2020
รับรู้การกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์
ตุลาคม 2020


ดิจิทัลเท่านั้น

รับรู้การกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์

“สามีดิฉันไม่ได้กระทำทารุณกรรม เขาตวาดใส่ดิฉัน ด่าดิฉัน แต่นั่นไม่ใช่การกระทำทารุณกรรมใช่ไหมคะ?”

เรารู้ว่า “พระเจ้าทรงประณามการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ”1 การกระทำทารุณกรรมบางแบบ อย่างเช่นการกระทำทารุณกรรมทางกาย มองออกง่าย แต่การกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์สังเกตได้ยากกว่า ความเสียหายสามารถส่งผลให้เกิดความสับสน ความกลัว ความละอาย ความสิ้นหวัง และความรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตนเอง

การกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์คือการที่คนหนึ่งพยายามเอาสิทธิ์เสรีของอีกคนหนึ่งไปและเข้าควบคุมด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมที่คุมอารมณ์หรือการเลือก การกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์เกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ อาทิ ระหว่างคู่สมรส ระหว่างพ่อแม่กับลูก ในมิตรภาพ ในความสัมพันธ์ตอนออกเดท หรือระหว่างผู้ร่วมงาน

มีตัวอย่างอะไรบ้างของการกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์?

การรู้สัญญาณของการกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์จะช่วยท่านป้องกันตนเองและคนที่ท่านรัก พฤติกรรมทารุณกรรมบางอย่างได้แก่

  • ด่าทอหรือพูดถึงท่านอย่างดูถูก

  • ทำให้ท่านอับอายในที่สาธารณะ

  • วิพากษ์วิจารณ์และลดค่าความสำเร็จของท่านและสิ่งที่ท่านทำ

  • โยนความผิดให้ท่านสำหรับการกระทำของพวกเขาเองและไม่รับผิดชอบ

  • ทำให้ท่านรู้สึกผิดเพื่อท่านจะทำบางอย่างให้พวกเขาเพราะพวกเขาทำบางอย่างให้ท่าน

  • แยกท่านจากคนอื่นๆ และควบคุมการใช้เวลาของท่าน

  • ข่มขู่ถ้าท่านไม่ประพฤติอย่างที่พวกเขาต้องการหรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง

  • ไม่แสดงความรักต่อท่านจนกว่าท่านจะทำบางอย่างให้พวกเขา

  • คุมท่านทางวิญญาณโดยใช้ความเชื่อทางศาสนาควบคุมท่าน

ฉันจะรับรู้การกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์ได้อย่างไร?

ที่สำคัญเท่ากันคือรู้พฤติกรรมที่เป็นการกระทำทารุณกรรมและสัญญาณเตือนในตัวท่านเป็นอย่างดี ต่อไปนี้เป็นรูปแบบความคิดและการตัดสินใจบางอย่างที่กักท่านไว้ในความสัมพันธ์แบบมีการกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์:

  1. แก้ตัวให้กับพฤติกรรมของผู้กระทำทารุณกรรมท่าน:

  2. แก้ต่างให้กับพฤติกรรมของผู้กระทำทารุณกรรม: “ปกติเธอจะไม่ทำแบบนี้—เธอแค่กดดันมากตอนนี้”

  3. ให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมน้อยกว่าความเป็นจริง: “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย”

  4. โทษตัวท่านเองสำหรับพฤติกรรมของพวกเขา: “ถ้าฉันทำอาหารเย็นเสร็จตรงเวลา เขาคงไม่โกรธขนาดนี้และไม่ตวาดใส่ฉัน”

  5. ไม่ยอมรับรู้ความอึดอัดทางอารมณ์ ตอนแรกเมื่อท่านเป็นเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์ ท่านอาจต้องการหลีกเลี่ยงผู้ทำผิดเพราะรู้สึกอึดอัดหรือคิดลบต่อตัวท่านเองเมื่อพวกเขาอยู่ใกล้ๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ ท่านอาจไม่ยอมรับรู้ความรู้สึกอึดอัดเหล่านี้ ความอึดอัดนั้นจะหายไปได้ในที่สุดเนื่องจากท่านชินกับพฤติกรรมของพวกเขา

  6. ใช้ความเชื่อทางศาสนาแก้ต่างให้สถานการณ์ เราพบเห็นเช่นนี้บ่อยมากในสังคมเรา แม้กระทั่งกับสมาชิกของศาสนจักร ผู้ถูกกระทำทารุณกรรมอาจคิดทำนองนี้ “พระเจ้าทรงบัญชาให้เราให้อภัย ฉันกำลังทำบาปถ้าไม่ให้อภัย” การให้อภัยเป็นพระบัญญัติก็จริง แต่ตามที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด “พระองค์ ไม่ได้ ตรัสว่า ‘เจ้าไม่ได้รับอนุญาตให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ระทมอย่างแท้จริงจากการกระทำย่ำยีด้วยน้ำมือของผู้อื่น’ และพระองค์ก็ ไม่ได้ ตรัสว่า ‘เพื่อจะยกโทษให้อย่างสมบูรณ์ เจ้าต้องกลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษภัยหรือกลับไปสู่สภาวการณ์เลวร้ายที่เป็นอันตราย’”2

  7. ละเลยความต้องการของท่านเอง ท่านตอบรับความต้องการของผู้อื่นแลกกับการดูแลตนเอง ตัวอย่างเช่น ทนรับความเจ็บปวดทางอารมณ์เพื่อจะไม่ทำให้บางคนเสียความรู้สึกหรือให้เงินเพื่อนทั้งที่ท่านมีเงินไม่พอ

  8. รู้สึกไร้ค่า การกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์จะกีดขวางความรู้สึกว่าท่านมีคุณค่า แต่ท่านบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้า มีธรรมชาติและจุดหมายอันสูงส่ง ท่านมีคุณค่าใหญ่หลวงไม่เปลี่ยนแปลง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10)

ฉันจะทำอะไรได้บ้างถ้าฉันถูกกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์?

บางครั้งความสัมพันธ์แบบมีการกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์อาจจะทำลายความสัมพันธ์นั้นมากจนอาจจำเป็นต้องออกจากความสัมพันธ์นั้น แต่การออกจากความสัมพันธ์ใช่ว่าจะเป็นทางเลือกเดียวในทุกสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ และความสัมพันธ์จะดีได้ด้วยความพยายามและบ่อยครั้งด้วยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าท่านเชื่อว่าท่านอาจอยู่ในความสัมพันธ์แบบมีการกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์ สิ่งต่อไปนี้จะช่วยได้:

  1. ขอการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากคนที่ท่านไว้ใจ คนที่ท่านจะเล่าประสบการณ์ให้ฟังได้ เช่น เพื่อน ผู้นำศาสนจักร หรือผู้เชี่ยวชาญในองค์กรชุมชน บุคคลนี้สามารถให้การสนับสนุนทางอารมณ์และมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับตัวท่านและสามารถใช้เวลาที่มีคุณภาพกับท่านเพื่อออกห่างจากการกระทำทารุณกรรม (ดู abuse.ChurchofJesusChrist.org คลิก “In Crisis” เพื่อดูรายชื่อโทรศัพท์สายด่วน)

  2. กำหนดขอบเขตและรักษาขอบเขต กับคนที่แสดงพฤติกรรมทารุณกรรมโดยระบุพฤติกรรมที่เป็นการกระทำทารุณกรรมและวางขีดจำกัดสำหรับการปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่องของท่าน ท่านอาจจะพูดว่า “ฉันรู้สึกว่าตอนนี้คุณไม่ให้เกียรติฉัน ฉันอยากคุยกับคุณ แต่จะไม่คุยเว้นแต่คุณปฏิบัติต่อฉันด้วยการให้เกียรติและอ่อนโยนมากกว่านี้”

  3. ขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษามืออาชีพ ผู้มีความรู้เรื่องการกระทำทารุณกรรมทางอารมณ์และผลกระทบของการนั้น บางครั้งผู้ทำผิดไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนกำลังกระทำทารุณกรรม พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนได้ถ้าพวกเขายอมขอความช่วยเหลือ ถ้าความสัมพันธ์ไม่ดำเนินต่อไป การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า จะช่วยท่านเยียวยา

  4. ดูข้อมูลและแหล่งช่วยเพิ่มเติมที่ abuse.ChurchofJesusChrist.org

ไม่ว่าสภาวการณ์ของท่านเป็นเช่นไร จงรู้ว่ามีคนที่รักท่านและต้องการช่วยเหลือท่าน และโดยการหันไปพึ่งพระบิดาบนสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอด และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความหวังและการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้

อ้างอิง

  1. จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, “Responding to Abuse,” 28 กรกฎาคม, 2008.

  2. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” Ensign หรือ เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 79.