ใจหลายดวงถูกทิ่มแทงเป็นแผลลึก: เข้าใจการกระทำทารุณกรรมในครอบครัว
รูปแบบที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ การรับรู้รูปแบบเหล่านี้สามารถเปิดโปงการกระทำทารุณกรรมหรือหยุดยั้งก่อนเริ่ม
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับโทรศัพท์จากพ่อที่ใจสลายคนหนึ่ง เจนนา (นามสมมติ) ลูกสาวของเขาไปอยู่ที่วิทยาลัย มีแฟน และความสัมพันธ์ของพวกเขาก้าวหน้าเร็วมาก เจคแฟนหนุ่มของเธอเร่งแต่งงานและจำกัดการติดต่อสื่อสารของเจนนากับพ่อแม่ของเธอ เจนนาขอโทษพ่อแม่ โดยอธิบายว่านั่นเป็นเพราะเจครักเธอมากและปรารถนาจะใช้เวลาฉันสามีภรรยา
ครอบครัวของเจนนาเป็นกังวลเมื่อพบว่าเจคเคยมีภรรยากับลูกที่เขาไม่ได้บอกเจนนา พวกเขาจึงโทรหาภรรยาเก่าของเจค เธอบอกว่าเจคมีอารมณ์น่ากลัวและขี้หึง เจคโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อทราบเรื่องนี้ เขาพูดว่าพ่อแม่ของเจนนา “ชอบบงการ” และอ้างตอนที่พ่อแม่ไม่พอใจคำพูดล้อเล่นเชิงเสียดสีของเขาเกี่ยวกับสติปัญญาของเจนนา เจคยืนกรานเชิงแดกดันให้เจนนาตัดสินใจตัดขาดกับพ่อแม่เอง พ่อแม่ของเจนนาสิ้นหวังเมื่อเธอไม่รับโทรศัพท์และไม่ตอบข้อความของพวกเขา
ทุกคนต้องการครอบครัวที่มีความสุข แต่แม้เมื่อพวกเขาพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ความสัมพันธ์ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ ความท้าทายบางอย่างเกิดจากความเข้าใจผิดและความร้าวฉานในครอบครัว แต่ในบ้านที่ดี พวกเขาขอโทษเมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและแก้ไขรอยร้าว ส่วนในสถานการณ์ที่ไม่ดีจะมีความเกรี้ยวกราดหรือการปฏิบัติไม่ดีเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็นการกระทำทารุณกรรม
การกระทำทารุณกรรมในบ้านและพระกิตติคุณ
“ท่านทำให้ใจภรรยาผู้ละเอียดอ่อนของท่านชอกช้ำและสูญเสียความไว้วางใจจากลูกๆ ของท่าน” (เจคอบ 2:35)
การกระทำทารุณกรรมประกอบด้วยการกระทำที่เจตนาจะทำร้ายหรือควบคุม ประกอบด้วยพฤติกรรมประเภทหนึ่งที่อาจรวมถึงการปล่อยปละละเลย การใช้อำนาจบาตรใหญ่ การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำพูด และความรุนแรงทางร่างกายหรือความรุนแรงทางเพศ1 น่าเสียใจที่พฤติกรรมทารุณกรรมเกิดขึ้นทั่วไป โดยนักวิชาการบางคนคาดว่าเด็กหนึ่งในสี่ของโลกถูกทารุณทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางอารมณ์2 ผู้ใหญ่มีอัตราตกเป็นเหยื่อสูงเช่นกัน ผู้หญิงประมาณ 1 ใน 4 และผู้ชายประมาณ 1 ใน 10 ประสบความรุนแรงทางร่างกายจากคู่สมรส
การกระทำทารุณกรรมเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ชายและหญิงเป็นผู้กระทำผิดได้ทั้งคู่ แต่ผู้ชายมีแนวโน้มชอบบงการ ใช้ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศแสนสาหัส และผู้หญิงมีแนวโน้มถูกคู่สมรสคุกคาม ครอบงำ และทำร้ายอย่างรุนแรง3
การกระทำทารุณกรรมทำลายจิตวิญญาณของทั้งผู้ทำผิดและเหยื่อ และตรงข้ามกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด ศาสดาพยากรณ์สมัยปัจจุบันกล่าวไว้ว่าคนที่ “ทำร้ายคู่ครองหรือบุตรธิดา … วันหนึ่งเขาจะยืนชี้แจงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า”4 ผู้กระทำทารุณกรรมมักเมินเฉยหรือใช้หลักธรรมแห่งพระกิตติคุณเพื่อจุดประสงค์ของตน ตัวอย่างเช่น ผมให้คำปรึกษาสามีภรรยาคู่หนึ่งที่สามีมีความสัมพันธ์ทางใจกับหญิงอื่นและผลาญเงินออมของพวกเขาไปกับการพนัน แทนที่จะขอโทษ เขากลับกดดันภรรยาให้ให้อภัยเขาและยืนกรานว่าเธอมี “บาปใหญ่หลวงกว่า” ถ้าเธอไม่ให้อภัยเขา เขาไม่สนใจความเจ็บปวดของเธอและอ้างว่าเขาถูกต้องกับพระผู้เป็นเจ้าไม่อย่างนั้นเขาคงไม่เป็นเจ้าหน้าที่พระวิหาร เมื่อภรรยาเขาพูดคุยกับผู้นำศาสนจักร เขาทำให้การทรยศของตนกลายเป็นเรื่องเล็กและหาว่าเธอกังวลเกินเหตุ โดยพูดว่าเธอมีภาวะซึมเศร้า สามีกำลังปฏิเสธ “หลักธรรมของ … ความเคารพ ความรัก [และ] ความเห็นอกเห็นใจ”5 และปฏิบัติไม่ดีต่อภรรยา การพยายามดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณของเธอจะไม่แก้ปัญหาที่เขาก่อเราแต่ละคนสามารถอะลุ่มอล่วยให้กับพฤติกรรมที่ไม่ดี มีลักษณะบางอย่างที่พบเห็นทั่วไปในการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ ยิ่งทำแบบนี้รุนแรงและถี่ ความสัมพันธ์จะยิ่งแย่ลง รูปแบบการกระทำทารุณกรรมห้าอย่างต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านรับรู้พฤติกรรมที่ไม่ดีในตัวท่านและผู้อื่น
1. การกระทำที่โหดร้าย
“เขาใช้ลิ้นของเขาในการล่อลวง พิษงูร้ายอยู่ใต้ริมฝีปากของเขา … ปากของพวกเขาเต็มไปด้วยคำแช่งด่าอันขมขื่น” (โรม 3:13–14)
ชายคนหนึ่งมาพบผมเพื่อรับการบำบัดขัดกับความประสงค์ของภรรยาผู้เย้ยหยันที่เขา “ต้องการความช่วยเหลือ” ที่โบสถ์เธอเป็นมิตรและจริงใจ แต่ที่บ้านความเย็นชาของเธอปวดแสบเหมือนแส้หวด เธอวิพากษ์วิจารณ์รายได้ของเขาและเรียกอาชีพสอนของเขาว่าเป็น “งานของผู้หญิง” เธอบอกลูกชายเธอว่า “แม่หวังว่าลูกจะไม่กลายเป็นคนขี้ขลาดตาขาวเหมือนพ่อ” และโทรศัพท์หาคุณแม่ของเธอทุกวันซึ่งระหว่างนั้นเธอจะดูถูกสามีของพวกเธอให้กันฟัง คนชอบวิพากษ์วิจารณ์รู้สึกว่าการทำให้เกิดความเจ็บปวดเป็นเรื่องสมควรแล้วและ “ชอบให้คนอื่นๆ ทนทุกข์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:13) สมาชิกครอบครัวเหล่านี้ฝ่าฝืนพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “อย่าพิพากษา” และ “อย่าตัดสินลงโทษ” (ลูกา 6:37) เมื่อพวกเขาดูแคลน แสดงความรังเกียจ หรือเหยียดหยาม
2. การหลอกลวง
“ท่านถูกครอบงำด้วยวิญญาณที่พูดเท็จ, และท่านไม่เอาใจใส่พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 30:42)
การหลอกลวงพบเห็นทั่วไปในการกระทำทารุณกรรมเมื่อผู้กระทำผิดกลบเกลื่อนการกระทำของตน โทษคนอื่น และบิดเบือนคำพูด นี่ทำให้เหยื่อสับสน ตามที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยของผมคนหนึ่งอธิบายว่า “[สามีดิฉันจะ] สติแตกแล้วก็ขอโทษ และพูดต่อจากนั้นว่า ‘ยังไงก็ความผิดของคุณอยู่ดี’ … พูดแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนดิฉันเริ่มเชื่อ”6 การปฏิเสธความจริงเช่นนี้ของอีกฝ่ายเรียกว่าการล้างสมอง และนั่นทำให้เหยื่อสับสนและไม่มั่นใจกับความจำและความเห็นของตน การล้างสมองเหมือนการหลอกลวงแบบอื่นคือใช้เพื่อคุมการสนทนาและทำการเสแสร้ง
คนที่กระทำทารุณกรรมผู้อื่นไม่ยอมรับอย่างหนักแน่นว่าตนทำร้ายผู้อื่นแต่มักจะอ้างว่าตนเป็นเหยื่อ เมื่อเจนนาแสดงความไม่สบายใจที่เจควิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่เธอ เขาโกรธและยืนกรานว่าเธอ “ดูหมิ่น” เขา เจคอยู่ในกลุ่ม “คนเหล่านั้นที่ป่าวร้องการล่วงละเมิด … และพวกเขาเองเป็นลูกของความไม่เชื่อฟัง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:17) เขาไม่เพียงส่งเสริมเรื่องเท็จของตนเท่านั้นแต่ไม่พอใจความจริงด้วย7
3. ข้อแก้ตัว
“ยอมรับความผิดพลาดของลูกและความผิดนั้นที่ลูกทำไป” (แอลมา 39:13)
คนอ่อนน้อมถ่อมตนรู้สึกเสียใจที่ทำร้ายผู้อื่น กลับใจ และทำดีขึ้น คนที่กระทำทารุณกรรมขัดขืนเสียงร้องของมโนธรรมด้วยข้อแก้ตัว ตามที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งของผมจำได้ “ผมรู้สึกแย่มากกับการกระทำทารุณทางร่างกาย แต่ต่อมาผมจะคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นถ้าเธอจะแค่หุบปาก” “โทมนัส [ของเขา] หาใช่เพื่อการกลับใจ” (มอรมอน 2:13) แทนที่จะกลับใจ เขากลับโกรธแค้นและโทษคนอื่น
ในการบำบัด ผมเคยบอกภรรยาคนหนึ่งว่าผมไม่เคยเห็นเธอแสดงความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่เธอวิพากษ์วิจารณ์สามีมาหลายปี คำตอบของเธอไม่ใช่ความเสียใจแต่เป็นความโกรธ “อ๋อ นี่เป็นอีกอย่างที่ดิฉันจะไม่ทำ!” คนกระทำทารุณกรรมปฏิเสธความรับผิดชอบ ขี้โมโห และเข้าข้างตัวเอง พวกเขาขุ่นเคืองง่ายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
4. ความจองหอง
“จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม” (ฟีลิปปี 2:3)
ความจองหองรวมถึงการหลงตัวเองและเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ชายคนหนึ่งตะคอกใส่ภรรยากับลูกทุกครั้งที่เขาคิดว่าคนเหล่านั้น “ไม่เคารพ” เขา ถ้าความเห็นของคนเหล่านั้นไม่ตรงกับของเขา แสดงว่ากำลัง “หมิ่น” เขา หรือ “ไม่เชื่อฟัง” ความจองหองคือชิงดีชิงเด่น จ้องจะใช้อำนาจและเอาชนะ ในทางกลับกัน ครอบครัวที่ดีจะร่วมมือกัน มีดุลยภาพของความยุติธรรม และสมาชิก “ปฏิบัติต่อกันอย่างเที่ยงธรรม” (4 นีไฟ 1:2) คู่สมรสควรเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน8 แต่ละฝ่ายมีสิทธิ์พูดและความเห็นของพวกเขามีค่า
5. การควบคุม
“เมื่อเรา … ใช้การควบคุมหรืออำนาจการปกครองหรือการบังคับจิตวิญญาณของลูกหลานมนุษย์, … สวรรค์ย่อมถอนตัว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:37)
แม้เราเห็นค่าของสิทธิ์เสรี แต่น่าแปลกที่บ่อยครั้งสมาชิกครอบครัวบอกกันบ่อยเหลือเกินว่าต้องคิด รู้สึก และทำอย่างไร บางคนถึงกับควบคุมผ่านการข่มขวัญ การทำให้อาย การถอนความรัก หรือการข่มขู่ สามีคนหนึ่งมีความคาดหวังตายตัวว่าภรรยาควรเตรียมอาหารเช้าทุกวันตามเวลา ทำตามที่เขาขอ และฟัง “ข้อกังวล” ของเขาซึ่งมักเกี่ยวกับวิธีที่เธอจะปรับปรุงได้ดีขึ้น เขาสอนเธอเรื่องการใช้จ่ายและโกรธถ้าเธอไม่ตอบข้อความของเขาทันที
มารดาอีกคนหนึ่งแสดงความผิดหวังทุกครั้งที่ลูกสาววัยรุ่นทำหน้าเศร้าหรือไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของมารดา ถ้าไม่บรรลุความคาดหวัง หรือถ้าสามีเธอแสดงความกังวล เธอจะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเย็นชา
ความหวังและการเยียวยา
“เราได้ยินคำอธิษฐานของเจ้าแล้ว เราได้เห็นน้ำตาของเจ้าแล้ว ดูสิ เราจะรักษาเจ้า” (2 พงศ์กษัตริย์ 20:5)
ถึงแม้การกระทำทารุณกรรมทำให้ใจสลาย แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ เหยื่อสามารถติดต่อแหล่งช่วยทางวิญญาณและจากผู้เชี่ยวชาญ และแสวงหาพลังการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเยียวยาบาดแผลของพวกเขา ขอความช่วยเหลือได้ที่ abuse.ChurchofJesusChrist.org
คนที่เคยกระทำทารุณกรรมต้องกลับใจและขอความช่วยเหลือ ซึ่งเรียกร้องให้ไป “สู่ห้วงลึกแห่งความถ่อมตน” (3 นีไฟ 12:2) และยอมรับผิดชอบพฤติกรรมทั้งหมดของตน การเปลี่ยนแปลงใช้มากกว่าคำสัญญาระยะสั้นและความพยายามเพียงผิวเผิน ความเจ็บปวดของการกลับใจจริงจะบีบคั้นจิตวิญญาณ และบางคนจะไม่ยอมกลับใจ ซึ่งทำให้เหยื่อต้องอยู่กับการตัดสินใจยากๆ ว่าจะป้องกันตัวเองอย่างไร9
พระบิดาบนสวรรค์ทรงห่วงใยเราเหมือนบิดาที่กลัดกลุ้มคนหนึ่งโทรมาหาผมเรื่องบุตรสาวของเขา ความรักของพระผู้เป็นเจ้า “กว้างประดุจอนันตกาล” (โมเสส 7:41) และทรงเจ็บปวดสุดแสนเมื่อบุตรธิดาของพระองค์ทำร้ายกัน ในการสนทนาที่อ่อนโยนกับเอโนค พระองค์ทรงกันแสง “พี่น้องเหล่านี้ของเจ้า; พวกเขาคือหัตถศิลป์จากมือเราเอง, … และ [เรา] ให้บัญญัติไว้ด้วย, ว่าพวกเขาจะรักกัน, … แต่ดูเถิด, พวกเขาปราศจากความรัก, และพวกเขาเกลียดชังสายโลหิตของตนเอง” (โมเสส 7:32–33) มีการร่ำไห้ในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกเมื่อร่างกายและจิตวิญญาณบาดเจ็บ ทว่าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นจากผู้เชี่ยวชาญ การหยุดพฤติกรรมที่เป็นภัยและสร้างบ้านที่มีศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และความรักย่อมเกิดขึ้นได้