2023
การปฏิบัติศาสนกิจผ่านการรับใช้
สิงหาคม 2023


“การปฏิบัติศาสนกิจผ่านการรับใช้,” เลียโฮนา, ส.ค. 2023.

หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

การปฏิบัติศาสนกิจผ่านการรับใช้

เราจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นเมื่อเราเรียนรู้วิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจ เราสามารถสร้างความแตกต่างโดยสิ้นเชิงด้วยการรับใช้อย่างจริงใจในวิธีที่เป็นธรรมชาติ

พระเยซูทรงยื่นพระหัตถ์ให้ชายพิการ

พระเยซูคริสต์ทรง “ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อปรนนิบัติคนอื่น” (มัทธิว 20:28) การรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติศาสนกิจเพราะการรับใช้เป็นสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พระองค์ทรงหยุดเพื่อรับฟัง รักษา สอน สวดอ้อนวอน และแม้กระทั่งทรงงานเพื่อผู้คนที่อยู่ล้อมรอบพระองค์ แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อย แต่ผู้คนมากมายเรียกร้องหรือส่งเสียงโห่ร้องเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติศาสนกิจจากพระองค์

พันธสัญญาใหม่ยังกล่าวถึงคนอื่นๆ ที่ทำงานอย่างไม่เห็นแก่ตัวเพื่อก่อตั้งศาสนจักรยุคแรก ซึ่งรวมถึงเฟบี “[ผู้] ช่วยอุปถัมภ์คนมากมาย” (ดู โรม 16:1–2); ปริสสิลลาและอาควิลลาสามีของเธอ (ดู กิจการของอัครทูต 18:1–3; โรม 16:3–5); และคนอื่นๆ อีกหลายคน (ดู โรม 16:6–15) แม้ว่าไม่ได้บันทึกรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับการรับใช้ของพวกเขา แต่วิสุทธิชนยุคแรกเหล่านี้เห็นความจำเป็นของการรับใช้และได้ออกไปรับใช้

บางครั้งการรับใช้เป็นการเสียสละ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการใช้เวลาเป็นชั่วโมง วัน หรือกระทั่งเป็นปีเพื่ออุทิศตนแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และบางครั้งก็ทำได้ง่ายเหมือนกับการสวดอ้อนวอนในนามของเพื่อน บางครั้ง สิ่ง ที่เราทำไม่ได้สร้างความแตกต่างในชีวิตของผู้อื่น แต่สำคัญเพียงว่าเราอยู่เคียงข้างพวกเขา

หัวใจของการรับใช้ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ—แม้เมื่อไม่สะดวก—คือการรับใช้ด้วยความจริงใจ อ่อนโยน และสุดใจ

ชายเดินไปที่ประตู โดยมีคนอื่นๆ ยืนอยู่ด้านหลัง

พัฒนาจิตใจเพื่อรับใช้

เมื่อเรารู้จักพระผู้ช่วยให้รอด เราจะทราบดีขึ้นว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อปฏิบัติศาสนกิจแทนพระองค์ได้บ้าง เราจะพัฒนาคุณลักษณะของพระคริสต์ในการรับใช้ด้วยความเต็มใจได้อย่างไร?

  1. พิจารณาว่าการรับใช้ดังที่พระเยซูคริสต์ทรงทำหมายความว่าอย่างไร พระองค์ทรงทำอะไร? พระองค์ทรงทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เราจะนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการรับใช้ของเราได้อย่างไร?

  2. มีพรมากมายที่มาพร้อมกับการรับใช้อย่างไม่เห็นแก่ตัว รวมถึงการเบี่ยงเบนความสนใจจากภาระและข้อกังวลแม้เพียงชั่วขณะ แต่พระเยซูทรงรับใช้ด้วยความรัก และเราหวังว่าจะรับใช้ด้วยวิธีนี้เช่นกัน!

  3. การรับใช้ผู้อื่นคือการรับใช้พระองค์ (ดู มัทธิว 25:40)

  4. เราไม่ได้สำคัญไปกว่าคนอื่นเมื่อรับใช้: “คนที่เป็นใหญ่ในพวกท่านย่อมต้องปรนนิบัติท่าน” (มัทธิว 23:11)

  5. เราสามารถขอการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านการสวดอ้อนวอน หากมีความคิดที่จะทำดี นั่นคือการได้รับการดลใจ (ดู โมโรไน 7:13) “อย่าผัดวันในการทำตามการกระตุ้นเตือน” (Thomas S. Monson, “The Spirit Giveth Life,” Ensign, May 1985, 70)

  6. “[ชายและหญิง] ควรทำงานอย่างทุ่มเทในอุดมการณ์ดี, และทำสิ่งสารพันด้วยเจตจำนงอิสระ, และทำให้เกิดความชอบธรรมยิ่ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:27)

  7. อย่ากลัวที่จะรับใช้โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ พรสวรรค์ และความสนใจส่วนตัวของท่าน

  8. การรับใช้ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ โปรดจำไว้ว่าแม้แต่สิ่งเรียบง่าย เช่น การอยู่เคียงข้างเพื่อนไม่ว่าในรูปแบบของการนำอาหารร้อนๆ ไปให้ ทำการ์ดที่เขียนด้วยลายมือ หรือแม้กระทั่งส่งข้อความก็สร้างความแตกต่างได้ สิ่งสำคัญคือการเป็นพระหัตถ์ของพระผู้ช่วยให้รอดบนแผ่นดินโลก

แม้ว่าบางครั้งการรับใช้อาจทำให้ท่านรู้สึกกระอักกระอ่วน แต่การฝึกและการสวดอ้อนวอนจะช่วยให้เราพัฒนาความสามารถในการรับใช้ในวิธีที่ดีที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป การรับใช้อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมชาติและเบิกบานใจที่สุดในชีวิตประจำวันของเรา