความเข้าใจที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับบทบาทของเธอในแผนของพระผู้เป็นเจ้า แรกสุดและสำคัญที่สุดคือเธอรู้สึกว่าต้องยกย่องสรรเสริญและถวายพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้าของเธอผู้ซึ่งเธอชื่นชมยินดีในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของเธอ (ดู ลูกา 1:46–47) เธอเห็นพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างต่อเนื่องในประสบการณ์ของเธอ ทั้งในข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรงเลือกคนมี “ฐานะอันต่ำต้อย” เช่นเธอ (ดู ข้อ 48–50) และในข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรงเลือกเธอให้มีบทบาทสำคัญในการทำให้พันธสัญญาอับราฮัมเกิดสัมฤทธิผล (ดู ข้อ 54–55)
“มารีย์อาศัยอยู่กับนางเอลีซาเบธประมาณสามเดือน แล้วจึงกลับไปยังบ้านของตน” (ข้อ 56) เวลานี้มารีย์พร้อมทำการเรียกจากสวรรค์มากขึ้นแล้ว
แบบอย่างของมารีย์สำหรับเรา
วัฒนธรรมและเวลา 2,000 ปีทำให้สานุศิษย์ยุคปัจจุบันไม่เข้าใจเรื่องราวของมารีย์ กระนั้นก็ตาม เรื่องราวของเธอยังเป็นเครื่องเตือนใจไม่สิ้นสุดให้นึกถึงค่าของการเป็นสานุศิษย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้ผู้ติดตามพระองค์ก้าวขึ้นมารับพระดำรัสเชื้อเชิญที่พระองค์ทรงมอบให้ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเตือนเราว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้บุตรธิดาในพันธสัญญาทำเรื่องยากเสมอ”10 มารีย์ไม่ได้รับยกเว้น และเราก็เช่นกัน ความท้าทายของเราคือมีศรัทธาว่าจะยอมให้ความประสงค์ของเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ ยอมรับการเรียกจากพระองค์ด้วยศรัทธาว่าพระวิญญาณของพระองค์จะทรงขยายผลให้เราในการรับใช้พระองค์ บอนนี่ เอช. คอร์ดอนประธานเยาวชนหญิงสามัญเตือนเราเช่นกันว่า “เราทำเรื่องยากๆ ได้” และเพิ่มเติมต่อจากนั้นว่า “แต่เราทำได้อย่างเบิกบาน”11
ในฐานะสานุศิษย์ยุคปัจจุบัน เราจะถวายสดุดีว่าอย่างไร เราจะแสดงความชื่นชมยินดีในพระผู้เป็นเจ้าของเราอย่างไร เราจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่แห่งพระเมตตาของพระองค์ในชีวิตเราว่าอย่างไร เราจะหาวิธีฉลองบทบาทของเราในการทำให้พันธสัญญาอับราฮัมเกิดสัมฤทธิผลในสมัยของเราอย่างไร วิธีที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะช่วยให้เราได้เรียนรู้จากเรื่องราวการเป็นสานุศิษย์อันน่าทึ่งของมารีย์