เลียโฮนา
เราได้รับเรียกให้ทําดี
มิถุนายน 2024


“เราได้รับเรียกให้ทําดี,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2024.

เราได้รับเรียกให้ทําดี

เราสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น ชูแสงสว่างของเรา และยืนหยัดเพื่อเสรีภาพทางศาสนา

กิเดียนรู้หลักคําสอนเท็จเมื่อเขาได้ยิน เขาได้ยินเรื่องนี้มาก่อนจากกษัตริย์โนอาห์และปุโรหิตของเขา—ปุโรหิตที่ “ทะนงตนด้วยความถือดีในใจตน” และ “ได้รับการค้ำจุนในความเกียจคร้านของตน, และในการนับถือรูปเคารพของตน, และในการผิดประเวณีของตน, ด้วยภาษีซึ่งกษัตริย์โนอาห์เก็บจากผู้คนของเขา” (โมไซยาห์ 11:5–6)

แย่กว่านั้น กษัตริย์โนอาห์สังหารศาสดาพยากรณ์อบินาไดและหมายมั่นจะทําลายแอลมาและผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา (ดู โมไซยาห์ 17; 18:33–34) เพื่อยุติความชั่วร้ายเช่นนั้น กิเดียนปฏิญาณว่าจะห้ามกษัตริย์ผู้ที่เขาไว้ชีวิตเพียงเพราะการรุกรานของชาวเลมัน (ดู โมไซยาห์ 19:4–8)

ต่อมา กิเดียนกล่าวโทษพวกปุโรหิตของโนอาห์อย่างถูกต้องเรื่องการลักพาตัวธิดาชาวเลมันไป 24 คน เขาสังเกตว่าคําพยากรณ์ของอบินาไดต่อผู้คนเกิดสัมฤทธิผลแล้วเพราะพวกเขาปฏิเสธที่จะกลับใจ (ดู โมไซยาห์ 20:17–22) เขาช่วยปลดปล่อยผู้คนของลิมไฮซึ่งตกเป็นทาสชาวเลมัน (ดู โมไซยาห์ 22:3–9)

เวลานี้กิเดียนซึ่งมีอายุมากขึ้นได้เผชิญหน้าทั้งความจองหองและความชั่วร้ายอีกครั้งขณะยืนอยู่ต่อหน้านีฮอร์ผู้แนะนําการฉ้อฉลในอํานาจปุโรหิตในบรรดาผู้คน นีฮอร์ “ต่อต้านศาสนจักร” และพยายามนําผู้คนให้หลงผิด (ดู แอลมา 1:3, 7, 12; ดู 2 นีไฟ 26:29 ด้วย)

กิเดียนที่กล้าหาญตักเตือนนีฮอร์เรื่องความชั่วร้ายของเขาโดยใช้พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเป็นอาวุธ ด้วยความโกรธ นีฮอร์ใช้ดาบจู่โจมและสังหารกิเดียน (ดู แอลมา 1:7–9) ด้วยเหตุนี้วันเวลาของ “คนชอบธรรม” ที่ “ทําความดีไว้มากในบรรดาคนเหล่านี้” จึงสิ้นสุดลง (แอลมา 1:13)

ยุคสุดท้ายที่เราดำเนินชีวิตอยู่ให้โอกาสเรามากพอที่จะเลียนแบบกิเดียนในฐานะ “เครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 1:8) โดย “รับใช้” (โมไซยาห์ 22:4) ผู้อื่น ยืนหยัดเพื่อความชอบธรรม และต่อต้านการคุกคามเสรีภาพของเราในการนมัสการและรับใช้พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเราทําตามแบบอย่างที่ซื่อสัตย์ของกิเดียน เราทําความดีได้มากเช่นกัน

ภาพ
สตรีถือถาดอาหารยืนอยู่ข้างสตรีที่นอนบนเตียง

เป็นหนึ่งเดียวกันในการรับใช้

“ในฐานะผู้ติดตาม [ของพระผู้ช่วยให้รอด] เราพยายามรักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้านของเราทั่วโลก” ฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว “ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหมายมั่นที่จะเป็นพรแก่ผู้อื่นและช่วยคนขัดสน เราได้รับพรที่มีความสามารถ แหล่งช่วย และความสัมพันธ์ทั่วโลกที่ไว้ใจได้เพื่อทําหน้าที่รับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์นี้ให้ลุล่วง”1

ข้าพเจ้าสํานึกคุณต่อการรับใช้อย่างไม่เห็นแก่ตัวและการปฏิบัติศาสนกิจที่สมาชิกของศาสนจักรมอบให้ในพระวิหารของเรา ในวอร์ด สาขา และสเตคของตน ข้าพเจ้าสํานึกคุณเช่นกันที่สมาชิกศาสนจักรรับใช้ในชุมชน องค์กรการศึกษา และองค์กรการกุศลนับไม่ถ้วน และที่พวกเขาเข้าร่วมโครงการเพื่อมนุษยธรรมหลายพันโครงการต่อปี ทำงานเป็นอาสาสมัครหลายล้านชั่วโมงในเกือบ 200 ประเทศและเขตปกครอง2

วิธีหนึ่งที่ศาสนจักรขยายโอกาสการรับใช้ในหลายประเทศคือโดยผ่าน JustServe.org JustServe.org แหล่งช่วยที่ศาสนจักรสนับสนุนมีให้สำหรับทุกคนที่ต้องการเป็นพรแก่ผู้อื่น “เชื่อมโยงความต้องการอาสาสมัครชุมชนกับอาสาสมัคร” ผู้ “ยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน”3

ศาสนจักรและสมาชิกร่วมมือกับองค์กรบําเพ็ญประโยชน์รับใช้ทั่วโลกด้วย ต้องขอบคุณสมาชิกที่ทำให้ศาสนจักรเป็น “องค์กรบริจาคเลือดแก่สภากาชาดที่ใหญ่ที่สุดเพียงองค์กรเดียวในปี 2022” นอกจากนี้ เมื่อไม่นานมานี้ศาสนจักรบริจาคเงิน 8.7 ล้านดอลลาร์ให้สภากาชาด4

ศาสนจักรร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อนําน้ำสะอาดและโครงการสุขอนามัยมาสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ในปี 2022 ศาสนจักรเข้าร่วมโครงการดังกล่าว 156 โครงการ5 นอกจากนี้เรายังร่วมมือและบริจาคให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่นำการบรรเทาทุกข์มาสู่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าที่ทนทุกข์6

“เมื่อเราจับมือกันรับใช้ผู้ที่ขัดสน” ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว “พระเจ้าทรงรวมใจเรา”7

ภาพ
อุ้งมือกับแสงอาทิตย์

ชูแสงสว่างของท่าน

ในฐานะสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอด เราเป็นพรแก่เพื่อนบ้านของเราเช่นกันเมื่อเรารักษาพันธสัญญาของเราและนําชีวิตเหมือนพระคริสต์ พระคัมภีร์มอรมอนสอนว่า “ผู้คนของศาสนจักร” ต้องไม่เพียงเลือกความชอบธรรมเท่านั้นแต่ทําให้เสียงชอบธรรมของพวกเขาได้ยินด้วยหากพวกเขาประสงค์ให้พระเจ้าทรงคุ้มครองและทําให้พวกเขารุ่งเรือง (ดู แอลมา 2:3–7; ดู โมไซยาห์ 29:27 ด้วย) พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราแบ่งปันศรัทธาและความเชื่อของเราและชูแสงสว่างของเรา “ดูเถิดเราเป็นแสงสว่างซึ่งเจ้าจะชูขึ้น” (3 นีไฟ 18:24)

“เรารับใช้พระผู้ช่วยให้รอดได้ไม่ดีถ้าเรากลัวมนุษย์มากกว่าพระผู้เป็นเจ้า” ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว ท่านเสริมว่า “เราได้รับเรียกให้วางมาตรฐานของพระเจ้าไม่ใช่ทําตามมาตรฐานของโลก”8

ไม่ว่าที่โรงเรียน ที่ทํางาน หรือเวลาเล่น ในวันหยุด ในวันออกเดต หรือออนไลน์ สานุศิษย์ของพระเจ้าไม่ “ละอายที่จะยอมรับพระนามของพระคริสต์แล้ว” (แอลมา 46:21) โดยคําพูดและงานของเรา เราเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์และเราติดตามพระบุตรของพระองค์

“ศรัทธาของเราไม่แบ่งแยกกัน หรือไม่ควรเป็นเช่นนั้น ศรัทธาไม่เพียงสําหรับโบสถ์ ไม่ใช่เพียงมีไว้สำหรับบ้าน หรือ [โรงเรียน]” พอล แลมเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเรื่องพหุนิยมทางศาสนากล่าว “ศรัทธามีไว้สําหรับทุกสิ่งที่ท่านทํา”9

เราไม่รู้ว่าประจักษ์พยาน แบบอย่างที่ดี และการทําดีของเราอาจส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร แต่เมื่อเรายืนหยัดเพื่อความถูกต้องและชูแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้คนจะสังเกตเห็นเราและสวรรค์จะเกื้อหนุนเรา

ภาพ
ผู้หญิงยืนอยู่นอกพระวิหาร

ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพทางศาสนา

การฉ้อฉลในอํานาจปุโรหิตในปัจจุบันที่สังคมทางโลกต่อต้านผู้มีศรัทธาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากยุคสมัยของพระคัมภีร์มอรมอน เสียงของผู้คัดค้านบทบาทสําคัญยิ่งของศาสนาในเวทีสาธารณะและเวทีการเมืองดังขึ้นเรื่อยๆ ผู้นิยมคติทางโลกและรัฐบาล รวมทั้งสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่งกําลังบังคับให้ประพฤติตัวและชักจูงการผิดศีลธรรม อเทวนิยม และคติสัมพัทธภาพทางศีลธรรม

การโจมตีเรื่องเสรีภาพทางศาสนาจะประสบความสําเร็จถ้าเราไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิทางศาสนาของเรา ไม่นานมานี้ข้าพเจ้าสอนว่า “ศาสนจักรเราร่วมมือกับศาสนาอื่นที่ปกป้องคนทุกความเชื่อทุกศาสนาและสิทธิ์ของพวกเขาในการพูดถึงสิ่งที่ตนเชื่อมั่น”10

สงครามในสวรรค์มีขึ้นเพื่อเอาชนะสิทธิ์เสรีทางศีลธรรม—เสรีภาพในการเลือกของเรา การปกป้องสิทธิ์เสรีของเราเรียกร้องให้เราขยันหมั่นเพียรในการปกป้องเสรีภาพทางศาสนาของเรา

ศรัทธาที่มีชีวิตชีวาเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุ้มครองครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ สิ่งนี้นําไปสู่การเชื่อฟังกฎหมาย ปลูกฝังความเคารพต่อชีวิตและทรัพย์สิน และสอนจิตกุศล ความซื่อสัตย์ และศีลธรรม—คุณธรรมที่จําเป็นต่อการดําเนินต่อไปในสังคมที่เที่ยงธรรม มีเสรีภาพ และมีสิทธิพลเมือง เราไม่จําเป็นต้องขอโทษเพราะศรัทธาของเรา

งานเผยแผ่ศาสนาของเรา งานแทนคนตายของเราในพระวิหาร ความพยายามของเราในการสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า และความสุขของเราเรียกร้องให้เรายืนหยัดเพื่อศรัทธาและเสรีภาพทางศาสนา หากเราสูญเสียเสรีภาพทางศาสนา เราย่อมสูญเสียเสรีภาพด้านอื่นๆ ไปด้วย

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “ความรักเสรีภาพนั่นเองที่สร้างแรงบันดาลใจให้จิตวิญญาณข้าพเจ้า—เสรีภาพของพลเมืองและศาสนาต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมด”11 เสรีภาพทางศาสนาจะสร้างแรงบันดาลใจให้จิตวิญญาณ ของเรา เช่นกันเมื่อเราทําตามคําแนะนําจากผู้นําศาสนจักร

  • “รับข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ จากนั้นพูดออกมาด้วยความกล้าหาญและความสุภาพ”12

  • “ตระหนักว่าการล่มสลายของเสรีภาพทางศาสนาจะส่งผลอย่างมากต่อโอกาสที่เราจะเติบโตในความเข้มแข็งและความรู้พระกิตติคุณ ได้รับพรจากศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ และพึ่งพาพระเจ้าให้ทรงกํากับดูแลศาสนจักรของพระองค์”13

  • “ยืนขึ้นและพูดเพื่อยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดํารงอยู่และมีความจริงอันสมบูรณ์ที่พระบัญญัติของพระองค์สถาปนา”14

  • “ท้าทายกฎหมายที่ขัดขวางเสรีภาพในการนับถือศาสนาของเรา”15

  • “เข้าไปในโลกเพื่อทําดี สร้างศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ และช่วยนําผู้อื่นมาอยู่ในที่ซึ่งมีความสุขมากขึ้น”16

  • ศึกษาแหล่งช่วยที่ religiousfreedom.ChurchofJesusChrist.org และที่ religiousfreedomlibrary.org/documents

เราสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับใช้ ชูแสงสว่างของเรา และยืนหยัดเพื่อเสรีภาพทางศาสนา ขอพระเจ้าทรงอวยพรเราขณะพยายามทํา “ความดีมากมาย” ในบรรดาครอบครัว ชุมชน และประชาชาติของเรา

พิมพ์