เลียโฮนา
การสอนเด็กถึงพลังแห่งความสัมพันธ์และการรับใช้
มิถุนายน 2024


“การสอนเด็กถึงพลังแห่งความสัมพันธ์และการรับใช้,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2024

การสอนเด็กถึงพลังแห่งความสัมพันธ์และการรับใช้

การช่วยให้บุตรหลานของเรารับใช้ผู้อื่นในครอบครัวของพวกเขา ในศาสนจักร และในชุมชนเป็นการวางรากฐานความสุขในอนาคตโดยช่วยให้พวกเขาประสบกับความสุขที่แท้จริงในปัจจุบัน

ภาพ
เด็กทําความสะอาดหน้าต่าง

ผมเคยเรียกลูกสาววัยเจ็ดขวบว่าเป็นอาวุธลับของผม ขณะรับใช้เป็นอธิการ ผมต้องการให้ลูกๆ มีส่วนในการรับใช้ของผม การพาเธอมาเยี่ยมสมาชิกวอร์ดไม่เพียงช่วยให้ผมได้ใช้เวลากับเธอมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่เป็นการเปิดโอกาสในสิ่งที่เธอไม่เคยประสบมาก่อนอีกด้วย ช่างเป็นเรื่องยากที่อธิการอย่างผมจะเมินหน้าเมื่อลูกสาวน่ารักวัยเจ็ดขวบยิ้มให้ ซึ่งดีต่อสมาชิกวอร์ดของเราด้วย และผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีสําหรับลูกสาวตัวน้อยของผมเช่นกัน เธอไม่ได้เพียงเฝ้าดูคุณพ่อรักและรับใช้ผู้อื่น แต่เธอยังได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่าเธอสามารถรักและรับใช้ผู้อื่นได้เช่นกัน—ซึ่งเป็นพรแห่งปีติแก่เธอในเวลาเดียวกัน

เราทุกคนล้วนต้องการให้ลูกๆ ของเราเจริญเติบโตได้ดี เราต้องการให้พวกเขาดําเนินชีวิตอย่างเบิกบานและเปี่ยมด้วยความรักในความสัมพันธ์ ทว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นั้นบ่อยครั้งทําให้สิ่งนี้เป็นเรื่องท้าทาย อิทธิพลสมัยใหม่มากมายกระตุ้นให้ลูกๆ ของเราจดจ่อแต่กับ “ตนเอง” มากขึ้น พวกเขามักจะได้รับข่าวสารต่างๆ ที่บ่งบอกว่าความสุขนั้นอยู่ที่พวกเขาจะได้อะไร

หลักสังคมศาสตร์ที่ดีที่สุดเผยว่าพฤติกรรมที่เอื้อเฟื้อต่อสังคมเป็นกุญแจสู่การเจริญเติบโต “การเอื้อเฟื้อต่อสังคม” เป็นวิธีอันดีงามในการบรรยายคําสอนนี้ของพระผู้ช่วยให้รอด: เราค้นพบตนเอง (และความสุขที่แท้จริง) โดยการสูญเสียตนเองในการรับใช้ด้วยความรัก (ดู มัทธิว 10:39)

แต่ความโดดเดี่ยวนั้นระบาดในสังคมเรา ตั้งแต่เด็กเล็กถึงคนหนุ่มสาวไปจนถึงผู้อาวุโส ผู้คนมากมายเชื่อมโยงกับผู้อื่นผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าที่เคย แต่น่าเศร้าที่พวกเขาขาดการเชื่อมต่อจากความสัมพันธ์ในชีวิตจริงมากกว่าเมื่อก่อน1

ดังนั้นเราจะช่วยให้บุตรหลานของเราเรียนรู้ได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์ที่มีความหมายและการรับใช้อย่างมีจุดประสงค์จะทําให้พวกเขามีปีติมากขึ้น?

เชื่อมโยงการรับใช้กับอัตลักษณ์พื้นฐานของพวกเขา

ภารกิจสําคัญยิ่งสําหรับบิดามารดาคือช่วยให้ลูกๆ รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ทุกวันนี้ ผู้คนมากมายจดจ่ออยู่กับตัวตนที่แบ่งแยกความเป็นเรา และทำให้แตกต่าง แทนที่จะมุ่งเน้นตัวตนของเราในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวพระผู้เป็นเจ้า หลายคนกลับเลือกเข้ากลุ่มที่ด้อยค่าความเห็นอกเห็นใจและการดูแลผู้คนรอบข้าง

จึงไม่แปลกที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเน้นว่าการรู้จักและให้คุณค่าอัตลักษณ์ของเราเป็นสิ่งสำคัญ

ท่านเป็นใคร?

“สำคัญที่สุดอย่างแรกคือท่านเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า

“สอง ในฐานะสมาชิกศาสนจักร ท่านเป็นลูกแห่งพันธสัญญา และสาม ท่านเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์”2

ถ้าเรามองตัวเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าก่อน เราเรียนรู้ว่าเราแต่ละคน “มีลักษณะและจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์”3 กล่าวคือ ธรรมชาติวิสัยพื้นฐานของเรานั้นศักดิ์สิทธิ์ และเรามีศักยภาพที่จะเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ตรัสกับเราว่า “นี่คืองานของเราและรัศมีภาพของเรา—คือการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) ทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทําคือรัก อวยพร และยกเรา “พระองค์ย่อมไม่ทรงกระทำสิ่งใดเว้นแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโลก” (2 นีไฟ 26:24)

พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบดีกว่าว่าเราจะมีความสุขได้อย่างไร สงสัยไหมว่าเมื่อเราดําเนินชีวิตโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เราจะไปในทางตรงกันข้ามกับธรรมชาติอันเป็นนิรันดร์ของเรา? เราเริ่มรู้สึกถึงการขาดเป้าหมายและความสุข ผู้ที่ “ไปในทางตรงกันข้ามกับธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้า … จึงอยู่ในสภาพตรงกันข้ามกับธรรมชาติของความสุข” (แอลมา 41:11) ธรรมชาตินิรันดร์ของเราทําให้เราไม่สามารถพบความสุขในการดําเนินชีวิตอันไม่ชอบธรรมและยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (ดู ฮีลามัน 13:38)

โดยมุ่งเน้นตัวตนที่แท้จริงของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราจะได้เรียนรู้ว่าเราเป็นพี่น้องกันจริงๆ การรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราช่วยให้เราเห็นคุณค่าของการรับใช้และความสัมพันธ์มากขึ้น เราตระหนักว่าเราเป็น “หุ้นส่วนกับพระผู้ทรงฤทธานุภาพในการทำให้จุดประสงค์ของแผนนิรันดร์แห่งความรอดบรรลุผลสำเร็จ” ดังที่เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซสอน4 เรา “โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; แท้จริงแล้ว, และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน, และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา” (โมไซยาห์ 18:9)

ภาพ
เด็กชายให้เด็กหญิงดูภาพวาด

ช่วยให้บุตรหลานของเราเห็นคุณค่าความสัมพันธ์และการรับใช้

ในฐานะบิดามารดา เราสามารถช่วยให้บุตรหลานของเราดําเนินชีวิตอย่างมีความสุขโดยช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ ไม่มีใครเจริญรุ่งเรืองได้หากปราศจากความสัมพันธ์เชิงบวก พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบเรื่องนี้ ดังนั้นแผนอันสมบูรณ์ของพระองค์จึงทําให้เราอยู่ในครอบครัว วอร์ดหรือสาขา และในชุมชน พระองค์ทรงทราบว่าเราต้องการสิ่งนี้เพื่อเรียนรู้ที่จะรักและรับใช้ดังที่พระองค์ทรงทํา ดังที่เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองย้ำเตือนเราว่า “ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันขอให้เรา ‘แสดงความเป็นสุภาพชน ความปรองดองระหว่างเชื้อชาติกับชาติพันธุ์ และความเคารพกันมากขึ้น’ นี่หมายถึงการรักกันและรักพระผู้เป็นเจ้า ยอมรับทุกคนเป็นพี่น้อง และเป็นชาวไซอันจริงๆ”5

ลองนึกดูว่าจะเป็นพลังแก่บุตรหลานของเราเพียงใดเมื่อพวกเขาตระหนักว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่เพียงทรงบัญชาให้เราดูแลกัน แต่ยังทรงช่วยในความพยายามของเราอีกด้วย พระผู้เป็นเจ้ามิทรงปล่อยให้เราทําการรับใช้นี้ด้วยตนเอง พระองค์ทรงสัญญาจะเดินกับเรา: “เจ้าจะอยู่กับเรา, และเรากับเจ้า; ฉะนั้นจงเดินกับเรา” (โมเสส 6:34) ผลของการเดินกับพระผู้เป็นเจ้าในการรับใช้ด้วยความรักคือชีวิตที่เปลี่ยนไป เพียงอ่านสิ่งที่เอโนคจะทําสําเร็จด้วยความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ในการสร้างไซอัน เป็นแบบอย่างอันทรงพลังที่เราสามารถพึ่งพาได้ (ดู โมเสส 6–7)

การช่วยให้บุตรหลานของเรารับใช้ผู้อื่นในครอบครัวของพวกเขา ในศาสนจักร และในชุมชนเป็นการวางรากฐานความสุขในอนาคตโดยช่วยให้พวกเขาประสบกับความสุขที่แท้จริงในปัจจุบัน เราช่วยให้พวกเขาเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและได้สัมผัสกับปีติที่ชีวิตเหมือนพระผู้เป็นเจ้า

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเมื่อเราพัฒนาอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์ เราจะเอื้อมออกนอกตัวไปรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก6 ซาตานรู้เรื่องนี้ และต้องการให้เราหันมาจดจ่อและมุ่งความสนใจไปที่ตัวเราเอง แต่เราสามารถช่วยให้ลูกๆ ของเราเข้าใจว่าการรับใช้ด้วยความรักส่งผลอย่างยิ่งต่อการสร้างความสุขมากกว่าการจดจ่ออยู่กับตนเอง สุภาษิตเก่ายังคงเป็นจริงเสมอ: “ขอจงช่วยเรือของพี่น้องข้ามฟากไป และดูเถิด เรือของท่านเองก็มาถึงฝั่งแล้ว”7

ช่วยได้อย่างไร? ให้พระผู้เป็นเจ้ามีส่วนและจง “ยืนตรงไหนยกตรงนั้น”

การช่วยให้ลูกๆ ของเราเรียนรู้ที่จะเห็นผู้อื่นเป็นพี่น้องสามารถเริ่มด้วยการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวรวมถึงคําวิงวอนให้พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรครอบครัวเราเป็นเวลาหลายปี โดย “ครอบครัว” เราหมายถึง (และสวดอ้อนวอนขอเป็นพิเศษ) ครอบครัวโดยตรง (บิดามารดาและลูกๆ) ญาติพี่น้อง ครอบครัววอร์ด และครอบครัวละแวกบ้านของเรา เราต้องการให้ลูกๆ เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงล้อมรอบเราไว้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของเรา

เราจะคุกเข่าและพยายามรับใช้ผู้ที่เราสวดอ้อนวอนให้ เราให้ลูกๆ มีส่วนในความสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยความรักกับลุงป้าน้าอา ญาติพี่น้อง และปู่ย่าตายายของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ลูกๆ ของผมช่วยเมื่อผมดูแลคุณแม่ผู้เป็นที่รักในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน แน่นอนว่าเราไม่ได้ทําอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ความพยายามของเราได้สร้างความแตกต่าง

ในหลายๆ ด้าน การทําเช่นนี้ไม่ได้มากไปกว่า “การยืนตรงไหนยกตรงนั้น” ซึ่งอ้างอิงจากคํากล่าวของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง8 บ่อยครั้งเป้าหมายที่ยากลำบากกลับเปลี่ยนเป็นสามารถทําได้เมื่อเราเริ่มตรงที่เราอยู่และทําสิ่งที่เราทําได้ ครอบครัว ศาสนจักร และชุมชนของเราเองให้โอกาสมากมายที่จะช่วยให้ลูกๆ ของเราประสบปีติของการรับใช้ที่มีความหมาย

ภาพ
เยาวชนเดินขณะถือบัตรชื่อสําหรับพระวิหาร

ปีติของการเชื่อมโยงพันธสัญญา

ท่านอาจสังเกตว่าผู้นําศาสนจักรของเราพูดถึงความสําคัญของการอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาบ่อยเพียงใด เส้นทางพันธสัญญาเป็นมากกว่ากฎชุดหนึ่ง ศาสนพิธีที่เราได้รับและพันธสัญญาที่เราทําเป็นวิธีของพระผู้เป็นเจ้าในการผูกมัดเรากับพระองค์ รวมทั้งผูกมัดกันและกันในวิธีที่ช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์ ทั้งหมดนี้ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับพระบัญญัติข้อสําคัญข้อแรกของการรักพระผู้เป็นเจ้า แต่เกี่ยวข้องกับพระบัญญัติข้อสําคัญข้อสองที่ให้รักกันและกันอีกด้วย โดยแท้แล้ว เมื่อเราสละตนเองในการรับใช้ เราและลูกๆ จะพบตัวตนที่แท้จริงของเรา

พิมพ์