เซมินารี
บทเรียน 173: เข้าใจบริบทของพระคัมภีร์


“เข้าใจบริบทของพระคัมภีร์” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“เข้าใจบริบทของพระคัมภีร์” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทเรียน 173: ทักษะการศึกษาพระคัมภีร์

เข้าใจบริบทของพระคัมภีร์

เยาวชนชายกำลังศึกษาพระคัมภีร์

การเข้าใจบริบทของพระคัมภีร์ช่วยให้เรารับรู้เจตนาของผู้เขียนที่ได้รับการดลใจ นี่จะทำให้เราเข้าใจถ้อยคำของพวกเขาลึกซึ้งขึ้นและช่วยให้เราได้ยินพระวจนะของพระเจ้าในชีวิตเรา จุดประสงค์ของบทเรียนนี้คือเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าบริบทของพระคัมภีร์จะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ทั้งภาพ

เริ่มชั้นเรียนโดยให้ดูภาพต่อไปนี้ทีละภาพและถามคำถามที่ตามมา หรืออาจให้นักเรียนเขียนคำบรรยายภาพขณะท่านให้ดูแต่ละภาพก็ได้ จากนั้นพวกเขาจะสนทนาว่าคำบรรยายภาพเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากเห็นทั้งภาพ

แทนที่จะใช้ภาพด้านล่าง นักเรียนจะเลือกภาพถ่ายจากคลังภาพในโทรศัพท์ของตน ซูมเข้าไปดูแค่ส่วนหนึ่งของภาพ และให้คู่ทายว่าเกิดอะไรขึ้นในภาพ จากนั้นให้ซูมออกและถามว่าความเข้าใจของนักเรียนคนนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร

เด็กชายผลักเด็กชายอีกคน
  • เกิดอะไรขึ้นในภาพ?

เด็กชายผลักเด็กชายอีกคนออกจากเส้นทางที่รถกำลังวิ่งมา
  • ความเข้าใจของเราเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเราเห็นทั้งภาพ?

    ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนยกตัวอย่างจากชีวิตพวกเขาเมื่อการเห็นภาพมากขึ้นทำให้เข้าใจต่างจากเดิม ตัวอย่างอาจรวมถึงการส่งข้อความหรือโพสต์บางสิ่งบางอย่างก่อนรู้รายละเอียดทั้งหมด การตัดสินใครบางคนโดยไม่ทราบเรื่องราวของพวกเขา หรือการดึงข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องจากภาพที่ตัดบางส่วนออก

  • สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระคัมภีร์ของเราอย่างไร?

ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ ให้ประเมินความเข้าใจบริบทของพวกเขาเมื่อเชื่อมโยงกับการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจใช้หมวดต่อไปนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามการประเมินความเข้าใจของท่าน

นิยาม: เข้าใจบริบท

ท่านอาจเขียนคำว่า บริบท ไว้บนกระดาน

เราอาจพลาดรายละเอียดสำคัญและมีความเข้าใจไม่สมบูรณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าไม่มีบริบท

  • ท่านจะนิยามคำ บริบท ว่าอย่างไร?

ท่านอาจเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน บอกนิยามของบริบทต่อไปนี้เมื่อต้องการ:

บริบทคือภูมิหลัง สภาพและสภาวะแวดล้อมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น

อ่านข้อความต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เกี่ยวกับคำกล่าวของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844):

เดวิด เอ. เบดนาร์

“ข้าพเจ้ามีกุญแจดอกหนึ่งซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้าเข้าใจพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าจะถามว่า อะไรคือคำถามซึ่งดึงคำตอบออกมา หรือเป็นเหตุให้พระเยซูกล่าวคำอุปมา?” (History of the Church, 5:261) ด้วยเหตุนี้การพยายามเข้าใจคำถามที่มาก่อนการเปิดเผย อุปมา หรือเหตุการณ์จะช่วยให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (เดวิด เอ. เบดนาร์ ใน “เพราะเรามีพระคัมภีร์อยู่ต่อหน้าเรา,” เลียโฮนา, เม.ย. 2006, 16)

  • การเรียนรู้บริบทของพระคัมภีร์จะช่วยให้ท่านเข้าใจบทเรียนที่สอนได้อย่างไร?

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาพยายามรู้ภูมิหลังและสภาวะแวดล้อมบ่อยเพียงใด ท่านอาจให้เวลานักเรียนหนึ่งหรือสองนาทีไตร่ตรองว่าการเรียนรู้บริบทของพระคัมภีร์เคยเป็นพร หรืออาจเป็นพรแก่พวกเขาในการศึกษาพระคัมภีร์อย่างไร ท่านจะเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดหรือประสบการณ์ส่วนตัว

ตัวอย่าง: หลักคำสอนและพันธสัญญา 121

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเข้าใจบริบทจะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร ท่านสามารถเลือกข้อต่างๆ เพื่อใช้เป็นตัวอย่างได้หากต้องการ

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–8 โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนโจเซฟ สมิธ

  • ในข้อเหล่านี้อะไรมีความหมายต่อท่าน?

    ท่านอาจแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อสนทนาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนแหล่งข้อมูลที่ช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับบริบท

  • มีเครื่องมือหรือแหล่งข้อมูลอะไรบ้างที่จะช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับบริบทของพระคัมภีร์ข้อนี้และข้ออื่น?

นักเรียนอาจระบุแหล่งข้อมูลบางอย่างต่อไปนี้: หัวเรื่องในภาคหรือหัวบท ข้อพระคัมภีร์แวดล้อม ข้อคิดเห็นพระคัมภีร์ คู่มือ คำปราศรัยจากผู้นำศาสนจักร และ เรื่องราวพระคัมภีร์สำหรับเด็ก

ท่านอาจต้องการกล่าวว่าแหล่งข้อมูลเฉพาะสำหรับหลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนาจักร ได้แก่ วิสุทธิชน เล่ม 1 และ Revelations in Context หากนักเรียนต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม ท่านจะสาธิตให้ดูว่านักเรียนจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลเหล่านี้บนแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณได้อย่างไร ยืนยันกับนักเรียนว่าแม้การศึกษาแหล่งต่างๆ จะเป็นประโยชน์ แต่นิสัยของการอ่านหัวเรื่องในภาคก่อนศึกษาจะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความหมายมากขึ้นได้ นั่นจะเป็นจุดเน้นของบทเรียนนี้

อ่านหัวเรื่องของภาค 121 โดยมองหาข้อมูลที่จะช่วยให้เราเข้าใจข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ได้ดีขึ้น ท่านอาจต้องการอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–6 เพื่อดูข้อคิดเพิ่มเติมด้วย

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–8 ซ้ำโดยนึกถึงความเข้าใจในบริบทของข้อเหล่านั้น

  • บริบทนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจข่าวสารที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟในข้อเหล่านี้ลึกซึ้งขึ้นอย่างไร?

  • ความเข้าใจใหม่นี้ทำให้ข้อเหล่านี้มีความหมายต่อท่านมากขึ้นอย่างไร?

ขณะที่นักเรียนตอบ ให้มองหาวิธีเน้นหรือถามว่าบริบทนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเจ้า ตัวอย่างเช่น พระเจ้าประทานสันติสุข มุมมอง และคำสัญญาเรื่องพรในอนาคตแก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในช่วงเวลายากลำบากด้วยความรัก การเข้าใจบริบทนี้ช่วยให้เรารู้ว่าพระเจ้าจะประทานสันติสุขและการนำทางในชีวิตเราได้เช่นกัน

ฝึกเข้าใจบริบทของพระคัมภีร์

เพื่อช่วยนักเรียนฝึกเข้าใจบริบท ท่านอาจให้ดูพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้บนกระดาน ท่านจะให้นักเรียนจับคู่กันอ่านพระคัมภีร์อ้างอิงอย่างน้อยหนึ่งข้อและเขียนสิ่งที่เรียนรู้จากข้อนั้นไว้ตรงกลางกระดาษ จากนั้นพวกเขาจะอ่านหัวเรื่องในภาคพร้อมข้อพระคัมภีร์แวดล้อม พวกเขาจะวาดหรือเขียนบางสิ่งที่ทำให้เข้าใจบริบท (ภาพกว้างขึ้น) ไว้รอบๆ สิ่งที่เขียนไว้แล้ว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:6–9

หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3

หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:1–2

หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:2, 7

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:3–5

หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:15–17

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:22–23

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้ถ้าเป็นประโยชน์:

  • บริบทของภาคนี้ทำให้ท่านเข้าใจสิ่งที่ท่านเรียนรู้ในข้อพระคัมภีร์ลึกซึ้งขึ้นอย่างไร?

  • บริบทช่วยให้ท่านเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ความรัก พระเมตตา หรือเดชานุภาพของพระองค์ในชีวิตเราอย่างไร?

เมื่อเวลาเอื้ออำนวย นักเรียนจะฝึกทักษะนี้โดยใช้ภาคหรือบทปัจจุบันในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวหรือกับครอบครัว

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าการศึกษาบริบทจะส่งผลดีในการศึกษาส่วนตัวอย่างไร และพวกเขาจะปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์โดยนำทักษะนี้มาใช้ได้อย่างไร

ขณะที่นักเรียนฝึกทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ในสัปดาห์ต่อๆ ไป ท่านอาจหาวิธีให้พวกเขาแบ่งปันข้อคิดที่เรียนรู้กับชั้นเรียนอันเป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อคิดทางวิญญาณในชั้นเรียนต่อๆ ไป