เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 12: ปาฏิหาริย์บนท้องถนนในปาเลสไตน์


บทที่ 12

ปาฏิหาริย์บนท้องถนนในปาเลสไตน์

คำนำ

“[พระเยซูคริสต์] ทรงดำเนินไปตามท้องถนนในปาเลสไตน์ ทรงรักษาคนป่วย ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็นได้ และทรงชุบชีวิตคนตาย” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” หรือ เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) ปาฏิหาริย์เป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติศาสนกิจด้วยการุณยธรรมขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นมรรตัย แต่แสดงให้เห็นเดชานุภาพและสิทธิอำนาจของพระองค์เช่นกัน โดยส่งผลให้เชื่อถือพระดำรัสของพระองค์ที่ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ โดยใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราอาจเห็นหรือประสบความรัก ความสงสาร และเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในรูปแบบของปาฏิหาริย์เช่นกัน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, Miracles, Ensign, June 2001, 6–17.

  • ซิดนีย์ เอส. เรย์โนลด์ส, “พระผู้เป็นเจ้าของสิ่งอัศจรรย์,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 15–18.

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 1:39–42; 2:1–12; 5:1–8, 19, 22–43; 8:1–9; ลูกา 7:11–15; 3 นีไฟ 17:5–9

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน: ทำให้ทะเลสงบ ทำให้คนตายคืนชีพ และ ขับวิญญาณร้าย ถามนักเรียนว่าปาฏิหาริย์สามอย่างนี้ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำพวกเขาคิดว่าปาฏิหาริย์ใดยิ่งใหญ่ที่สุด หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เพิ่มบนกระดานว่า สร้างโลก และถามว่าปาฏิหาริย์ใดยิ่งใหญ่ที่สุด ทำซ้ำกับคำว่า ทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใส และสุดท้าย ทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะให้นิยามคำว่า ปาฏิหาริย์ อย่างไร หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้ดูนิยามต่อไปนี้และเชิญคนหนึ่งอ่านออกเสียง

“[ปาฏิหาริย์] คือเหตุการณ์มหัศจรรย์ซึ่งเกิดจากเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ปาฏิหาริย์เป็นปัจจัยสำคัญในงานของพระเยซูคริสต์ ปาฏิหาริย์รวมถึงการรักษาเยียวยา การทำให้คนตายฟื้นคืนชีพ และการฟื้นคืนชีวิต ปาฏิหาริย์เป็นส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ศรัทธาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ปาฏิหาริย์เป็นที่ประจักษ์” (คู่มือพระคัมภีร์, “ปาฏิหาริย์”; scriptures.lds.org)

  • มีตัวอย่างปาฏิหาริย์อะไรอีกบ้างที่พระเยซูทรงทำในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องตระหนักว่าเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลกว้างไกลเพียงใด

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญนักเรียนให้เลือกศึกษาหนึ่งข้อ: มาระโก 1:40–42; มาระโก 5:1–8, 19; มาระโก 8:1–9; ลูกา 7:11–15; และ 3 นีไฟ 17:5–9 ขอให้พวกเขาระบุปาฏิหาริย์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำในข้อที่พวกเขาอ่านและปาฏิหาริย์นั้นแสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระองค์ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ท่านอ่านปาฏิหาริย์เรื่องใด และปาฏิหาริย์นั้นแสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอด

  • การเข้าใจเดชานุภาพการทำปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้ท่านมีศรัทธาในพระองค์อย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าหลายศตวรรษก่อนพระผู้ช่วยให้รอดประสูติ ศาสดาพยากรณ์เห็นล่วงหน้าว่าพระองค์จะทรงทำปาฏิหาริย์ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก [ดู 1 นีไฟ 1:31; โมไซยาห์ 3:5–6] ความรู้นี้ช่วยให้คนที่มีชีวิตก่อนการประสูติของพระองค์มีศรัทธาในพระองค์มากขึ้น)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ดูในข้อที่พวกเขาศึกษาอีกครั้งและระบุเหตุผลที่กล่าวไว้ในนั้นว่าเหตุใดพระเยซูทรงทำปาฏิหาริย์ สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • จากข้อความที่ท่านอ่านพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์ด้วยเหตุผลอะไร (ให้นักเรียนหลายคนตอบ แต่ละตัวอย่างจะกล่าวถึงความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอด บอกนักเรียนว่าขณะพวกเขาฝึกระบุรูปแบบและสาระสำคัญเช่นนี้ในพระคัมภีร์ พวกเขาจะมีความรู้เรื่องพระคัมภีร์ลึกซึ้งขึ้น)

  • ปาฏิหาริย์เหล่านี้แสดงให้เห็นความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดในด้านใด

  • การรู้ว่าบางครั้งพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์เพราะความสงสารสร้างความแตกต่างอะไรบ้าง (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นว่า เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และรู้สึกว่าพระองค์ทรงสงสารเรา)

สรุปบทเรียนส่วนนี้โดยเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน กิจการของอัครทูต 10:38 ขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม จากนั้นให้ถามนักเรียนว่า

  • พระเยซูทรงรักษา “คนทั้งหลายที่ถูกมารเบียดเบียน” หมายความว่าอย่างไร (วลีนี้อาจหมายถึงปาฏิหาริย์ของพระเยซูในการขับไล่มารและกล่าวถึงปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาปฏิหาริย์ทั้งหมด—นั่นคือการรักษาทางวิญญาณที่พระเยซูทรงทำให้แก่ผู้ที่ถูกบาปเบียดเบียน ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้การรักษาทางกายเป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด แต่ผลของการนั้นอยู่เพียงชั่วคราว พรของการรักษาทางวิญญาณ—อยู่—ถาวร)

มาระโก 2:1–12; 5:22–43

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์นำปาฏิหาริย์เข้ามาในชีวิตเรา

บอกนักเรียนว่าถึงแม้จะสำคัญที่ต้องรู้ว่าพระเยซูทรงทำปาฏิหาริย์ขณะ “พระองค์ทรงดำเนินไปตามท้องถนนในปาเลสไตน์” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,”2) บางทีการรู้ว่าพระองค์ยังทรงทำปาฏิหาริย์ในทุกวันนี้อาจจะสำคัญกว่า ขอให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 12:12, 18 ในใจแล้วจดหลักธรรมพระกิตติคุณประการหนึ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้ เชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันสิ่งที่เขียนกับชั้นเรียน (คำตอบควรรวมถึงความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะเห็นเดชานุภาพอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์ในชีวิตเรา)

เพื่อช่วยนักเรียนสำรวจความจริงดังกล่าว ให้เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน: มาระโก 2:1–12; มาระโก 5:22–24, 35–43; และ มาระโก 5:25–34 (หมายเหตุ: ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าข้อเหล่านี้มีอีกตัวอย่างหนึ่งของรูปแบบหรือสาระสำคัญในพระคัมภีร์) แบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่ม มอบหมายให้แต่ละกลุ่มอ่านข้อพระคัมภีร์หนึ่งชุดโดยมองหาด้านต่างๆ ที่แสดงให้เห็นศรัทธาในพระเยซูคริสต์ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านพบหลักฐานอะไรยืนยันศรัทธาในพระเยซูคริสต์

handout iconจัดเตรียมเอกสาร “การรักษาคนป่วย” แจกให้นักเรียนแต่ละคน

handout, Healing the Sick

การรักษาคนป่วย

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง สอนว่าศรัทธาจำเป็นต่อการเกิดปาฏิหาริย์

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ศรัทธาเป็นส่วนสำคัญของการรักษาด้วยอำนาจจากสวรรค์ แม้พระคัมภีร์มอรมอนสอนเราว่า ‘หากไม่มีศรัทธาในบรรดาลูกหลานมนุษย์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำปาฏิหาริย์ในบรรดาพวกเขาไม่ได้’ (อีเธอร์ 12:12) [ดู 1 นีไฟ 7:12; คพ. 35:9 ด้วย] ในคำปราศรัยที่โดดเด่นเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ป่วย ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า ‘บ่อยครั้งที่ความจำเป็นต้องมีศรัทธาถูกประเมินค่าต่ำไป ดูเหมือนคนป่วยและครอบครัวมักจะพึ่งพาแต่เพียงอำนาจฐานะปุโรหิตและของประทานแห่งการรักษาที่พวกเขาหวังว่าพี่น้องชายผู้ให้พรจะมี ในขณะที่ความรับผิดชอบที่หนักกว่าอยู่กับผู้ได้รับพร … ส่วนสำคัญที่สุดคือศรัทธาของบุคคลนั้นเมื่อเขามีสติและรับผิดชอบได้ “ที่หายโรคนั้นก็เพราะลูกเชื่อ” [มัทธิว 9:22] พระอาจารย์ทรงย้ำพระดำรัสนั้นหลายครั้งจนดูเหมือนจะกลายเป็นสร้อยเพลงไปแล้ว’ [President Kimball Speaks Out on Administration to the Sick, New Era, Oct. 1981, 47]” (“รักษาคนป่วย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 60)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์เตือนเราเช่นกันว่าส่วนสำคัญของการมีศรัทธาคือการเต็มใจยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ขณะเราใช้อำนาจที่ปราศจากข้อสงสัยของฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า และขณะที่เราเทิดทูนคำสัญญาของพระองค์ว่าพระองค์จะทรงฟังและตอบคำสวดอ้อนวอนแห่งศรัทธา เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าศรัทธาและอำนาจการรักษาของฐานะปุโรหิตไม่เกิดผลในทางตรงกันข้ามกับพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของฐานะปุโรหิตนั้น หลักธรรมนี้สอนในการเปิดเผยโดยกำกับว่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรจะวางมือบนผู้ป่วย คำสัญญาของพระเจ้าคือ ‘คนที่มีศรัทธาในเราที่จะรับการรักษาให้หาย, และไม่ถูกกำหนดให้ตาย, จะได้รับการรักษาให้หาย’ (คพ. 42:48; เน้นตัวเอน) ในทำนองเดียวกัน การเปิดเผยยุคปัจจุบันอีกประการหนึ่ง พระเจ้าทรงประกาศว่าเมื่อมีผู้ ‘ขอตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า … จะเกิดขึ้นแม้ดังที่เขาทูลขอ’ (คพ. 46:30) [ดู 1 ยอห์น 5:14; ฮีลามัน 10:5 ด้วย]

“จากทั้งหมดนี้เราเรียนรู้ว่ากระทั่งผู้รับใช้ของพระเจ้า ผู้ใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ในสภาวการณ์ที่มีศรัทธาเพียงพอจะรักษาหายก็ไม่สามารถให้พรฐานะปุโรหิตซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นหายได้ถ้าการรักษานั้นไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า

“ในฐานะลูกของพระผู้เป็นเจ้า การรู้ถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และความรู้สูงสุดของพระองค์ถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับความผาสุกนิรันดร์ของเราทำให้เราวางใจพระองค์ หลักธรรมพระกิตติคุณข้อแรกคือศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ และศรัทธาหมายถึงวางใจ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความวางใจนั้นในคำพูดที่ลูกพี่ลูกน้องของข้าพเจ้ากล่าวในพิธีศพของหญิงสาววัยรุ่นผู้เสียชีวิตจากโรคร้าย เขากล่าวถ้อยคำที่ตอนแรกทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจ แต่ในที่สุดก็รู้สึกจรรโลงใจ ‘ผมรู้ว่านี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าที่เธอเสียชีวิต เธอได้รับการรักษาอย่างดี เธอได้รับพรฐานะปุโรหิต ชื่อของเธออยู่ในรายชื่อที่จะสวดอ้อนวอนในพระวิหาร มีคนสวดอ้อนวอนให้เธอหลายร้อยคนให้สุขภาพของเธอดีขึ้น และผมรู้ว่าครอบครัวนี้มีศรัทธาพอที่เธอจะหายเว้นแต่นี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะนำเธอกลับบ้านในเวลานี้’ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความวางใจอย่างเดียวกันในถ้อยคำของบิดาหญิงสาวที่ดีอีกคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งขณะยังเป็นวัยรุ่น เขาประกาศว่า ‘ศรัทธาของครอบครัวเราอยู่ในพระเยซูคริสต์ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา’ คำสอนเหล่านี้เป็นจริงสำหรับข้าพเจ้า เราทำทุกอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาคนที่เรารัก และจากนั้นเราวางใจพระเจ้าสำหรับผลที่ตามมา” (“รักษาคนป่วย,เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 61–62)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อเรียกร้องของศรัทธาในการทำปาฏิหาริย์ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความแรกในเอกสารแจกของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง จากนั้นให้ถามว่า

  • เอ็ลเดอร์โอ๊คส์สอนความจริงสำคัญอะไรบ้างเกี่ยวกับศรัทธา

เพื่อให้ได้ข้อคิดเพิ่มเติมจากเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ ท่านอาจจะอ่านหรือแบ่งปันข้อความตอนที่สองในเอกสารแจกด้วยคำพูดของท่านเอง ท่านอาจจะกล่าวว่า เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวถ้อยคำเหล่านี้กับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตโดยตรง สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าวว่าเราต้องทำอะไรเมื่อเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาเพื่อให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องจดจำว่าสิ่งที่เราขอต้องสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์

เป็นพยานว่าปาฏิหาริย์ยังคงเกิดขึ้นทุกวันนี้ แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นทุกวันในงานของศาสนจักรและในชีวิตสมาชิกของเรา พวกท่านหลายคนเห็นปาฏิหาริย์มาแล้ว อาจจะมากกว่าที่ท่านตระหนัก” (Miracles, Ensign, June 2001, 6)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงมักไม่ตระหนักในปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าปาฏิหาริย์ไม่กี่อย่างเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจจากเดชานุภาพของพระเจ้า ปาฏิหาริย์มากมายค่อนข้างเล็กน้อยและเกิดขึ้นเป็นส่วนตัว [ดู ซิดนีย์ เอส. เรย์โนลด์ส,, “พระผู้เป็นเจ้าของสิ่งอัศจรรย์,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 15–18.])

  • ปาฏิหาริย์ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับความสนพระทัยที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงมีต่อเรา

  • มีตัวอย่างของปาฏิหาริย์ “เล็กๆ น้อยๆ” หรือ “ทุกวัน” อะไรบ้างที่ท่านนึกออก (ถ้าไม่มีใครตอบ ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวของซิสเตอร์ซิดนีย์ เอส. เรย์โนลด์ส จากฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญใน “พระผู้เป็นเจ้าของสิ่งอัศจรรย์” [เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 15–18].)

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อให้ตระหนักและมีความกตัญญูมากขึ้นต่อปาฏิหาริย์ของพระเจ้า—ทั้งน้อยใหญ่—ในชีวิตท่าน

กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพวกเขาจะทำตามที่เขียนไว้อย่างไร สรุปบทเรียนโดยถามว่านักเรียนคนใดต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและความรักที่พวกเขารู้สึกจากพระองค์และมีต่อพระองค์

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน