เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 24: พระองค์ทรงพระชนม์!


บทที่ 24

พระองค์ทรงพระชนม์!

คำนำ

เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประกาศว่า “และบัดนี้, หลังจากประจักษ์พยานจำนวนมากที่ให้ไว้ถึงพระองค์, นี่คือประจักษ์พยาน, สุดท้ายของทั้งหมด, ซึ่งเราให้ไว้ถึงพระองค์ : ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ !” (คพ. 76:22) จุดประสงค์ของบทนี้คือเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์วันนี้ พระองค์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา และโดยผ่านศรัทธาในพระองค์เราจะกลายเป็น “บุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 76:24; ดู กาลาเทีย 3:26 ด้วย)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1; 76:19–24; 110:1–4

พระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์วันนี้

อ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวกับประสบการณ์ของประธานลอเรนโซ สโนว์ (1814–1901) ตามที่อลิซ พอนด์หลานสาวของท่านเล่า

ประธานลอเรนโซ สโนว์

“ตรงทางเดินกว้างขวางที่นำไปสู่ห้องซีเลสเชียล ดิฉันกำลังเดินนำหน้าคุณปู่หลายก้าวเมื่อท่านหยุดและพูดว่า ‘เดี๋ยวก่อน อัลลี ปู่อยากเล่าบางอย่างให้หนูฟัง ตรงนี้เองที่พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อปู่เมื่อประธานวูดรัฟฟ์ถึงแก่กรรม พระองค์ทรงแนะนำปู่ให้ไปจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุดชุดใหม่ทันทีและไม่รออย่างที่เคยรอหลังจากมรณกรรมของประธานคนก่อนๆ ปู่ต้องสืบทอดตำแหน่งต่อจากประธานวูดรัฟฟ์”

“จากนั้นคุณปู่เดินมาอีกก้าวหนึ่ง ยื่นมือซ้ายออกมา และพูดว่า ‘พระองค์ทรงยืนที่นี่ ราวสามฟุตเหนือพื้น ดูคล้ายกับพระองค์ทรงยืนบนแผ่นทองคำ”

“คุณปู่เล่าว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระอติรูปที่ทรงรัศมีภาพอย่างยิ่งและบรรยายว่าพระหัตถ์ พระบาท สีพระพักตร์ และฉลองพระองค์สีขาวงดงามล้วนเปล่งรัศมีของความขาวและความเจิดจ้าจนท่านมิอาจจ้องมองพระองค์ได้

“ต่อจากนั้น คุณปู่ เดินมาอีกก้าวหนึ่งและวางมือขวาบนศีรษะดิฉันพลางพูดว่า ‘หลานปู่ ปู่อยากให้หนูจำไว้ว่านี่คือประจักษ์พยานของปู่ ปู่เล่าให้หนูฟังจากปากปู่เองว่าปู่เห็นพระผู้ช่วยให้รอดจริงๆ ที่นี่ในพระวิหาร และสนทนากับพระองค์ตรงหน้า’” [อลิซ พอนด์, ใน LeRoi C. Snow,An Experience of My Father’s,Improvement Era, Sept. 1933, 677]” (คำสอนของประธานศาสนจักร: ลอเรนโซ สโนว์ [2012], 239)

  • ท่านมีความคิดอะไรบ้างขณะฟังเรื่องนี้

บอกนักเรียนว่าพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญามีสองเรื่องเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏต่อชายในยุคสุดท้าย: การปรากฏครั้งหนึ่งต่อโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันในไฮรัม โอไฮโอ (ดู คพ. 76) และการปรากฏอีกครั้งต่อโจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ (ดู คพ. 110) เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน

พวกท่านเห็นอะไร พวกท่านได้ยินอะไร พวกท่านเรียนรู้อะไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ในพระคัมภีร์ ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:19–24 และอีกครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:1–4 หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ เขียนสิ่งที่พบไว้บนกระดานใต้คำถามที่เหมาะสม จากนั้นให้ถามว่า

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจระบุหลักคำสอนหลากหลาย รวมทั้ง: พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์สัตภาวะที่ทรงพระชนม์และมีรัศมีภาพ พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์แยกกัน โดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการยอมรับพระกิตติคุณ เราจะกลายเป็นบุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า; และ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา)

เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักคำสอนเหล่านี้โดยถามคำถามต่อไปนี้

  • ในบรรดาความจริงเหล่านี้ความจริงใดมีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ เพราะเหตุใด

บอกนักเรียนว่าส่วนที่เหลือของบทเรียนจะมุ่งเน้นหลักคำสอนสองประการในข้อที่พวกเขาอ่าน: “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิวอนพระบิดาแทนเรา” และ “โดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการยอมรับพระกิตติคุณ เราจะกลายเป็นบุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:5; 38:4; 45:3–5; แอลมา 33:3–11

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา

เขียนคำว่า ผู้วิงวอน บนกระดานและถามนักเรียนว่าพวกเขารู้ความหมายของคำนี้หรือไม่ (หากจำเป็น ให้นิยาม ผู้วิงวอนแทน โดยอธิบายว่าคำนี้หมายถึงบุคคลที่พูดสนับสนุนหรือขอร้องแทนอีกคนหนึ่ง) เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:4 ในใจ จากนั้นให้ถามว่า

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำหน้าที่เป็นผู้วิงวอนแทนอย่างไร (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันความคิด ให้หาโอกาสเป็นพยานว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา)

ให้ดูคำถามต่อไปนี้หรือเขียนไว้บนกระดาน

อะไรทำให้พระเยซูคริสต์ทรงมีคุณสมบัติเป็นพระผู้วิงวอนแทนเรา

พระเยซูทรงดึงความสนใจของพระบิดามาที่อะไรขณะพระองค์ทรงวิงวอนแทนเรา

ขอให้นักเรียนทำงานเป็นคู่และหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ใน ฮีบรู 4:15; หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:5; 38:4; และ 45:3–5 หลังจากให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้และสนทนาคำถามบนกระดานแล้ว ให้เชิญอาสาสมัครสองสามคนแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน

ขณะนักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ พวกเขาพึงเข้าใจดังนี้: พระเยซูคริสตทรงมีคุณสมบัติพร้อมวิงวอนพระบิดาแทนเราเพราะพระองค์ทรงชอบธรรมอย่างสมบูรณ์และด้วยเหตุนี้จึงสนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรมเพื่อบาปของเรา พระองค์ทรงมีคุณสมบัติพร้อมวิงวอนแทนเราเพราะพระคุณความดี พระชนม์ชีพที่ดีพร้อม และพระโลหิตของพระองค์ซึ่งหลั่งเพื่อเรา เราไม่มีคุณความดีที่ยอมให้เราวิงวอนด้วยตัวเราเอง (ดู แอลมา 22:14)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:3–5 ขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม อธิบายว่างานและรัศมีภาพของพระบิดาบนสวรรค์คือความสูงส่งของบุตรธิดาของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ขณะพระเยซูทรงวิงวอนแทนคนที่เชื่อในพระองค์ พระองค์ทรงช่วยทำให้งานของพระบิดาสำเร็จขณะเดียวกันก็ถวายรัศมีภาพแด่พระบิดา (ดู มัทธิว 10:32 ด้วย)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจงานของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้วิงวอนแทนเรา เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านถ้อยคำของซีนัสใน แอลมา 33:3-10 ขอให้พวกเขาระบุข้อความที่ซีนัสพูดซ้ำ (“พระองค์ทรงเมตตา” และ “พระองค์ทรงได้ยินข้าพระองค์”) จากนั้นให้ถามว่า

  • ซีนัสเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าผ่านประสบการณ์ของเขากับการสวดอ้อนวอนที่จริงใจ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 33:11 จากนั้นให้ถามนักเรียนว่า

  • ซีนัสถือว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเมตตาเขาเพราะใคร

  • เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาจึงทรงเพิกถอนการพิพากษาไปจากเรา

  • คำสอนของซีนัสช่วยให้ท่านเข้าใจดีขึ้นและเห็นคุณค่าบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในฐานะพระผู้วิงวอนในชีวิตท่านอย่างไร

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อข้าพเจ้าคือข้าพเจ้าสามารถเข้าถึงบัลลังก์แห่งพระคุณได้ทุกขณะและทุกสภาวการณ์ พระบิดาบนสวรรค์จะทรงได้ยินคำวิงวอนของข้าพเจ้า และพระผู้วิงวอนแทนข้าพเจ้า พระองค์ผู้ไม่ทรงทำบาป ผู้ทรงหลั่งพระโลหิต จะทรงวิงวอนแก้ต่างให้ข้าพเจ้า (ดู คพ. 45:3–5)” (I Know in Whom I Have Trusted, Ensign, May 1993, 83)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอธิบายหลักธรรมที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันกำลังสอนด้วยคำพูดของเขาเอง จากนั้นให้ถามว่า

  • การมีประจักษ์พยานส่วนตัวเกี่ยวกับคำสอนนี้จะช่วยท่านในยามทุกข์ใจได้อย่างไร

โมไซยาห์ 5:5–15

โดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการยอมรับพระกิตติคุณ เราจะกลายเป็นบุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญา 76:24 ขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม ชี้ให้เห็นคำว่า “โดยพระองค์, และโดยผ่านพระองค์, และจากพระองค์ … [เรา] เป็นบุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า.”

ถามนักเรียนว่า

  • การเป็น “บุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า” หมายความว่าอย่างไร (คพ. 76:24; ดู คพ. 25:1ด้วย)

นักเรียนพึงเข้าใจว่าถึงแม้เราทุกคนเป็นลูกทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ แต่คำว่า “บุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระบิดา” เจาะจงถึงคนที่ “เกิดใหม่” บอกนักเรียนว่าพระคัมภีร์มอรมอนอธิบายขั้นตอนการเกิดใหม่่

ให้ดูแผนภูมิต่อไปนี้หรือลอกไว้บนกระดาน (ไม่ต้องลอกเนื้อหาในวงเล็บ)

ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินเต็มใจทำอะไร

อะไรเป็นผลจากการกระทำของพวกเขา

(เข้าสู่พันธสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระบัญญัติทุกข้อของพระผู้เป็นเจ้า)

(รับพระนามของพระคริสต์ไว้กับตนเอง)

(ใช้ศรัทธาในพระคริสต์)

(ใจพวกเขาเปลี่ยน)

(พวกเขาเกิดจากพระคริสต์)

(พระคริสต์ทรงเป็นพระบิดาแห่งพันธสัญญาของพวกเขา)

สรุปข่าวสารของกษัตริย์เบ็นจามินใน โมไซยาห์ 2–4 จากนั้นให้อธิบายว่าถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามินมีผลเด่นชัดต่อผู้คนของเขา และพระวิญญาณของพระเจ้าทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง” ในใจพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 5:2) เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา โมไซยาห์ 5:2–8, 15 เป็นคู่โดยมองหาคำตอบของคำถามในแผนภูมิ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ จากนั้นให้ถามว่า

  • ตามที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน ท่านกลายเป็นบุตรหรือธิดาที่ถือกำเนิดของพระคริสต์อย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรายอมรับพระเยซูคริสต์ ทำและรักษาพันธสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เรากลายเป็นบุตรและธิดาที่ถือกำเนิดของพระคริสต์)

ขณะนักเรียนสนทนาข้อเหล่านี้ พวกเขาอาจต้องการให้ช่วยพวกเขาเข้าใจหลักคำสอนที่ว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระคริสต์ อ่านออกเสียงคำสอนต่อไปนี้จากประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972)

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระบิดาของเรา …. เพราะพระองค์ทรงมอบชีวิต ชีวิตนิรันดร์ให้เราผ่านการชดใช้ซึ่งพระองค์ทรงทำเพื่อเรา …

“… เรากลายเป็นลูก บุตรและธิดาของพระเยซูคริสต์ ผ่านพันธสัญญาของการเชื่อฟังพระองค์”Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 1:29)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 5:15 เราจะได้รับพรอะไรบ้างในฐานะบุตรหรือธิดาของพระเยซูคริสต์

  • ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างเกี่ยวกับการเป็นบุตรหรือธิดาของพระเยซูคริสต์

ขณะที่ท่านสรุปบทเรียน กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองว่าชีวิตพวกเขาได้รับพรอย่างไรจากการรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์ พระองค์ทรงทำหน้าที่เป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา และเราสามารถเป็นบุตรหรือธิดาแห่งพันธสัญญาของพระคริสต์

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน