2023
นิสัยการรับมือกับปัญหาส่งผลดีหรือผลเสียต่อท่าน?
สิงหาคม 2023


“นิสัยการรับมือกับปัญหาส่งผลดีหรือผลเสียต่อท่าน?,” เลียโฮนา, ส.ค. 2023.

คนหนุ่มสาว

นิสัยการรับมือกับปัญหาส่งผลดีหรือผลเสียต่อท่าน?

ฉันเคยคิดว่านิสัยแย่ๆ ของตัวเองส่งผลดีต่อชีวิตฉัน แต่กลับทำให้ชีวิตฉันไม่ก้าวหน้า

ภาพเหมือนของพระเยซูคริสต์

No Harm Can Befall with My Comforter Near [ไม่มีภัยพาลเมื่อพระผู้ปลอบโยนอยู่ใกล้] โดย ไมเคิล มาล์ม ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา

ฉันเติบโตโดยคิดว่าอารมณ์ที่ไม่สบายใจ เช่น ความเศร้าและความคับข้องใจเป็นสิ่งที่ฉันต้องกลัว ต่อสู้ และหลีกเลี่ยง แต่ความจริงแล้ว ทุกอารมณ์ของเราไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์มรรตัยของเราทั้งสิ้น ทั้งยังเปรียบราวกับเป็นครูที่สอนให้เราเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งและเป็นตัวกระตุ้นที่ดีในการช่วยให้เราเติบโต เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ความเป็นมรรตัยทำให้เรามีโอกาสต่างๆ มากมายเพื่อเป็นเหมือนพระคริสต์ ประการแรก โดยการจัดการกับ … ความท้าทายในชีวิตของเราให้สำเร็จ”1

เราทุกคนต้องการเครื่องมือเพื่อช่วยเราจัดการกับการทดลองของชีวิตและอารมณ์ที่มาพร้อมกับการทดลองนั้น กลไกการเผชิญปัญหาคือรูปแบบของพฤติกรรมที่เราใช้เพื่อช่วยให้เราเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดและความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจรวมถึงสิ่งต่างๆ เช่น การหันเหความสนใจของท่านออกจากปัญหาหรือพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นกับเพื่อน2

ตลอดชีวิตของฉัน ฉันพยายามควบคุมความรู้สึกของตัวเอง เช่น เบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์ที่ไม่ดีหรือเพิกเฉยเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญอารมณ์เหล่านั้น ตลอดช่วงวัยรุ่น ฉันได้พัฒนากลไกการเผชิญปัญหาในเชิงลบ เช่น การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบเพราะฉันคิดว่าถ้าฉันไม่ทำผิดพลาด ฉันจะสามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดได้ ฉันไม่เคยเอ่ยปากขอความช่วยเหลือเพราะกลัวเป็นภาระคนอื่น

แต่ในที่สุดฉันก็ได้เรียนรู้ว่านิสัยที่ฉันใช้เพื่อรับมือกับความเครียดหรือความวิตกกังวลมานานกำลังทำร้ายฉัน ไม่ได้ช่วยฉันแม้แต่นิด ฉันตระหนักว่าตัวเองต้องเรียนรู้วิธีเผชิญกับความท้าทายและรับมือด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้  ฉันต้องทบทวนตนเอง ค้นคว้า และฝึกฝนอย่างมากเพื่อละทิ้งกลยุทธ์การรับมือกับปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งฉันเคยใช้ในอดีต ฉันเข้าใจมากขึ้นว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์สามารถช่วยฉันเปลี่ยนแปลงและกลายเป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่” (2 โครินธ์ 5:17) ด้วยความช่วยเหลือของพระคริสต์ได้อย่างไร ตอนนี้ฉันกำลังเรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์ขุ่นมัวด้วยวิธีที่ช่วยให้ฉันใช้ความท้าทายของตัวเองเพื่อเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น

สร้างกลไกการรับมือที่ดีในการเผชิญกับปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลไกการรับมือที่ไม่มีประสิทธิภาพคือ กลไกเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาทุกข์ได้ในระยะสั้น แต่อาจทำให้ปัญหาแย่ลงในระยะยาว พฤติกรรมหลีกเลี่ยงทั้งหมดอาจบานปลายไปสู่การเสพติดและเบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งทำให้ยากต่อการรับมือกับปัญหาของท่าน

กลไกการจัดการกับปัญหาไม่ควรอาศัยการเบี่ยงเบนความสนใจจากความเป็นจริงหรือหลีกเลี่ยงปัญหาที่ท่านกำลังเผชิญ สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยเติมพลัง มีสมาธิ เตือนท่านถึงอัตลักษณ์ส่วนบุคคล และควบคุมตนเองเมื่อเผชิญสถานการณ์และความรู้สึกที่ท่านพบเจอ3

ในส่วนของสุขภาพจิต โดยทั่วไปแล้วจะมีกลไกการรับมือกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพอยู่สองประเภท ได้แก่ การรับมือโดยอิงตามปัญหา (อาศัยการกระทำเพื่อแก้ไขปัญหาของท่าน) และตามอารมณ์ (เปลี่ยนความคิดของท่านก่อนจัดการกับปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบสนองที่เกิดจากความกลัว) การรับมือโดยอิงตามปัญหาอาจจะเป็นเหมือนการจัดทำงบประมาณในกรณีที่ท่านกำลังประสบกับความเครียดด้านการเงิน การรับมือโดยอิงตามอารมณ์อาจเป็นการใช้เวลาในการออกกำลังกายหรือฟังเพลงเบาๆ เพื่อฟื้นตัวจากวันที่ยากลำบาก

ในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์ ฉันพบว่าฉันพึ่งพากลไกการรับมือกับปัญหาโดยอิงทางวิญญาณมากกว่า เมื่อเกิดความยากลำบาก การรักษามุมมองนิรันดร์ การหันไปใช้แหล่งช่วยที่จรรโลงใจ และการพึ่งพาศรัทธาในพระเยซูคริสต์มีความสำคัญพอๆ กับกลไกการรับมือกับปัญหาอื่นๆ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะเสริมกำลังเพื่อช่วยให้ท่านเผชิญกับความท้าทาย

กลไกทุกประเภทมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันและสามารถใช้ร่วมกันได้

ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนของกลไกการรับมือกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพซึ่งท่านสามารถลองทำได้:

อิงทางวิญญาณ:

  • หันไปใช้แหล่งช่วยที่จรรโลงใจซึ่งนำพาให้ท่านเข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้น เช่น พระคัมภีร์ คำปราศรัยการประชุมใหญ่ และเพลงสวด

  • อ่านปิตุพรเพื่อเพิ่มมุมมองนิรันดร์

  • สวดอ้อนวอนและไตร่ตรองเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพยายามช่วยให้ท่านเรียนรู้

  • รับใช้ผู้อื่นผ่านการทำศาสนพิธีในพระวิหาร นำอาหารไปให้เพื่อนบ้าน หรือทำงานประวัติครอบครัว

อิงตามปัญหา:

  • ทำรายการสิ่งที่ต้องทำและทำให้เสร็จทีละอย่าง

  • สร้างขอบเขตที่เหมาะสม เช่น การปฏิเสธคำขอที่ทำให้ท่านเครียดโดยไม่จำเป็น

  • ฝึกฝนการจัดการเวลาให้ดีขึ้นด้วยการทำรายการสิ่งที่ต้องทำ กำหนดเวลา หรือตั้งขีดจำกัดการใช้อุปกรณ์ของท่าน

  • ขอความช่วยเหลือจากคนที่ท่านรัก เพื่อนร่วมงาน ผู้นำศาสนจักร และเพื่อนที่ไว้ใจได้

อิงตามอารมณ์:

  • ทำกิจวัตรที่ทำให้สงบ เช่น ออกกำลังกาย ใช้เวลากับคนที่ท่านรัก หรืออาบน้ำ

  • ฝึกการเห็นอกเห็นใจในตนเองโดยเตือนตัวเองว่าทุกคนมีวันที่เลวร้ายและต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์

  • ฝึกสติด้วยการนั่งสมาธิ ทำรายการสำนึกขอบคุณ หรือเขียนบันทึก

  • โทรหาเพื่อนเพื่อพูดคุยและช่วยให้ท่านเห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองอื่น

ไอคอนรูปคนกำลังเดิน อ่านหนังสือ และสวดอ้อนวอน

เปลี่ยนนิสัยของท่าน

การเปลี่ยนแปลงนิสัยไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็คุ้มค่าที่จะเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทุกครั้งที่ท่านเลือกการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ ชีวิตท่านจะง่ายขึ้น และท่านจะมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ มีศักยภาพ และเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น

ต่อไปนี้คือคำแนะนำบางข้อที่ช่วยให้ฉันพัฒนานิสัยที่ดีขึ้นซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับท่าน:

พึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เพื่อขอความช่วยเหลือ ซิสเตอร์รีเบกกา แอล. เครเวน ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญกล่าวว่า “โดยผ่านพระเยซูคริสต์ เราได้รับพลังที่จะทำการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืน ขณะที่เราหันไปหาพระองค์อย่างนอบน้อมถ่อมตน พระองค์จะทรงเพิ่มความสามารถให้เราเปลี่ยนแปลง”4 พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการช่วยให้เราเรียนรู้ แม้เมื่อเรากลับไปใช้นิสัยเดิมหรือยอมต่อการล่อลวง เราก็สบายใจได้เมื่อรู้ว่าพระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้เราต้องดิ้นรนเพียงลำพัง

เราสามารถเอาชนะนิสัยที่ไม่ดีของเราและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนผ่านพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า:

“การชนะโลกไม่ได้หมายถึงการดีพร้อมในชีวิตนี้ ทั้งไม่ได้หมายความว่าปัญหาของท่านจะหายไปอย่างมหัศจรรย์—เพราะมันจะไม่หายไป ทั้งยัง ไม่ได้ หมายความว่าท่านจะไม่ทำผิดพลาดอีกต่อไป แต่การชนะโลกหมายความว่าท่านจะต่อต้านบาปได้มากขึ้น ใจท่านจะอ่อนน้อมขึ้นเมื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์เพิ่มพูน [ดู โมไซยาห์ 5:7] …

“… ทุกครั้งที่ท่านแสวงหาและทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ ทุกครั้งที่ท่านทำสิ่งดีอะไรก็ตาม—ที่ ‘มนุษย์ปุถุชน’ จะไม่ทำ—ท่านกำลังชนะโลก”5

จำไว้ว่าท่านกระทำนิสัยนั้นๆ เพราะมีเหตุผลบางอย่าง ท่านจะไม่ยึดติดกับนิสัยที่ไม่ดีหากนิสัยเหล่านั้นไม่ได้เป็นประโยชน์กับท่านในทางใดทางหนึ่ง แม้ว่า “ประโยชน์ที่ได้” นั้นจะไม่ได้เป็นปีติหรือความปลอดภัยโดยแท้จริง ตัวอย่างเช่น นิสัยชอบความสมบูรณ์แบบของฉันเคยช่วยให้ฉันหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความกลัวที่ว่าไม่สามารถทำตามความคาดหวังของผู้อื่น

แต่เมื่อฉันปล่อยวางความคาดหวังเหล่านั้น ฉันรู้สึกโล่งใจขึ้นมาก! เมื่อท่านรู้ตัวว่ากลไกการรับมือกับปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้ท่านหลีกเลี่ยงปัญหา ท่านสามารถตั้งใจวางแผนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเพื่อจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้

การถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้จะช่วยให้ท่านตระหนักรู้ในตนเองและตอบสนองต่างจากเดิม:

  • ท่านต้องเติมเต็มอะไรในนิสัยแง่ลบนี้บ้าง?

  • นิสัยนี้ช่วยให้ฉันหลีกเลี่ยงอารมณ์ใดได้บ้าง?

  • ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่ฉันสามารถลองทำเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นคืออะไร?

ทำให้นิสัยที่ดีเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ง่าย ทำให้กลไกการรับมือกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดโดยขจัดการล่อลวงหรืออุปสรรคต่างๆ เจสัน ไวทิงก์ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์เคยแบ่งปันเรื่องราวของชายหนุ่มที่เขาให้คำปรึกษาซึ่งต้องใช้กลไกในการรับมือกับปัญหาเพื่อต่อสู้กับสื่อลามก ชายคนนั้นรู้ว่าเขาอ่อนไหวต่อการล่อลวงเมื่อเขาอยู่คนเดียว เครียด หรือเหนื่อยล้า ดังนั้นเขาจึงเลี่ยงไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเวลานั้นและพยายามหันไปจดบันทึก นอนหลับให้เต็มอิ่ม อ่านพระคัมภีร์ และออกกำลังกายแทน6 ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและเข้าถึงทางเลือกที่ดีกว่า!

ใจดีกับตัวเอง ความไม่สมบูรณ์แบบคือส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์แม้ว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ท่านไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการเผชิญปัญหาให้สมบูรณ์แบบในวันเดียว เพราะมันต้องอาศัยการฝึกฝนอยู่เรื่อยๆ! เราสามารถเป็นเหมือนนีไฟที่กล่าวถึงความพยายามของท่านในการเขียนพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ว่า “และบัดนี้, หากข้าพเจ้าผิดพลาด … เพราะความอ่อนแอที่อยู่ในข้าพเจ้า, ตามเนื้อหนัง, ข้าพเจ้าแก้ตัว” (1 นีไฟ 19:6)

การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา และฉันยังคงเรียนรู้เกี่ยวกับการรับมือกับความท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ ฉันได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมากในวิธีที่ฉันจัดการกับความยากลำบากด้วยศรัทธา ความอดทน และการฝึกฝน ฉันรู้ว่าการหันมาหาพระคริสต์และเชื่อในความสามารถของท่านที่จะเติบโตทำให้ท่านสร้างนิสัยที่ดีขึ้นซึ่งจะช่วยให้ท่านมีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยสันติสุขและตัดสินใจได้อย่างรอบคอบมากขึ้น