จงตามเรามา
การเปลี่ยนแปลงในใจ: “ท่านรู้สึกเช่นนั้นขณะนี้ได้หรือไม่?”
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันยั่งยืนจะเป็นของเราได้เมื่อเราระลึกถึงพระเจ้าและพระคุณความดีที่พระองค์ทรงมีต่อเรา
แอลมาผู้บุตรตั้งคําถามกระตุ้นความคิดเหล่านี้กับผู้คนในเมืองเซราเฮ็มลา:
“ท่านเกิดทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้าแล้วหรือ? ท่านได้รับรูปลักษณ์ของพระองค์ไว้ในสีหน้าท่านแล้วหรือ? ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ? …
“และบัดนี้ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, … หากท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจแล้ว, และหากท่านรู้สึกอยากร้องเพลงสดุดีความรักที่ไถ่, ข้าพเจ้าจะถาม, ท่านรู้สึกเช่นนั้นขณะนี้ได้หรือไม่?” (แอลมา 5:14, 26)
ข้าพเจ้าเติบโตมากับการเข้าร่วมการประชุมของวอร์ดออกเด็นที่หนึ่งในออกเด็น ยูทาห์ สหรัฐอเมริกา เมื่อข้าพเจ้าอายุประมาณเก้าขวบ อธิการของเรา (คุณพ่อข้าพเจ้า) เริ่มการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยานโดยขอให้ทุกคนในที่ประชุมแสดงประจักษ์พยาน การประชุมดําเนินต่อไปดังที่คุณพ่อขอ ทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมเกือบทุกคนยืนแสดงประจักษ์พยาน
นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับข้าพเจ้า ทุกประจักษ์พยานเรียบง่าย ตรงประเด็น และเน้นสิ่งที่แต่ละคนรู้ว่าจริงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ เท่าที่ข้าพเจ้าบอกได้ ทุกคนรู้สึกได้ถึงการหลั่งเทพระวิญญาณ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าข้าพเจ้าเคยรู้สึกถึงพระวิญญาณ แต่วันนั้นพระวิญญาณประทับอยู่ในวิธีที่น่าทึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกถึงพยานอันทรงพลังถึงความจริงของพระกิตติคุณ ตลอดหลายปีมานี้ ข้าพเจ้าไม่เคยลืมประสบการณ์นี้เมื่อรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของวอร์ดและความรักของพระผู้ช่วยให้รอด
ไม่ว่าประสบการณ์แรกๆ ของเราเมื่อได้รับพยานยืนยันความจริงของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะเป็นเช่นไร เราสามารถได้ประโยชน์อย่างมากจากการถามตัวเราเองว่า “[เรา] รู้สึกเช่นนั้นขณะนี้ได้หรือไม่?” แล้วแก้ไขเส้นทางที่จําเป็น
เราจําสิ่งที่เราประสบและรู้สึกเมื่อเรายอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และให้คํามั่นว่าจะรับใช้พระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ได้หรือไม่? เรายังรู้สึกถึง “พระวิญญาณพระเจ้าเหมือนดังไฟกำลังลุกไหม้”1 ในกระดูกเราได้หรือไม่? เรายังกระตือรือร้นในการเป็นสานุศิษย์หรือไม่?
จดจำและกลับใจ
พระคัมภีร์มอรมอนมักจะแนะนําให้เรา จดจำ เพราะเหตุใด? เพราะเมื่อเราจดจำประสบการณ์และความรู้สึกทางวิญญาณ เราจะมีพลังหลีกเลี่ยงบาปมากขึ้นและมุ่งมั่นต่อไปในคำมั่นสัญญาของเราที่จะอยู่บนเส้นทางพันธสัญญา
อีกทั้งพระคัมภีร์มอรมอนสร้างแรงจูงใจให้เรากลับใจ หลังจากสังเกตเห็นว่าผู้คนจําเป็นต้องกลับใจ แอลมาอธิบายพรของการให้อภัยที่มีให้ผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและให้ข่าวสารแห่งความหวังนี้ซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับเราในปัจจุบัน:
“ดูเถิด, [พระผู้ช่วยให้รอด] ทรงส่งคำเชิญมาถึงมนุษย์ทั้งปวง, เพราะพระพาหุแห่งพระเมตตายื่นมาให้พวกเขา, และพระองค์ตรัส: จงกลับใจ, และเราจะรับเจ้าไว้.
“แท้จริงแล้ว, พระองค์ตรัส: จงมาหาเราเถิดและเจ้าจะรับส่วนผลของต้นไม้แห่งชีวิต; แท้จริงแล้ว, เจ้าจะกินและดื่มอาหารและน้ำแห่งชีวิตโดยเสรี;
“แท้จริงแล้ว, จงมาหาเราและจงนำเอางานแห่งความชอบธรรมออกมา, และเจ้าจะไม่ถูกโค่นและโยนเข้าไปในไฟ …
“ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ว่าพระเมษบาลผู้ประเสริฐทรงเรียกท่าน; แท้จริงแล้ว, และในพระนามของพระองค์เองพระองค์ทรงเรียกท่าน, ซึ่งคือพระนามของพระคริสต์” (แอลมา 5:33–35, 38)
รักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้าน
แอลมาเสริมในสิ่งที่สอนโดยถามผู้คนว่าพวกเขาถอดความจองหองและความริษยาออกแล้วหรือไม่ (ดู แอลมา 5:28–29) ท่านถามด้วยว่า:
“มีใครในบรรดาพวกท่านที่ล้อเลียนพี่น้องของเขา, หรือที่ถมทับการข่มเหงลงบนเขา?
“วิบัติแก่คนเช่นนั้น, เพราะเขาไม่พร้อม, และใกล้จะถึงเวลาแล้วที่เขาต้องกลับใจหรือเขาจะรับการช่วยให้รอดไม่ได้!” (แอลมา 5:30–31)
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนเราเกี่ยวกับพันธะรับผิดชอบของเราที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักและความเคารพ หลีกเลี่ยงการตัดสินและความไร้เมตตา ท่านกล่าวว่า:
“ดังบันทึกไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน … พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญ ‘พวกเขาทั้งหมดให้มาหาพระองค์และรับส่วนพระคุณความดีของพระองค์; และพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย, ไม่ว่าดำและขาว, ทาสและไท, ชายและหญิง; … ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 26:33) …
“… เมื่อชาวฟาริสีที่เย้ยหยันท้าทายพระองค์ให้บอกถึงพระบัญญัติข้อใหญ่ที่สุด การตอบสนองของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นสิ่งที่น่าจดจำและสั้นที่สุด สิ่งนั้นเต็มไปด้วยความจริงที่นำไปสู่ชีวิตอันน่าปีติยินดี คำสอนของพระองค์คือ รักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจก่อน แล้วจึงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง (ดู มัทธิว 22:35–39)”2
นอกจากนี้ ถ้อยคําของแอลมายังให้ข่าวสารอันทรงพลังและตรงไปตรงมาที่ไม่ให้เราหันหลังให้คนยากจนและคนขัดสน (ดู แอลมา 5:55) เราต้องช่วยคนที่ขัดสน สําคัญอย่างยิ่งที่เราจะได้รับการปลดบาปของเรา (ดู โมไซยาห์ 4:16–26) และยังคงรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงนํามาสู่ใจเรา
ขยันหมั่นเพียรในข้อปฏิบัติด้านศาสนาส่วนตัว
ประสบการณ์มรรตัยของเราเรียกร้องให้เราดําเนินชีวิตด้วยศรัทธา บางครั้งเราขุ่นเคืองได้ สมาชิกครอบครัวและคนที่เราคบหาอาจทําให้เราผิดหวัง บางครั้งเราอาจรู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า อ่อนแรง และถูกล่อลวงจากทุกด้าน สภาพในโลกนี้อาจทําให้เราสงสัยว่า “มารหัวเราะ, และเหล่าเทพของเขาชื่นชมยินดี” เหนือความเศร้าหมองของเราจริงหรือไม่ (3 นีไฟ 9:2) โดยได้รับสถานการณ์และการทดลองเหล่านี้ โดยเฉพาะในวันเวลาสุดท้ายนี้ ความกระตือรือร้นของเราในการดําเนินชีวิตตามพระกิตติคุณจะลดลงได้ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียร
แต่เราสามารถทําตามข้อปฏิบัติด้านศาสนาขั้นพื้นฐานได้เพื่อป้องกันตนเอง แม้เมื่อชีวิตยากลําบาก ข้อปฏิบัติด้านศาสนาส่วนตัวเหล่านี้จําเป็นต่อการเสริมสร้างศรัทธาของเรา การรักษาความสามารถของเราในการต้านทานการล่อลวง และการระลึกถึงประสบการณ์ทางวิญญาณของเรา ช่วยให้เราเติบโตทางวิญญาณและเอาชนะกลยุทธ์ของซาตาน
ประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายสองท่านเกี่ยวกับพรของข้อปฏิบัติด้านศาสนาส่วนตัวสองข้อนี้น่าสังเกต:
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) เป็นพยานว่า:
“สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ท่านทำได้ … คือตั้งใจศึกษาพระคัมภีร์ หมั่นค้นคว้าพระคัมภีร์ ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ เรียนรู้หลักคำสอน เชี่ยวชาญหลักธรรมที่พบในนั้น มีความพยายามอีกสองสามอย่างที่จะทําให้ได้ผลดียิ่งขึ้น … มีอีกสองสามวิธีที่จะรับการดลใจมากขึ้น …
“… เมื่อสมาชิกแต่ละคนและแต่ละครอบครัวตั้งใจศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจําและสม่ำเสมอ … ประจักษ์พยานจะเพิ่มพูน คำมั่นสัญญาจะหนักแน่นขึ้น ครอบครัวจะแข็งแกร่งขึ้น การเปิดเผยส่วนตัวจะหลั่งไหลมา”3
ในการสัมมนาผู้นําการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2019 ประธานเนลสันกล่าวว่า: “เมื่อสิ้นสุดการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ข้าพเจ้าขอให้วิสุทธิชนเข้าพระวิหารเป็นประจํา เพราะเหตุใด? เพราะการจู่โจมของปฏิปักษ์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรงและหลากหลายมากขึ้นด้วย ความจำเป็นที่เราต้องเข้าพระวิหารเป็นประจำนั้นสำคัญกว่าที่เคยเป็นมา เวลานั้นข้าพเจ้าให้สัญญา และย้ำสัญญานั้นอีกครั้งในเวลานี้ ว่าคนที่หาเวลานัดกับพระเจ้าเป็นประจํา—เพื่ออยู่ในพระนิเวศน์บริสุทธิ์ของพระองค์—แล้วรักษานัดดังกล่าว จะได้รับปาฏิหาริย์”4
พรของใจที่เปลี่ยน
แอลมากระตุ้นผู้คนแห่งเซราเฮ็มลาให้นึกถึงการเป็นเชลยของคนที่มาก่อนพวกเขา ท่านกระตุ้นให้พวกเขาระลึกถึง “พระเมตตาและความอดกลั้น” ของพระเจ้าต่อบรรพบุรุษของพวกเขาและระลึกว่าพระองค์ “ทรงปลดปล่อยจิตวิญญาณของพวกเขาให้พ้นจากนรก” (แอลมา 5:6) ใจบรรพบุรุษของพวกเขาเปลี่ยนได้ด้วยพระคุณความดี พระเมตตา และพระคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู แอลมา 5:7; ดู 2 นีไฟ 2:8 ด้วย) นั่นคือพรที่เราจะได้รับเมื่อเราระลึกถึงพระเจ้าและพระคุณความดีที่ทรงมีต่อเรา
เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยานในวัยเด็กครั้งนั้น ความรู้สึกที่ข้าพเจ้ามีและเมล็ดแห่งประจักษ์พยานที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงปลูกไว้ในใจช่วยให้ข้าพเจ้าต้องการเป็นคนดีขึ้นในเวลานี้ เมื่อเราทําตามคําแนะนําของแอลมาโดยระลึกถึงประสบการณ์ทางวิญญาณของเราเอง ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติด้านศาสนาของเราอย่างซื่อสัตย์ และไตร่ตรองอย่างนอบน้อมถ่อมตนถึงทุกสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําเพื่อเรา เราจะเสริมสร้างความสามารถของเราในการให้เกียรติพันธสัญญาของเราและเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น