2020
อาคารประชุม—สถานที่แห่งความคารวะและการนมัสการ
ตุลาคม 2020


อาคารประชุม—สถานที่ แห่ง ความคารวะ และ การนมัสการ

พระวิญญาณของพระเจ้าอยู่ในอาคารประชุมของเราและจะทรงดลใจเราขณะที่เราประพฤติตนด้วยความคารวะต่อพระองค์

ภาพ
family sitting in sacrament meeting

เพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งเคยเล่าประสบการณ์ให้ข้าพเจ้าฟังเมื่อเขาทำงานมอบหมายให้เก็บเก้าอี้และเก็บกวาดทำความสะอาดศูนย์สเตคหลังการประชุมใหญ่สเตค หลังจากทำหน้าที่เหล่านี้ได้ 30 นาที เขาพบว่าเขาเป็นคนสุดท้ายที่ยังอยู่ในอาคาร แทนที่จะรู้สึกว่าอยู่คนเดียวแล้วต้องรีบออกไป เขากลับสังเกตว่าความรู้สึกสงบแบบเดียวกับที่เขารู้สึกระหว่างการประชุมใหญ่ยังอยู่กับเขาและเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

เมื่อเขาทำงานมอบหมายเสร็จเรียบร้อยและออกจากอาคารประชุม เขาเจอสมาชิกคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะจ้องมองเขาตาไม่กะพริบ โดยทราบดีว่าเพื่อนข้าพเจ้าทำอะไรมา สมาชิกคนนี้จึงจับมือเขาและพูดว่า “บราเดอร์ พระเจ้าทรงเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่คุณทำให้พระองค์ พระองค์ทอดพระเนตรลงมาและยิ้มให้กับสิ่งเหล่านั้น”

หลายปีต่อมาขณะรับใช้เป็นอธิการ เพื่อนคนเดียวกันนี้พบว่าตัวเขาอยู่คนเดียวอีกครั้งในอาคารประชุมวอร์ดของเขา หลังจากปิดไฟในห้องนมัสการ เขาอยู่ต่อครู่หนึ่งขณะแสงจันทร์ส่องผ่านหน้าต่างมายังแท่นพูด

เขาเกิดความรู้สึกสงบที่คุ้นเคยอีกครั้ง เขานั่งลงใกล้ด้านหน้าของห้องนมัสการและใคร่ครวญช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์นับครั้งไม่ถ้วนที่เขาเคยประสบในห้องนั้น—หลายครั้งเขาเห็นปุโรหิตฉีกขนมปังที่โต๊ะศีลระลึก หลายครั้งเขารู้สึกว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สถิตกับเขาขณะเขาพูดที่การประชุมใหญ่วอร์ด พิธีบัพติศมาที่เขาดำเนินการประชุม เพลงไพเราะของคณะนักร้องประสานเสียงที่เขาได้ยิน และประจักษ์พยานมากมายจากสมาชิกวอร์ดที่ทำให้เขาซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง ขณะนั่งอยู่คนเดียวในห้องนมัสการมืดๆ ห้องนั้น เขารู้สึกว่าประสบการณ์เหล่านี้มีผลต่อชีวิตเขาและชีวิตของสมาชิกวอร์ดอย่างล้นเหลือ เขาก้มศีรษะด้วยความสำนึกคุณอย่างสุดซึ้ง

เพื่อนข้าพเจ้าได้รับการสอนอย่างฉลาดและถูกต้องว่าสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดบนแผ่นดินโลกคือพระวิหารและบ้าน แต่ประสบการณ์สองครั้งข้างต้นทำให้เขาเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ของอาคารประชุมของเราเช่นกัน เพราะอุทิศโดยผู้มีอำนาจฐานะปุโรหิต อาคารประชุมเหล่านี้จึงกลายเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงหลั่งเทการเปิดเผยบนผู้คนของพระองค์และซึ่ง “พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าจึงแสดงให้ประจักษ์” ผ่านศาสนพิธีที่เกิดขึ้นที่นั่น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20)

อาคารประชุมรวมกับบ้านทำให้เกิดปีติที่สัญญาไว้ว่าวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์จะได้ประสบในวันสะบาโต อาคารประชุมกลายเป็นสถานที่ทำให้ใจของสมาชิกที่มานมัสการเป็นหมู่คณะ “ผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรักที่มีต่อกัน” (โมไซยาห์ 18:21) และต่อพระผู้ช่วยให้รอด เพื่อให้เราแสดงความสำนึกคุณและเคารพอย่างเหมาะสมต่อการหลั่งเทพรทางวิญญาณที่มาถึงเราผ่านอาคารประชุมของเรา เราควรเข้าไปในสถานนมัสการเหล่านี้ด้วยเจตคติของความคารวะอย่างลึกซึ้งและจริงใจ

ภาพ
taking the sacrament

ความหมายของความคารวะ

ในวัฒนธรรมปัจจุบันของศาสนจักร คำว่า ความคารวะ กลายเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกับคำว่า เงียบ แม้เสียงแผ่วเบาเหมาะกับห้องนมัสการของเราอย่างยิ่ง แต่มุมมองจำกัดเช่นนี้ของความเคารพไม่ได้ให้ความหมายครบถ้วนของคำดังกล่าว ความคารวะ เขียนตามคำกริยาภาษาลาติน revereri ซึ่งหมายถึง “ยำเกรง”1 เราจะหาคำมาบรรยายความรู้สึกของจิตวิญญาณเราได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นเมื่อเราตรึกตรองสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราได้หรือไม่?

ข้าพเจ้านึกถึงเนื้อร้องของเพลงสวดไพเราะที่เราร้องขณะอยู่ในห้องนมัสการ: “ฉันเฝ้าพิศวงต่อความรักพระเยซูให้ฉัน”2 ความรู้สึกสำนึกคุณอย่างสุดซึ้ง การสรรเสริญ และความพิศวงเป็นเนื้อแท้ของความคารวะ และบอกเป็นนัยให้เราหลีกเลี่ยงรูปแบบภาษาหรือพฤติกรรมที่อาจทำให้ความรู้สึกเหล่านั้นในตัวเราหรือผู้อื่นลดลง

ภาพ
woman at pulpit

ภาพถ่ายสตรีที่แท่นพูด โดย ทิฟฟานี มายโลน ตอง

อาคารประชุมและวันสะบาโต

จากการเปิดเผยยุคปัจจุบัน เรารู้ว่าส่วนสำคัญของการนมัสการในวันสะบาโตคือ “ไปยังบ้านแห่งการสวดอ้อนวอนและถวายศีลระลึก [ของเรา] ในวันศักดิ์สิทธิ์ [ของพระเจ้า]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9) “บ้านแห่งการสวดอ้อนวอน” ที่เราไปรวมกันในวันสะบาโตคืออาคารประชุมศักดิ์สิทธิ์ของเรา

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันได้ช่วยให้เราเข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างความคารวะต่อพระผู้ช่วยให้รอดกับความรู้สึกที่เรามีต่อวันสะบาโตดีขึ้น ประธานเนลสันเล่าประสบการณ์ของท่านเองเมื่อพูดถึงการให้เกียรติวันสะบาโตดังนี้ “ข้าพเจ้าเรียนรู้จากพระคัมภีร์ว่าความประพฤติและเจตคติของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตนั้นเป็น หมายสำคัญ ระหว่างข้าพเจ้ากับพระบิดา”3

ความประพฤติและเจตคติของเราเกี่ยวกับวันสะบาโตเป็นหมายสำคัญของความภักดีต่อพระเจ้าฉันใด ความประพฤติ เจตคติ และแม้กระทั่งรูปแบบการแต่งกายของเราขณะอยู่ในบ้านแห่งการสวดอ้อนวอนของพระองค์จะบ่งบอกระดับความคารวะที่เรารู้สึกต่อพระผู้ช่วยให้รอดฉันนั้น

ภาพ
people sitting in sacrament meeting

อาคารประชุมและศาสนพิธี

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้ขยายความเข้าใจของเราในเรื่องนี้โดยประกาศว่า

“นอกจากจัดสรรเวลาให้กับการสอนพระกิตติคุณที่มีบ้านเป็นศูนย์กลางมากขึ้นแล้ว พิธีวันอาทิตย์ที่ปรับใหม่ของเรา … เน้นย้ำว่าศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้าเป็นจุดโฟกัสอันศักดิ์สิทธิ์ของประสบการณ์นมัสการประจำสัปดาห์ของเราเช่นกัน เราพึงจดจำเป็นส่วนตัวเท่าที่จะจดจำได้ว่าพระคริสต์สิ้นพระชนม์จากพระทัยที่แตกสลายโดยทรงแบกรับบาปและโทมนัสของครอบครัวมนุษย์ทั้งปวงแต่เพียงผู้เดียว

“เนื่องจากเราก่อให้เกิดภาระอันถึงแก่ความตายนั้น เราจึงต้องเคารพช่วงเวลาเช่นนั้น”4

สำคัญที่ต้องจดจำว่าสถานที่ซึ่งกำหนดไว้สำหรับช่วงเวลาสำคัญที่สุดนี้ของการเคารพพระผู้ช่วยให้รอดคือห้องนมัสการในอาคารประชุม นอกจากความคารวะที่เรารู้สึกระหว่างศาสนพิธีศีลระลึกประจำสัปดาห์แล้ว ความรู้สึกคารวะและความเคารพของเราเพิ่มขึ้นด้วยเมื่อเราพิจารณาศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและพรอื่นๆ ที่ดำเนินในอาคารประชุม รวมถึงการตั้งชื่อและให้พรเด็ก บัพติศมาและการยืนยัน การแต่งตั้งฐานะปุโรหิต และการวางมือมอบหน้าที่สำหรับการเรียกต่างๆ ศาสนพิธีและพรแต่ละอย่างนี้สามารถนำการหลั่งเทพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มาด้วยถ้าผู้มีส่วนร่วมและผู้เข้าร่วมประชุมมาด้วยเจตคติของความคารวะ

ภาพ
missionaries in chapel

ถ่ายภาพโดย เจมส์ ไอลิฟฟ์ เจฟฟรีย์

อาคารประชุมและการนมัสการ

วันสะบาโตให้โอกาสเราได้นมัสการพระเจ้าระหว่างศึกษาที่บ้านและระหว่างการประชุมศีลระลึกและการประชุมอื่นๆ ตั้งแต่ยุคแรกสุดของศาสนจักร วิสุทธิชนมีความสุขกับการมาพบปะกันและสร้างความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง อาคารประชุมของเราถูกออกแบบให้มีพื้นที่รองรับกิจกรรมเช่นนั้นระหว่างสัปดาห์ เราต้องไม่มองข้ามจุดประสงค์เบื้องต้นของสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ซึ่งก็คือเป็นสถานนมัสการ

การนมัสการและความคารวะเกี่ยวข้องกันมาก “เมื่อเรานมัสการพระผู้เป็นเจ้า เราเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยความรัก ความถ่อมตน และความเคารพเทิดทูน เรายอมรับพระองค์เป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ พระผู้สร้างจักรวาล และพระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักอย่างหาที่สุดมิได้”5

ด้วยเหตุนี้จุดประสงค์สำคัญนี้ของการนมัสการจึงควรมีผลต่อความประพฤติของเราในอาคารประชุมแม้เมื่อเราเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมหรือนันทนาการ เราควรดูแลอาคารประชุมเป็นอย่างดีเพื่อลดความไม่เป็นระเบียบ ขยะ หรือความเสียหายต่อส่วนใดก็ตามอันเนื่องจากกิจกรรมศาสนจักร และควรทำความสะอาดหรือซ่อมทันทีในกรณีเกิดความเสียหาย

เราจะสอนให้เด็กและเยาวชนแสดงความคารวะและดูแลอาคารประชุมไม่เฉพาะการประชุมวันอาทิตย์เท่านั้น การมีส่วนร่วมของสมาชิกในการทำความสะอาดอาคารประชุม—โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของบิดามารดาและบุตร—เป็นวิธีพัฒนาความคารวะต่อสถานศักดิ์สิทธิ์ของเราได้เป็นอย่างดี ตามที่เห็นจากประสบการณ์ของเพื่อนข้าพเจ้าในการเก็บกวาดทำความสะอาดศูนย์สเตคหลังการประชุมใหญ่สเตค การดูแลอาคารประชุมเป็นวิธีนมัสการวิธีหนึ่งและอัญเชิญพระวิญญาณของพระเจ้า

ภาพ
woman cleaning door to the chapel

ภาพถ่ายสมาชิกยืนอยู่ด้านนอก โดย มัสซิโม คริสกิโอน

อาคารประชุมและพระผู้ช่วยให้รอด

ภายใต้การกำกับดูแลของประธานเนลสัน เราพยายามมากเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการตัดชื่อพระเยซูคริสต์ออกเมื่อเราพูดถึงศาสนจักรของพระองค์ ในทำนองเดียวกัน เราต้องไม่ยอมให้นำพระผู้ช่วยให้รอดออกจากศูนย์กลางการนมัสการของเรา—รวมทั้งสถานนมัสการของเราด้วย

เราคุ้นชินกับการเรียกพระวิหารว่าเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้าซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ถูกต้องและสำคัญ แต่เราอาจลืมไปว่าอาคารประชุมแต่ละแห่งของเราอุทิศโดยผู้มีอำนาจฐานะปุโรหิตให้เป็นสถานที่ซึ่งพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่และที่ลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้า—ทั้งคนในและคนนอกศาสนจักร—จะได้มา “สู่ความรู้ถึงพระผู้ไถ่ของตน” (โมไซยาห์ 18:30)

โครงการที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ให้ตกแต่งอาคารประชุมด้วยงานศิลป์ที่แสดงภาพของพระผู้ช่วยให้รอดและเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งพระชนม์ชีพมรรตัยและหลังมรรตัยของพระองค์ด้วยความเคารพกำหนดขึ้นเพื่อดึงสายตา ความคิด และใจเรามาใกล้พระองค์มากขึ้น เมื่อท่านเข้าบ้านแห่งการสวดอ้อนวอนเหล่านี้เพื่อร่วมการประชุมและกิจกรรม เราขอเชิญชวนท่านด้วยความรักให้หยุดสังเกตและตรึกตรองภาพวาดที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามเหล่านี้ มองดูภาพเหล่านั้นกับลูกๆ ของท่าน และให้พวกเขารู้สึกว่าอยากนมัสการและแสดงความคารวะต่อพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

ฮาบากุกศาสดาพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมประกาศว่า “แต่พระยาห์เวห์สถิตในพระวิหารบริสุทธิ์ของพระองค์ จงให้ทั่วทั้งแผ่นดินโลกสงบนิ่งต่อพระพักตร์พระองค์เถิด” (ฮาบากุก 2:20) ขอให้เราจดจำว่าพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตในอาคารประชุมของเราและจะแผ่ซ่านเข้ามาในใจเราแต่ละคนจนถึงระดับที่เราประพฤติตนด้วยความคารวะต่อพระองค์

อ้างอิง

  1. “Revereri,” Lexico Powered by Oxford, lexico.com.

  2. “ฉันเฝ้าพิศวง,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 89.

  3. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “สะบาโตคือวันปีติยินดี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 130.

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 45.

  5. ดีน เอ็ม. เดวีส, “พรของการนมัสการ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 94.

พิมพ์