หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
การปฏิบัติศาสนกิจคือการมองเห็นผู้อื่น ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมองเห็น
พระเยซูทรงใช้เวลามากกับคนที่ดูต่างจากคนอื่น พระองค์ทรงเห็นศักยภาพอันสูงส่งของพวกเขา
ในการพยายามปฏิบัติศาสนกิจเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด เราอาจถูกขอให้ปฏิบัติศาสนกิจต่อคนที่ต่างจากเรา เป็นการให้โอกาสเราเรียนรู้และเติบโต
ความแตกต่างทางวัฒนธรรม การศึกษา เชื้อชาติ เศรษฐกิจ อายุ พฤติกรรมในอดีตหรือปัจจุบัน หรือความแตกต่างอื่นๆ สามารถทำให้เราตัดสินคนบางคนก่อนจะรู้จักพวกเขาด้วยซ้ำ การตัดสินล่วงหน้าเช่นนี้เป็นเหตุให้เกิดอคติ และพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนให้หลีกเลี่ยง (ดู 1 ซามูเอล 16:7; ยอห์น 7:24)
เราจะมองข้ามความแตกต่างและมองเห็นผู้อื่นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมองเห็นได้หรือไม่ เราสามารถเรียนรู้ที่จะรักผู้อื่นอย่างที่พวกเขาเป็นและอย่างที่พวกเขาจะเป็นได้อย่างไร
ทอดพระเนตรและทรงรัก
พระคัมภีร์ไบเบิลเล่าเรื่องคุ้นหูของเศรษฐีหนุ่มผู้ถามวิธีได้รับชีวิตนิรันดร์ว่า “พระเยซูทอดพระเนตรดูคนนั้น ทรงเอ็นดูเขา แล้วตรัสว่าท่านยังขาดอยู่อย่างหนึ่ง จงไปขายบรรดาสิ่งของที่ท่านมีอยู่ แจกจ่ายให้กับคนยากจน ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงกลับมาติดตามเรา” (มาระโก 10:21)
เมื่อเอ็ลเดอร์เอส. มาร์ก พอลเมอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบศึกษาพระคัมภีร์ข้อนี้หลายปีก่อน ด้านใหม่ของเรื่องนี้มีความหมายต่อท่านทันที
“‘พระเยซูทอดพระเนตรดูคนนั้น ทรงเอ็นดูเขา’
“ขณะได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ มโนภาพที่ชัดเจนของข้าพเจ้าคือพระเจ้าทรงหยุดและ ทอดพระเนตรดู ชายหนุ่มคนนี้ ทอดพระเนตรดู—ดูลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของเขา ทรงตระหนักในคุณงามความดี และศักยภาพของเขา รวมทั้งสิ่งที่เขาต้องการที่สุดด้วย
“จากนั้นเป็นถ้อยคำที่เรียบง่าย—พระเยซู ทรงเอ็นดูเขา พระองค์ทรงรู้สึกรักและเมตตาชายหนุ่มที่ดีคนนี้มาก และ เพราะ ความรักนี้และ ด้วย ความรักนี้ พระเยซูจึงทรงขอจากเขามากขึ้น ข้าพเจ้านึกภาพว่าชายหนุ่มคนนี้จะรู้สึกอย่างไร คงเหมือนถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความรักนั้นแม้ขณะมีผู้ขอให้ทำบางอย่างที่ยากที่สุด เช่น การขายทุกสิ่งที่มีแล้วแจกจ่ายให้แก่คนยากจน …
“[ข้าพเจ้าถามตนเองว่า] ‘ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะมีความรักเหมือนพระคริสต์เพื่อให้ [ผู้อื่น] รู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าผ่านข้าพเจ้าและปรารถนาจะเปลี่ยนแปลง’ ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะ มองดู [คนรอบข้าง] ในวิธีเดียวกันกับที่พระเจ้าทอดพระเนตรดูเศรษฐีหนุ่ม โดยมองดูว่าจริงๆ แล้วพวกเขาคือใครและพวกเขาสามารถเป็นใคร แทนที่จะดูว่าพวกเขาทำหรือไม่ทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร”1
ฝึกมองเห็นผู้อื่น
การเรียนรู้ที่จะมองเห็นผู้อื่นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมองเห็นก่อเกิดผลดีมากมาย ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการที่สามารถช่วยเราได้เมื่อเราทำให้บรรลุเป้าหมายนี้
-
ทำความรู้จักพวกเขา
พยายามทำความรู้จักผู้คนให้มากกว่ารายละเอียดเพียงผิวเผิน รับรู้ว่าการสร้างความสัมพันธ์ต้องใช้เวลาและความพยายามที่จริงใจ (ดูความช่วยเหลือได้จากบทความหลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจเดือนสิงหาคม 2018 เรื่อง “สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย”) -
สำรวจตนเอง
เอาใจใส่การตัดสินที่ท่านอาจจะทำอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จดสมมติฐานที่ท่านทำเกี่ยวกับผู้อื่นและพยายามเข้าใจว่าเหตุใดท่านรู้สึกกับพวกเขาแบบนั้น -
อย่าตัดสิน
ตระหนักว่าสภาวการณ์ไม่ได้กำหนดคุณค่าของแต่ละบุคคล เอาใจเขามาใส่ใจเราและพิจารณาว่าท่านต้องการให้คนๆ หนึ่งมองท่านอย่างไรถ้าท่านอยู่ในสภาวการณ์เดียวกัน การแยกการเลือกและพฤติกรรมของคนๆ หนึ่งออกจากคุณค่าในตัวและศักยภาพอันสูงส่งของพวกเขาจะช่วยให้เรามองเห็นพวกเขาดังที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงมองเห็น -
สวดอ้อนวอนให้รักพวกเขา
สวดอ้อนวอนให้พวกเขาเป็นประจำโดยเอ่ยชื่อและสวดอ้อนวอนขอความอดทนเพื่อพัฒนามิตรภาพที่แท้จริง ใคร่ครวญการรับใช้ของท่านร่วมกับการสวดอ้อนวอน มีช่องว่างระหว่างสิ่งที่ท่านทำอยู่กับสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ หรือไม่
พระเยซูทรงใช้เวลากับชนทุกชั้น: คนมั่งมี คนยากจน ผู้ปกครอง และคนธรรมดาทั่วไป พระองค์มักจะทรงเป็นเหยื่อการตัดสินที่ไม่ถูกต้องของผู้อื่นเมื่อพวกเขาเห็นพระองค์และสภาวการณ์ที่ดูต่ำต้อยหรือยากจนของพระองค์ “ท่านไม่มีความงาม … ซึ่งจะให้เราพึงปรารถนา ท่านถูกดูหมิ่นและเราไม่ได้นับถือท่าน” (อิสยาห์ 53:2–3)
วิสัยทัศน์ที่เหมือนพระคริสต์
พี่น้องสตรีคนหนึ่งเล่าเรื่องของการฝึกมองเพื่อนบ้านด้วยสายตาแบบพระคริสต์ดังนี้
“จูเลีย (นามสมมติ) อาศัยอยู่ใกล้บ้านดิฉันและดูเหมือนไม่มีเพื่อนเลย เธอดูหงุดหงิดโมโหตลอดเวลา แม้จะเป็นเช่นนั้นแต่ดิฉันก็ตัดสินใจเป็นเพื่อนกับเธอ ไม่ใช่แค่เพื่อนปกติธรรมดา แต่เป็นเพื่อนแท้ ดิฉันพูดกับเธอทุกครั้งที่เห็นเธอและแสดงความสนใจในสิ่งที่เธอทำ ดิฉันสร้างสายสัมพันธ์มิตรภาพกับเธอทีละนิด ซึ่งทำให้เกิดปีติในใจดิฉัน
“วันหนึ่ง ดิฉันตัดสินใจไปเยี่ยมจูเลียและถามเธอเรื่องที่เธอตัดสินใจไม่ไปโบสถ์
“ดิฉันทราบว่าเธอไม่มีครอบครัวหรือญาติอยู่ใกล้ๆ น้องชายคนเดียวที่อยู่ไกลติดต่อกับเธอปีละครั้งทางโทรศัพท์ ขณะฟังเธอระบายความคับข้องใจ ความโกรธ และความขมขื่นเกี่ยวกับครอบครัวเธอและศาสนจักร ความรู้สึกสงสารและความรักต่อพี่น้องสตรีคนนี้แรงกล้ามากจนมิอาจปฏิเสธได้ ดิฉันรู้สึกถึงความเจ็บปวดและความคับข้องใจของเธอ ดิฉันเข้าใจว่าชีวิตเธอเงียบเหงาเพียงใด ประหนึ่งได้ยินคำพูดเบาๆ ข้างหลังดิฉันว่า ‘ฉันก็รักเธอ รักและเคารพเธอ’
“ดิฉันนั่งฟังจนเธอไม่มีอะไรจะพูด ดิฉันรู้สึกรักและสงสารเธอ พี่น้องสตรีคนนี้ไม่เคยรู้เลยว่าการได้รับความรักนั้นเป็นอย่างไร ดิฉันเข้าใจเธอลึกซึ้งขึ้นทันที ดิฉันขอบคุณเธอที่ยอมให้ดิฉันพูดคุยด้วย และดิฉันลาเธอด้วยการสวมกอด ด้วยความรักและความเคารพที่มีต่อเธอ เธอจะไม่มีวันรู้ว่าดิฉันตื้นตันเพียงใดกับการเยี่ยมเยียนคราวนั้น พระบิดาบนสวรรค์ทรงเปิดตาดิฉันและสอนดิฉันว่าดิฉันสามารถรักด้วยความสงสารมากขึ้นได้ ดิฉันตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่เพียงเป็นเพื่อนเธอเท่านั้นแต่เป็นครอบครัวของเธอด้วย”
การได้รับเชิญให้เข้าไปในชีวิตของใครสักคนเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เราสามารถฝึกทำเช่นนั้นด้วยการสวดอ้อนวอน ความอดทน ความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ และด้วยวิสัยทัศน์ที่เหมือนพระคริสต์มากขึ้น