ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว
สนับสนุนคุณแม่ของดิฉันขณะที่ท่านพยายามเลิกดื่ม
การเดินไปตามเส้นทางบำบัดพร้อมกับคนเสพติดไม่ใช่เรื่องง่ายแต่คุ้มค่า
ตอนที่ดิฉันโตพอจะเข้าใจว่าสุราคืออะไร ดิฉันรู้ว่าคุณแม่มีปัญหากับมันเสียแล้ว สมาชิกครอบครัวพยายามปกปิดไม่ให้ดิฉันกับน้องสาวรู้เรื่องนี้ แต่พวกเขาปิดบังการดื่มหนักตอนเช้าและอาการเมาค้างไม่ได้นาน
คุณแม่ของเราติดสุรา—และไม่มีคำแก้ตัวหรือเรื่องต่อเติมเสริมแต่งใดเปลี่ยนได้
เมื่อยังเด็ก ดิฉันเชื่อว่าการเสพติดเป็นทางเลือก ดิฉันเจ็บปวดมากทุกครั้งที่คุณแม่เดินเข้าบ้านพร้อมกลิ่นสุราในลมหายใจหลังจากสัญญาว่าจะเลิก เหมือนท่านไม่ อยาก เปลี่ยน แต่หลายปีของน้ำตาที่เจ็บปวด ความพยายามที่ล้มเหลว และภาวะถอนพิษสุราหลังหยุดดื่มกะทันหันของท่านสอนดิฉันอย่างอื่น
เมื่อดิฉันเรียนมัธยมต้น ดิฉันเริ่มตระหนักว่าการเสพติดของคุณแม่จะไม่ “ยินยอมพร้อมลาลับเมื่ออับแสง” ดังกวีไดลัน โธมัสเขียนไว้1—และไม่ใช่เพราะท่านไม่อยากเปลี่ยน ไม่ใช่เพราะท่านขาดจิตที่มุ่งมั่นหรือท่านเลือกสุรามากกว่าครอบครัว แต่เพราะท่านติดกับดักของการเสพติด
ดังประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบาย “การเสพติดทำให้อิสรภาพของการเลือกในภายหลังหมดไป สารเคมีทำให้คนๆ นั้นไม่สามารถเชื่อมต่อกับจิตของตนได้เลย”2 การหาทางบำบัดจะเป็นการต่อสู้ระหว่างร่างกายกับวิญญาณในอีกหลายปีข้างหน้า
อดทนต่อวัฎจักรของการกลับมาดื่มเหมือนเดิม
หลังจากคุณแม่เลิกสุราได้หกเดือน ดิฉันเริ่มจำคุณแม่ได้อีกครั้ง—คนที่เคยเต้นรำในรถ เขียนกลอนเพราะๆ และเล่าเรื่องตลกเฝื่อนๆ ให้เพื่อนทุกคนของดิฉันฟัง ราวกับมีคนหลังฉากกดสวิตช์เปิดไฟในดวงตาท่านขึ้นมาทันทีทันใดและทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ไฟติดตลอด ท่านไม่ได้เลิกเสพนานขนาดนั้นมาหลายปี และรู้สึกดีที่ท่านกลับมาเหมือนเดิม
แต่ความรู้สึกดีนั้นอยู่ได้ไม่นาน คืนหนึ่งท่านยังไม่มีโอกาสพูดดิฉันกับน้องสาวก็รู้แล้ว นัยน์ตาเลื่อนลอยและแก้มแดงก่ำบอกอยู่ในตัว ท่านกลับมาดื่มเหมือนเดิมหลังจากเลิกได้หกเดือนสี่วัน ตอนนั้นเราคิดจะเดินออกจากบ้าน ออกห่างจากความวิตกกังวลและความกลัว แต่เรา รู้ ว่าท่านอยากเปลี่ยน เราเปลี่ยนแทนท่านไม่ได้ แต่เรา สามารถ สนับสนุนท่านขณะท่านเดินไปตามเส้นทางบำบัด
ทำลายความเงียบของการเสพติด
ตลอดสองสามเดือนต่อจากนั้น ดิฉันกับน้องสาวมองหาวิธีช่วยให้คุณแม่เดินหน้าบำบัดจนเลิกดื่มได้นานๆ คงไม่ง่าย แต่ท่านเคยทำได้ครั้งหนึ่งแล้ว และเรารู้ว่าท่านจะทำได้อีก
เพราะเคยเห็นคุณแม่มีภาวะถอนพิษสุราหลังหยุดดื่ม เราจึงรู้ว่าต้องทำอย่างไร เราเก็บขวดสุราขวดไวน์ทั้งหมดที่เราหาเจอแล้วเททิ้ง จากนั้นเราไปซื้อเกเตอเรดที่ร้านชำมาตุนไว้และทำความสะอาดบ้านจนเอี่ยม เราพยายายามเต็มที่เพื่อนำคุณแม่ออกจากสภาพแวดล้อมที่ท่านอยู่ตอนกลับมาดื่มอีก
สองสามวันหลังจากนั้น คุณแม่สบายดีพอจะกลับไปทำงาน แต่เรารู้ว่าการต่อสู้ยังไม่จบ จนถึงจุดนั้นครอบครัวเราและเพื่อนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าท่านติดสุราขั้นรุนแรง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นความลับ—ต้นตอของความอับอาย เป็นสิ่งที่เบรเน่ บราวน์นักวิจัยทางสังคมศาสตร์อธิบายว่า “มันได้พลังมาจากการพูดออกมาไม่ได้”3 ถ้าเราอยากให้ท่านเลิกเดื่มถาวร เราต้องทำลายความเงียบ
การตัดสินใจเปิดอกพูดกับครอบครัวเราและเพื่อนบางคนที่เราไว้ใจเป็นเรื่องยาก แต่คลายทุกข์ได้เช่นกัน ความอับอาย “กัดกร่อนส่วนที่เราเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนและทำให้ดีขึ้นได้”4 ด้วยเหตุนี้การพูดถึงการติดสุราของคุณแม่ทำให้ท่าน (และดิฉัน!) มีความหวังอีกครั้ง เราไม่โดดเดี่ยว และเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เราเริ่มนึกภาพชีวิตที่ไม่มีการเสพติดของท่านเข้าครอบงำ
หวังต่อไป
ดิฉันจะไม่พยายามพูดอ้อมค้อมอีกเพราะการมีความหวังอยู่เนืองๆไม่ได้ง่ายเสมอไป เป็นเวลาหลายปีที่ดิฉันสนับสนุนคุณแม่ขณะท่านพยายามเลิกสุรา แต่ดิฉันคงโกหกถ้าพูดว่าดิฉันไม่ประสบความเศร้าเสียใจ ความผิดหวัง และความคับข้องใจระหว่างทาง เมื่อพูดถึงการเดินทางอย่างยากลำบากที่คนๆ หนึ่งพบเจอเพื่อเอาชนะการเสพติด ประธานเนลสันอธิบายดังนี้ “แต่ละคนที่ตั้งใจปีนป่ายไปตามถนนชันสู่การบำบัดนั้นต้องเตรียมพร้อมเพื่อการต่อสู้ครั้งที่ยากที่สุดในชีวิต แต่การได้ชีวิตกลับคืนมาเป็นรางวัลที่คุ้มค่าคุ้มราคา”5
ถ้าท่านเคยรักใครบางคนที่ต่อสู้กับการเสพติด ท่านรู้ว่ายากเพียงใดที่จะเฝ้าดูพวกเขาทำลายตนเอง แต่แม้ในช่วงที่กลับมาเสพซ้ำ ความหวังไม่เคยสูญสิ้น เพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จึงทรงทราบว่า “จะช่วย [เรา] ตามความทุพพลภาพ [ของเรา] ได้อย่างไร” (แอลมา 7:12) “ด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย” (3 นีไฟ 25:2) พระองค์ทรงยกเราขึ้นเมื่อเรารู้สึกเหนื่อยล้าเกินกว่าจะไปต่อ “ทรงประคับประคองและให้กำลังใจเรา ไม่ยอมปล่อยเราไปจนกว่าเราจะกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย”6
ฉะนั้นไม่ว่าท่านเพิ่งเดินก้าวแรกหรือเดินทางมาหนึ่งพันไมล์กับคนที่อยู่ระหว่างการบำบัด สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้มาตลอดหลายปีมีดังนี้
-
ช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้อยากเสพ
ไม่ว่าคนที่ท่านสนับสนุนจะเป็นเพื่อน คู่สมรส คนในครอบครัว หรือเพื่อนวัยเดียวกัน การช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้อยากเสพเป็นวิธีที่สำคัญมาก! อย่างเช่น ทุกครั้งที่ครอบครัวดิฉันออกไปรับประทานอาหารกับคุณแม่ เราจะขอนั่งโต๊ะห่างจากบาร์ ถ้าโต๊ะไม่ว่าง เราคุยกันจนกว่าจะมีโต๊ะว่าง
-
แก้ต่างแทนพวกเขาในสถานการณ์ทางสังคม
เพียงเพราะคนที่ท่านสนับสนุนเปิดอกพูดกับท่านเกี่ยวกับการเสพติดของพวกเขาไม่ได้หมายความว่าพวกเขาพร้อมบอกคนทั้งโลก ในการบำบัดช่วงแรกๆ มันอธิบายได้ยากมากว่าทำไมคนบางคนหลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่างหรือทำการตัดสินใจบางอย่าง โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า ในสถานการณ์เหล่านี้ จงทำให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้นโดยช่วยพวกเขาอธิบายถ้าเหตุการณ์ชวนอึดอัด
-
ช่วยพวกเขาหาแหล่งช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม
ไม่ว่าท่านเกี่ยวข้องขนาดไหนในขั้นตอนการบำบัด ไม่มีทางที่ท่านจะทำได้ทั้งหมด บางครั้งคุณแม่ของดิฉันแค่ต้องพูดกับคนที่เคยมีประสบการณ์คล้ายกัน คนที่เข้าใจ และนั่นโอเค! แหล่งช่วยมืออาชีพและกลุ่มสนับสนุน (เช่นโปรแกรมบำบัดการเสพติดของศาสนจักร กลุ่มบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมและการเสพติด) เปลี่ยนชีวิตได้จริง ด้วยเหตุนี้จึงอย่าลังเลที่จะส่งเสริมคนที่ท่านสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้
-
ถ้าพวกเขาล้ม จงช่วยให้พวกเขาลุกขึ้นมาอีกครั้ง
ถ้าเรามีชีวิตอยู่ในโลกที่สมบูรณ์แบบ การกลับมาเสพซ้ำคงไม่มี แต่นี่คือชีวิตมรรตัย ถ้าคนที่ท่านสนับสนุนกลับมาเสพซ้ำ จงเตือนสติพวกเขาว่าพวกเขามาไกลมากแล้ว ให้กำลังใจพวกเขาว่าอย่า “ยอมแพ้หลังจากเกิดความล้มเหลวและคิดว่า [พวกเขา] ไม่สามารถทิ้งบาปและเอาชนะการเสพติดได้”7 ดังเอ็ลเดอร์อูลิส์เสส ซวาเรสแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว “[พวกเขาจะ] เลิกพยายาม [ไม่ได้]”8 (ท่านเองก็เช่นกัน) การกลับมาเสพซ้ำไม่ได้นำพวกเขากลับมาที่จุดเริ่มต้น ไม่ได้ลบการทำงานและแรงผลักดันทั้งหมดที่พวกเขาได้มา พวกเขามีโอกาสอีกครั้งเสมอที่จะกลับเนื้อกลับตัว เอื้อมไปหาพระผู้ช่วยให้รอด และไปต่อ
-
หวังต่อไป
การมองดูคนที่ท่านรักต่อสู้เพื่อเอาชนะการเสพติดบางครั้งทำให้ท่านสงสัยว่าพวกเขาจะหายเป็นปกติไหม (เชื่อดิฉันเถอะค่ะ ดิฉันรู้ ดิฉันเคยมีประสบการณ์แบบนั้นหลายครั้งมากกว่าจะยอมรับได้) แม้แต่มอรมอนยังถามว่า “และอะไรเล่าที่ท่านจะหวัง?” แต่ไม่ว่าจะยากเพียงใด “ความหวังโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์” อยู่ในรัศมีที่เราเอื้อมถึงเสมอ (โมโรไน 7:41)
ตลอดชีวิตดิฉัน คุณแม่ล้มเหลวหลายครั้งมากเกินกว่าจะนับไหว แต่ดิฉันภูมิใจที่จะบอกว่าท่านเลิกดื่มมาได้หกปีแล้ว แม้ดิฉันจะใช้เวลาเรียนรู้ซ้ำๆ มาหลายปีว่าจะสนับสนุนท่านให้ดีที่สุดอย่างไร แต่การเห็นท่านหายเป็นปกติสอนดิฉันว่าไม่มีใครไปไกลเกิน ไม่ว่าคนที่ท่านรักจะกลับมาเสพซ้ำกี่ครั้ง จงสนับสนุนพวกเขาต่อไป—พยายามสนับสนุนพวกเขาต่อไปไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามที่ท่านสามารถทำได้ การหายเป็นปกติเป็นการให้คำมั่นชั่วชีวิต—การเดินทางที่เต็มไปด้วยน้ำตา ชัยชนะ ความล้มเหลว และการฉลองชัย—และคุ้มค่ากับการต่อสู้เพื่อให้ได้มา