บทที่ 10
จงตามเรามา
คำนำ
พระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6) “ทาง [ของพระเยซู] คือเส้นทางที่นำไปสู่ความสุขในชีวิตนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 3) บทเรียนนี้เน้นพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเยซูคริสต์ให้ทุกคนติดตามพระองค์และเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ อีกทั้งสำรวจว่าการเดินตามเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์หมายความว่าอย่างไร
ความรู้พื้นฐานที่ต้องอ่าน
-
ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “วิถีทางของสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 91–94.
-
โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน, “จงตามเรามา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 17–21.
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ยอห์น 1:35–47; 2 นีไฟ 26:33; แอลมา 5:33–34
พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญทุกคนให้เป็นสานุศิษย์ของพระองค์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันพอสังเขปตอนที่เขากำลังเดินทางไปที่หนึ่งและเลี้ยวผิดหรือไปผิดทาง จากนั้นให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 14:6 และบอกหลักคำสอนที่พระเยซูทรงสอนในข้อนี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรเข้าใจว่า หนทางเดียวที่เราจะกลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ได้คือติดตามพระเยซูคริสต์)
บอกนักเรียนว่าหลังจากพระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมาและจากนั้นทรงถูกล่อลวงในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเชื้อเชิญคนอื่นๆ ให้ติดตามพระองค์ คนที่ติดตามพระผู้ช่วยให้รอดเวลานั้นและเวลานี้เรียกว่า สานุศิษย์ เชื้อเชิญนักเรียนให้ระบุชื่อสานุศิษย์รุ่นแรกบางคนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 1:35–47 และสิ่งที่กระตุ้นพวกเขาให้ติดตามพระองค์
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) แห่งฝ่ายประธานสูงสุด และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“คำว่า สานุศิษย์ กับคำว่า ความมีวินัย มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำเดียวกันคือ—discipulus ซึ่งแปลว่า นักเรียน เน้นความหมายว่าฝึกหัดหรือทำแบบฝึกหัด การมีวินัยในตนเองและการควบคุมตนเองเป็นอุปนิสัยที่คงเส้นคงวาไม่เปลี่ยนแปลงของผู้ติดตามพระเยซู …
“การเป็นสานุศิษย์คืออะไร ในเบื้องต้นสิ่งนี้คือการเชื่อฟังพระผู้ช่วยให้รอด” (“การเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 24)
-
นิยามนี้ของการเป็นสานุศิษย์บอกว่าชีวิตของสานุศิษย์สมัยเริ่มแรกของพระเยซูคริสต์น่าจะเป็นอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านและเปรียบเทียบ 2 นีไฟ 26:33 และ แอลมา 5:33–34 เพื่อดูว่าพระเยซูทรงเชื้อเชิญให้ใครมาหาพระองค์อีก จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้มาหาพระองค์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้มาหาพระองค์และเป็นสานุศิษย์ของพระองค์)
-
ตามคำกล่าวของแอลมา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาอะไรกับคนที่ยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญให้มาหาพระองค์
-
สัญญาเหล่านี้มีหมายความต่อท่านอย่างไร
มัทธิว 4:18–22; ลูกา 5:11; 9:57–62; 14:25–33
การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์
แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญพวกเขาให้ศึกษา มัทธิว 4:18-22 และ ลูกา 5:11 ระบุการเสียสละที่สานุศิษย์รุ่นแรกสุดของพระเยซูคริสต์ทำเพื่อยอมรับการเรียกให้ติดตามพระองค์ สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ท่านจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับการตอบรับพระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้สานุศิษย์สมัยแรกเหล่านี้ติดตามพระองค์ (สนทนาความหมายของคำและวลีต่างๆ เช่น “ละทิ้งแหตามพระองค์ไปทันที” “ทันที” และละทิ้ง”)
-
ข้อเหล่านี้เพิ่มความจริงสำคัญๆ อะไรบ้างให้แก่ความหมายของการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เรียกร้องการเชื่อฟังและการเสียสละ)
จัดเตรียมสำเนาข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน (1917–2008) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักเรียน และขอให้คนหนึ่งอ่านออกเสียง
“แหโดยทั่วไปหมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้จับบางสิ่ง ในความหมาย … สำคัญกว่า เราอาจบอกได้ว่าแหเป็นสิ่งที่ล่อหลอกหรือกีดกันเราไม่ให้ทำตามพระดำรัสเรียกของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์
“แหในบริบทนี้คืองานอาชีพ งานอดิเรก ความพอใจ และเหนือสิ่งอื่นใด การล่อลวงและบาปของเรา กล่าวโดยย่อ แหคือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดึงเราออกไปจากการติดต่อกับพระบิดาบนสวรรค์หรือจากศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ …
“สุดวิสัยที่จะลงรายชื่อแหต่างๆ มากมายที่คอยดักและกันเราไม่ให้ติดตามพระผู้ช่วยให้รอด แต่หากเราปรารถนาด้วยใจจริงที่จะติดตามพระองค์ เราต้องละแหรุงรังของโลกทันทีและติดตามพระองค์ไป
“… เป็นเรื่องง่ายมากที่ชีวิตเราจะเต็มไปด้วยธุรกิจ นัดหมาย และการประชุม เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าไปติดแหซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาลจนบางครั้งแม้แต่คำแนะนำให้สลัดหลุดจากแหก็ทำให้เราหวาดหวั่นและกลัวอันตรายที่จะมาถึงเราได้
“บางครั้งเรารู้สึกว่ายิ่งเรามีกิจธุระมากเท่าใด เราก็ยิ่งสำคัญมากเท่านั้น—ราวกับว่าธุระยุ่งของเราเป็นตัวกำหนดค่าของเรา พี่น้องทั้งหลาย เราสามารถใช้ชีวิตวุ่นวายจนหัวหมุนกับความลนลานเร่งรีบ คอยตรวจเช็ครายการสารพัดที่สุดท้ายแล้วไม่สำคัญเลย
“สิ่งที่เราทำไปมากมายอาจไม่สำคัญเลย ที่เราทุ่มเทพลังความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณให้สิ่งเหล่านั้นที่มีความสำคัญนิรันดร์—นั่นแหละสำคัญ” (ดู “จงตามเรามา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 18–19)
-
ถ้าปลา แห และเรือที่ชาวประมงทิ้งไว้เบื้องหลังหมายถึงความห่วงกังวลทางโลกของพวกเขา พระผู้ช่วยให้รอดอาจจะทรงเรียกร้องให้ท่านทิ้งสิ่งใดเพื่อติดตามพระองค์
-
เหตุใดบางครั้งจึงทิ้งความห่วงกังวลทางโลกไว้เบื้องหลังได้ยาก
-
แต่ละบุคคลจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาติดแหรุงรังที่เอ็ลเดอร์เวิร์ธลินพูดถึง
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันตอนที่พวกเขาตอบรับพระดำรัสเรียกของพระผู้ช่วยให้รอดให้ติดตามพระองค์ในชีวิตพวกเขา (อาจจะโดยการทิ้งวิถีเดิมๆ ไว้เบื้องหลังหรือโดยยอมรับการเรียกในศาสนจักร) จากนั้นให้ถามว่า
-
การตอบรับพระดำรัสเรียกนี้เป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร
ให้ดูพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้ หรือเขียนไว้บนกระดาน
แบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่ม มอบหมายให้แต่ละกลุ่มศึกษาข้อพระคัมภีร์แต่ละชุดและคำถามที่ให้มา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าข้อที่พวกเขาอ่านตอบคำถามของพวกเขาอย่างไร หลังจากสนทนาทั้งสามข้อแล้ว ให้ถามว่า
-
เรื่องเปรียบเทียบของพระผู้ช่วยให้รอดพูดถึงข้อกำหนดใดของการเป็นสานุศิษย์ (ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจความจริงต่อไปนี้: การเป็นสานุศิษย์เรียกร้องให้เราเต็มใจละทิ้งทุกอย่างและติดตามพระเยซูคริสต์)
อธิบายว่าถึงแม้การเป็นสานุศิษย์บอกเป็นนัยว่าเราภักดีอย่างสุดซึ้งและมุ่งมั่นติดตามพระผู้ช่วยให้รอดอย่างแน่วแน่ แต่พระองค์มิได้ทรงเรียกร้องให้เราวิ่งเร็วเกินกำลัง (ดู โมไซยาห์ 4:27)
แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดให้นักเรียนแต่ละคน และเชิญคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“โชคดีที่ก้าวแรกบนเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์เริ่มจากจุดที่เรายืนอยู่! เราไม่ต้องมีคุณสมบัติอะไรก่อนจะเดินก้าวแรก ไม่สำคัญว่าเราจะร่ำรวยหรือยากจน ไม่มีข้อกำหนดว่าต้องมีการศึกษา มีวาทศิลป์ หรือเฉลียวฉลาด เราไม่ต้องดีพร้อมหรือพูดเก่งหรือแม้แต่มีมารยาทงาม
“ท่านและข้าพเจ้าเดินในเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์วันนี้ได้เลย ขอให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน ขอให้เราสวดอ้อนวอนพระบิดาในสวรรค์ด้วยสุดใจของเรา และแสดงความปรารถนาว่าเราอยากใกล้ชิดพระองค์และเรียนรู้จากพระองค์
“มีศรัทธา แสวงหา และท่านจะพบ เคาะ และประตูจะเปิด [ดู มัทธิว 7:7) จงรับใช้พระเจ้าโดยรับใช้ผู้อื่น มีส่วนร่วมแข็งขันในวอร์ดหรือสาขา ทำให้ครอบครัวเข้มแข็งโดยตั้งใจดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ จงมีใจเดียวและความคิดเดียวในชีวิตแต่งงานและในครอบครัวของท่าน
“ถึงเวลาแล้วที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตของท่านให้สามารถมีใบรับรองพระวิหารและนำมาใช้ ถึงเวลาแล้วที่จะจัดสังสรค์ในครอบครัวอย่างมีความหมาย อ่านพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า และสนทนากับพระบิดาบนสวรรค์ในการสวดอ้อนวอนอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่จะเติมใจเราให้เปี่ยมไปด้วยความกตัญญูต่อการฟื้นฟูศาสนจักรของพระองค์ ต่อศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต พระคัมภีร์มอรมอน และอำนาจฐานะปุโรหิตที่เป็นพรแก่ชีวิตเรา ถึงเวลาแล้วที่จะน้อมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เป็นสานุศิษย์ของพระองค์ และเดินในวิถีทางของพระองค์” (ดู “วิถีทางของสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 94)
-
ประธานอุคท์ดอร์ฟกล่าวว่าเส้นทางของสานุศิษย์เริ่มตรงไหน
-
ตามคำกล่าวของประธานอุคท์ดอร์ฟ เมื่อใดคือเวลาที่จะเริ่มเดินไปบนเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์
เขียนบนกระดานดังนี้
เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าพวกเขาจะเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์ด้วยวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะทำขณะเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร กระตุ้นให้พวกเขากระทำสิ่งที่เข้ามาในความคิดทันที เพราะความคิดนั้นอาจจะเป็นการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นพยานว่าขณะพวกเขาเดินก้าวแรก พระเจ้าจะทรงช่วยให้พวกเขาเป็นสานุศิษย์ของพระองค์
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
ยอห์น 1:35–47; 2 นีไฟ 26:33; แอลมา 5:33–34; มัทธิว 4:18–22; ลูกา 5:11; 9:57–62; 14:25–33.
-
ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “วิถีทางของสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 91–94.