พันธสัญญาใหม่ในบริบท
อุปลักษณ์เกี่ยวกับความรอดของเปาโลในบริบทสมัยโบราณ
ในสาส์นถึงชาวโรมัน อัครสาวกเปาโลใช้แนวคิดที่ผู้คนในสมัยของเขาคุ้นเคยเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจงานแห่งความรอดของพระเยซูคริสต์
เราจะอธิบายทุกสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อเราออกมาเป็นคำพูดได้อย่างไร? สำหรับเปาโล คำตอบคือใช้แนวคิดที่คุ้นเคยในสมัยของเขาและอาจเปรียบได้กับพระเยซูคริสต์—แนวคิดต่างๆ เช่น การรับรองความชอบธรรม พระคุณ และการไถ่บาป/การชดใช้
แม้ว่าบางครั้งแนวคิดแต่ละข้อเหล่านี้อาจถูกทำให้เข้าใจผิดในยุคปัจจุบัน แต่ใน โรม 3:24–25 เปาโลใช้แนวคิดเหล่านี้เป็นอุปลักษณ์เพื่ออธิบายความรอดในแง่ที่ผู้ติดตามพระคริสต์ในสมัยนั้นอาจเข้าใจได้ดีกว่า ดังนั้นการรู้บริบทดั้งเดิมของคำเหล่านี้มากขึ้นจะช่วยให้เราเข้าใจคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับความรอดของเราในพระเยซูคริสต์ได้ดีขึ้น
การรับรองความชอบธรรม
คำว่า การรับรองความชอบธรรม ใช้ในพันธสัญญาเดิมเพื่อสอนชาวอิสราเอลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระผู้เป็นเจ้า1 แนวคิดนี้มาจากบริบททางกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ใน เฉลยธรรมบัญญัติ 16:18–20 ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งให้แต่งตั้งผู้พิพากษาเพื่อทำการตัดสินที่ “ยุติธรรม” และดำเนินตามสิ่งที่ “ยุติธรรมโดยสิ้นเชิง” (ในภาษาฮีบรูดั้งเดิมอ่านว่า ให้ติดตาม “ความยุติธรรม ความยุติธรรม” โดยย้ำคำว่า ความยุติธรรม ถึงสองครั้งเพื่อเน้น) ยุติธรรม และ ความยุติธรรม เกิดจากรากศัพท์เดียวกันในภาษาฮีบรูและกรีก นั่นคือ การรับรองความชอบธรรม
ศาสดาพยากรณ์ใช้ภาพลักษณ์ของศาลที่มีพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้พิพากษา เพื่อเตือนอิสราเอลและประชาชาติใกล้เคียงด้วยบทกวี (ดู อิสยาห์ 3:13–14; 41:1–9, 21–24; มีคาห์ 6:1–5) ใน อิสยาห์ 43:9 พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกบรรดาประชาชาติให้มาปรากฏต่อพระพักตร์พระองค์ราวกับอยู่ในศาล: “ให้ชนชาติทั้งหลายชุมนุมกัน … ให้พวกเขานำสักขีพยานของเขามาพิสูจน์ว่าเขาถูกต้อง”2 การได้รับรองความเป็นธรรม (จะได้รับการประกาศว่าชอบธรรมหรืออภัยโทษ) เป็นความหวังของใครก็ตามที่ถูกนำตัวขึ้นศาล
ทว่าผู้เขียนพันธสัญญาเดิมบางคนกังวลว่า “ความยุติธรรม” ของพระผู้เป็นเจ้าหรือ “ความชอบธรรม” ของพระองค์ (แปลทั้งสองคำในภาษาฮีบรูและกรีก) จะประณามผู้คน ผู้ประพันธ์เพลงสดุดียอมรับว่า “เพราะไม่มีชีวิตใดชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระองค์” (สดุดี 143:2) เปาโลกล่าวถึงเพลงสดุดีนี้ใน โรม 3:20 ว่า “ในสายพระเนตร [ของพระผู้เป็นเจ้า] ไม่มีใครถูกชำระให้ชอบธรรมได้โดยการประพฤติตามธรรมบัญญัติ [โมเสส]” จากนั้นเปาโลจึงเสนอทางออก พระผู้เป็นเจ้า ผู้พิพากษาที่ยิ่งใหญ่ของเรา เลือกที่จะประกาศว่าเรายุติธรรม (หรือชอบธรรม) เพราะพระคริสต์ “แต่พระเจ้าทรงมีพระคุณให้เขาเป็นผู้ชอบธรรมโดยไม่คิดมูลค่าโดยที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เขาให้พ้นบาปแล้ว” (โรม 3:24)
พระคุณ
พระคุณ เป็นอีกคำหนึ่งที่เปาโลใช้อธิบายงานแห่งความรอดของพระเยซูคริสต์ คำว่า พระคุณ ในตอนแรกไม่ใช่คำศัพท์ทางศาสนา ในสมัยของเปาโล พระคุณ (ในภาษากรีกคือ charis) มักใช้เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้รับอุปถัมภ์ ผู้อุปถัมภ์มีอำนาจ สิทธิอำนาจ หรือทุนทรัพย์ในการให้ของขวัญแก่ผู้รับอุปถัมภ์ที่พวกเขาไม่สามารถหามาได้ด้วยตัวเขาเองหรือตอบแทนด้วยสิ่งตอบแทน ผู้รับอุปถัมภ์รู้สึกว่าจำเป็นต้องให้เกียรติผู้อุปถัมภ์ด้วยการแสดงความขอบคุณและความจงรักภักดีอย่างเปิดเผย
ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 90 เมืองแห่งอาโฟรดิเซียสได้ส่งคณะผู้แทนไปยังเอเฟซัสเพื่อสร้างรูปปั้นเพื่อเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิแห่งโรมัน คำจารึกบนรูปปั้นนั้นอ่านว่า: “ชาวอาโฟรดิเซียสภักดีต่อซีซาร์ เป็นอิสระตั้งแต่ต้นโดย พระคุณ ของออกัสติ ตั้ง [รูปปั้นนี้] โดย [การกระทำ] พระคุณ ส่วนตัว”4 คำจารึกนี้ใช้คำว่า พระคุณ สองแง่: หนึ่งพูดถึงของขวัญที่มีให้แก่ออกัสติ—คือเมืองอาโฟรดิเซียสจะเป็นอิสระ—และสองพรรณนาของขวัญเล็กๆ ซึ่งคือรูปปั้นเพื่อประกาศความจงรักภักดีของผู้คนและแสดงความสำนึกคุณของพวกเขา
ในโรม เปาโลอธิบายว่าพระคุณสองประเภทนี้แบบใดที่เขาบรรยายว่า: “พระเจ้าทรงมีพระคุณให้เขาเป็นผู้ชอบธรรม โดยไม่คิดมูลค่า” (โรม 3:24; เน้นตัวเอน) เปาโลเน้นว่านี่คือ ของประทาน จากพระผู้เป็นเจ้าในฐานะผู้อุปถัมภ์ของเราซึ่งเราไม่สามารถตอบแทนได้และควรยอมรับด้วยการแสดงความขอบคุณและความสัตย์ซื่อต่อสาธารณชน
เครื่องบูชาไถ่บาป/การชดใช้
เปาโลยังคงอธิบายงานแห่งความรอดของพระคริสต์ต่อไปด้วยอุปลักษณ์เรื่องสุดท้าย
“พระเจ้าได้ทรงตั้ง [พระเยซูคริสต์] ไว้ให้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปโดยพระโลหิตของพระองค์ ความเชื่อจึงได้ผล” (โรม 3:25)
คำที่แปลว่า “เครื่องบูชาไถ่บาป” อาจแปลว่า “การชดใช้” หรือ “พระที่นั่งกรุณา” ได้เช่นกัน ในสมัยของเปาโล เมื่อชาวยิวส่วนใหญ่ได้ยินคำว่า การชดใช้ พวกเขาจะนึกถึงงานของปุโรหิตในพระวิหารเป็นอันดับแรก
ตัวอย่างเช่น เลวีนิติ 16 อธิบายว่าในวันแห่งการชดใช้ มหาปุโรหิตจะประพรมเลือดสัตว์บูชายัญ “บนพระที่นั่งกรุณา” เพื่อ “ลบมลทิน” (เลวีนิติ 16:15–16) เปาโลใช้คำว่า เครื่องบูชาไถ่บาป เพื่อเปรียบเทียบงานแห่งความรอดของพระเยซูคริสต์กับสิ่งที่ผู้อ่านของเขาคุ้นเคย นั่นคืองานของปุโรหิตในพระวิหารเพื่อลบบาปของผู้คนและคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า อย่างไรก็ตาม เปาโลชี้แจงว่าไม่ใช่เลือดของสัตว์ที่ช่วยให้รอด แต่เป็น “เครื่องบูชาไถ่บาปโดยพระโลหิต [ของพระคริสต์] ความเชื่อจึงได้ผล” (โรม 3:25)
ภายในสองข้อสั้นๆ (โรม 3:24–25) เปาโลเชื้อเชิญให้เราจินตนาการว่า (1) พระผู้เป็นเจ้าประทานความชอบธรรมแก่เราในศาลเนื่องจากการไถ่บาปของเราในพระเยซูคริสต์ (2) พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ของเราเพราะของประทานแห่งพระคุณของพระองค์ ซึ่งเราควรเชื่อฟังพระองค์และขอบคุณพระองค์อย่างเปิดเผย และ (3) พระผู้เป็นเจ้าทรงทำหน้าที่เป็นปุโรหิต ทำให้เราบริสุทธิ์โดยความเชื่อในพระโลหิตที่ชดใช้ของพระคริสต์
เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตและการนมัสการของเราในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในปัจจุบัน ภาพแต่ละภาพเหล่านี้สามารถช่วยให้เราเห็นเดชานุภาพของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและความรักที่พระองค์และพระบิดาบนสวรรค์ทรงแสดงต่อเรา โดยให้ของประทานอันน่าอัศจรรย์นี้แก่เรา