“การเขียนคำอธิบายประกอบพระคัมภีร์: การทำเครื่องหมายและการเพิ่มโน้ต” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)
“การเขียนคำอธิบายประกอบพระคัมภีร์” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี
บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนทำเครื่องหมายและเพิ่มโน้ตในพระคัมภีร์ในวิธีที่ทำให้การศึกษามีความหมายมากขึ้นและทำให้พวกเขาเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น
การเตรียมของนักเรียน: เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพระคัมภีร์ประจำวัน เชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายในส่วนที่มีความหมายต่อพวกเขา โดยเฉพาะคำหรือวลีที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจหรือรู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ พวกเขาอาจเตรียมแบ่งปันข้อความที่พวกเขาทำเครื่องหมาย พร้อมเหตุผล
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายมากขึ้น
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันแนวคิดสองสามข้อเกี่ยวกับกิจกรรมที่อาจทำได้ง่ายๆ แต่มีความหมายมากขึ้น ตัวอย่างอาจรวมถึงการทักทายและพูดคุยกับเพื่อนร่วมชั้น ส่งข้อความขอบคุณ และศึกษาพระคัมภีร์
พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เราไม่เพียงอ่านพระคัมภีร์ แต่ต้อง “ค้นคว้า” “ศึกษา” และ “ดื่มด่ำ” พระวจนะของพระองค์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:37 ; 11:22 ; 2 นีไฟ 32:3 ) เราจะรู้จักพระองค์และรู้สึกถึงความรักของพระองค์ผ่านพระคัมภีร์ (ดู ยอห์น 5:39 ; เจคอบ 3:2 )
เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาสักครู่เพื่อประเมินการศึกษาพระคัมภีร์ รวมถึงความรู้สึกว่าจะช่วยให้พวกเขาเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้หรือไม่และด้วยวิธีใด
มีสิ่งใดบ้างที่ท่านได้ทำ (หรืออาจทำได้) เพื่อทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายต่อท่านมากขึ้น?
ตั้งใจฟังคำตอบของนักเรียน แล้วเขียนลงบนกระดาน ท่านอาจอธิบายรายละเอียดต่อไปนี้เป็นคำพูดของท่านเอง:
นิยาม: การทำเครื่องหมายพระคัมภีร์
วิธีหนึ่งที่จะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายคือ ทำเครื่องหมายและเพิ่มโน้ตลงในพระคัมภีร์ของท่าน ขณะศึกษาบทเรียนนี้ ให้มองหาวิธีที่ท่านอาจทำเครื่องหมายพระคัมภีร์เพื่อช่วยให้การศึกษาพระคัมภีร์นำท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น
ตัวอย่าง: การทำเครื่องหมายพระคัมภีร์
ให้นักเรียนดูตัวอย่างสักสองสามอย่างว่าผู้คนอาจทำเครื่องหมายพระคัมภีร์อย่างไร เช่น วีดิทัศน์หรือภาพต่อไปนี้ นักเรียนอาจแบ่งปันวิธีทำเครื่องหมายในพระคัมภีร์ของพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุเหตุผลที่อาจทำเครื่องหมายในส่วนที่เห็น
“A Marking System That Works for You ” (1:56) ในวีดิทัศน์นี้ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ดูว่าท่านทำเครื่องหมายพระคัมภีร์อย่างไร
1:58
“Marking Scriptures ” (1:45) ในวีดิทัศน์นี้ ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งฝ่ายประธานสูงสุดให้ดูว่าท่านทำเครื่องหมายพระคัมภีร์อย่างไร
2:3
ฝึกปฏิบัติ: ทำเครื่องหมายพระคัมภีร์
ท่านอาจเขียนหรือติดข้อความทั้งหมดของข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน หรือให้ดูข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ (หากมี) ท่านอาจแทนที่ข้อเหล่านี้ด้วยข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนข้ออื่นๆ หรือข้อพระคัมภีร์อีกข้อ หรือข้อที่ท่านเลือก
สำหรับนักเรียนที่ใช้พระคัมภีร์ดิจิทัล ท่านอาจต้องการใช้เวลาสักครู่ในการสาธิตวิธีทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำดังกล่าว ให้ดูที่หมวด “ความช่วยเหลือ” ของแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ รวมถึง: คู่มือผู้ใช้คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ (iOS) และ คู่มือผู้ใช้คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ (Android) ใต้หัวข้อ “การทำเครื่องหมายเนื้อหา”
หากต้องการฝึกทำเครื่องหมาย ให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:5–6 และทำเครื่องหมายสิ่งที่มีความหมายต่อท่าน ท่านอาจต้องการให้ความสนใจเป็นพิเศษกับสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อท่าน
หากแสดงข้อเหล่านั้นไว้บนกระดาน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนใช้ปากกาเน้นข้อความทำเครื่องหมายใหม่บนกระดาน แล้วขอให้พวกเขาแบ่งปันว่าเหตุใดจึงทำเครื่องหมายในส่วนนั้น
ท่านทำเครื่องหมายที่ถ้อยคำหรือวลีใดบ้าง? เหตุใดข้อความเหล่านั้นจึงโดดเด่นสำหรับท่าน?
ท่านรู้สึกว่าพระคัมภีร์ของท่านแตกต่างไปจากเดิมหลังจากทำเครื่องหมายแล้วหรือไม่? สิ่งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของท่านที่มีต่อพระผู้ช่วยให้รอดหรือไม่? หากใช่ เพราะเหตุใด?
อาจเป็นประโยชน์ที่จะบ่งชี้ว่าเมื่อมีวลีในพระคัมภีร์ที่โดดเด่นสำหรับพวกเขา อาจเป็นวิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงสื่อสารกับพวกเขาผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์
นิยาม: การเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มข้อพระคัมภีร์
อาจเป็นประโยชน์ที่จะศึกษาข้อพระคัมภีร์ในหัวข้อนั้นเพิ่มเติม แล้วเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มข้อพระคัมภีร์เหล่านี้
ตัวอย่าง: การเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มข้อพระคัมภีร์
มีวิธีใดบ้างที่ท่านอาจเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อท่าน?
ฟังคำตอบของนักเรียนและพิจารณาเพิ่มความเป็นไปได้ต่อไปนี้ ท่านอาจใช้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:5–6 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–11 เป็นตัวอย่างข้อพระคัมภีร์ที่ช่วยให้เรารู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด รายการต่อไปนี้มีแนวคิดที่นักเรียนอาจกล่าวถึงหรือท่านอาจเพิ่มในสิ่งที่นักเรียนแบ่งปัน
ในตอนต้นหรือช่วงท้ายของพระคัมภีร์ ให้เขียนข้ออ้างอิงบนหน้ากระดาษเปล่าหรือในสมุดบันทึกพระคัมภีร์
เขียนข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้องข้างวรรคตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์
เมื่อใช้แอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ให้ใช้ฟีเจอร์การเชื่อมโยงหรือแท็ก
หากจำเป็น ให้อธิบายว่าการเชื่อมโยงจะเชื่อมพระคัมภีร์สองข้อ ขณะที่การแท็กจะช่วยให้ท่านจัดกลุ่มพระคัมภีร์หลายข้อใต้หัวข้อเดียวกัน ท่านอาจสร้างแบบจำลองทักษะนี้ในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณหรือเชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งแสดงตัวอย่าง หากเป็นไปได้ อาจเป็นประโยชน์ที่จะเปิดให้ดูบนหน้าจอที่ใหญ่กว่าว่าท่านหรือนักเรียนทำอะไรอยู่แทนที่จะให้ดูบนโทรศัพท์ สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำดังกล่าว โปรดดูที่หมวดความช่วยเหลือของแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ท่านจะเข้าถึงส่วนนี้ได้โดยเลือกจุดสามจุดที่มุมบนขวา (หมายเหตุ: ท่านสามารถเชื่อมโยงหรือแท็กย่อหน้าคำปราศรัยในการประชุมใหญ่สามัญหรือสื่อการเรียนการสอนอื่นๆ ในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ)
ฝึกปฏิบัติ: เชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มข้อพระคัมภีร์
กิจกรรมต่อไปนี้กระตุ้นให้นักเรียนจับกลุ่มและเชื่อมโยงพระคัมภีร์ หากท่านเลือกให้นักเรียนศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่แตกต่างกันในบทเรียนก่อนหน้านี้ ท่านอาจต้องการเลือกข้อพระคัมภีร์ที่แตกต่างในเรื่องเดียวกันเพื่อแทนที่ข้อพระคัมภีร์ด้านล่าง
อ่านพระคัมภีร์ต่อไปนี้อย่างน้อยสามข้อ และอาจเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มเป็นข้อพระคัมภีร์ที่ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด: หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–11 ; 34:1–3 ; 45:3–5 ; 49:26–27 ; 68:5–6 ; 138:3 ; อิสยาห์ 49:15–16 ; ยอห์น 15:13 ; โรม 8:35–39 ; 1 ยอห์น 4:19 ; 1 นีไฟ 19:9
ให้นักเรียนทั้งชั้นหรือกลุ่มเล็กๆ แบ่งปันว่าพวกเขาจัดกลุ่มข้อพระคัมภีร์อย่างไร และเหตุใดข้อพระคัมภีร์นั้นอาจมีความหมายต่อพวกเขา หรือแบ่งปันแนวคิดว่าจะใช้การจัดกลุ่มหรือเชื่อมโยงในการศึกษาพระคัมภีร์ของตนเองอย่างไร
อีกวิธีหนึ่งในการเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นผ่านการศึกษาพระคัมภีร์คือ เพิ่มโน้ตเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายคุณค่าของการบันทึกหมายเหตุเมื่อศึกษาพระคัมภีร์ดังนี้:
การเขียนสิ่งที่เราเรียนรู้ คิด และรู้สึกขณะศึกษาพระคัมภีร์เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการไตร่ตรองและเป็นการเชื้อเชิญอันทรงพลังไปยังพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง (“Because We Have Them before Our Eyes ,” New Era , April 2006, 6–7)
แสดงตัวอย่างหรือช่วยให้นักเรียนจำจากภาพและวีดิทัศน์ที่ช่วยเพิ่มโน้ตจากบทเรียนก่อนหน้านี้ โดยการเขียนไว้ตรงริมหน้าพระคัมภีร์ บนกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่สอดไว้ในพระคัมภีร์ ในสมุดบันทึกพระคัมภีร์ หรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยใช้แอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ
สรุปบทเรียนนี้โดยเขียนความคิดและความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์ที่ท่านศึกษาในวันนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ
ท่านอาจสาธิตวิธีเพิ่มโน้ตในพระคัมภีร์ดิจิทัลโดยทำเครื่องหมายวลีที่ต้องการ เลือก โน้ต และพิมพ์ข้อความ
หลังจากให้เวลานักเรียนฝึกเพิ่มโน้ตพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนหากไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ท่านอาจถามด้วยว่านักเรียนอาจทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ของตนเองในอนาคตอย่างไร พร้อมเหตุผล
ท่านอาจเริ่มชั้นเรียนด้วยการเชื้อเชิญให้นักเรียนประเมินตนเองเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจให้ดูหรืออ่านข้อความต่อไปนี้ หรืออาจให้นักเรียนหลับตาและให้พวกเขาจัดอันดับตนเองโดยการชูนิ้วตัวเลขที่เหมาะสม
จากระดับคะแนน 1–5 (1=ไม่เคย และ 5=เสมอ) ให้ไตร่ตรองว่าถ้อยคำต่อไปนี้เป็นจริงสำหรับท่านมากน้อยเพียงใด:
การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายต่อฉัน
การศึกษาพระคัมภีร์ช่วยให้ฉันเข้าใจและรู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์
ฉันมีใจจดจ่อเมื่อศึกษาพระคัมภีร์
ฉันจดจำและค้นหาพระคัมภีร์ที่สำคัญต่อฉัน
ท่านอาจแบ่งปันวิธีที่สมาชิกชั้นเรียนจะประสบความสำเร็จในการศึกษาพระคัมภีร์และวิธีที่อาจต้องปรับปรุง โดยไม่ต้องให้นักเรียนแต่ละคนบอกตัวเลข ทำให้นักเรียนมั่นใจว่าพวกเขาเรียนรู้ทักษะที่จะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายมากขึ้นและช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์
ต่อไปนี้เป็นวิธีเพิ่มเติมในการทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ที่ท่านแบ่งปันกับนักเรียนได้:
ใช้สี: ใช้สีต่างๆ ทำเครื่องหมายหัวข้อหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ใช้สีหนึ่งกับพระอุปนิสัยของพระเจ้า อีกสีใช้ทำเครื่องหมายสัญญาที่พระองค์ประทาน และวิธีที่เราจะใช้ศรัทธาในพระองค์โดยใช้อีกสีหนึ่ง
ทำเครื่องหมายรายการพระคัมภีร์: บางครั้งพระคัมภีร์อาจมีรายการที่เป็นประโยชน์ต่อการทำเครื่องหมาย ตัวอย่างเช่น คุณสมบัติของสตรีที่ทรงเลือกใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 ยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15–18 หรือของประทานแห่งพระวิญญาณใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46
วาดภาพ: หากศึกษาด้วยพระคัมภีร์แบบเล่ม ให้วาดภาพง่ายๆ เพื่อแสดงข้อพระคัมภีร์หรือสัญลักษณ์ที่ใช้ในข้อดังกล่าว เช่น ก้อนหิน ฮีลามัน 5:12