บทที่ 17
พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์บนกางเขนแห่งคัลวารี
คำนำ
เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดใกล้สิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย “พระองค์ทรงถูกจับกุมและถูกประณาม ด้วยข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ ทรงถูกตัดสินว่ามีความผิดเพื่อให้ฝูงชนพอใจและถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตบนกางเขนแห่งคัลวารี” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) ในบทนี้เราเน้นความจริงที่สำคัญว่าพระเยซูคริสต์ ทรงยอมให้ พระองค์ทนทุกข์และสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำมือผู้อื่น ไม่มีใครปลิดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 105–108
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
มัทธิว 27:26–54; ยอห์น 10:11–18; 19:10–11; 1 นีไฟ 19:9
พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพในการสละพระชนม์ชีพของพระองค์
ให้ดูภาพ การตรึงกางเขน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 57; ดู LDS.orgด้วย)
เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นคนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์ในภาพขณะที่ท่านอ่านออกเสียง มัทธิว 27:26–54 กระตุ้นให้นักเรียนดูตามและไตร่ตรองว่าจะเป็นอย่างไรถ้านักเรียนเป็นคนที่เห็นการตรึงกางเขนพระเยซูคริสต์ หลังจากท่านอ่านจบแล้ว ให้นักเรียนบอกความคิดและความรู้สึกของพวกเขาขณะจินตนาการว่าตนประสบเหตุการณ์นั้น หลังจากนักเรียนหลายคนตอบแล้ว ให้ถามว่า
-
ท่านมีความรู้สึกอย่างไรต่อพระผู้ช่วยให้รอดหลังจากอ่านและสนทนาเรื่องนี้
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 10:11, 17–18 ในใจ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า
-
ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการตรึงกางเขนและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ (นักเรียนพึงเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพจากพระบิดาในการสละพระชนม์ชีพและรับคืนอีก)
ให้ดูคำสอนต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“ผลตามธรรมชาติของต้นกำเนิดอมตะ [ของพระเยซู] ในฐานะพระบุตรที่ประสูติบนแผ่นดินโลกขององค์บิดาอมตะ คือพระองค์ทรงมีภูมิต้านความตายเว้นแต่พระองค์ทรงยอมตาย ไม่มีใครปลิดพระชนม์ชีพพระเยซูพระคริสต์ได้เว้นแต่พระองค์เต็มพระทัยและทรงยอม เดชานุภาพในการสละพระชนม์ชีพมีอยู่ในพระองค์ เฉกเช่นเดชานุภาพในการรับพระวรกายที่ถูกสังหารคืนมาในสภาพอมตะ” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 418)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:53–54 และให้อีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 19:10–11 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยเปรียบเทียบพระคัมภีร์ทั้งสองข้อความ
-
ตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ในมัทธิว พระเยซูคริสต์ทรงมีสิทธิ์รับความช่วยเหลืออะไร
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อพระคัมภีร์ในยอห์น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: ไม่มีใครปลิดพระชนม์ชีพพระเยซูคริสต์ได้ พระองค์เต็มพระทัยรับความตาย)
-
ทั้งที่พระเยซูทรงเรียกเหล่าเทพลงมาช่วยได้ ท่านคิดว่าเหตุใดพระองค์ทรงยอมถูกตรึงกางเขน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 19:9 ขอให้นักเรียนนิยามคำว่า ยอม (ตามที่ใช้ในข้อนี้ ยอม หมายถึงยินยอมหรืออนุญาต ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน “ยินยอม” ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ 1 นีไฟ 19:9)
-
เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมถูกตรึงกางเขน
ท่านอาจต้องการให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์อเล็กซานเดอร์ บี. มอร์ริสันแห่งสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เพราะความรักที่ทรงมีต่อบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูผู้ทรงดีพร้อมปราศจากบาปจึงทรงถวายพระองค์เองเป็นค่าไถ่บาปของผู้อื่น … นี่จึงเป็นเหตุผลสูงสุดซึ่งนำพระเยซูมาสู่แผ่นดินโลกเพื่อ ‘ทนทุกข์ หลั่งพระโลหิตและสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์’ [“Tis Sweet to Sing the Matchless Love,” Hymns, no. 176] พระองค์ทรงมา … ชดใช้บาปของเรา เพื่อพระองค์จะทรงดึงมนุษย์ทั้งปวงมาหาพระองค์โดยทรงถูกยกขึ้นบนกางเขน” (ดู 3 นีไฟ 27:14)” (“เพราะเหตุนี้เราจึงเข้ามาในโลก,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 28)
ชี้ให้เห็นว่าพระเยซูทรงทนรับการตรึงกางเขนเพราะความรักอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อพระบิดาและความรักที่ทรงมีต่อเรา จากนั้นให้ถามว่า
-
การรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยยอมถูกตรึงกางเขนเพราะพระองค์ทรงรักพระบิดาและทรงรักเราช่วยให้ท่านอดทนต่อประสบการณ์ยากๆ ที่อาจพบเจอได้อย่างไร
มัทธิว 27:46; ลูกา 23:34–46; ยอห์น 19:26–30
พระเยซูคริสต์ทรงเสร็จสิ้นพระพันธกิจในความเป็นมรรตัย
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่าความตายโดยการตรึงกางเขนเป็นอย่างไร ท่านอาจแบ่งปันดังนี้
“ความตายโดยการตรึงกางเขนดูเหมือนจะรวมเอาทั้งหมดที่ความเจ็บปวดและความตายอันน่าสยดสยองและประหวั่นพรั่นพรึง สามารถ มีได้—วิงเวียนศีรษะ เป็นตะคริว กระหายน้ำ หิวโหยอย่างยิ่ง นอนไม่หลับ เป็นไข้เพราะพิษบาดแผล บาดทะยัก ถูกประจานให้อับอาย ทรมานต่อเนื่องยาวนาน รอคอยด้วยความอกสั่นขวัญแขวน บาดแผลเน่าตาย—ทั้งหมดทวีความรุนแรงจนถึงจุดที่ยังทนได้ แต่จะยุติทั้งหมดเมื่อถึงจุดที่จะทำให้ผู้ทนทุกข์หมดสติ สภาพผิดธรรมชาติทำให้เจ็บปวดทุกครั้งที่เคลื่อนไหว เส้นเลือดดำขาดและเส้นเอ็นฉีกทำให้ปวดตุบๆ ทุกข์ทรมานแสนสาหัสอย่างต่อเนื่อง บาดแผลอักเสบจากการถูกอากาศหนาวเย็นค่อยๆ กลายเป็นเนื้อร้าย หลอดเลือดแดง—โดยเฉพาะของศีรษะและท้อง—บวมเป่งเพราะเลือดคั่ง และถึงแม้ความทุกขเวทนาแต่ละอย่างจะทวีขึ้นทีละน้อย แต่มีความเจ็บปวดสุดจะทนไหวของความกระหายอย่างรุนแรงจนคุมไม่อยู่เพิ่มเข้ามา และภาวะแทรกซ้อนทางกายทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้เกิดความตื่นตระหนกและความวิตกกังวลภายใน ซึ่งทำให้ความตายที่จะเกิดขึ้น—ความตาย ศัตรูอันน่าสะพรึงกลัวที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งมักจะมาเยือนคนหวาดหวั่นมากที่สุด—มีแง่มุมของการปลดปล่อยที่ยอดเยี่ยมสวยงาม
“ความตายเช่นนั้นคือความตายที่กำหนดให้พระคริสต์” (เฟรเดริค ดับเบิลยู. ฟาร์ราร์, The Life of Christ [1964], 641)
บอกนักเรียนว่าพระเยซูคริสต์ตรัสเจ็ดประโยคขณะอยู่บนกางเขน เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน (ไม่ต้องเขียนข้อความในวงเล็บ) เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้าคนละสองสามข้อและระบุสิ่งที่พระเยซูตรัส
ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้ถอดความประโยคเหล่านี้และเขียนไว้บนกระดานใกล้กับข้ออ้างอิงที่ตรงกัน ถามนักเรียนว่า
-
ประโยคเหล่านี้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์กำลังประสบบนกางเขน
-
พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อทรงประกาศว่า “สำเร็จแล้ว” (พระองค์ทรงสิ้นสุดความทุกขเวทนาอันไม่มีขอบเขตที่การชดใช้เรียกร้อง) ท่านอาจจะชี้ให้นักเรียนเห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 27:54 อ่านว่า “เมื่อทรงร้องเสียงดังอีกครั้งหนึ่ง พระเยซูตรัสว่า พระบิดาเจ้าข้า สำเร็จแล้ว พระประสงค์ของพระองค์ลุล่วง แล้วคืนวิญญาณ” [ดู มัทธิว 27:50 เชิงอรรถ a (ในฉบับภาษาอังกฤษ) ด้วย] พระเยซูสิ้นพระชนม์หลังจากทรงทราบว่าพระองค์ทรงทำสำเร็จทั้งหมดที่พระบิดาทรงประสงค์ให้พระองค์ทำ)
ขอให้นักเรียนอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“เมื่อทรงชำระหนี้ครบหมดแล้ว เมื่อความตั้งพระทัยจะซื่อสัตย์ของพระคริสต์ประจักษ์ชัดเท่าๆ กับที่ไม่สามารถทำลายได้ และด้วยพระเมตตาในที่สุดก็ ‘สำเร็จแล้ว’ [ดู ยอห์น 19:30] ทั้งที่เป็นไปได้ยากและไม่มีใครช่วยเหลือหรือสนับสนุนพระองค์ แต่พระเยซูแห่งนาซาเร็ธ พระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ทรงคืนชีพทางกายที่ความตายพรากไป และทำให้เกิดการไถ่อันเปี่ยมปีติทางวิญญาณจากบาป ความมืดมนอนธการ และความสิ้นหวัง ด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรง รู้ พระองค์ตรัสด้วยชัยชนะได้ว่า ‘ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์ขอฝากจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์’ [ลูกา 23:46]” (“ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 107)
เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“พระเยซูทรงเลือกที่จะไม่รับการปลดปล่อยจากโลกนี้จนกว่าพระองค์ทรงอดทนจนถึงที่สุดแล้ว และทรงเสร็จสิ้นพระพันธกิจที่ต้องทำเพื่อมนุษย์ บนกางเขนแห่งคัลวารี พระเยซูทรงฝากวิญญาณของพระองค์ไว้กับพระบิดาด้วยพระดำรัสที่เรียบง่ายว่า ‘สำเร็จแล้ว’ (ยอห์น 19:30) พระองค์ทรงได้รับการปลดปล่อยจากความเป็นมรรตัยเมื่อทรงอดทนจนถึงที่สุดแล้ว
“เราต้องอดทนจนถึงที่สุดด้วย” (“พันธสัญญาแห่งบัพติศมา: อยู่ในอาณาจักรและเป็นของอาณาจักร” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 7)
-
อัครสาวกสองท่านนี้ช่วยให้เราเข้าใจอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูทรงหมายถึงเมื่อพระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจจะเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: พระเยซูคริสต์ทรงทำสำเร็จครบถ้วนตามที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชาให้พระองค์ทำในความเป็นมรรตัย)
-
ในช่วงเวลายากๆ ของเราเอง สิ่งนี้จะช่วยให้เราระลึกถึงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบและอดทนอย่างซื่อสัตย์เพื่อทำพันธกิจขณะทรงเป็นมรรตัยให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร
-
การระลึกถึงแบบอย่างของพระเยซูจะช่วยให้ท่านบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่ท่านเกิดมาทำได้อย่างไร
-
เราจะแสดงความสำนึกคุณต่อทุกสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพื่อเราได้อย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: เราแสดงความสำนึกคุณต่อความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขนโดยทำตามแบบอย่างของพระองค์ในการอดทนอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่)
เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงการแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาต่อพระผู้ช่วยให้รอดทางสื่อสังคมและสิ่งที่พวกเขารับปากว่าจะทำตามความรู้สึกเหล่านั้น
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
มัทธิว 27:26–54; ลูกา 23:34–46; ยอห์น 10:11–18; 19:10–11, 19–37; 1 นีไฟ 19:9
-
เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 105–108