“เหรียญในปากของปลา,” เลียโฮนา, ส.ค. 2023.
ปาฏิหาริย์ของพระเยซู
เหรียญใน ปากของปลา
ปาฏิหาริย์นี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงทำงานของพระองค์?
บ่อยครั้งที่เราอ่านเรื่องราวในพันธสัญญาใหม่ที่แตกต่างจากคำอุปมาและปาฏิหาริย์อื่นๆ ในกรณีนี้คือปาฏิหาริย์เรื่องค่าบำรุงพระวิหารในปากของปลา
ปาฏิหาริย์นี้ได้รับความสนใจหรือมีคำอธิบายเพียงเล็กน้อยและถูกมองข้ามอย่างง่ายดายเนื่องจากยาวเพียงสี่ข้อ:
“เมื่อเขาทั้งหลายมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมแล้ว ผู้เก็บค่าบำรุงพระวิหารมาหาเปโตรถามว่า ‘อาจารย์ของท่านไม่เสียค่าบำรุงพระวิหารหรือ?’
“เปโตรตอบว่า ‘เสีย’ เมื่อเปโตรเข้าไปในบ้าน พระเยซูตรัสกับเขาก่อนว่า ‘ซีโมนเอ๋ย ท่านคิดอย่างไร? กษัตริย์ของโลกเก็บภาษีและส่วยจากใคร? จากโอรสหรือจากคนอื่น?’
“เปโตรทูลตอบว่า ‘เก็บจากคนอื่น’ พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า ‘ถ้าเช่นนั้นโอรสก็ไม่ต้องเสีย’
“แต่เพื่อไม่ให้พวกเขาสะดุด ท่านจงไปตกเบ็ดที่ทะเล เมื่อได้ปลาตัวแรกขึ้นมาก็ให้เปิดปากมัน แล้วท่านจะพบเหรียญอันหนึ่ง จงเอาไปชำระค่าบำรุงพระวิหารสำหรับเรากับท่านเถิด” (มัทธิว 17:24–27)
ปาฏิหาริย์
เหตุใดมัทธิวจึงเป็นเพียงสาวกผู้เดียวที่เขียนถึงปาฏิหาริย์นี้ในบันทึกการปฏิบัติศาสนกิจของพระเจ้า? เป็นเพราะมัทธิวซึ่งเคยเป็นคนเก็บภาษีรู้สึกมีความเชื่อมโยงเป็นพิเศษกับสถานการณ์นี้หรือไม่? หรือเป็นเพราะมัทธิวมาจากคาเปอรนาอุมที่ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นหรือไม่? หรืออาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเดชานุภาพอันน่าอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์ที่ไม่เพียงทรงควบคุมสิ่งต่างๆ เท่านั้น (ดู มัทธิว 8:23–27) แต่ทรงควบคุมทุกสรรพสิ่งแม้แต่ปลาในทะเลด้วยหรือไม่? (ดู ปฐมกาล 1:28)
ขณะไตร่ตรองข้อเหล่านี้ เราเรียนรู้มากมายจากวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตรัสตอบอัครสาวกเปโตร ปาฏิหาริย์ส่วนใหญ่ที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเป็นการกระทำอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น แต่ปาฏิหาริย์นี้ดูเหมือนเป็นโอกาสของการสอนเพื่อช่วยเตรียมเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ สำหรับการเป็นผู้นำในอาณาจักรในอนาคต พระเยซูทรงสอนถึงอัตลักษณ์ของพระองค์ในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าด้วยพระคำและการกระทำ เดชานุภาพของพระองค์ในการเล็งเห็นสิ่งที่เปโตรบอกกับคนเก็บภาษี “ความรอบรู้ในทุกสิ่งอันน่าทึ่ง” ของพระองค์ในการรู้ว่าปลาชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ที่ใด1 และความปรารถนาของพระองค์ที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองใจโดยไม่จำเป็นหรือไม่เป็นสิ่งกีดขวางแก่ผู้ที่อ่อนแอในศรัทธา (ดู 1 โครินธ์ 8:9–10; 9:22)
อัครสาวกยุคสุดท้ายอธิบายปาฏิหาริย์นี้อย่างชัดเจนว่าสิ่งนี้ช่วยให้พระเยซูทรง “ยืนยันถึงความเป็นพระบุตรของพระองค์ต่อเปโตรด้วยวิธีที่น่าอัศจรรย์ พระองค์ทรงกำลังจะแสดงปาฏิหาริย์ที่พิเศษและไม่เหมือนที่ใด แบบที่ไม่เคยกระทำด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระองค์จะทรงจ่ายภาษีที่ทรงไม่ได้ติดค้างด้วยเงินที่ทรงไม่ได้หามาเพื่อเอาใจคนที่พระองค์ทรงไม่ต้องการให้ขุ่นเคืองใจ”2
บริบททางประวัติศาสตร์บางส่วน
ค่าบำรุงพระวิหารหรือภาษีประจำปีมีจำนวนสองดรักมาหรือครึ่งเชเขล และบรรดาผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนในอิสราเอลแม้แต่ปุโรหิตและแรบไบคาดหวังว่าตนจะได้รับการยกเว้น จุดประสงค์ของเงินภาษีคือเพื่อช่วยสำหรับการทำนุบำรุงพระวิหารและกิจกรรมต่างๆ เป็นข้อกำหนดของศาสนารูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ข้อกำหนดของรัฐบาล
แต่เดิมภาษีนี้เรียกว่า “เงินค่าไถ่” ในสมัยโมเสส หากมีใครที่ได้รับการยกเว้นจากภาษีนี้ ผู้นั้นก็คือพระเมสสิยาห์ ผู้ทรงไถ่บาปมวลมนุษยชาติ3 แม้ว่าเปโตรเร่งให้คำมั่นสัญญากับคนเก็บภาษี พระเจ้าทรงสอนบทเรียนอันล้ำค่าแก่เขาแทนที่จะทรงตำหนิ
พระเยซูทรงมักจะสอนโดยเริ่มต้นด้วยคำถามที่กระตุ้นความคิด คำถามเหล่านี้ทำให้เปโตรเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าพระเจ้าทรงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าภาษีดังกล่าวเพราะทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า และพระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระบิดาและของพระบุตร แต่ด้วยความอ่อนโยน พระองค์ทรง “สนับสนุน” คำมั่นสัญญาของอัครสาวกและช่วยให้เขาเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เวลาสร้างความขุ่นเคืองใจโดยไม่จำเป็น แม้ว่าจะเป็นเรื่องง่ายมากที่จะได้เงินครึ่งเชเขลที่จำเป็นด้วยวิธีปกติ แต่พระองค์ทรงใช้โอกาสนี้เพื่อเสริมสร้างศรัทธาของอัครสาวกโดยให้เปโตรเห็นถึงเดชานุภาพอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์ในการบัญชาสรรพสิ่งแม้กระทั่งปลาในทะเล
บทเรียนที่ได้รับ
พิจารณาบทเรียนเหล่านี้ที่เปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ ได้เรียนรู้และวิธีนำไปประยุกต์ใช้กับเรา:
1. เปโตรเรียนรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงรู้ความนึกคิดของเขา ก่อนที่เปโตรจะพูด พระเยซูทรงทราบแล้วว่าเปโตรได้พูดอะไรกับคนเก็บภาษี ต่อมา เปโตรใช้ของประทานแห่งการเล็งเห็นอย่างเดียวกันนั้นเมื่ออานาเนียและสัปฟีราโกหกเรื่องเงินถวายของพวกเขา (ดู กิจการของอัครทูต 5:1–11)
2. พระเยซูทรงสอนว่าไม่ว่าความต้องการทางด้านวัตถุหรือด้านการเงินคืออะไร พระเจ้าจะทรงเตรียมทางให้งานของพระองค์ดำเนินต่อไปไม่ว่าจะด้วยวิธีอัศจรรย์หรือปกติทั่วไป
ตัวอย่างสมัยปัจจุบันของ “เหรียญในปลา” เกิดขึ้นขณะที่บริคัม ยังก์และฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์เดินทางโดยรถม้าผ่านอินเดียนาและโอไฮโอเพื่อไปยังคณะเผยแผ่ในอังกฤษ พวกเขาเริ่มต้นการเดินทางด้วยเงิน 13.50 ดอลลาร์และไม่คิดว่าจะเดินทางไกลได้ด้วยรถม้า แต่ในทุกจุดแวะพัก เมื่อบริคัม ยังก์เดินไปเอากระเป๋า เขาพบเงินที่จำเป็นสำหรับจ่ายค่าโดยสารไปยังจุดแวะพักถัดไปอย่างน่าอัศจรรย์4 เมื่อมาถึงอังกฤษ พวกเขาจ่ายเงินมากกว่า 87 ดอลลาร์ ตามที่บันทึกไว้ในบันทึกของฝ่ายประธานสูงสุดปี 1860: “[บริคัม ยังก์] เดินไปเอากระเป๋าของท่าน และด้วยความประหลาดใจยิ่งนัก ท่านเจอ [เงิน] ในนั้น และจนถึงทุกวันนี้ท่าน [ไม่] ทราบว่าเงินอยู่ในนั้นได้อย่างไร ยกเว้นอาจมีตัวแทนจากโลกสวรรค์ที่ไม่ได้สังเกตเห็นเข้ามาช่วยเหลือเพื่อทำให้การประกาศข่าวพระกิตติคุณรุดหน้า”5
3. เมื่อจำเป็น พระเจ้าจะทรงกระทำปาฏิหาริย์เพื่อทำตามสัญญาที่ทรงทำไว้กับผู้นำศาสนจักรของพระองค์ ในปี 1967 ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สัญญาว่าเมื่อสมาชิกศาสนจักรทำส่วนของตน ม่านเหล็กในยุโรปและม่านไม้ไผ่ในเอเชียจะล้มลงเพื่อให้งานเผยแผ่ศาสนาเฟื่องฟูไปทั่วโลก6 ในเวลานั้น เหตุการณ์นี้ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว คิดไม่ถึง และไม่น่าเป็นไปได้ด้วยซ้ำ ทว่าภายในยี่สิบปี กำแพงเหล่านี้กลับพังทลายลงด้วยวิธีที่คาดไม่ถึง แม้โดยปาฏิหาริย์
4. แม้ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ เราอาจรู้ว่าเราถูกต้อง แต่มีบางครั้งที่การยืนกรานหรือต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ถึงความถูกต้องอาจทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจโดยไม่จำเป็น และที่เลวร้ายกว่านั้น อาจกลายเป็นสิ่งกีดขวางในความก้าวหน้าทางวิญญาณของผู้อื่น
แบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของความอ่อนโยนและไม่เป็นสิ่งกีดขวางพบได้ในประสบการณ์นี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด “มาร์คัส ลูกชายของท่านเล่า … เรื่องการไปพระวิหารวอชิงตัน ดี. ซี. เพื่อเข้าร่วมรอบศาสนพิธี [เอ็นดาวเม้นท์] ในพระวิหาร เมื่อประธานเฟาสท์แสดงใบรับรองเพื่อเข้าไปในพระวิหาร—ใบรับรองพิเศษที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่—เจ้าหน้าที่พระวิหารไม่รู้จักท่านหรือใบรับรองนั้นและปฏิเสธไม่ให้ท่านเข้าไป ‘แทนที่จะทำให้ชายคนนั้นอับอายด้วยการบอกว่าท่านเป็นใคร คุณพ่อขอโทษอย่างสุภาพแล้วพวกเราก็ออกไป’”7
ข้าพเจ้าสำนึกคุณต่อบันทึกของมัทธิวที่เล่าเรื่องเหรียญในปลา เปโตร ชาวประมงซึ่งมีความเป็นมนุษย์และหุนหันพลันแล่นได้แสดงปาฏิหาริย์เกี่ยวกับการจับปลาอีกครั้งด้วย8 ซึ่งทำให้เรามีความหวังว่าพระเจ้าจะทรงช่วยให้เราเติบโตเช่นกันแม้ว่าเราจะทำผิดพลาด เช่นเดียวกับเปโตร เราจะเรียนรู้จากแบบอย่างของพระอาจารย์ ผู้อดทนต่อความผิดพลาดและอ่อนโยนถึงแม้ว่าทรงมีเดชานุภาพทั้งปวง
ขอให้เราตระหนักว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าโดยวางใจว่าพระองค์จะทรงเตรียมทางเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ด้วยวิธีอันน่าอัศจรรย์เช่นเดียวกับอัครสาวกในสมัยโบราณ และในการรับใช้และความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น ขอให้เราพิจารณาอย่างรอบคอบถึงคำพูดหรือการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นสิ่งกีดขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่อ่อนแอในศรัทธา