เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 15: พระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งศีลระลึก


บทที่ 15

พระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งศีลระลึก

คำนำ

“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” อ่านว่า “[พระเยซูคริสต์] ทรงริเริ่มจัดตั้งพิธีศีลระลึกเพื่อเตือนใจเราถึงการพลีพระชนม์ชีพ เพื่อการชดใช้อันยิ่งใหญ่ของพระองค์” ( เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก ศีลระลึกเตือนเราว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงหลั่งพระโลหิตทุกรูขุมขนและสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เราต่อพันธสัญญาของเรากับพระเจ้าเช่นกัน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 21–25

  • เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, This Do in Remembrance of Me, Ensign, Nov. 1995, 67–69

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 26:26–28; ลูกา 22:15

พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาพันธสัญญาใหม่

พระกระยาหารมื้อสุดท้าย

ให้ดูภาพที่ให้มาหรืออีกภาพหนึ่งเกี่ยวกับพระกระยาหารมื้อสุดท้าย และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพ

ถามนักเรียนว่า

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียม ให้พร และส่งผ่านศีลระลึกให้ท่านด้วยพระองค์เอง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 22:15 กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาระหว่างบทเรียนว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงปรารถนาจะใช้ปัสกากับอัครสาวกของพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:26-28 ขณะที่นักเรียนที่เหลือดูตาม นิยามคำว่า พันธสัญญา (testament) โดยอธิบายว่าคำนี้แปลมาจากคำภาษากรีกที่หมายถึง “พันธสัญญา (covenant)” (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนนิยามนี้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขา) สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ถ้าพระเยซูทรงกำลังจัดตั้งพันธสัญญาใหม่ พันธสัญญานั้นจะแทนพันธสัญญาอะไร

ข้อมูลต่อไปนี้จะให้ความรู้พื้นฐานหรือบริบทซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการสนทนาของท่าน: ในสมัยโบราณ เมื่อพระเยโฮวาห์ทรงทำพันธสัญญากับลูกหลานของอิสราเอล โมเสสสอนพระวจนะของพระเยโฮวาห์แก่พวกเขาและผู้คนทำพันธสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระวจนะเหล่านั้น จากนั้นโมเสสได้ถวายสัตวบูชา นำเลือดจากสัตว์ไปประพรมผู้คนพลางกล่าวว่า “นี่เป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาซึ่งพระยาห์เวห์ทรงทำกับพวกท่าน” (ดู อพยพ 24:3-8) พระเยซูตรัสเป็นนัยถึงคำกล่าวของโมเสสเมื่อพระองค์ทรงสอนว่าพระองค์จะทรงสถาปนาพันธสัญญาใหม่กับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าโดยการหลั่งพระโลหิต (เฉกเช่นการประพรมเลือดสัตว์เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าลูกหลานอิสราเอลเข้าสู่พันธสัญญาเดิมกับพระเยโฮวาห์) เมื่อพระเยซูทรงส่งถ้วยเหล้าองุ่นให้อัครสาวก พระองค์ทรงส่งสัญญาณว่าพันธสัญญาเดิมเกิดสัมฤทธิผลแล้วและจะทรงสถาปนาพันธสัญญาใหม่ (ดู ฮีบรู 9:12-15) กฎของโมเสส (พันธสัญญาเดิม) เป็นการพยากรณ์ครั้งใหญ่ถึงพระเมสสิยาห์ในหลายๆ ด้าน พระเยซูคริสต์ทรงเป็นสัมฤทธิผลของการพยากรณ์นั้น (ดู 2 นีไฟ 11:4; เจคอบ 4:5; แอลมา 34:13–14) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่าพระองค์ทรงบรรลุจุดประสงค์สูดสุดของกฎนั้นผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ของพระองค์

  • การถวายโลหิตทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่มุ่งเน้นความสนใจของเราไปที่อะไร (การชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการหลั่งพระโลหิตของพระองค์เพื่อการปลดบาปของเรา)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีแทนการพลีบูชาด้วยเลือดและเครื่องเผาบูชาตามกฎของโมเสส และมีสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดติดมาด้วย นั่นคือ ‘และผู้ใดที่มาหาเราด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด] เราจะให้บัพติศมาเขาด้วยไฟและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์’ (3 นีไฟ 9:20)” (“การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 23)

  • ท่านจะสรุปความจริงที่เราสนทนากันมาตั้งแต่ต้นเกี่ยวกับพระกระยาหารมื้อสุดท้ายว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นว่า พระเยซูคริสต์ทรงทำให้พันธสัญญาเดิมเกิดสัมฤทธิผล และพระองค์ทรงสถาปนาพันธสัญญาใหม่ผ่านศีลระลึก)

ลูกา 22:14-20; 3 นีไฟ 18: 7, 11

ศีลระลึกช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชิญแต่ละคู่อ่าน ลูกา 22:19–20 และ 3 นีไฟ 18:7, 11 ขอให้พวกเขาระบุอีกเหตุผลหนึ่ง (นอกจากสถาปนาพันธสัญญาใหม่) ว่าทำไมพระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดตั้งศีลระลึก สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้เหตุผลอะไรสำหรับการจัดตั้งศีลระลึก (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้: ขณะที่เรารับส่วนศีลระลึกเราควรระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องพยายามระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก

  • ถ้าเราไม่ระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรา ศีลระลึกมีความหมายอะไร

เอกสารแจก คำพูดของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์

handout iconท่านอาจจัดเตรียมสำเนาเอกสารแจกที่ให้มาสำหรับนักเรียนแต่ละคน ซึ่งในนั้นมีคำพูดบางส่วนของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านเอกสารในใจ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้สนทนาถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะให้คำแนะนำอะไรแก่คนที่ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดและการเสียสละของพระองค์ระหว่างการปฏิบัติศีลระลึกได้ (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าเมื่อเราหาโอกาสนึกถึงพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างสัปดาห์ เราจะจดจ่ออยู่กับพระองค์ได้ง่ายขึ้นระหว่างการปฏิบัติศีลระลึกในวันอาทิตย์)

  • ท่านรู้สึกถึงพรอะไรบ้างเมื่อท่านพยายามระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ขณะที่ท่านรับส่วนศีลระลึก

1 โครินธ์ 11:27–30; 3 นีไฟ 18:28–29; 20:8–9

การรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรจะต่อพันธสัญญาของเราอีกครั้ง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านและเปรียบเทียบ 1 โครินธ์ 11:27–30 กับ 3 นีไฟ 18:28–29; 20:8–9 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุข้อควรระวังเกี่ยวกับศีลระลึก จากนั้นให้ถามว่า

  • เหตุใดการรับส่วนศีลระลึกอย่างไม่มีค่าควรจึงถือว่าไม่ฉลาด

อาจเป็นประโยชน์ถ้าแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์กแห่งสาวกเจ็ดสิบ ท่านอธิบายความหมายของการรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรดังนี้

เอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์ก

“ถ้าเราปรารถนาจะปรับปรุง (ซึ่งคือการกลับใจ) และไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของฐานะปุโรหิต เมื่อนั้นในความเห็นของข้าพเจ้า เราย่อมมีค่าควร อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่ปรารถนาจะปรับปรุง ถ้าเราไม่ประสงค์จะทำตามการนำทางของพระวิญญาณ เราต้องถามว่า เรามีค่าควรรับส่วนหรือไม่ หรือเรากำลังเย้ยหยันจุดประสงค์ของศีลระลึกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการกลับใจและการปรับปรุงตนเอง” (The Beauty and Importance of the Sacrament, Ensign, May 1989, 38)

  • มีพรอะไรบ้างสำหรับคนที่รับส่วนอย่างมีค่าควร (ดู 3 นีไฟ 20:8–9) (นักเรียนพึงเข้าใจว่า ถ้าเรารับส่วนศีลระลึกร่วมกับการสวดอ้อนวอนและในวิญญาณที่กลับใจ เราจะได้รับการปลดบาป เฉกเช่นที่เราได้รับเมื่อครั้งรับบัพติศมา)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“หากไม่เตรียมการบางอย่างเพื่อรับการชำระให้สะอาดมากยิ่งขึ้นหลังจากบัพติศมา เราแต่ละคนคงสูญเสียประสบการณ์ทางวิญญาณ เราคงไม่มีความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในการพิพากษาครั้งสุดท้ายเราคงต้องถูก ‘ขับออกไปตลอดกาล’ (1 นีไฟ 10:21) เราสำนึกคุณอย่างยิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมขั้นตอนให้สมาชิกแต่ละคนที่รับบัพติศมาแล้วของศาสนจักรได้รับการชำระให้สะอาดจากดินแห่งบาปเป็นระยะๆ ศีลระลึกเป็นส่วนจำเป็นของขั้นตอนนั้น” (“ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 44)

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ เหตุใดศีลระลึกจึงเป็นศาสนพิธีพระกิตติคุณที่สำคัญเช่นนั้น

แบ่งปันคำกล่าวเพิ่มเติมของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ ดังนี้

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เราได้รับบัญชาให้กลับใจจากบาปและมาหาพระเจ้าด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด และรับส่วนศีลระลึกตามพันธสัญญาศีลระลึก เมื่อเราต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเราในวิธีนี้ พระเจ้าทรงต่อผลการชำระให้สะอาดในบัพติศมาของเราเช่นกัน ในวิธีนี้พระองค์ทรงทำให้เราสะอาดและเราสามารถมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา ความสำคัญของสิ่งนี้ประจักษ์ชัดในพระบัญญัติของพระเจ้าให้เรารับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์ (ดู คพ. 59:8-9)” (“ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 44)

ท่านอาจจะอธิบายว่าเมื่อเรารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร เรา “ต่อ พันธสัญญาทั้งหมด ที่ทำไว้กับพระเจ้า” (เดลเบิร์ต แอล. สแตพลีย์, ใน Conference Report, Oct. 1965, 14; เน้นตัวเอน; ดู แอล. ทอม เพอร์รีย์, “เมื่อเรารับศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 50 ด้วย)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน ลูกา 22:15 จากนั้นให้ถามว่า

  • ถ้ามีคนถามท่านว่าท่านคิดว่าเหตุใดพระเยซูจึงทรงปรารถนาจะใช้ปัสกากับอัครสาวกของพระองค์ ท่านจะตอบว่าอย่างไร ท่านจะแสดงประจักษ์พยานว่าอย่างไร

เป็นพยานว่าเมื่อเราระลึกถึงพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ และเมื่อเรารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร เท่ากับเราต่อพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะถวาย “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” เมื่อรับส่วนศีลระลึกได้อย่างไร ท้าทายให้พวกเขาทำศาสนพิธีศีลระลึกให้เป็นประสบการณ์ทางวิญญาณที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

ข้อความที่คัดมาจากเจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, This Do in Remembrance of Me

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ถ้าการระลึกถึงเป็นภารกิจหลักตรงหน้าเรา อะไรจะเข้ามาสู่ความทรงจำของเราเมื่อเรารับเครื่องหมายอันแจ้งชัดและมีค่าเหล่านั้น

“เราจะระลึกถึงพระชนม์ชีพก่อนมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอดและทั้งหมดที่เรารู้ว่าพระองค์ทรงทำในฐานะพระเยโฮวาห์ผู้ยิ่งใหญ่ พระผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก และทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น เราจะระลึกได้ว่าแม้แต่ในสภาใหญ่ของสวรรค์ พระองค์ทรงรักเราและทรงเข้มแข็งอย่างน่าอัศจรรย์ ว่าเราได้รับชัยชนะที่นั่นโดยเดชานุภาพของพระคริสต์และศรัทธาของเราในพระโลหิตของพระเมษโปดก (ดู วิวรณ์ 12:10–11)

“เราจะระลึกถึงความยิ่งใหญ่อันเรียบง่ายของการประสูติในมรรตัยของพระองค์ …

“เราจะระลึกถึงปาฏิหาริย์ของพระคริสต์และคำสอนของพระองค์ การเยียวยารักษาและความช่วยเหลือของพระองค์ เราจะระลึกว่าพระองค์ประทานสายตาให้คนตาบอด ประทานการได้ยินให้คนหูหนวก และการเคลื่อนไหวให้คนง่อย คนแขนขาพิการ และคนแขนขาอ่อนแรง ต่อจากนั้น ในวันเหล่านั้นที่เรารู้สึกว่าความก้าวหน้าของเราหยุดชะงัก หรือปีติและการมองเห็นของเราเลือนราง เราสามารถมุ่งหน้าด้วยความมั่นคงในพระคริสต์ได้ …

“เราจะระลึกได้ว่าแม้ด้วยพันธกิจเคร่งเครียดจริงจังที่มอบให้พระผู้ช่วยให้รอด แต่พระองค์ทรงพบความเบิกบานในการดำเนินพระชนม์ชีพ พระองค์มีความสุขกับผู้คนและรับสั่งให้เหล่าสานุศิษย์ของพระองค์รื่นเริง พระองค์ตรัสว่าเราควรตื่นเต้นกับพระกิตติคุณเท่าๆ กับคนที่พบสมบัติมีค่ามาก ไข่มุกอันล้ำค่า ตรงบันไดหน้าประตูบ้าน …

“เราจะระลึกว่าพระคริสต์ทรงเรียกสานุศิษย์ของพระองค์ว่าเพื่อน …

“เราจะ—และควร—ระลึกถึงสิ่งมหัศจรรย์ที่เข้ามาในชีวิตเราและ ‘สิ่งที่ดีทั้งหมดมาจากพระคริสต์’ (โมโรไน 7:24) …

“สักวันหนึ่งเราจะมีเหตุให้ระลึกถึงการปฏิบัติอย่างไร้เมตตาที่พระองค์ทรงได้รับ การปฏิเสธที่พระองค์ทรงประสบ และความอยุติธรรม—โอ้ ความอยุติธรรม—ที่พระองค์ทรงอดทน เมื่อเราประสบเช่นนั้นบ้างในชีวิต เราจะระลึกได้ว่าพระคริสต์ทรงเผชิญความยากลำบากรอบด้านแต่ไม่ถูกบดขยี้ ทรงสับสนแต่ไม่ทรงหมดหวัง ทรงถูกข่มเหงแต่ไม่ถูกทอดทิ้ง ทรงถูกตีให้ล้มลงแต่ไม่ถูกทำลาย (ดู 2 โครินธ์ 4:8–9)

“เมื่อช่วงเวลายากๆ เหล่านั้นมาถึงเรา เราจะระลึกได้ว่าพระเยซูเสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงก่อนจะเสด็จขึ้นไปอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น และพระองค์ทรงทนรับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และการล่อลวงทุกประเภทเพื่อพระองค์จะทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาและทรงทราบว่าจะช่วยผู้คนของพระองค์ในความทุพพลภาพของพวกเขาอย่างไร (ดู คพ. 88:6; แอลมา 7:11–12)

“ถึงคนที่ซวนเซหรือสะดุด พระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพื่อทำให้เราเข้มแข็งและมั่นคง สุดท้าย พระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพื่อช่วยให้เรารอด และพระองค์สละพระชนม์ชีพเพื่อสิ่งทั้งปวงนี้ …

“… เราจะระลึกถึงสิ่งทั้งปวงนี้เมื่อปุโรหิตหนุ่มที่กำลังคุกเข่าเชื้อเชิญให้เราระลึกถึงพระคริสต์ตลอดเวลา” (Ensign, Nov. 1995, 67–69)