2023
สิ่งเตือนใจห้าข้อสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณ
สิงหาคม 2023


ดิจิทัลเท่านั้น

สิ่งเตือนใจห้าข้อสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณ

แนวคิดทั้งห้าข้อนี้สามารถช่วยให้เราแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยวิธีปกติและเป็นธรรมชาติ และเชื้อเชิญผู้อื่นให้มาหาพระคริสต์

ภาพ
ภาพปะติดของผู้คนที่รับใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เรามีความรับผิดชอบและพรที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณกับบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักบุตรธิดาแต่ละคนด้วยความรักที่บริบูรณ์และทรงต้องการให้พวกเขาแต่ละคนสามารถรับพรทั้งหมดของพระองค์ได้ วิธีหนึ่งที่เราสามารถแสดงความรักต่อพระองค์คือ “เชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณ [ซึ่ง] รวมถึง:

  1. การมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาและการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

  2. การช่วยให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาก้าวหน้าตามเส้นทางพันธสัญญา”1

เมื่อเรารักและรับใช้พี่น้องชายหญิงของเรา เราจะเปี่ยมด้วยความปรารถนาจะช่วยให้พวกเขาประสบ “ปีติยิ่ง” ที่มาจากการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (แอลมา 36:24) การแบ่งปันพระกิตติคุณอาจรู้สึกเหมือนภาระที่หนักในบางครั้ง แต่ “พระเจ้าไม่ทรงให้บัญญัติแก่ลูกหลานมนุษย์ นอกจากพระองค์จะทรงเตรียมทางไว้ให้พวกเขาเพื่อพวกเขาจะทำสำเร็จในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงบัญชาพวกเขา” (1 นีไฟ 3:7) เราวางใจได้ว่าพระองค์จะทรงช่วยเราเมื่อเราฟังพระสุรเสียงที่ตรัสว่า “จงดูแลแกะของเราเถิด” (ยอห์น 21:16–17)

ขณะที่เราพยายามเชื้อเชิญผู้อื่นให้มาหาพระคริสต์ เราอาจพิจารณาหลักธรรมต่อไปนี้

แบ่งปันพระกิตติคุณเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาของเรา

ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “ทุกคนที่ทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าได้สัญญาว่าจะห่วงใยผู้อื่นและรับใช้คนทุกข์ยาก เราสามารถแสดงศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและพร้อมตอบคนที่ถามเกี่ยวกับ ‘ความหวัง [ที่อยู่ในเรา]’ [1 เปโตร 3:15] เราแต่ละคนมีบทบาทในการรวบรวมอิสราเอล”2

จำไว้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณ ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง เตือนเราว่า “การศึกษาและการแบ่งปันพระกิตติคุณทุกวันสามารถทำได้ทุกคนไม่ว่าจะมีการเรียกอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม โปรดจำไว้ว่าการทำงานเผยแผ่ศาสนา ไม่ต้องใช้ป้ายชื่อ!3 และเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนทำนองเดียวกันว่า “หากท่านไม่ได้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาที่มีป้ายชื่อติดอยู่บนเสื้อนอกของท่าน ตอนนี้ได้เวลาแล้วที่ท่านจะเขียนขึ้นมาอันหนึ่งในใจท่าน—เขียนเหมือนกับที่เปาโลกล่าวว่า ‘ไม่ได้เขียนด้วยน้ำหมึก แต่ด้วยพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์’ [2 โครินธ์ 3:3]”4

ขณะที่เราพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณ เรากำลังช่วยให้พันธสัญญาบัพติศมาของเราเกิดสัมฤทธิผล ซึ่งรวมถึง “ยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่งที่ท่านอยู่” (โมไซยาห์ 18:9)

เชื้อเชิญให้คนทั้งปวงมาหาพระคริสต์

พระเยซูคริสต์ “ไม่ทรงลำเอียง” (กิจการ 10:34) เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเชื้อเชิญเศรษฐีหนุ่มเมื่อนานมาแล้ว พระองค์ทรงเชื้อเชิญทุกคนให้ “กลับ‍มา​ติด‍ตาม​เรา” (ลูกา 18:22) เราสามารถทำเช่นเดียวกันได้—เชื้อเชิญทุกคนให้ติดตามพระคริสต์โดยไม่ตัดสินว่าพวกเขาจะตอบรับคำเชิญหรือไม่ พระองค์ทรงเป็นคำตอบที่คนมากมายค้นหา

ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “พระกิตติคุณเป็นคำตอบ เดียว เมื่อหลายคนในโลกหยุดชะงักเพราะความกลัว นี่เป็นการตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับเราที่จะทำตามพระบัญชาที่พระเจ้าทรงให้เหล่าสาวกของพระองค์ ‘ออกไป … ทั่ว โลก, และสั่งสอนพระกิตติคุณแก่ชาวโลก ทั้งปวง’ [มาระโก 16:15; เน้นตัวเอน] เรามีความรับผิดชอบศักดิ์สิทธิ์ในการแบ่งปันพลังและสันติสุขของพระเยซูคริสต์ให้แก่ทุกคนที่จะฟังและให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิต”5

คนที่เราแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยอาจยอมรับหรือไม่ยอมรับคำเชิญหรือประจักษ์พยานของเรา แต่นั่นไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของเรา เราทำงานของพระผู้เป็นเจ้าในการแบ่งปัน

วางใจให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยาน

บางครั้งการแบ่งปันความเชื่ออันล้ำค่าและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเราอาจทำให้เรากลัว แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงนำทางเราและทรงช่วยให้เราสื่อสารในวิธีที่จะอัญเชิญพระวิญญาณ เราสามารถวางใจพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้นำทางคำพูดของเราเมื่อเราเอ่ยปากแบ่งปัน บทบาทของเราคือแบ่งปัน และเป็นบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

ดังที่สอนไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 100:5–8: “ฉะนั้น, ตามจริงแล้ว เรากล่าวแก่เจ้า, จงเปล่งเสียงของเจ้าแก่ผู้คนเหล่านี้; จงพูดความนึกคิดที่เราจะใส่ไว้ในใจของเจ้า และเจ้าจะไม่ถูกทำให้จำนนต่อหน้าคน

“เพราะจะให้มันแก่เจ้าในโมงนั้นนั่นเอง, แท้จริงแล้ว, ในชั่วขณะนั้นนั่นเอง, สิ่งที่เจ้าจะกล่าว.

“แต่บัญญัติข้อหนึ่งเราให้แก่เจ้า, ว่าเรื่องใดก็ตามที่เจ้าประกาศ เจ้าจะประกาศในนามของเรา, ในความสำรวมแห่งใจ, ในวิญญาณแห่งความอ่อนโยน, ในสิ่งทั้งปวง.

“และเราให้สัญญานี้แก่เจ้า, ว่าตราบเท่าที่เจ้าทำสิ่งนี้พระวิญญาณบริสุทธิ์จะฉายออกไปในการรับสั่งคำพยานต่อสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่เจ้าจะกล่าว.”

จดจำสิ่งที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

วางใจพระเจ้าในการทำปาฏิหาริย์ของพระองค์ จงเข้าใจว่าไม่ใช่งานของท่านที่จะเปลี่ยนใจเลื่อมใสผู้คน นั่นคือบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ บทบาทของท่านคือแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจและดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับความเชื่อของท่าน

“ดังนั้น อย่าท้อแท้ถ้ามีบางคนไม่ยอมรับข่าวสารพระกิตติคุณในทันที นี่ไม่ใช่ความล้มเหลวส่วนตัว

“เป็นเรื่องระหว่างบุคคลนั้นกับพระบิดาบนสวรรค์

“หน้าที่ของท่านคือรักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้านของท่าน ลูกของพระองค์

“เชื่อ รัก ทำ”6

กล่าวถึงพระกิตติคุณอย่างเป็นธรรมชาติ

การแบ่งปันพระกิตติคุณไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยุ่งยาก เราทำได้ ดังที่เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟให้กำลังใจ “เชื้อเชิญ—ในวิธีปกติและเป็นธรรมชาติ—ให้ผู้คนมาดู มาช่วย มาเป็นส่วนหนึ่ง”7 เราสามารถหาวิธีพูดถึงพระกิตติคุณขณะที่เราพูดถึงความสนใจ งานอดิเรก การต่อสู้ดิ้นรน และพรที่เราประสบผ่านบทบาทของพระเยซูคริสต์ในชีวิตเรา

ประธานบัลลาร์ดแนะนำว่า “อย่ากลัวที่จะแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ของท่านในฐานะผู้ติดตามพระเจ้าพระเยซูคริสต์กับผู้อื่น เราทุกคนล้วนมีความสนใจในเรื่องราวที่มีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ของเรา การแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นเป็นวิธีที่ไม่ได้คุกคามการพูดคุยกับผู้อื่น ท่านอาจช่วยเอาชนะความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับศาสนจักรผ่านแวดวงอิทธิพลของท่านได้ด้วย”8

หากท่านไม่มั่นใจในความสามารถที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณ พึงจดจำคำแนะนำนี้จากเอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟ:

“การแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นเป็นวิธีที่ไม่ได้คุกคามการพูดคุยกับผู้อื่น แต่ ‘พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ’ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:34] …

“สิ่งสำคัญคือท่านต้องไม่ยอมแพ้ ต้องพยายามต่อไปจนกว่าจะทำถูก ในที่สุดท่านจะเป็นคนดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และจริงใจมากขึ้น การพูดคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับศรัทธาของท่านจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา อันที่จริง พระกิตติคุณจะเป็นส่วนสำคัญอันล้ำค่าในชีวิตท่านซึ่งจะรู้สึกแปลกที่จะ ไม่ พูดถึงเรื่องนี้กับผู้อื่น อาจไม่เกิดขึ้นทันที—จะเป็นความพยายามตลอดชีวิต แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้น” 9

ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณ

ท่านเคยได้ยินวลีที่ว่า “การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” หรือไม่? เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เมื่อใดที่เราแสดงความรักแบบพระคริสต์ต่อเพื่อนบ้าน เท่ากับเราสั่งสอนพระกิตติคุณ—แม้ว่าเราไม่ได้เอ่ยสักคำ”10

เอ็ลเดอร์สตีเวนสันให้ต้นแบบที่เรียบง่ายสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณเช่นกัน “งานมอบหมายสำคัญยิ่งของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถสำเร็จได้ผ่านหลักธรรมอันเรียบง่ายและเข้าใจไม่ยากที่สอนเรามาตั้งแต่เด็ก: รัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญ” 11

เราสามารถทำตามคำแนะนำของประธานเนลสันให้ “รับผิดชอบประจักษ์พยาน [ของเรา]” ได้เช่นกัน12 และดังที่เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณด้วยแบบอย่าง: “เพื่อให้อาณัติของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้แบ่งปันพระกิตติคุณกลายเป็นตัวตนส่วนหนึ่งของเรา เราต้อง เปลี่ยนใจเลื่อมใส มาสู่พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เราต้อง รัก เพื่อนบ้านของเรา แบ่งปัน พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ และ เชื้อเชิญ ให้ทุกคนมาดู”13

ขณะที่เราพยายาม “พูดถึงพระคริสต์, … ชื่นชมยินดีในพระคริสต์ … สั่งสอนเรื่องพระคริสต์ [และ] พยากรณ์ถึงพระคริสต์” (2 นีไฟ 25:26) เราสามารถวางใจพระองค์ให้ช่วยเราได้ เราจะพบความเข้มแข็งในคำสัญญานี้จากเอ็ลเดอร์สตีเวนสันได้เช่นกัน “ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านคิดหาวิธีรัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญ ขณะทำเช่นนั้น ท่านจะรู้สึกมีปีติอย่างมากเพราะรู้ว่าท่านกำลังเอาใจใส่พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดที่รักของเรา”14

พิมพ์